Skip to main content

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

 



สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการเปิดประชุมวุฒิสภาเป็นนัดแรก แต่เป็นเรื่องแปลกที่สื่อมวลชนให้ความสนใจกับเรื่องของการตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมากกว่าการพิจารณาพระราชกำหนด (พรก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน


 


ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีข่าวเรื่องการติดต่อสายตรงระหว่างผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน   คุณหญิงจารุวรรณ เมฑกา กับนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร


 


ลือกันขนาดว่ามีการติดต่อเพื่อเชิญคุณหญิงจารุวรรณไปร่วมงาน แต่คุณหญิงจารุวรรณปฏิเสธ รวมทั้งการมาออกข่าวจาก ส.ว.ที่ปรึกษาท่านประธานสุชน ชาลีเครือ คือ ส.ว.ไสว พราหมณี ส.ว.โคราช ที่เสนอความเห็นให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงสถานะของคุณหญิงจารุวรรณ ว่าพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้วหรือยัง


 


ซึ่งทำให้ ส.ว.หลายท่านรุมค้านในเรื่องนี้  เพราะไม่ทราบว่าประธานวุฒิสภาได้ทูลเกล้าฯ ชื่อผู้ว่าการตรวจแผ่นดินไปหรือยัง


 


ถ้าเสนอไปแล้วก็ถือว่า เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะทรงพิจารณา ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาวิพากษ์วิจารณ์ได้


 


ท่านคงจำกันได้ว่า ได้มีการเสนอชื่อ นายวิสุทธิ์ มนตรีวัตร โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน  โดยอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระบวนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ถูกต้อง


ที่ประชุมวุฒิสภาได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยมีการทักท้วงว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสินว่า คุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน  และไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่คุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่ง  เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งให้คุณหญิงจารุวรรณ เมฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว


 


แต่ในที่สุดที่ประชุมวุฒิสภาก็ได้ทำตามมาตรา ๓๑๒ ของรัฐธรรมนูญ คือเสนอทูลเกล้าฯ รายชื่อนายวิสุทธิ มนตริวัตร ให้พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัย


 


ขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าประธานวุฒิสภาได้ทูลเกล้าฯรายชื่อไปหรือยัง


       


ข่าวคราวที่มีมากมายก็เนื่องจากมีข้อสงสัยในกระบวนการทำงานของประธานวุฒิสภาที่ไม่ทำอย่างเปิดเผย  การเสนอชื่อนายวิสุทธิ์  มนตริวัตร สู่วุฒิสภาก็ทำอย่างรีบร้อน ไม่ฟังคำทักท้วงของสมาชิกวุฒิสภา


 


ยิ่งเห็นความสนิทสนมของนายวิสุทธิ มนตริวัตร กับคนในรัฐบาลก็ยิ่งมีความกังวลในจากสื่อมวลชนว่าจะเป็นการล็อกสเป๊ก   เกรงว่านายวิสุทธิ์ จะทำหน้าที่ไม่เต็มที่ในการตรวจสอบ เงินของแผ่นดิน


 


เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ที่เกิดในวุฒิสภาก็เนื่องจากคนเขาอยากทราบท่าทีของประธานวุฒิสภาว่าจะทำอย่างไร เพราะตนเองเป็นผู้นำของสภานิติบัญญัติ


 


ถ้าพบว่ามีการถวายรายงาน ทูลเกล้าฯในสิ่งที่ไม่ถูกต้องประธานวุฒิสภาจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร


 


เป็นสิ่งที่น่าติดตามถึงท่าทีของประธานวุฒิสภาเป็นอย่างยิ่ง