Skip to main content

ต้มยำกุ้ง : การต้มยำทำแกงความเป็นไทย

คอลัมน์/ชุมชน

 



ถ้าหากดูภาพยนตร์เรื่อง "ต้มยำกุ้ง" อย่างไม่คิดอะไรมาก นอกจากการเสพความบู๊บันเทิงราคาร้อยกว่าบาทหรือดูเพื่อฆ่าเวลาแล้ว ก็คงจะได้ในสิ่งที่อยากได้ไป แต่ถ้าต้องการเห็นอะไรที่นอกเหนือไปจากความบันเทิงราคาร้อยกว่าบาทแล้วคงจะต้องผิดหวังอย่างแน่นอนกับภาพยนตร์เรื่องนี้


 


มีประเด็นมากมายให้วิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์รายได้มากเรื่องนี้ อาทิ เรื่องความสมเหตุสมผลและความเป็นไปได้ เช่น ตอนที่เหล่าคนร้ายซึ่งก็เป็น "คนบ้านเดียวกัน" ขโมยช้างพลายที่มีงางอนงาม รวมทั้งขโมยลูกช้างในงานประกวดช้างท่ามกลางผู้คนมากมายก่ายกองอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ไม่สมเหตุสมผล หรือการเอาช้างไปขายถึงออสเตรเลีย หรือการออกตามหาช้างถึงออสเตรเลียโดยลำพังของ "พระเอกบ้านนอก" ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ซักคำ  หรือการที่พระเอกมีบทพูดอยู่ไม่กี่ประโยค (ประมาณว่าไม่ต้องพูดอะไรมาก บู๊ล้างผลาญลูกเดียว)


 


หรือการที่หัวหน้าตัวโกงที่เป็นรักร่วมเพศ     เอาโครงกระดูกช้างพลายไปประดับตกแต่งใส่เสื้อผ้าสวยงามแล้วสวมทับจินตนาการอันเมลืองมลังของตนเองลงไป ฯลฯ ฉากนี้แปลกดีเพราะชวนให้ตั้งคำถามว่า วัฒนธรรมของหัวหน้าตัวโกงที่เป็นชาวต่างชาติและรักร่วมเพศจะให้ความสำคัญกับช้างมากน้อยแค่ไหน มากถึงขนาดที่จะจินตนาการถึงความปรารถนาของตนเองผ่านสัตว์อย่าง "ช้าง" ?


 


นอกจากหนังเรื่องนี้จะมีฉากที่ไม่สมเหตุสมผลเต็มไปหมดแล้ว ยังมีฉากที่ล่อแหลมหมิ่นเหม่อีกหลายฉาก เช่น ฉากเต้นยั่วยวนของ "นางเอก" ในอ่างโคลน  ผมคิดว่าฉากแบบนี้ทำให้หนังเรื่องนี้ดูต่ำลงไปมาก เพราะมันชวนให้คิดหนังบู๊สมัยก่อนที่จำเป็นต้องมี "ดาวยั่ว" ควบคู่ไปกับฉากยิงต่อสู้  ผมไม่รู้ว่าเป็นแบบฉบับที่ตายตัว (stereotype) หรือเปล่า ที่หนังบู๊จำเป็นต้องมีฉากยั่วยวนของผู้หญิง มีฉากร่วมเพศ ?


 


และนอกจากฉากหมิ่นเหม่ทำนองนี้ซึ่งก็อยู่มีไม่น้อยเช่นกัน การพูดจาหยาบคายของตัวแสดงอย่าง "หม่ำ จ๊กมก"  ก็เป็นอะไรที่ระคายหูอยู่ไม่น้อย    ผมรับไม่ได้การพูดใส่หน้าผู้ชมของตัวละคร "หม่ำ จ๊กมก" ว่า "ไอ้สัตว์" "ไอ้เหี้ย"  อันที่จริงถ้ามีสมองคิดซักหน่อย การจะทำให้ผู้ชมรู้สึกตลกไม่จำเป็นต้องพูดคำหยาบพวกนี้ก็ได้ ถูกต้องว่าคำหยาบ ๆ พวกนี้เป็นคำที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันของคนบางกลุ่ม แต่ที่รับไม่ได้อยู่ตรงที่การที่ "ผู้ชม" ต้องนั่งฟัง "คนที่ไม่รู้จักกัน" พูดคำหยาบใส่หน้าเพื่อทำให้ตลก!


 


ผมคิดว่ามุกตลกต่ำ ๆ แบบนี้ในหนัง ถ้าตัดออกไปได้ก็น่าจะดี


 


อันที่จริงหนังเรื่องนี้สู้หนังเรื่องที่แล้วคือ "องค์บาก" ไม่ได้เลยในเกือบทุกด้าน รวมทั้งฉากบู๊ซึ่งซ้ำ ๆ กัน   ท่วงท่าในการต่อสู้ของพระเอกมีอยู่ไม่กี่ท่า ท่าที่ "พระเอก" จับมือ แขน หรือเท้า หรือขา ของคู่ต่อสู้แล้ว "บิด" หรือ "หัก" ปรากฏอยู่มากมายตลอดทั้งเรื่อง รวมไปถึงท่าที่ "พระเอก" กระโดดใช้หัวเข่าทิ่มไปข้างหน้าก็มีมากจนเฝือ


 


นอกจากจะทำให้รู้สึกมันส์แล้ว ฉากบู๊บางทีทำให้รู้สึกสะอิดสะเอียนได้ไม่น้อยเหมือนกัน ตอนที่ "พระเอก" ต่อสู้กับ "ตัวโกงร่างยักษ์" ในตอนท้าย ๆ ของเรื่องไม่รู้สึกว่ามันมันส์เลยแม้แต่น้อย เพราะนอกจากคู่ชกจะไม่ทัดเทียมกันในทางรูปร่างหน้าตาแล้ว เนื้อเผละ ๆ ของตัวโกงร่างยักษ์ซึ่งเคลื่อนไหวเชื่องช้าที่ถูกเตะ ถูกตี ให้ความรู้สึกคลื่นไส้ได้มากกว่าเมามันส์


 


.......


 


ชื่อเรื่องว่า "ต้มยำกุ้ง" ก็เป็นอะไรที่ไร้เหตุผลโดยแท้จริง เพราะอาหารไทย (หรือเปล่า?) อย่าง "ต้มยำกุ้ง" หรือที่เป็นชื่อร้านอาหาร (ในภาพยนตร์) ในออสเตรเลียก็ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องอะไรด้วย


 


แต่ก็พอเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้เน้น "ความเป็นไทย" เพื่อ "ขายฝรั่ง" มากเกินไป จึงทำให้หนังดูด้อยลงไปมากในสายตาของคนไทยด้วยกัน


 


หนังเร่ขาย "ความเป็นไทย" ไปตั้งแต่ชื่อเรื่อง "ต้มยำกุ้ง" ซึ่งผู้กำกับบอกว่ามันจะช่วยให้ฝรั่งรู้จักทันทีหากได้ยินชื่อนี้ (ดังนั้น ชื่อเรื่องจะเกี่ยวพันกับเนื้อหาหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น) ในขณะที่ชื่อเรื่อง "องค์บาก" ฝรั่งได้ยินแล้วจะ "ไม่เก็ท"


 


นอกจาก "ชื่อเรื่อง" แล้ว  สัตว์ "ช้าง" ซึ่งว่ากันว่าเป็น "สัตว์สัญลักษณ์" อย่างหนึ่งที่แสดงถึง "ความเป็นไทย" ก็ถูกนำมา "เสนอ" จนออกนอกหน้า ทั้งยังทำให้ช้างเกือบจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปเลยทีเดียว แต่ผมสงสัยว่าในความเป็นจริง ช้างในบ้านเราอย่างที่เร่ร่อนในเมืองใหญ่หรือที่ถูกควาญช้างสับโขกนั้นคงจะไม่ได้ "เกือบศักดิ์สิทธิ์" อะไรเลย ?


 


ที่น่าสนใจและตลกก็คือ "ความเป็นไทย" ในภาพยนตร์สามารถย้อนไปได้ถึงตอนที่กษัตริย์ทำศึกสงครามบนหลังช้างกับข้าศึกต่างชาติ ตัวเอกจะอ้างอิงรำลึกถึงฉากนี้หลายครั้งและทุกครั้งที่ย้อนไปหา "ความเป็นไทยในอดีต" ที่กษัตริย์ทรงทำศึกสงครามกับข้าศึกบนหลังช้าง "ความเป็นไทย" ก็จะวิรังรองสว่างไสวให้พลังแก่ "พระเอก" ในการต่อสู้กับพวก (ข้าศึก) ที่ขโมยช้างซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับการขโมยความเป็นไทย ?


 


จากหนังเรื่องนี้ ความเป็นไทยและความเป็นข้าที่จงรักภักดี (ต่อเจ้า) เป็นอะไรที่แยกกันไม่ออก ดังนั้น ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของพ่อของ "พระเอก" และอาจรวมถึงตัว "พระเอก" ด้วยคือการถวายช้างนั้นแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว !


 


..….


 


ถึงตอนนี้ เราได้สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นไทยที่โดดเด่นมากในหนังเรื่องนี้ 3 อย่างแล้ว คือ ชื่อเรื่อง "ต้มยำกุ้ง"  "ช้าง" และ "การเป็นข้าที่จงรักภักดี" แต่มีอีกประการหนึ่งที่โดดเด่นมากเช่นเดียวกัน แต่อาจจะเป็นด้านที่หลายคนไม่ปรารถนาจะรับรู้ก็คือ "กะหรี่ไทย"


 


"กะหรี่ไทย" ขึ้นชื่อลือชาไม่แพ้ "ต้มยำกุ้ง" และเป็นสินค้าส่งออกไปนานาประเทศเกือบทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา  ญี่ปุ่น รวมทั้งในภาพยนตร์เรื่องนี้คือประเทศออสเตรเลีย


 


ชาวต่างชาติรับรู้ถึงชื่อเสียงของ "กะหรี่ไทย" เป็นอย่างดีถึงขนาดที่บรรจุนิยามความเป็นไทยนี้ไว้ในพจนานุกรมลองแมน (แต่ก็ได้รับการทักท้วงต่อต้าน จากคนซึ่งเห็นแต่ด้านดีของความเป็นไทย) และ "นางเอก" ของหนังเรื่องนี้ก็มีศักดิ์เป็น "กะหรี่" ด้วย  ดังนั้น "ความเป็นไทย" ในหนังเรื่องนี้จึงพิลึกพิลั่นดี 


 


ไม่จำเป็นต้องใช้มุมมองแบบเฟมินิสต์ก็จะเห็นได้ค่อนข้างชัดว่า หนังเรื่องนี้ให้คุณค่าสถานะของผู้หญิงไม่มากนัก "นางเอก" จึงเป็นได้แค่กะหรี่ที่ไม่มีบทบาทอะไร ส่วนผู้หญิงคนอื่น ๆ ก็เป็นเพียง "เด็กเสิร์ฟ" ที่ดูเหมือนจะตัวปัญหาด้วยซ้ำไป เทียบไม่ได้เลยกับตัวประกอบค่าตัวแพงอย่าง "หม่ำ    จ๊กมก"  ที่เป็นถึงตำรวจไทยในประเทศออสเตรเลีย


 


ความเป็นไทยอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ไม่ว่าจะในหนังเรื่องนี้ หรือในขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านเบียร์ช้างเข้าตลาดหุ้นคือ "ศาสนาพุทธ"   ดังนั้น จึงต้องมี "ฉากบังคับ" ที่เกี่ยวกับวัด กับพระ แต่หนังเรื่องนี้ไปไกลอย่างน่าเศร้าเมื่อให้พระฝรั่งมาเทศนาธรรมให้คนไทยฟัง ความเป็นไทยว่าด้วยเรื่องศาสนาพุทธจึงมีลักษณะอินเตอร์สุดกู่


 


........


 


ในบางลักษณะ "ความเป็นไทย" เป็นดั่งเครื่องมือคล้ายจอบเสียมที่บางคนที่ครอบครองเป็นเจ้าของมันอยู่สามารถหยิบฉวยเอาไปใช้ประโยชน์ได้  


 


และในบางลักษณะ "ความเป็นไทย" ก็เป็นเหมือนสินค้าอย่างหนึ่งทำนองเดียวกับที่ "กะหรี่ไทย" ก็เป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่สามารถเอาไปขายต่างชาติ (และคนไทยด้วยกันเอง) ได้โดยผ่านการถ่ายทอดออกมาให้เห็นกันในโลกของภาพยนตร์ที่ไม่ต้องคำนึงกันถึงเรื่องศิลปะแต่อย่างใด.