Skip to main content

เรียนรู้จากดอกบัว

คอลัมน์/ชุมชน


 


 



 


 


บัณฑิต


 


พระพุทธเจ้าทรงจำแนกคนออกเป็นลักษณะต่างๆ โดยเปรียบกับดอกบัว 4 เหล่า เพื่อให้เห็นคนซึ่งมี 4 แบบ


 


แบบแรก ทรงเปรียบกับดอกบัวที่เน่าเสียแต่อยู่ในตม ไม่มีโอกาสได้เติบโต


แบบที่ 2 ทรงเปรียบกับดอกบัวที่โผล่ขึ้นได้จากตม แต่ยังคงอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถเติบโตขึ้นมาเหนือน้ำแบบที่ 3 ทรงเปรียบกับดอกบัวที่เกือบจะโผล่พ้นผิวน้ำแล้ว แต่หยุดการเติบโตเสียไม่สามารถพ้นจากน้ำได้เช่นกัน ซึ่งบัวแบบที่ 2 และ 3 นี้ จะตกเป็นอาหารของเต่า ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ


และแบบที่ 4 ทรงเปรียบกับดอกบัวที่เติบโตขึ้นจากโคลนตม สามารถโผล่พ้นผิวน้ำมาพบกับแสงตะวัน และปรากฏเป็นดอกบัวที่สวยงาม


 


พอดีช่วงนี้ ตรงกับจังหวะที่ผมกำลังอารมณ์ขุ่นๆ ข้นๆ เซ็งๆ เส็งเคร็งกับชีวิต  แต่อย่างไรไม่ทราบ เมื่อวานขณะค้นภาพบางภาพ สายตาดันมาหยุดกึกอยู่ที่ภาพๆ นี้  ทั้งๆ ที่ความจริงผมดูภาพนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และดูแบบผ่านๆ ตาทุกครั้ง ไม่ได้ใส่ใจเลยแม้แต่น้อย แต่มาตอนนี้ ดูแล้วกลับรู้สึกสบายใจอย่างน่าประหลาด


 


ผมเองเป็นปุถุชนคนหยาบผู้ซึ่งยังมีชีวิตอยู่กับทุกข์-สุข สลับกันไปมาเหมือนจังหวะเดินของเข็มวินาทีบนหน้าปัทม์นาฬิกา เกลือกตัวอยู่กับโลภะ โทสะ โมหะจริต และมีชีวิตอยู่ในทะเลของกิเลส


 


เวลาดีใจก็กินเหล้า เวลาเศร้าก็กินเหล้า ฝนตกก็กินเหล้า เพื่อนๆ น้องๆ มีปัญหาก็ชวนกันไป...กินเหล้า (อ้อ! ส่วนใหญ่พวกนั้นชอบกินเบียร์มากกว่า) แล้วก็ประสบความสำเร็จทุกครั้ง คือเมาแอ๋ เมาทั้งเหล้าเมาทั้งชีวิต


 


ดังนั้น เมื่อลองพิจารณาตัวเองเทียบกับบัวทั้ง 4 เหล่าแล้ว บอกไม่ได้จริงๆ ว่าผมเป็นดอกบัวแบบไหน แต่แน่ใจอย่างยิ่งว่าต้องไม่ใช่ดอกบัวที่พ้นน้ำแล้วแน่นอน


 


ท่านอาจารย์พุทธทาส มักกล่าวเสมอว่า เกิดเป็นมนุษย์ทั้งทีต้องให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดคือ นิพพาน และนิพพาน ก็ไม่ได้แยกออกไปจากวัฏสงสารเลย ท่านเปรียบกับต้นมะพร้าวที่อยู่กลางสระนาฬิเกร์ หมายถึง ต้นมะพร้าวที่โผล่ขึ้นกลางสระที่ล้อมรอบไปด้วยน้ำ หรือทะเลแห่งการเกิด-ดับ ทะเลแห่งทุกข์ ที่สำคัญคือ เป็นต้นมะพร้าวที่ ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง หมายถึงความทุกข์ทั้งปวงย่างกรายเข้ามาไม่ถึง


 


ผมตีความต่อเองว่า นิพพานนั้นอยู่ท่ามกลางสังสารวัฏ อยู่ท่ามกลางความทุกข์ ผู้ที่เข้าถึงนิพพานจึงต้องปรากฏแจ้งด้วยดวงตาเห็นธรรมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์  ซึ่งต้องค้นหาว่าอะไรคือสาเหตุของการเกิดทุกข์  อะไรจะเป็นหนทางที่หลุดพ้นจากทุกข์ และเดินไปตามหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ในที่สุด


 


คิดก็คิดได้ แต่ถ้าจะทำก็ยังห่างไกลนัก


 


วกกลับมาที่เรื่องของดอกบัว ภาพดอกบัวทำให้ผมสบายใจขึ้น ดอกบัวในภาพบอกอะไรกับผม


 


ผมรู้สึกว่า (อาจจะเป็นการ "รู้สึกไปเองว่า" ก็ได้) ดอกบัวกำลังบอกว่า ขนาดบัวที่พ้นน้ำแล้ว ยังมีเงาทอดลงบนผิวน้ำรอบๆ เพื่อสะท้อน เพื่อสำรวจตรวจตรา สำรวจกาย ใจ และจิตวิญาณของตัวเองอยู่เสมอ นับประสาอะไรกับบัวใต้น้ำอย่างผมที่จะไม่ลองหัดทบทวนตัวเองบ้าง ไม่อย่างนั้น เกิดอีกกี่ชาติกี่ชาติก็ยังเป็นบัวใต้น้ำอยู่นั่นแหละ ไม่ได้พบกับแสงตะวันสักที


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ ไอ้เรื่องงี่เง่าที่ผมเจอมา ก็ทำให้ผมต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่สถานการณ์ที่ผมรู้สึกว่างี่เง่า  ซึ่งมันก็ได้พัฒนาต่อมาเป็นความขุ่นข้องหมองใจ ที่สุดก็กลายเป็นตะกอนตกค้างอยู่ในใจ อย่างนั้นแล้วก็ทุกข์


 


เข้าใจก็เข้าใจได้ แต่ทำใจยอมรับน่ะก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะผมไม่ใช่บัวที่พ้นน้ำแล้วจึงไม่ง่ายนักที่จะเข้าใจและเปิดใจยอมรับไปคราวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผมก็สบายใจขึ้น


 


ภาพนี้ สำหรับผมเลยเป็นปริศนาธรรม และเป็นอาจารย์สอนธรรมะผมไปโดยปริยาย เหมือนที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยพูดว่าก้อนหินพูดได้ ต้นไม้พูดได้ มด ไก่ กำลังสอนธรรมะ อย่างไรก็อย่างนั้น เหล่านี้จึงเป็นการปรากฏขึ้นเพื่อแสดงธรรมแก่เรา หากเพียงแต่เราจะลองมองและเงี่ยหูเพื่อสดับฟังเสียงเหล่านั้นบ้าง ก็เท่านั้นเอง