Skip to main content

หนึ่งราตรีที่กระบี่ ฟังเสียงคนดีที่สังคมไม่เข้าใจ

คอลัมน์/ชุมชน

1


ชื่อเสียงของจังหวัดกระบี่ พังงา ตรัง สุราษฎร์ธานี มักเป็นที่รู้จักในเรื่องชายทะเล เกาะอ่าว ป่าเขาที่งดงาม แต่สักกี่คนจะรู้ว่าภายใต้ผลประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจสวนปาล์ม สวนยางพารา นากุ้ง มีความทุกข์ยากของประชาชนระดับรากหญ้าที่รวมตัวกันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ในชื่อเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน เครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ เครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้


 


แต่การต่อสู้ของพวกเขาขาดช่องทางสื่อสารให้สังคมภายนอกเข้าใจ  เพราะไม่มีสื่ออยู่ในมือ จึงถูกทำลายความชอบธรรม ด้วยการป้ายสีให้เป็นผู้บุกรุก ถูกตั้งข้อหาออกหมายจับ ต้องดิ้นรนหาคนค้ำประกันมูลค่ากว่าสองล้านบาท


 


คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความแห่งประเทศไทย และมูลนิธิที่ทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิคุ้มครองพันธุ์พืชและสัตว์ป่าในพระบรมราชินูปถัมภ์ และมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้ร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านในการลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อเท็จจริง ประสานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกทั้งระดับพื้นที่และระดับนโยบาย


 


คณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่กระบี่ เพื่อตรวจสอบกรณีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ป่าห้วยน้ำขาว ต.ห้วยน้ำขาว ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม กับสวนป่าห้วยน้ำขาวขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กรณีที่ราชพัสดุ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ และกรณีบริษัทกุ้ยหลิน จ.พังงา ถูกกล่าวหาว่ารุกที่ของชาวบ้าน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่อยู่ ที่ทำกิน ที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน


 


ภาพที่คณะกรรมาธิการฯ  ได้เห็นประจักษ์ด้วยตาที่ป่าห้วยน้ำขาว คือสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์  อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของชุมชน เป็นแหล่งอาหาร สมุนไพรที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัย มีรังที่หมีขอ ได้อาศัยอยู่ 3-4 รัง เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า แต่ที่น่าสลดใจที่เห็นต้นไม้ขนาดใหญ่ถูกไถ ล้มระเนระนาด ทั้งต้นไม้ตะเคียนทราย ต้นโต  ถูกไถทิ้งทับถมคลอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงผืนนา ผืนไร่ของคนใน 4 ตำบล หลายร้อยครอบครัว ทำให้ในปี 2548 ชาวบ้านไม่ได้ทำนา เพราะน้ำแห้ง


 



สวนป่าห้วยน้ำขาวทำลายป่าต้นน้ำ


 


ข้อตกลงเบื้องต้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติห้วยทรายขาว ผู้ว่าจังหวัดกระบี่ รองผู้ว่าจังหวัดกระบี่ นายอำเภอคลองท่อม ผู้จัดการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) หาดใหญ่ หัวหน้าสวนป่าห้วยน้ำขาว พรุคันนา สรุปว่า พื้นที่ที่สวนป่าได้ไถดันไปแล้วในปี 2547 จำนวน 150 ไร่ ให้ปลูกป่าและฟื้นฟูเป็นป่าธรรมชาติในรูปแบบป่าชุมชน โดย  ออป. จะไม่ไถรุกล้ำพื้นที่ป่าธรรมชาติอีก และจังหวัดจะเพิ่มสัดส่วนของชาวบ้านในคณะกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาที่ดิน เพื่อนำไปสู่การสำรวจพื้นที่ กำหนดแนวพื้นที่ป่าชุมชนและแก้ไขปัญหาร่วมกัน


 


ส่วนคดีที่ ออป.ฟ้องร้องชาวบ้าน  2 คดี  คือ 1) ฟ้องร้องผู้ใหญ่บ้านที่ทำหน้าที่คุ้มครองป่าชุมชนโดยร่วมมือกับชาวบ้านยึดรถตีนตะขาบที่เข้าไปไถดันป่า พร้อมด้วยพนักงาน ออป.2 คน ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2547 และ 2) ฟ้องตัวแทนกลุ่มข้าวกล้อง ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มสตรีสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำห้วยทรายขาว ที่สร้างอาคารชั่วคราว เป็นศูนย์จำหน่ายข้าวกล้อง ข้าวซอมมือ จากพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ชาวบ้านปลูกในนาและไร่ จำหน่ายผ้าฝ้ายมัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ ผ้าบาติก เพื่อเป็นรายได้เลี้ยงดูครอบครัว กรรมาธิการขอให้เจรจาประนีประนอม ให้อภัยกัน และถ้าเป็นไปได้ขอให้ถอนฟ้อง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ


 


2


กรณีที่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน จำนวนกว่า 20,000 คน ได้กระจายกันเข้าตรวจสอบพื้นที่สวนปาล์มในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่ 13 แห่ง เมื่อเดือนมิถุนายน ถึงธันวาคม 2546  ว่านายทุนได้ใช้พื้นที่โดยมีสัญญาเช่าถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้ามีสัญญาได้ทำตามสัญญาหรือไม่  ใช้พื้นที่เกินจำนวนที่ขอเช่าหรือไม่ หมดสัญญาแล้วแต่ยังใช้พื้นที่ต่อหรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลยึดพื้นที่ที่นายทุนเข้าดำเนินการปลูกสวนปาล์มโดยไม่ถูกกฏหมายมาจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน


 


หลังจากที่รัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง แกนนำและสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินเพื่อคนจนจำนวน 13 คน ถูกจับกุม ถูกตั้งข้อหาบุกรุก ลักทรัพย์ ของผู้มีอาชีพเกษตรกรรม ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการและไม่กระทำการใด ๆ แต่ละรายต้องใช้วงเงินประกันตัวคดีละ 150,000 – 180,000 บาท บางคนโดน 2-3 คดี ต้องหาผู้มีจิตใจรักความเป็นธรรมมาประกันรายละ 3-5แสนบาท ซึ่งดิฉันใช้ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ประกันตัวผู้ต้องหา 3 ราย เพราะต้องการสนับสนุนพลังประชาชนให้เข้มแข็ง ทำหน้าที่ตรวจสอบสมดุลทางการเมืองได้อย่างมีศักดิ์ศรี จึงมีความผูกพันดั่งญาติสนิทกับประชาชนผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ ได้เทียวไปเทียวมาระหว่างกรุงเทพ-กระบี่ เพื่อยื่นประกันตัวที่ศาลกระบี่หลายครั้ง


 


ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 ดิฉันได้ประสานงานกับคุณสมเกียรติ ประชุมรัตน์ นักวิจัยโครงการสิทธิชุมชนศึกษาภาคใต้   (ผู้เคยมาทำงานโครงการรักษ์แม่ลาว จังหวัดเชียงราย อยู่หลายปี) ว่า ดิฉันในฐานะประธานอนุกรรมาธิการความมั่นคงของฐานทรัพยากร ในกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์วุฒิสภา ขอมาตามเรื่องสวนป่าห้วยน้ำขาว และกรณีปัญหาที่ดิน ป่าไม้ในภาคใต้ อยากจะนัดคุยกับเครือข่ายและขอนอนในหมู่บ้านด้วย เพื่อเห็นความจริงอย่างเป็นธรรมชาติ


 


หนึ่งราตรีที่ประทับใจ จึงเกิดขึ้นที่บ้านห้วยน้ำขาว ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ชาวบ้านหญิงชายเกือบยี่สิบคน นั่งล้อมวงใต้ต้นไม้ใกล้ที่ทำการกลุ่มข้าวกล้อง  "น้องสาว"   แกนนำหญิงใจแกร่งกล้า ได้พาไปดูผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องที่บรรจุถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม เป็นข้าวปลอดสารพิษ ราคาถุงละ 25 บาทกับดูผลงานผ้าบาติกที่น้องสาวเขียนเอง สีฟ้า สดใส ลายดอกไม้  ดิฉันจึงช่วยอุดหนุนทราบว่ามีเครือข่ายรับซื้อด้วยดี ไม่มีปัญหาการตลาด ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามกำลัง พอจะเริ่มคุยก็มืดเสียแล้ว ไฟฟ้าก็ไม่มี (เพราะอยู่ในช่วงฟ้องร้องกัน) ยุงเริ่มมา จึงเคลื่อนขบวนมาคุยที่ใหญ่บ้าน หลังจากรองท้องด้วยปูม้านึ่งกับหอยแมลงภู่ที่ชาวบ้านช่วยกันทำ


 


วงสนทนาเริ่มตั้งแต่ทุ่มครึ่ง ติดพันลื่นไหลเพราะชาวบ้านอยากจะระบายความทุกข์ที่ท่วมท้น จนดิฉันเป็นห่วงผู้ที่มาไกลถึงสุราษฏร์ธานี จึงขอเลิกตอนห้าทุ่มครึ่ง ด้วยกินอาหารค่ำตอนสามทุ่มกว่า ๆ เป็นแกงส้มปลากับผักสดแสนอร่อย ฝีมือของกลุ่มแม่บ้าน


 


3


เรื่องแรกที่คุยคือ สถานการณ์สวนป่า ออป. ซึ่งมีพื้นที่ในจังหวัดกระบี่มากที่สุด เขตอำเภอเขาพนม คลองท่อม อ่าวลึก ในอำเภอเมือง พังงา อ.วังวิเศษ จ.ตรัง และอำเภอหาดใหญ่ รวมทั้งสิ้น 51,780 ไร่ ซึ่งชาวบ้านสงสัยว่า ทำไม ออป.จึงปลูกแต่ปาล์มน้ำมัน กับยางพารา ทั้งที่ชาวบ้านปลูกได้เก่งกว่า ทั้งยังก่อปัญหาสวนป่ารุกที่ป่าชุมชน รุกพื้นที่ของชาวบ้าน น่าจะทบทวนนโยบายเกี่ยวข้อง ออป.ทั่วประเทศ ว่ายังมีความเหมาสมและจำเป็นอยู่หรือไม่


 


เรื่องที่สอง คือ นโยบายปลูกสวนปาล์มทั่วประเทศ 13 ล้านไร่ ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่นา ห้วยหนองคลองบึง ถูกรุกกลายเป็นสวนปาล์มไปหมด (ดิฉันมองจากเครื่องบิน เห็นแต่สวนปาล์ม สวนยางเป็นล๊อกสี่เหลี่ยมเต็มไปหมด)   นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเอื้อให้นายทุนบุกรุกป่าขนานใหญ่ รายละนับหมื่นไร่ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันส่งเข้าโรงงาน (ทุก 5 หมื่นไร่มีโรงงาน) ซึ่งปัจจุบันกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มมากที่สุด และเป็นจังหวัดแรกที่ปลูกปาล์มน้ำมันรัฐบาลกำลังส่งเสริมให้กระบี่เป็นเมืองน้ำมันปาล์ม (PalmOilCity) มีโรงงานน้ำมันปาล์ม 42 โรง


 


สวนปาล์มก่อปัญหาความแห้งแล้ง เพราะปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่กินน้ำมาก ถึงต้นละ 20-30 ลิตรต่อวัน ทำให้สูญเสียแหล่งน้ำ จากที่ลุ่มกลายเป็นที่ดอน รัฐเคยทำวิจัยผลกระทบจากสวนปาล์มน้ำมันหรือไม่


 


โครงการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินถ้วนหน้า ให้แก่ชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อย เพราะที่ทำกินถูกรุกจากนายทุน ผู้มีอิทธิพล แหล่งอาหารในธรรมชาติถูกทำลายจากพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวขนาดยักษ์ ทั้งสวนปาล์ม ยางพารา นากุ้ง  ซ้ำยังถูกโครงการอนุรักษ์ของรัฐทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยวางไข่ หลบภัย ของกุ้งหอยปูปลา ช่วยให้คนจนที่ไม่มีเรือออกทะเลได้จับหอยปูลา มาเลี้ยงลูกหลาน และขายได้สักวันละ 2-300 บาท


 



ป่าชายเลน


 


แต่การ "สางป่า" ภายใต้โครงการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้ป่าชายเลนที่เคยร่มเย็น กลายเป็น "ป่าร้อน น้ำร้อน" สัตว์ที่เคยอาศัยร่มเงาต้องหนีไปอยู่ที่อื่น แม้แต่กุ้งที่ชาวบ้านห้วยน้ำขาวเคยซ้อนได้ครั้งละ 10-20 กิโลกรัม เอามาทำกะปิเคยแท้ ๆ กินกัน เดี๋ยวนี้ก็หายากมาก


 


ชาวบ้านอยากให้วุฒิสภาร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรอนุรักษ์ นักวิชาการ จัดเวทีเสวนาปัญหาที่ดิน ป่าไม้ของภาคใต้ เพื่อให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของปัญหาที่ชาวบ้านประสบอยู่ และเสนอทางออกเชิงนโยบายที่จะแก้ความทุกข์ของชาวบ้านได้ ดังที่ท่านนายกฯทักษิณได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ว่า "จะส่งเสริมให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างเพียงพอโดยวางแผนการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ  การจัดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ  และการใช้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะปรับปรุงโครงการสร้างการผลิตภาคการเกษตร  การใช้ประโยชน์จากที่ดิน  ประสิทธิภาพ ศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต  รวมทั้งมาตรการควบคุมพื้นที่เพื่อให้ใช้สำรับการเกษตรอย่างแท้จริง"


 



ม๊อบสวนปาล์ม จ
.กระบี่ ก่อนถูกสลายการชุมนุม


 


4


กลางดึกของคืนวันที่ 16 "น้องสาว" ผู้มีเมตตามานอนเป็นเพื่อนดิฉัน ได้เล่าถึงปัญหาของเธอ ซึ่งมีหนี้สินจากภาระกิจการทำงานของกลุ่ม ทำให้มีความเครียด จนเริ่มมีอาการป่วยทางกาย ต้องไปหาหมอ อันเป็นปัญหาร่วมของแกนนำคนสำคัญทั่วประเทศ ซึ่งคนในสังคมควรทำความเข้าใจและหาทางช่วยเหลือ อย่าปล่อยให้แกนนำผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต้องถูกปัญหาทุกด้านรุมเร้า จนเลิกรา เลิกสู้ เหลือแต่คนที่ตามน้ำ ตามกระแสหลักของสังคม คนกินคน มีชีวิตรอดไปวัน ๆ อย่างไร้ความหมาย


 


หนึ่งราตรีที่กระบี่ ทำให้ดิฉันประทับใจในศักดิ์ศรีของคนดีที่ไม่กลัวอิทธิพลใด ๆ ขอเป็นกำลังใจให้ขบวนการภาคประชาชนเติบใหญ่แกร่งกล้า ท่าทายพายุของมิจฉาทิฐิ ชนะใจตนเอง ชนะใจสังคม ด้วยสัมมาทิฐิตลอดไป