Skip to main content

บทสรุปอาชญากรรมทางความคิด

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


แอน..แอ้น…แอ๊น……ในที่สุดศึกการต่อสู้ทางความคิด และศึกปะทะข้อมูล  ระหว่างผู้นำประเทศที่มีทั้งอำนาจบารมีเหลือล้น  เพราะมีทั้งนักวิชาการ และข้าราชการ (ลูกหาบ) อยู่ในมือและพร้อมที่จะน้อมรับคำสั่งของท่านผู้นำประเทศทุกเมื่อทุกเวลา  ไม่ว่าท่านนายกฯ จะสั่งให้หันไปทางไหน  (แม้แต่กระแอมยังสะดุ้งกันเลย)  ก็พร้อมจะสนองทันที กับชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่ยืนหยัดสู้ไม่ถอยก็จบลง   เรียกว่าจบเอาดื้อๆ  เป็นละครทีวีก็เรียกว่าจบไม่สมบูรณ์  ไม่สะใจคนดู


 


ท่านผู้ที่เคยติดตามเรื่องอาชญากรรมทางความคิดตอนก่อน ๆ  คงเข้าใจดีว่า  หากท่านผู้นำคิดจะทำอะไร ก็จะดันทุรังเอาให้ได้  ใครคัดใครค้านไม่มีฟัง  ตั้งท่าจะลุยท่าเดียว  ไม่ว่าจะเสียเงินเสียทองเท่าไรเพื่อแลกกับความต้องการ เป็นทุ่มไม่อั้น  (ก็มันไม่ใช่เงินตัวเองนี่เลยไม่เสียดาย)  เรียกว่าจ่ายแหลก  ตั้งแต่จ้างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  มาวิจัยมาศึกษา โดยที่ไม่ต้องการผลก็ยังทำได้  อนุมัติงบประมาณผ่านสภาผู้แทนราษฎรเป็นหมื่นล้านบาท โดยให้มีผลผูกพันหลายปี  จ้างคณะอาจารย์ออกแบบสะพาน ทั้งที่ข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ชัดเจนและยังหาบทสรุปไม่ได้    แล้วยังจะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ  อีกมากมายที่เป็นผลพวงจากโครงการนี้  คิด ๆ ดูแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า  1,000  ล้านบาท (ใครจะรับผิดชอบเนี่ย)


 


ถ้าถามว่า งานนี้ชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะใช่ไหม   คำตอบคงบอกว่าอาจจะใช่ (คิดเข้าข้างตัวเอง) แต่ไม่ใช่ทั้งหมด  เพราะคนอย่างท่านผู้นำเป็นคนที่ไม่พร้อมจะฟังใคร  โดยเฉพาะพวกที่คิดไม่เหมือนตัวเอง   และหากชาวบ้านกลุ่มนี้จับทิศทางอารมณ์ของท่านผู้นำไม่ถูก ก็มีสิทธิจะเพลี่ยงพล้ำได้เหมือนกัน  ก็ไอ้ที่คิดกันว่าชาวบ้านโง่ มันก็ไม่ใช่เรื่องจริงเสียทั้งหมดจริงไหม   เพราะหากชาวบ้านเล่นบทเก่า ๆ เช่น รวมตัวกันมาประท้วง เพื่อกดดันรัฐ ไม่มีทางสำเร็จ  ไม่ช้าก็หมดแรงไปเอง  ชาวบ้านต้องเป็นฝ่ายลงทุนสูง ทั้งเวลา ทั้งความอดทน และที่สำคัญคือวิธีนี้ท่านผู้นำไม่ชอบ และไม่ยอมรับฟังแน่  


 


แต่เมื่อชาวบ้านจับทางท่านผู้นำถูก ว่าหากจะสู้กับคนที่เชื่อมั่นในความคิดของตัวเองสูง  ต้องสู้กันด้วยข้อมูล  สู้กันด้วยเหตุด้วยผล  ด้วยเอกสารหลักฐานพอสมควร  จนทำให้กลุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เก่งเรื่องการรวบรวมข้อมูล การเขียนแผนที่ และการเสาะหาความรู้มาประกอบโดยอัตโนมัติ (ต้องขอบคุณท่านผู้นำ)


 


การต่อสู้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดด้วย 3 สาเหตุ คือ


1) รัฐบาลถังแตก ไม่มีเงินมาตอบสนองความต้องการได้ เพราะมันใช้งบเยอะ


2)  ท่านผู้นำเกิดสำนึกว่าสิ่งที่กำลังจะทำอยู่นี้  จะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนและสิ่งแวดล้อมเสียหาย  และ 


3)  เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงท่าน ที่ได้ทรงเล็งเห็นความเสียหายที่อาจจะเกิดจากโครงการนี้ จึงได้ทรงติติงจนทำให้ท่านผู้นำต้องยกธงยอมแพ้  (ข้อหลังมีเหตุผลที่สุด) 


 


เรื่องนี้สามารถใช้เป็นบทเรียน เพื่อให้ชาวบ้านกลุ่มต่างๆที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการของรัฐ  อย่าถ้อถอย อย่าคิดว่าสู้ไม่ได้  เพราะเรื่องนี้กลุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ไม่ใช่สู้ง่าย ๆ ตลอดระยะเวลาการต่อสู้  ชาวบ้านถูกแรงกดดันจากหลายด้าน  ทั้งจากชาวบ้านด้วยกันเองที่มองว่า  คนพวกนี้บ้า  รู้ว่าค้านไม่ได้แล้วยังดันทุรัง   บางกลุ่มมองพวกเราอย่างสมเพศ   ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มนักวิชาการ และข้าราชการที่ยืนอยู่ข้างรัฐ  เพราะคนพวกนี้มองพวกเราอย่างเหยียดหยาม และดูถูกข้อมูลที่ชาวบ้าน ใช้ความพยายามอย่างที่สุดเพื่อนำมาเปรียบเทียบ หักล้างข้อมูลทางวิชาการที่มองปัญหาด้านเดียวให้ได้มากที่สุด 


 


ถึงแม้ข้อมูลที่หามาจะถูกกล่าวหาว่าเป็นข้อมูลทางไสยศาสตร์ เชื่อไม่ได้ก็ตาม  แต่ด้วยความมุ่งมั่น ที่คนกลุ่มนี้คิดเสมอว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่สู้เพื่อตนเอง  แต่เป็นการต่อสู้เพื่อหวงแหนสมบัติชิ้นนี้ไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลาน   พลังจึงไม่มีตกเพราะใจคิดยกยอตัวเองอยู่เสมอว่า เรากำลังทำเรื่องดี ๆอยู่  แม้ว่าวันนี้ดูเหมือนเรื่องมันจะจบลงแล้ว  แต่ชาวบ้านก็ยังไม่วางใจเพราะท่านผู้นำใช้คำว่าหยุดไว้ก่อน  ไม่ได้ใช้คำว่ายกเลิกโครงการ ทำให้ชาวบ้านยังต้องคอยจับตาเฝ้าระวังด้วยความกลัวว่า ความคิดฆาตกรจะกลับมาสู่ท่านผู้นำอีกเมื่อไร  


 


วันนี้อาจจะพูดได้ว่า ชาวบ้านสามารถนอนหลับได้แล้ว  แต่ขอบอกว่าถึงหลับก็ยังหลับไม่สนิท  จึงอยากจะขอร้องท่านผู้นำว่า ให้ช่วยพูดคำว่ายกเลิกโครงการออกมาให้ชัด ๆ  และบอกว่าค่าเสียหายที่เกิดจากโครงการนี้ทั้งหมด ท่านจะยอมชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายออกไปจริงๆ ทีเถอะ เจ้าประคุณเอ๊ย       สาธุ 


 


ไม่ได้ขอมากไปใช่ไหม   แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า บ๊าย..บาย