Skip to main content

ข่าว (เกือบจะ) ดี

คอลัมน์/ชุมชน

 


ช่วงที่ผ่านมามีข่าวที่ถือว่า เกือบจะเป็นเรื่องดี สำหรับชาว LGBT ไทย อยู่ 2 ข่าวค่ะ


ข่าวแรกคือ  กรณีที่ "ม.สวนดุสิต"  เปิดเมืองทองธานี ประกวด "มิส เลดี้ เลดี้"  น.ศ.สาวประเภทสอง โชว์ชุดราตรีซี ทรูเห็นบิกินีสุดหวิว! รองอธิการบดี มสด.ยันไม่เสียหาย-ไม่ได้ส่งเสริม แค่เปิดโอกาสให้แสดงออก เผยคว้ารางวัลระดับชาติมาแล้ว" (มติชน 31 ก.ค. 48)


เห็นมั้ยคะ ว่ารองอธิการบดีสถาบันนี้ใจกว้างเพียงใด  หาไม่ได้แล้วค่ะในประเทศนี้  ยิ่งเทียบกับเมื่อสัก 8-9 ปีก่อน ที่สภาสถาบันราชภัฏฯ ได้ออกกฏห้ามไม่ให้คนที่เป็นกะเทย ตุ๊ด ทอม ดี้ เข้าเรียนในคณะครุศาสตร์ แต่มาถึงปี พ.ศ. 2548 นี้ กลับเปิดกว้างสำหรับคนเหล่านี้อย่างเต็มที่ แล้วจะไม่ให้ผู้เขียนนับข่าวให้เป็นข่าวเกือบจะดีสำหรับ LGBT ได้อย่างไร


ส่วนข่าวเกือบจะดีอีกข่าวนั้น มาจากเรื่องที่ "กองทัพยอมแก้ไข ถ้อยคำบาดใจเกย์" (ไทยโพสต์ 10 ส.ค. 48)  สืบเนื่องมาจากเวลาสาวที (ทรานเซ็กส์ช่วล - Transexual) หรือคนที่เกิดมามีเพศชาย แต่ต่อมาได้ไปผ่าตัดแปลงเป็นเพศหญิง เช่น ทำหน้าอก หรือผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเพศไปเลย (ซึ่งเมืองไทยของเรามีโรงพยาบาลที่ทำการด้าน "สวยด้วยแพทย์" มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเชียวค่ะ แต่กลับไม่มีอะไรรองรับคนกลุ่มนี้เลย) แต่ยังมีคำนำหน้าชื่อว่า "นาย" ตามเพศดั้งเดิมที่เกิดมา เมื่อกำหนดอายุครบเกณฑ์ทหาร จึงทำให้พวกเธอเหล่านี้ ต้องไปเกณฑ์กับเขาด้วย เมื่อเกณฑ์แล้วไม่ผ่าน อันเนื่องมาจากสรีระของพวกเธอที่เปลี่ยนไป  ในใบเกณฑ์ทหาร ที่เรียกย่อๆ ว่า สด.43 ก็จะระบุว่า เธอเป็น "โรคจิต" บ้างล่ะ หรือบางรายก็กลายเป็น "โรคจิตถาวร" ไปเลย หรือไม่ก็เป็น "โรคจิตวิปลาส" ใครจะได้คำไหนไปตราประทับไว้ในชีวิต ก็ขึ้นอยู่กับนายทหารที่มีหน้าที่ออกใบ สด.43 ประจำหน่วยนั้นๆ ว่ามีศิลปะในการเขียนหรือใช้คำอย่างไรบ้าง


ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นเช่นนี้มาหลายปีค่ะ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรทำงานสนับสนุนและปกป้องสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน ได้จัดประชุมเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของคนกลุ่มนี้ ซึ่งรวมเรื่องใบ สด. 43 นี้ด้วย


และก็ปรากฎว่า  "แฮปปี้เอ็นดิ้ง สด.43 ทารุณจิตใจเพศที่ 3 จบลงอย่างชื่นมื่น ผบ.กำลังพลสำรองแจงเหตุเพราะ พ.ร.บ.ฉบับเก่าล้าสมัย" (ไทยโพสต์ 10 ส.ค. 48) ตามที่เป็นข่าว


อย่างนี้แล้วจะไม่ให้ถือเป็นข่าวเกือบจะดีได้อย่างไร


แต่ทำไมเป็นข่าวเกือบจะดีแค่นั้น  ทำไมไม่ถือเป็นข่าวดีสุดๆ ของชาวLGBT ล่ะ ในเมื่อใช้เวลาเป็น 50 ปี เชียวนะ ที่กองทัพถึงจะยอมแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ หลายคนคงสงสัย


ก็ข่าวกรณีของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่ว่า  "พวกเขาอยากแสดงออก แต่จะเป็นดาวก็ไม่ใช่ เป็นเดือนก็ไม่ได้ เมื่อจัดการประกวดแล้วก็ได้รับการตอบรับดีมากจากนักศึกษาทั้งที่เป็นชายจริงหญิงแท้ และสาวประเภทสองทุกคนรู้สึกดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราให้สิทธิกับนักศึกษา"  (ผศ.พัชรี สวนแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มสด.- มติชน 31 ก.ค. 48)  มันมีประโยคนี้ตามมาไงคะ


"ก่อนหน้านี้สถาบันเป็นวิทยาลัยครู จึงมีข้อกังวลเรื่องการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ ที่ต้องไปสอน แต่วันนี้มีความหลากหลายทางวิชาการมากขึ้น ถ้านักศึกษาเรียนครุศาสตร์เราจะห้ามสาวประเภทสอง  แต่ถ้าเป็นคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งมีสาขาวิทยุโทรทัศน์ ประชาสัมพันธ์ การแสดง เด็กกลุ่มนี้เขาชอบเป็นพื้นอยู่แล้ว ทำให้เขาเข้ามาเรียนกันเยอะ ซึ่งไม่ผิดหลักวิชาชีพ" (ผศ.พัชรี สวนแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มสด.- มติชน 31 ก.ค. 48)


หรือใครที่มีโอกาสได้ชมการสนทนาในประเด็นนี้ทางรายการถึงลูกถึงคน  ที่มีนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดี มสด. ผศ.พัชรี สวนแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มสด.  และนายมนตรี สินทวิชัย สมาชิกวุฒิสภา จ.สมุทรสาคร ก็คงจำได้ที่ ผศ.พัชรี สวนแก้ว พูดในรายการว่า  นักศึกษากลุ่มดังกล่าวเป็นพวกคนป่วย สับสนทางจิต ที่ในเวลาต่อมาอาจารย์ท่านดังกล่าวบอกว่าใช้ถ้อยคำผิดไปก็ตาม


ในความเปิดกว้างของเหล่าบรรดาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงเป็นการเปิดในบางที่เท่านั้น ส่วนการเข้าไปเรียนในคณะครุศาสตร์ ที่องค์กรหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนได้รณรงค์คัดค้านกันเมื่อปี 2540 จึงคงยังมีอยู่ต่อไป (แต่อาจไม่ได้ออกเป็นกฎ เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นครั้งนั้น)


เช่นเดียวกัน กรณีของกองทัพบกแม้จะจบลงอย่าง "แฮปปี้เอ็นดิ้ง"  แต่ความเข้าใจของกองทัพบกต่อเรื่องนี้ ทำให้ผู้เขียนกระอักกระอ่วนใจเป็นอย่างยิ่ง   "พลโทอาทร โลหิตกุล ผู้บัญชาการหน่วยงานกำลังพลสำรอง ให้สัมภาษณ์ในกรณีนี้ว่า กองทัพบกเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน โรคนี้เป็นโรคสมัยใหม่…" (ไทยโพสต์ 10 ส.ค. 48) คือ เรายังต้องเป็นโรคกันต่อไปค่ะ แหะๆ


แต่มานึกๆ ดูอีกที  ที่ทางกองทัพแก้ไขคำบาดใจให้ หรือ ม.สวนดุสิต ใจกว้างมากขึ้นนั้นก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดีทีเดียวค่ะ เพราะเรื่องวิถีทางเพศนี้ จะว่าไปแล้วเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจเบ็ดเสร็จทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข


ถ้าไม่คิดอะไรมาก  ตามประสาคนชิว ๆ มันก็โอนะคะ แต่ว่าสำหรับผู้เขียนแล้ว มันเป็นได้แค่ข่าวเกือบจะดีเท่านั้นล่ะค่ะ.