Skip to main content

รวม 4 กองทุน

ข่าวเด่นประจำวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2548 บนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ คือ เรื่องการนำ 4 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างประกันสังคม และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มาบริหารร่วมกัน มิใช่นำเม็ดเงินมารวมกัน


ข่าวแจ้งว่าสิทธิของผู้ป่วยที่เบิกจ่ายตามกองทุนต่าง ๆ จะคงเดิม นอกจากคงเดิมแล้วยังจะได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าราชการอาจจะไม่ต้องสำรองเงินสดออกไปก่อน เป็นต้น


ประเด็นขัดแย้งคือ เรื่องจะนำเม็ดเงินมารวมกันหรือไม่ หากรัฐบาลแถลงข่าวชัดเจนว่าไม่นำเม็ดเงินมารวมกันเชื่อว่าเรื่องจะยุติ ความร้อนในใจของผู้คนก็ควรจะเย็นลง


การนำเม็ดเงินมารวมกันเป็น " วิธี" หนึ่งที่มีคนพูดถึงบ่อยครั้ง เป็นวิธีที่ " อาจจะ" ช่วยให้มาตรฐานการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยในกองทุนสุขภาพทั้ง 4 เท่าเทียมกันเสียที


หากคิดรวมกองทุนเพราะความหวังดีให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับบริการที่เท่าเทียม สังคมน่าที่จะให้การสนับสนุนนะครับ หากคิดรวมกองทุนด้วยผลประโยชน์ซ่อนเร้นอื่น สังคมก็ควรตรวจสอบ


ที่สังคม " ปฏิเสธ" เสมอมาคือเรื่องตนเองได้รับบริการด้อยกว่าผู้อื่น ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Deny" คล้าย ๆ เวลาผู้ติดเชื้อเอดส์ปฏิเสธไม่ยอมรับการแจ้งผลเลือดของตนเอง ลูกจ้างประกันสังคมไม่เชื่อว่าที่แท้แล้วตนเองได้รับบริการด้วยมาตรฐานที่ต่ำกว่าเพื่อน ข้าราชการไม่เชื่อว่าตนเองต้องสำรองจ่ายเงินค่ายาต่อเดือนไปจำนวนมากเพื่อแลกกับยาที่ไม่จำเป็น เมื่อไม่เชื่อเสียแล้วจึงพยายามดิ้นรนเกาะกุมสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ให้คงอยู่ตลอดไปโดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คล้าย ๆ เวลาเด็กกลัวโรงเรียนไม่ยอมไปโรงเรียน


ทั้ง ๆ ที่ผู้คิดเปลี่ยนแปลงระบบนั้นหวังดีโดยแท้ ข่าวรวมกองทุนในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับมีเนื้อข่าวคล้ายกัน ข่าววันแรกเป็นการให้สัมภาษณ์ของรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ข่าววันที่สองจึงถึงทีของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข



ข่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 8 กรกฎาคม พ.ศ.2548 แตกต่าง มีคำสัมภาษณ์ของ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วชิระไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ความว่า


" ประเด็นสำคัญที่ต้องดูคือ มาตรฐานการรักษาพยาบาลจะเปลี่ยนไปทางไหน เพราะมาตรฐานแต่ละกองทุนต่างกัน ที่ดีที่สุดคือของข้าราชการที่ตามใจทุกอย่าง แต่ที่มีปัญหาคือ 30 บาทรักษาทุกโรค และที่คิดเอาแต่กำไรเกินควรคือประกันสังคมและ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ถ้ามีมาตรฐานโดยรวมดีขึ้นถือเป็นสิ่งที่ดี


แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดอยากให้มีการยุบกองทุนรวมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาประกันสังคมมีกำไรมากเพราะกลุ่มเป้าหมายอยู่ในวัยที่ไม่เจ็บป่วยง่าย ขณะที่ 30 บาทมีปัญหางบประมาณไม่พอ เพราะกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและคนชราที่เจ็บป่วยง่ายอยู่แล้ว ส่วน พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถมีขั้นตอนยุ่งยาก เอาไปฝากไว้กับบริษัทประกันภัย การเบิกจ่ายมีปัญหาและบริษัทประกันภัยย่อมคำนึงถึงกำไรมากที่สุด และสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่ตามใจฉันมาก จนไม่ประหยัดงบประมาณประเทศชาติเพราะคิดว่าไม่ใช่เงินของตัวเอง


ดังนั้น ควรจะเอากำไรที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรของประกันสังคมและที่หายไปกับ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ รวมถึงความฟุ่มเฟือยของการใช้สิทธิรักษา พยาบาลของข้าราชการมาเฉลี่ยรวมกันเพื่อให้สิทธิประโยชน์สูงสุดกับประชาชนจะดีกว่า "


ผมคิดว่าประธานชมรมแพทย์ชนบทกล้าหาญที่แสดงความเห็นแตกต่าง และผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านพูด ย้ำว่าความคิดรวมกองทุนของคนบางคนนั้นเกิดขึ้นเพราะความหวังดีแท้จริง อยากให้ผู้ป่วยประกันสังคม ข้าราชการ และ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ได้รับบริการที่คุ้มค่า คุ้มเงินและมีคุณภาพมากกว่าเดิม มาตรฐานและคุณภาพของผู้ป่วยในระบบ 30 บาทกลับไม่น่าเป็นห่วง เพราะยุทธศาสตร์การพัฒนามาตรฐานและคุณภาพกำลังขับเคลื่อน ขับเคลื่อนทั้งภาครัฐและภาคประชาชน แต่ของอีก 3 กลุ่มต่างหากที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองได้รับมาตรฐานที่กระพร่องกระแพร่งและกำลังจะถูกแซงหน้า ลูกจ้างประกันสังคมถูกแซงหน้าไปนานแล้ว ข้าราชการกำลังจะถูกแซงหน้าในเวลาไม่นาน


มีบ้างบางคนคัดค้านการรวมกองทุนเพราะคัดค้านคำศัพท์ว่า " เท่าเทียม" โดยให้เหตุผลว่าลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ ส่วนข้าราชการเงินเดือนน้อย ก็ขอให้ทราบว่าที่พูดกันวันนี้หมายถึงความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์หรือมาตรฐานที่ได้รับ เรื่องความไม่เท่าเทียมในการจ่ายเงินสมทบหรือเงินเดือนน้อยเป็นอีกกรณีหนึ่งซึ่งสมควรพูดคุยกันที่อีกเวทีหนึ่ง


การรับบริการสุขภาพต้องเท่าเทียมโดยไม่มีข้อแม้ นั่นคือรับบริการตามมาตรฐานการแพทย์ ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ฟุ่มเฟือยเกินมาตรฐาน ใครจะจ่ายเท่าไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


ถ้าการรวมกองทุนจะมีประโยชน์ช่วยพัฒนามาตรฐานและคุณภาพการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยทุกคน ก็สมควรได้รับการพิจารณา ถ้ารวมกองทุนเพราะถังแตก ก็สมควรได้รับการพิจารณาช่วยกันแก้ไขอยู่ดี


หากพิจารณาภาพรวมของประเทศ ถังสุขภาพนั้นแตกอยู่ก่อนแล้ว และจะระเบิดแน่นอนหากต่างฝ่ายต่างป้องกันตนเองจนไม่รับฟังเหตุผลอื่น