Skip to main content

พญาตองซู หม่องตู่ ดูพม่า

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


 "ปุ้งๆ ถ้าไปถึงย่างกุ้ง"


หม่องตู่ สารถีมอเตอร์ไซค์รับจ้างแห่งเมียนมาร์ บอกผมพร้อมแอ็กชั่นประกอบคำไทยกระท่อนกระแท่น เมื่อถูกถามว่าหากผมแอบอยู่แล้วไปเมืองอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีชะตากรรมเช่นไร


 


ผมงงเล็กน้อย ก่อนได้สนทนาวิสาสะกับหม่องตู่ เพราะไม่คิดว่าเมืองพม่าจะมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างกับเขาอาจเป็นความไม่ประสีประสาของตัวเอง เพราะจริงๆ แล้ว ไม่มีใครรู้ว่าอาชีพนี้เกิดครั้งแรกที่ไหน บางคนเชื่อว่าประเทศที่เมืองหลวงชื่อกรุงเทพฯ ซึ่งรถติดที่สุดนั้นละคือต้นแบบ  เพราะอาชีพสุดหวาดเสียวนี้มีเพื่อรองรับความรีบเร่งในชั่วโมงเร่งด่วนโดยเฉพาะ


 


แต่ผมก็ไม่เคยคิดว่าจะได้อาศัยพาหนะชนิดนี้เที่ยวเมืองชายแดนพม่า…


 


- 1 -


 


 "หม่องตู่"  วัย 30 เลือกอาชีพนี้เพราะเคยแอบมาทำงานในเมืองไทยเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ก่อนกลับมาทำมาหากินที่บ้านเกิดโดยมีรายได้จากการพานักท่องเที่ยวที่ข้ามผ่านแดนเข้ามาไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ในเมืองพญาตองซู 


 


เมืองชายแดนเล็กๆ ซึ่งมีเศรษฐกิจหลักส่วนหนึ่งคือการค้าขายกับฝั่งไทย สถานที่น่าสนใจสองสามแห่งของเมืองนี้ที่เราคนไทยรู้จักกันดีก็คือตลาดสินค้า ซึ่งส่วนมากเป็นของป่าและผลิตภัณฑ์ยอดฮิตของสาวมอญ พม่า และ ฯลฯ ของแดนเจดีย์ทองอย่างแป้ง "ตะนาคา" ซึ่งมีให้เลือกทุกแบบทั้งชนิดผง ชนิดแท่ง หลากหลายกลิ่นตั้งแต่มะนาวยันน้ำผึ้ง


 


และแม่ค้ายังบอกว่าอนาคตอาจมีกลิ่นชาเขียวเพิ่ม ถ้าลูกค้าต้องการ…


 


                                                 


                                         


                                     ตะนาคา แป้งซึ่งได้รับความนิยมในพม่ามาแต่บรรพกาล


 


วันนั้นนอกจากตลาดในตัวเมือง หม่องตู่ยังบึ่งแมงกะไซพาผมไปเยือน "วัดเสาร้อยต้น" ซึ่งเกี่ยวพันกับหลวงพ่ออู อุตตมะ ที่คนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ชายแดนตะวันตกนับถือยิ่ง เนื่องจากวัดนี้เสมือนวัดสาขาของวัดวังก์วิเวการามใน อ.สังขละบุรี ฝั่งไทย ซึ่งหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้สร้าง และพระในวัดทั้งหมดก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ท่านทั้งสิ้น


 


ชื่อ "เสาร้อยต้น" มาจากจำนวนเสาไม้สักซึ่งค้ำยันตัววิหารที่ท่านเจ้าอาวาสสื่อภาษามือบอกว่ามีทั้งหมด 105 ต้น ที่ยันโครงสร้างหลักซึ่งมีทั้งหมด 3 ชั้น และที่สำคัญ เสาเหล่านี้ยังที่แสดงถึงความรุ่มรวยทรัพยากรไม้ของพม่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะ 1 เสา เท่ากับต้นไม้ขนาด  2 คนโอบ 1 ต้น


 


                                      


                                                บริเวณชั้นหนึ่งของวิหารวัดเสาร้อยต้น


 


โดยสรุปวิหารนี้จึงสร้างด้วยต้นสักทองขนาดใหญ่ทั้งหมดถึง…105 ต้น!


 


ความมลังเมลืองในเนื้อไม้ ความโอฬารของวิหารยิ่งปรากฏ เมื่อเดินเข้าไปชั้นล่างสุดของวิหารแห่งนั้นแล้วแสงแดดยามบ่ายตกกระทบเนื้อไม้ขับมันจนกลายเป็นสีทองเงางาม…


 


- 2 -


 


เรื่องที่ผมสนใจอีกเรื่องในการไปเยือนพม่าครานั้น ก็คือมอเตอร์ไซค์ของหม่องตู่ที่มีลักษณะพิเศษ คือมีที่ใส่กระบะติดด้านข้างเหมือนซาเล้งขายของเก่าบ้านเรา เหมาะอย่างยิ่งในการไปพร้อมกันทีเดียว 3 หรือ 4 คนโดยไม่ต้องจ้างรถหลายคันให้วุ่นวายด้วยสนนราคาไม่กี่สิบบาท (แปลงได้เป็นหลายจั๊ตของพม่าสำหรับหม่องตู่) ซึ่งนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาทำมาหากินได้สบายๆ ในเมืองชายแดนแห่งนี้


 


ความกว้างขวางบวกกับมีกำแพงกั้นในรถหม่องตู่ ทำให้ผมไม่ร่วงไปกองกับพื้น เมื่อเขาพาไปเยือนเจดีย์สีทองผ่องอำพันซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเล็กๆ ไม่ห่างวัดเสาร้อยต้นมากนัก


 


 


                                                     


                                                   เจดีย์ "อุตตมะคีรีเตา" ศิลปะมอญ



 "อุตตมะคีรีเตา" เป็นคำตอบภาษาพม่า เมื่อเขาเห็นผมทำท่าฉงนฉงายเจดีย์ที่คล้ายกับ "ชเวดากอง" ในย่างกุ้งอย่างกับแกะ ก่อนบทเรียนประวัติศาสตร์จะย้ำในหัวว่าเจดีย์ในโซนพม่าตอนล่างส่วนมากมักได้อิทธิพลมอญเกือบทั้งหมด เพราะนี่คือถิ่นเดิมของมอญซึ่งบัดนี้เป็นคนไร้รัฐ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศนี้แม้ได้ชื่อว่าพม่าปกครอง แต่ศิลปะทางศาสนาพุทธตามที่ต่างๆ กลับเป็นของมอญซะส่วนใหญ่


 


 "พม่าอาจชนะเราในการรบ แต่ก็แพ้เราอย่างราบคาบทางวัฒนธรรม"  คนมอญที่บ้านวังกะ  สามโคก และหลายที่ในเมืองไทยซึ่งผมเคยสัญจรไปบอกเช่นนั้น  ผมเองก็ประจักษ์ตาแล้วว่าในอดีตพม่าอาจรบเก่ง แต่ด้านอารยธรรมคนมอญก็ก้าวไกลกว่าหลายขุมไม่ว่าด้านสถาปัตยกรรม ศาสนา ฯลฯ จนกลายเป็นต้นธารให้วัฒนธรรมพม่าในที่สุดเมื่อมอญถูกพม่าตีจนพ่ายแพ้


 


รอบๆ เจดีย์อุตตมะคีรีเตา (ซึ่งน่าจะอะไรเกี่ยวกับหลวงพ่ออุตตมะ?) มองไปรอบๆ ก็สมแล้วที่พม่าได้ชื่อว่า "ดินแดนเจดีย์สี่พันองค์" (แถมน่าจะมากกว่า) เพราะแค่เมืองชายแดนเล็กๆ ที่นี่ พอมองออกไปยังเนินเขารายล้อมก็ยังจะพบว่ามีเจดีย์สีทองอร่ามตั้งอยู่บนเพิงผาเกือบทุกแห่งที่สายตากวาดไปถึง


 


บางจุดก็ไม่น่าเชื่อว่าบุกบั่นขึ้นไปสร้างได้อย่างไร เพราะเป็นยอดเขาและรอบข้างคือเหว  ดังนั้น หากใครคิดเที่ยวพญาตองซูภายในวันเดียวให้ทั่วคงไม่หมู


 


อีกอย่างที่ผมได้ทราบมาคือต้องระวังคือการเดินสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะอาจเจอสายตาขี้สงสัยทหารหม่อง เราพึงระลึกเสมอว่าประเทศนี้แม้ผู้คนและชาวบ้านธรรมดาจะใจดี แต่ผู้ปกครองก็เป็นเผด็จการ มีความล้าหลังทางการเมืองอยู่ค่อนข้างมาก เพราะพี่สปึ้ด (SPDC-รัฐบาลทหาร) เล่นส่งสายลับฝังตัวทุกพื้นที่แม้กระทั่งที่นี่


 


แถวชายแดนนี่แหละ ผมเห็นกับตามาแล้วว่าสายลับพม่าลงทุนหาข่าวโดยบวชในวัดมอญด้วยซ้ำ…


 


ไม่ต้องไปมองที่ไหนไกล ขนาดหม่องตู่ยังต้องเอาบัตรอนุญาตขับรถรับจ้างของเขาทำเป็นพวงกุญแจเสียเลย เพราะโดนตรวจบ่อยมาก และเขาไม่ยอมคุยกับผมเรื่อง "ซูจี"


 


ไม่แปลกกระมัง หากคนมอญ พม่า ระดับชาวบ้านธรรมดาจะหันหน้าเข้าหาพระพุทธศาสนาและเคร่งครัดมาก เนื่องจากดูเหมือนจะเป็นทางออกเดียวของชีวิตที่จะทำให้ลืมการเมืองและความเลวร้ายของเผด็จการลงได้บ้าง  ความกดดันที่พวกเขาได้รับผมสัมผัสได้ เพราะเวลาเดินไปโน่นนี่ที่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวผมยังรู้สึกได้ว่ามีสายตาบางอย่างมองจากคนในเครื่องแบบ


 


                                                      


                                            ระหว่างเส้นทางในเขตชานเมืองพญาตองซู


 


- 3 -


 


"มิงกะลาบา แดซูจินบาแต" (ขอบคุณมาก)


หลังแยกกับหม่องตู่ที่จุดผ่านแดน ผมเดินผ่านเจดีย์น้อย 3 องค์และมองกลับไปเมืองพม่า


 


…ผมนึกถึง "เธอคนนั้น" ที่หม่องตู่ไม่ยอมพูดถึงขึ้นมา


วันนี้เธออายุ 60 ปีแล้ว และยังคงยืนหยัดต่อสู้ด้วยหัวใจทรนงภายในบ้านพักของตนเองอย่างเด็ดเดี่ยว ขณะที่คนทั่วโลกจัดงานฉลองให้กับเธอเมื่อ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา


 


ผมเชื่อเสมอว่าเธออยู่ในใจของชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยในแดนพุกามประเทศตลอดมา  จากการอ่านแววตาของหม่องตู่ ของชนกลุ่มน้อย ของคนกะเหรี่ยง


 


…และถึงที่สุด แววตาของชาวบ้านในพม่าที่ผมได้พบทุกคน