Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ (16) Co-payment กับคุณภาพเป็นคนละเรื่อง

ต้องไม่มี co-payment หรือการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


หากประชาชนต้องการความเท่าเทียมในระบบหลักประกัน ต้องไม่ถอยให้กับ co-payment หรือการร่วมจ่ายแม้แต่น้อย


การร่วมจ่ายมากกว่า 30 บาท เพื่อแลกกับบริการอะไรบางอย่างหรือยาบางตัวที่อ้างว่าดีเป็นเรื่องที่กระทำมิได้และหากสังคมต้องการความเท่าเทียมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สังคมก็ไม่ควรอนุญาตให้ทำเช่นนั้น


บริการอะไรบางอย่างหรือยาอะไรบางตัวที่อ้างว่าดีนั้น หากดีจริงก็ต้องให้แก่ผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ กล่าวคือ หากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าต้องให้ก็แปลว่าต้องให้โดยไม่ต้องร่วมจ่าย หากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่ต้องให้ก็แปลว่าไม่ต้องให้แล้วจะยัดเยียดให้แก่ผู้ป่วยทำไม


ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก็ตาม บริการอะไรบางอย่างที่ว่าดีก็ตาม ยาอะไรบางตัวที่ว่าดีก็ตามเป็นประเด็น " มาตรฐาน" มิใช่ประเด็นการเงินการคลัง มาตรฐานว่าเช่นไรก็ควรทำเช่นนั้น ไม่ควรทำต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่ควรทำเกินเลยมาตรฐานจนถึงระดับที่เรียกได้ว่าฟุ่มเฟือย


ประเด็นการเงินการคลังหากไม่พอก็ทำให้พอ จะด้วยการเพิ่มภาษีหรือด้วยการบริหารการกระจายงบประมาณเสียใหม่ก็ทำเสียสักอย่าง แต่มิใช่แก้ปัญหาการเงินการคลังด้วยการร่วมจ่ายเพราะเป็นคนละเรื่อง


การเพิ่มภาษีเป็นการร่วมจ่ายที่เรียกว่า pre-paid นั่นคือจ่ายก่อนรับบริการ คนรวยจ่ายมาก คนจนจ่ายน้อยเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว แต่ต้องจ่ายก่อนเกิดบริการ ไม่ควรยอมให้จ่ายขณะเกิดบริการและจ่ายที่จุดบริการ


เพราะการจ่ายค่าบริการพิเศษขณะเกิดบริการที่จุดบริการทำให้ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์หรือ " มาตรฐาน" เบี่ยงเบนได้โดยง่าย ด้วยฝีมือการทำตลาดอันชาญฉลาดของบริษัทเวชภัณฑ์การทางการแพทย์และบริษัทยาข้ามชาติสามารถทำให้วิชาการแพทย์หมองมัวและเบี่ยงเบนไปได้โดยไม่ทันระวังตัว


เช่น การผ่าตัดแบบนี้ดีกว่าแบบนั้น เพราะเช่นนั้น ๆๆๆๆ ยาตัวนี้ดีกว่ายาตัวนั้น เพราะอย่างนั้นๆๆๆๆ เหตุผลเช่นนั้น ๆๆๆๆ และอย่างนั้น ๆๆๆๆ นับวันยิ่งฟังได้ยากขึ้นทุกที ๆ ว่าควรเชื่อหรือไม่ คล้าย ๆ กรณีกินไข่ไก่ทุกวันได้หรือเปล่าก็เช่นกัน พูดกันอย่างยุติธรรมแล้วซุปไก่สกัดก็สามารถอ้างได้เช่นกันว่าดื่มทุกวันแล้วแข็งแรงแบบนั้น ๆๆๆๆ


ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรแยกเรื่อง " มาตรฐาน" ออกไปจากเรื่องการเงินการคลัง


ณ ปัจจุบัน ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติพอเพียงสำหรับประชาชนทุกคน ชุดสิทธิประโยชน์สำหรับรักษาพยาบาลพอเพียงสำหรับมาตรฐานการรักษาพยาบาลโรคภัยใกล้เจ็บเกือบทั้งหมด เรื่องที่ควรทำคือการเพิ่มงบประมาณด้วยกลไกทางภาษี หากร่วมจ่ายต้องเป็นการร่วมจ่ายด้วยระบบ pre-paid ส่วนการร่วมจ่ายที่จุดบริการขณะเกิดบริการนั้นไม่ช่วยแก้ปัญหาการเงินการคลังแต่อย่างใดเลย


ในทางตรงข้ามมีแต่จะทำให้ทรัพยากรสุขภาพรั่วไหลไปกับวิธีรักษาพยาบาลและยาที่เกินจำเป็นโดยไร้ประโยชน์มีผู้มีฐานะท่านหนึ่งถามว่าเขายินดีจ่าย 50,000 บาทเพื่อแลกกับวิธีรักษาพยาบาลและยาที่ดีกว่าเดิม หากให้เขาจ่ายด้วยระบบ pre-paid เขาจะรู้ได้อย่างไรว่า 50,000 บาทของเขาแลกกับอะไร


คำตอบคือต่อให้ท่านจ่าย 50,000 บาทก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าท่านจะได้รับวิธีรักษาพยาบาลที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเดิมก็เป็นการรักษาตามมาตรฐานอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่า 50,000 บาทของท่านสามารถแลกกับวิธีรักษาพยาบาลที่ฟุ่มเฟือยกว่าเดิม แต่ที่ดีกว่าเดิมนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


หากคนรวยอยากช่วยคนจนจริง ขอให้ช่วยเหลือในระบบภาษีหรือระบบ pre-paid ใด ๆ ไม่ควรจ่ายเงินแล้วชี้เอาว่าอยากได้อะไร รวมทั้งไม่ควรจ่ายเงินแล้วเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเลือกให้ท่านว่าท่านควรได้อะไร


สำหรับการรักษาพยาบาลแล้ว มีวิธีเดียวคือรักษาตามมาตรฐาน การเงินการคลังเป็นอีกกรณีหนึ่ง


จ่ายเงินแล้วจะได้มาตรฐานนั้นไม่จริง อดีตที่ผ่านมาหลายปีมีคนมากมายจ่ายเงินส่วนตัวไปมากมายแล้วได้มาตรฐานจริงหรือ


ณ ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าทั้งมาตรฐานและการเงินการคลังในระบบหลักประกันยังไม่ดีที่สุด แต่กลไกพัฒนาทั้งสองเรื่องเป็นคนละส่วนอยู่ดี