Skip to main content

เชาวน์ปัญญากับโอกาสของชีวิต

คอลัมน์/ชุมชน

 



ไม่นานมานี้ มีข่าวเรื่องงานสำรวจและวัดระดับ "เชาวน์ปัญญา" หรือพูดง่าย ๆ คือความฉลาด  อย่างที่ภาษาอังกฤษที่เราใช้ทับศัพท์ว่า "ไอคิว"  พบว่า  เด็กไทยในปัจจุบันมีระดับไอคิวต่ำกว่าเด็กไทยในอดีต และ บอกต่ออีกว่าพบว่าในทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีระดับไอคิวต่ำกว่าภาคอื่น โดยอ้างว่ามีสาเหตุหนึ่งคือ ปริมาณการบริโภคไอโอดีนที่ต่ำกว่าภาคอื่น


 


ผู้เขียนไม่ใช่นักวิจัยที่จะนิยมฟันธงในเรื่องของ "ปัจจัย" ในปรากฏการณ์ทางสังคมหรือแม้กระทั่งพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ว่าต้องเป็นปัจจัยนั้นนี้ ยิ่งถ้าหากเป็นเรื่องของความต่างของมนุษย์ ผู้เขียนจะพยายามบอกเพียงว่าอาจเป็นไปได้ หรืออาจเกี่ยวกับนั้นนี้ ไม่สามารถฟันธงอย่างสมบูรณ์ แต่ชอบตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ให้ศึกษาต่อไป


 


ดังนั้น เรื่องไอคิวต่ำหรือสูงนี้ ผู้เขียนจึงฟังไว้ด้วยความสนใจแต่ไม่สรุป เพราะว่ายังต้องอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการสำรวจและวัดผลชุดนี้ และนอกจากนี้ผู้เขียนระลึกเสมอว่าแนวคิดการวัดไอคิวพวกนี้มีกรอบจากตะวันตก และผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้มาส่วนมากก็จะยอมรับว่ากระบวนการคิดอาจแตกต่างกันในระดับวัฒนธรรม และเครื่องมือที่ใช้วัดก็มีรากฐานมาจากตรงนั้น  แม้จะมีการปรับบทให้เป็นไทยๆขึ้นบ้างก็ตาม


 


ผู้เขียนยังไม่เชื่อว่าเด็กไทยฉลาดน้อยกว่าเด็กชาติอื่นหลายชาติ  แต่ผู้เขียนเชื่อว่า


๑. เด็กไทยอาจฉลาดเท่าที่ทำได้ในลักษณะแบบไทยๆ หรือก็เป็นเพราะฉลาดแบบไทยๆ ไม่ใช่ฉลาดแบบสากล เด็กไทยจึงดูฉลาดน้อย หรือ


๒. เพราะชีวิตแบบไทยๆ ไม่ช่วยให้เด็กไทยฉลาดแบบสากลมากกว่า  ดังนั้น การอ้างเพียงแค่สาเหตุที่ว่าการบริโภคไอโอดีนต่ำเพียงตัวเดียวไม่เพียงพอแน่นอน   ทั้งนี้ คงยังต้องมีการสืบค้นและตรวจสอบต่อไปตามประสาการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์


 


จากที่เกริ่นมานี้  ผู้เขียนจึงขอเล่าบางส่วนของประสบการณ์การทำงานในสหรัฐฯ สักเล็กน้อย เชาวน์ปัญญานั้นเกี่ยวข้องกับปัจจัยบริบทในสังคมและวัฒนธรรม  โดยเฉพาะเรื่องของโอกาสในชีวิต


 



กรณีแรก เป็นนักศึกษาชายมีลักษณะชาติพันธุ์ (race/ethnic) ที่ไทยเรียกว่าอินเดียนแดง (ทางสหรัฐฯ ได้ใช้คำว่า ชนพื้นเมืองทวีปอเมริกา หรือ "Native American"แทนในปัจจุบัน)  นักศึกษาคนนี้ไม่ใช่คนโง่ เพราะสามารถคิดอ่านได้ ผ่านการศึกษาระดับมัธยมปลายมาได้ในเกรดที่ค่อนข้างสูง   อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันว่ามาตรฐานทั่วไปของการศึกษาระดับโรงเรียนในสหรัฐฯ ได้ย่ำแย่มานาน และมีมากขึ้นเมื่อมีนโยบาย "No child left behind" ที่ได้นำเข้ามาใช้ในเมื่อ ๔-๕ ปีที่แล้ว  ทำให้โรงเรียนต้องหาหนทางถีบนักเรียนประถม-มัธยมให้ไม่สอบตกในแต่ละปี  เรียกว่าเข็นแล้วเข็นอีก


 


นักศึกษาคนนี้ไม่สามารถเรียนวิชาที่เป็นแนวคิดซับซ้อน (ซึ่งแน่ล่ะ มาจากมุมมองของคนผิวขาวทั้งนั้น) ได้ แต่จะเก่งมากในเรื่องเทคนิคต่างๆ   ตัวอย่างเช่น ต้องเรียนวิชาทฤษฎีวิชาหนึ่งกับผู้เขียนถึงสองครั้งเพื่อให้ผ่าน ทำข้อสอบข้อเขียนได้อ่อนมาก และไม่สามารถทำรายงานวิชาการได้แม้แต่น้อย เรียกได้ว่า ถ้าไม่มีคะแนนกิจกรรมช่วยแล้วช่วยอีก ก็คงไม่ได้ผ่านในการลงเรียนครั้งที่สองอย่างแน่นอน นอกจากนี้  ในวิชาที่ต้องใช้แนวคิดที่เป็นนามธรรมมากๆ สำหรับเด็ก ป.ตรีที่สหรัฐฯ  นักศึกษาคนนี้เรียกว่าแพ้แต่ในมุ้งเอาเลยทีเดียว


 


แต่นักศึกษาคนนี้สามารถมีผลงานนำเสนอที่ใช้เครื่องมือทางการผลิตรายการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ค่อนข้างดี  คนสอนที่เป็นเพื่อนร่วมงานของผู้เขียนออกปากชมแล้วชมอีก ในขณะที่อาจารย์อีกหลายท่านก็กระหน่ำน่ำเก็งเด็กคนนี้อย่างไม่ปรานี  ผู้เขียนต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางที่จะไม่ให้เด็ก "ช้ำ"จนเกินไป เพราะรู้ว่าการทุบเด็กแบบรุนแรง ไม่มีประโยชน์อันใด


 


ผู้เขียนได้ปลุกปล้ำกับนักศึกษาคนนี้มากพอควร เพราะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาด้วย พาไปปรึกษากับหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนได้  นอกจากนี้ก็ได้พยายามทำหน้าที่เป็น "พี่เลี้ยง" ให้อีกด้วย  ชมก็แล้ว ขู่ก็แล้ว ดุก็แล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น จวบจนวันนี้ ได้แต่บอกกับตนเองว่าเด็กมาถึงเราเมื่อสายไป เสียใจ ทำอะไรไม่ได้


 


ที่น่าเสียดายกว่านั้น ในระดับหนึ่งเด็กเองไม่คิดช่วยตัวเองด้วย เพราะไม่ได้โดนเลี้ยงในกรอบของคนในกระแสหลัก


 



กรณีที่สอง เป็นนักศึกษาหญิงผิวดำ คนนี้เรียนหนังสือได้ เพราะแม่เป็นคนผิวขาว และจับให้เด็กเข้าโรงเรียนผิวขาวมาแต่เนิ่นๆ  ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์พอใช้ค่อนข้างดี และสามารถคิดเองได้ ไม่ต้องชี้นำ นับว่าดีกว่านักศึกษาผิวดำโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังสู้นักศึกษาผิวขาวทั่วไปไม่ได้


 


ในทีสุด หนูคนนี้ก็มาบอกกับผู้เขียนว่า ดีใจที่ได้เจอผู้เขียน เธอรู้สึกว่าในเมืองนี้ ในมหาวิทยาลัยนี้ ยังมีอาจารย์ที่ห่วงใยเด็กอย่างจริงใจ แต่เธอไม่ชอบที่นี่ ทั้งเมืองและมหาวิทยาลัย เธอไม่มีความสุข ตรงนี้ไม่ใช่ที่ของเธอ เธอจำเป็นต้องไป ผู้เขียนเสียดายแต่คงฉุดไม่อยู่ ได้แต่บอกว่าถ้าต้องการความช่วยเหลือต่อไปในอนาคต โปรดบอก 


 


กรณีที่สาม  เป็นนักศึกษาหญิงเอเชี่ยนหรือที่ชัดๆ คือ "ม้ง" ที่เกิดในสหรัฐฯ  ในมินเนโซต้ามีคนม้งที่อพยพมาและที่มาเกิดที่นี่เป็นหมื่น ๆ คน ลักษณะทางวัฒนธรรมนั้นยังไม่สามารถกลืนไปกับวัฒนธรรมคนขาวได้มากนัก แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเกิดที่นี่และเรียนรู้ความเป็นอเมริกันที่นี่ ก็ยังเห็นรอยต่อได้ค่อนข้างชัดเจน เด็กคนนี้ต้องหลุดออกจากมหาวิทยาลัยหลังจากติดภาวะรอพินิจมากว่าสามเทอม ที่ผ่านๆ มาเธอได้ "เอฟ" จากอาจารย์หลายท่านและจากผู้เขียนเองด้วย เพราะเธอขยันโดดร่มและไม่ทำการบ้าน สอบก็ไม่ดี รายงานก็ไม่ทำ


 


ผู้เขียนก็วิ่งขาขวิดแทรกแซงมาตลอดเพื่อช่วยให้เธอปรับตัว  ปกป้องเธอไม่ให้อาจารย์บางท่านที่เตรียมกระหน่ำน่ำเก็งตัวเธอ เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ความรุนแรงกันทั้งสองฝ่าย เหมือนกับกรณีแรก


 


ในที่สุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เธอเดินมาบอกกับผู้เขียนในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาที่ทุ่มเท (ขอชมตัวเองหน่อยเถอะ) ว่าเธอต้องไปแล้ว ไปหาที่เรียนใหม่ในเมืองใหญ่  และเมื่อเดือนมิถุนายน เธอเขียนอีเมล์มาขอบคุณและรายงานว่าเธอมีความสุขมากในที่เรียนใหม่ในช่วงฤดูร้อนต้นๆ  เธอดีใจที่เธอตัดสินใจถูกต้องที่ออกจากมหาวิทยาลัยที่เน้นวิชาการแล้วมาอยู่สถานศึกษาที่เน้นวิชาชีพแทน แม้ว่าพ่อแม่ของเธอจะเสียใจอยู่บ้างก็ตาม


 


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็เคยโดนนักศึกษาฝรั่งคนหนึ่งที่หลุดออกไป กล่าวหากับคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยว่าไม่ได้ช่วยเหลืออะไร  ผู้เขียนก็งงเหมือนกัน แต่ก็ทำเรื่องย้อนกลับไปว่า ทำไมฟังความข้างเดียว ทำงานตรงนี้ได้เจออะไรแปลกๆ บ่อยๆ


 



ขอกลับมาที่กรณีทั้งสามที่เล่ามานั้นเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งว่า  เราจะตัดสินคนว่าฉลาดมากหรือฉลาดน้อยไม่ได้เลย เพราะมีปัจจัยมากมาย  ในที่นี้ผู้เขียนขอให้ท่านทั้งหลายมองให้เห็นถึงปัจจัยทางสังคมว่ามีอิทธิพลในเรื่องนี้ยิ่งนัก


 


เพราะผู้เขียนเคยเป็นเด็กมีปัญหา ผู้เขียนจึงมี "passion" ในเรื่องการช่วยเด็กที่มีปัญหาโดยเฉพาะเด็กที่หลายคนเรียกว่า "โง่"  ผู้เขียนไม่เชื่อเรื่องนี้ แต่ผู้เขียนมองว่าสิ่งแวดล้อมทำร้ายเด็ก นั่นคือ ระบบในโรงเรียน  ระบบในวัฒนธรรมกระแสหลัก เหล่านี้ได้ทำร้ายเด็กบางคนอย่างทารุณ


 


ในกรณีแรก นักศึกษาชายได้เข้ามาในมหาวิทยาลัยที่ไม่ตรงกับตนเอง เป็นไปได้ที่มีสาเหตุคร่าวๆ ได้ดังนี้ ๑. อาจขาดการแนะแนวที่ดี อย่านึกว่านักวิชาการหรือครูฝรั่งแนะแนวดีกว่าไทยเสมอไป เพราะไม่จริงเลย และทุกวันนี้ผู้เขียนก็สงสัยกับคุณภาพตรงนี้มากพอควร  ๒. นักศึกษาคนนี้ต้องการที่จะประหยัดค่าเรียน เพราะการเป็นชนพื้นเมืองทวีปอเมริกานั้น ไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิตที่นี่ จะมีก็แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และ ๓. มหาวิทยาลัยเองก็ต้องการจำนวนนักเรียนมาเรียน ยิ่งเป็นคนผิวสีด้วยแล้ว ยิ่งชอบเพราะเท่ากับเป็นการบอกว่ามีความหลากหลายของประชากร  อันเป็นการโฆษณาและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเอง


 


ส่วนในกรณีที่สองและสามนั้น เป็นเรื่องของการแนะแนว* อย่างเลี่ยงไม่ได้ และเรื่องของการมาไม่ตรงที่ แต่มองที่ว่าเป็นสถาบันรัฐที่มีชื่อแต่ราคาถูก


 


จึงเห็นได้ว่า ความฉลาด ความเก่ง มีอิทธิพลของบริบททางสังคมอย่างชัดเจน และโดยเฉพาะภาวะด้อย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว รากของปัญหานี้คงต้องไปอยู่ที่เรื่องฐานะทางเศรษฐกิจสังคมอย่างช่วยไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ว่าจะผิวสีใด ถ้าฐานะยากจน ทางเลือกในชีวิตก็น้อยลงเป็นลำดับ  เลือกโรงเรียนมากไม่ได้ เลือกในการรับรู้สิ่งต่างๆ ในสังคมไม่ได้


 


ดังนั้น สังคมใดก็ตามต้องยอมและอดทนในการให้โอกาสกับคนที่ด้อยกว่า  แม้ว่าจะต้องลงทุนมากเท่าไรก็ตาม   สังคมจำเป็นต้องฉุดให้ทุกคนมีโอกาสได้ใกล้เคียงกันมากที่สุด


 


เพื่อนร่วมงานอเมริกันคนหนึ่งของผู้เขียนได้เปรยมาในวันหนึ่งว่า   "ต่อไปนี้สหรัฐฯ  คงจะมีคนฉลาดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนให้คนทั่วไปเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ (โดยการตัดเงินอุดหนุนต่างๆ) เพื่อให้เกิดพุทธิปัญญา แต่ไปเน้นให้จบออกมาด้วยเทคนิควิทยาซะเกือบทั้งหมด เพื่อให้กลายมาเป็นลูกจ้างองค์กรทางเอกชนต่างๆ หรือหน่วยงานของรัฐที่ต้องการเพียงแค่คนรับคำสั่งและไหลไปกับกระแสเท่านั้น  นักคิดและปัญญาชนที่แท้จริงขาดหายไป  นี่อาจเป็นหนทางที่คนกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสต้องการถ่างอำนาจของตนให้มากขึ้น และลดโอกาสของคนที่ไม่มีโอกาสอยู่แล้วให้น้อยลง ซึ่งเป็นวิธีที่แยบยลในการทำลายสังคมที่มีคุณภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์"


 


เราคงได้ดูกันต่อไป ในเรื่องอนาคตของสังคมไทยและอเมริกัน


 


###


 


* หมายเหตุ--มีเรื่องแถมเล็กเลเล็กกน้อยว่า ผู้เขียนก็เคยโดนฝ่ายแนะแนวที่โรงเรียนมาวัดความถนัดทางวิชาชีพเพื่อจะได้หาโปรแกรมเรียนต่อหลัง ม.ศ.๓  พบว่า ผู้เขียนควรทำงานพวกเลขานุการ เสมียน เจ้าหน้าที่สำนักงาน  ดังนั้น ควรไปเรียนสายอาชีพ คือโรงเรียนพาณิชยการ  แต่แม่ผู้เขียนไม่ยอมให้ทำแบบนั้น   ผู้เขียนจึงมานั่งคิดจนทุกวันนี้ เพราะถ้าไปเรียนแบบนั้นจริงๆ  ชีวิตตอนนี้อาจมีความสุขมากกว่าที่เป็นก็ได้