Skip to main content

"พวกตัวปัญหา" ก็สมควรถูกขัง (ลืม)

คอลัมน์/ชุมชน

 


 



 ภาพจาก www.pantip.com/.../ goalclub/goalclub.html


ปี 2548


 


กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อเช้าวันที่ 22 สิงหา ที่ผ่านมา เจ้าของปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า อู่ข้าวอู่น้ำของเขาโดนปล้น โดยผู้มาเยือนที่ไม่พึงประสงค์ได้กวาดเงินสดไปกว่า 400,000 บาท  แน่นอนว่า เรื่องนี้ถูกกล่าวขวัญไปทั่ว  ชาวบ้านร้านตลาดต่างเล่ากันปากต่อปากและพากันคิดวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานาว่า  ใครบ้างที่เข้าข่ายเป็นผู้ต้องสงสัย  ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่งานนี้ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ผู้ดูแลพื้นที่ปล่อยให้ความกังขาลอยนวลได้เพียง 2  วัน ก็สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้


 


เรื่องเล่าปากต่อปากของชาวบ้านคงจะจบลงเพียงเท่านั้น  ถ้าเพียงแต่คณะผู้ก่อการจะไม่ใช่เด็กชายวัย15-16 ปี


1.  "ยังเด็กอยู่ก็คิดเป็นโจรกันแล้ว  ดี  ให้มันติดคุกซะให้เข็ด"


2.  "ขังลืมไปเลย  ไอ้พวกเนี๊ยตัวปัญหา"


3.  "ตอนเด็กยังทำตัวเลวขนาดนี้  โตขึ้นมาจะเป็นยังไงเนี่ย"


 


...1, 2 และ 3 เป็นคำพูดอันดับต้นๆ ของผู้ที่รับรู้บทสรุปของเหตุการณ์ในครั้งนี้ และ "ตัวปัญหาของสังคม" ก็ดูเหมือนจะเป็นชื่อใหม่ที่พวกเขาบรรจงตั้งให้กลุ่มเด็กชายผู้ก่อการ


 


ปี 2544


 


กิตติกร เลียวศิริกุล  ได้อวดฝีมือในฐานะผู้กำกับหนังไทยชั้นดีอย่าง "Goal Club เกมล้มโต๊ะ"


 


Goal Club เกมล้มโต๊ะ เป็นเรื่องราวของ กลุ่มเด็กชาย 5 คน ที่รักการดูบอลตั้งแต่อยู่ในรั้วโรงเรียน  เมื่อโบกมือลา "ขาสั้น" เป็นที่เรียบร้อย  ก้าวย่างแห่งชีวิตของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป  บางคนเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย บางคนไม่ได้เรียนทำงานอย่างเดียว แต่ทุกคนนำตัวเองข้ามผ่านจากคนดูบอลมาเป็นคนเดินโพย ต่อมาก็ผันตัวเป็นคนรับแทงบอลเสียเอง  ซึ่งตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ยากจะหาทางออกที่พวกเขาต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


บทสรุปของหนังเรื่องนี้เป็นยังไง?  ต่อให้เล่าได้เห็นภาพแค่ไหนก็ไม่กลมกล่อมเท่ากับดูด้วยตาของตัวเอง โดยบทความนี้จะขอยกบางประเด็นมาชวนคุยนั่นก็คือ เราพอจะให้อภัยได้หรือไม่?   หากเด็กชายทั้ง 5 คน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจผิดกฎหมายด้วยความจำเป็นที่มีน้ำหนักมากพอจนทำให้พวกเขามองไม่เห็นว่า  เงินกับความตายสามารถมาเยือนได้ง่ายเท่าๆ กัน  และข้างล่างนี้คือ ความจำเป็นของแต่ละคน 


 


ออตโต้  ต้องการเงินเพื่อฉุดรั้งแฟนสาวให้อยู่กับเขาโดยรับปากจะพาเธอบินข้ามฟ้าไปดูบอลยุโรปด้วยกัน


 


ง้วน  อยากได้เงินไปซื้อจักรยานให้น้องชายที่นอกจากจะไม่มีพ่อแม่แล้ว  ยังต้องเล่นคนเดียว  เพราะไม่มีจักรยานไปขี่เล่นกับเพื่อนๆ


 


เปเล่  ต้องการเงินไปใช้หนี้แทนพ่อที่พนันบอลแล้วไม่มีเงินจ่ายจนมาเฟียที่รับแทงมาเยือนถึงบ้านพร้อมปืนลูกซองหนึ่งกระบอก


 


แบงค์  เดินโพยเพราะอยากรวย  เพื่อนว่าไงว่าตามกัน


 


เน  ดิ้นรนหาเงินมาออฟหญิงบริการที่เขารักสุดหัวใจ  ถ้าไม่มีเงินเธอก็ต้องไปกับคนอื่นซึ่งเขาไม่อาจยอมรับความจริงข้อนี้ได้


 


หากดูเผินๆ คงจะมีเพียงเหตุผลของเปเล่เท่านั้นที่มีน้ำหนักพอจะยอมรับได้  แต่ถ้าลองมองผ่านสายตาของวัยรุ่นที่เห็นความรัก,  คนรักและเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญ  แถมยังขาดครอบครัวที่ดีพอจะให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ  เหตุผลของออตโต้,  เน,  แบงค์  และง้วนก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจไม่ได้เสียทีเดียว


 


เมื่อเป็นอย่างนี้  ภายใต้เรื่องราวทั้งหมดเราควรจะยกความผิดให้กับใคร?  ออตโต้,  เน,  แบงค์,  ง้วน,  เปเล่,  ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์,  ความรัก,  ความไม่รู้เดียงสา...


 


หรือเราไม่ควรจะโยนความผิดให้ใคร  ก็ในเมื่อปัญหา (ที่ยิ่งใหญ่ในสายตาของพวกเขา) ถูกแก้ไขผ่านมุมมองและประสบการณ์ของพวกเขาซึ่งก็มีอายุเพียง 17-18 ปี เท่านั้นเอง


           


4 ปีผ่านไป


ใช่ว่า  วัยรุ่นไทยจะไม่ต้องเผชิญกับภาวะการแก้ปัญหาตามลำพัง


อย่างน้อยก่อนที่จะตัดสิน  ก่อนที่จะบอกว่า  ให้ขังลืม  เราพิจารณาปัจจัยรอบตัวที่ทำให้เขาตัดสินใจกระทำสิ่งๆ นั้นก่อนดีไหม?


 


เผื่อว่า  เขาจะมีความจำเป็นอันน่าเห็นใจที่เราไม่รู้


 


เผื่อว่า  เราจะไม่ต้องเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำหน้าที่บีบคั้นเขาโดยที่เราไม่รู้ตัว