Skip to main content

เอสเอ็มแอล มาแล้วจ้า

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


หลายหมู่บ้านในชนบทกำลังสนุกสนานกับโครงการเอสเอ็มแอลอยู่ ธรรมดาเงินให้เปล่าใครๆ ก็อยากได้ แถมบอกว่าผู้ใหญ่บ้านกับสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้ามยุ่ง ยิ่งสนุกใหญ่ เมื่อกลางเดือนนับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมนี้ในหมู่บ้าน พบเจอเหตุการณ์สนุก จึงอยากเขียนสู่กันอ่าน


 


ก่อนจะรับรู้เหตุการณ์ในวันนั้น คงต้องมารู้จักกับหมู่บ้านนี้ก่อน หมู่บ้านนี้มีประชากรประมาณ 90 ครัวเรือนซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งมีทั้งการทำนาและทำผัก ส่วนน้อยรับจ้างทั่วไป  ถ้าจะวัดความเข้มแข็งของชุมชน นับได้ว่าชุมชนแห่งนี้ ยังมีความอ่อนแออยู่มาก กลุ่มที่ชัดเจน ก่อตั้งและบริหารจัดการกันเอง ไม่มีหน่วยงานรัฐมาจัดตั้ง คือกลุ่มออมทรัพย์ ส่วนกลุ่มที่เหลือ คือกลุ่มกองทุนหมู่บ้านและกลุ่มประปาหมู่บ้าน  ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน อำนาจการตัดสินใจต่าง ๆ ของชุมชนมักจะอยู่ภายใต้การตัดสินใจของผู้ใหญ่บ้าน


 


ความเป็นมาในเรื่องขบวนการของชุมชน พบว่า ในปี 2542 ได้มีองค์กรเอกชนพาแกนนำชุมชนไปดูงานเรื่องเกษตรปลอดสารพิษและการจัดการกลุ่มเกษตรกรที่จังหวัดสิงห์บุรี  ปี 2545 แกนนำชุมชนได้สนใจและรวมตัวกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์ร่วมกัน ซึ่งกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวนับได้ว่า เป็นการงัดข้อครั้งแรกระหว่างอำนาจเก่าที่มีมายาวนาน(ผู้ใหญ่บ้าน) และอำนาจใหม่ที่เพิ่มเริ่มก่อตัว (แกนนำชุมชน) โดยผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะทำ เนื่องจากที่ผ่านมามีการโกงกันจนกลุ่มต้องล้มไป


 


นอกจากการไม่เห็นด้วยแล้ว  ผู้ใหญ่ยังประกาศในที่ประชุมว่า "ท้าได้เลย ตั้งยังไงก็ล้ม" แต่แกนนำชุมชนเห็นว่า "ถ้าชาวบ้านเข้ามาช่วยกันทำ มาเป็นเจ้าของยังไงก็อยู่ได้"


 


ผลที่เกิดขึ้น พบว่ากลุ่มออมทรัพย์ดำเนินงานจากวันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้เงินประมาณสองแสนบาท มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส แกนนำชุมชนทำกันเอง ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้เข้ามายุ่ง กลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกสำหรับการต่อสู้ของชุมชน 


 


ย้อนกลับมาสู่เหตุการณ์วันประชุมโครงการเอสเอ็มแอลอีกครั้ง ในวันประชุมบรรยากาศการมีส่วนร่วมแทบไม่มี  ผู้ใหญ่ผูกขาดการพูดอยู่คนเดียวในลักษณะการสั่งการ ซึ่งถ้ามีผู้แย้ง ผู้ใหญ่จะเริ่มขู่โดยใช้ความเป็นผู้นำทางการมาใช้และใช้เสียงดัง ซึ่งเป็นไม้เด็ดที่ผู้ใหญ่ใช้ทุกครั้งในการประชุม และก็ได้ผลด้วย เพราะชาวบ้านจะเงียบไม่มีใครโต้แย้ง ผู้เขียนในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ในการทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการจัดเวทีมาบ้าง เป็นคนในหมู่บ้าน และร่วมในการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ก็เลยขอเป็นคนชวนชาวบ้านพูดคุย โดยมีปากกาเคมีกับกระดาษฟลิปชาร์ทเป็นอุปกรณ์ช่วย


 


กระบวนการประชุมผู้เขียนใช้การตั้งคำถามเป็นหลัก ตั้งแต่คำถามว่า อยากได้กรรมการโครงการนี้แบบไหน มีใครจะเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ คนที่มีชื่อตามรายชื่อคิดว่าตนเองถนัดหรือเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่อะไร ประธานกับรองประธานผู้เข้าร่วมประชุมเห็นควรว่าเป็นใคร โครงการที่เสนอคืออะไร เหตุผลที่เสนอ เหตุผลที่คัดค้าน


 


บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ทุกคนกระตือรือร้นที่จะแสดงความคิดเห็น โดยผู้เขียนพยายามตั้งใจฟังและแปลสิ่งที่ผู้เข้าร่วมสื่อออกมา พร้อมกับกระจายคำถามไปทั่วทุกกลุ่มคนในห้องประชุม  


 


โครงการที่เสนอในที่ประชุม มีโครงการปรับปรุงระบบประปา ซึ่งผู้ใหญ่บ้านเป็นคนเสนอ โครงการดังกล่าวนับได้ว่ามีความจำเป็นเพราะคนในชุมชนทุกคนต้องใช้ แต่ติดตรงที่ว่า ที่ผ่านมาผู้ใหญ่บ้านบริหารจัดการคนเดียวทั้งหมด ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมและไม่รู้ผลการดำเนินการทั้งหมด ยิ่งเมื่อได้รับรู้ว่าหมู่บ้านใกล้เคียง ทำกิจกรรมประปาหมู่บ้านแล้วได้กำไรจำนวนมาก ชาวบ้านก็เลยยิ่งสงสัยมากขึ้นและอดคิดไม่ได้ว่าผู้ใหญ่เอาเงินไปใช้ส่วนตัว  


 


โครงการที่เสนอต่อมาคือ โครงการเสียงตามสาย เป็นโครงการที่กำนันและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลขอมา โดยขอจากแต่ละหมู่บ้าน ๆ ละ 30,000 บาท (ทั้งหมด 14 หมู่บ้าน) โครงการนี้นัยว่ากำนันจะเลียนแบบโครงการนายกพบประชาชน โดยถ้ากำนันมีอะไรก็พูดมาจากที่บ้านผ่านเสียงตามสายได้เลย โครงการดังกล่าว ชาวบ้านหลายคนไม่เห็นด้วย จึงพูดว่า   "อบต.น่าจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมกว่านี้ ถ้าให้แค่นี้ก็ไม่ให้หรอก"  ผู้ใหญ่บ้านชี้แจงเพิ่มเติมว่า  "ต้องให้เขา เมื่อเขาขอมายังไงก็ต้องกันไว้ให้เขาก่อน หมู่อื่น ๆ  เขาก็ให้กัน"


 


โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลอง  ชาวบ้านจำนวนมากบอกว่าเดือดร้อนเพราะเวลาออกไปทำนา หรือไปบ้านญาติต้องอ้อมไปอีกหมู่บ้านที่อยู่ไกลออกไป แต่โครงการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณประมาณสามแสนบาทซึ่งงบประมาณของเอสเอ็มแอลได้สองแสนบาท เมื่อชาวบ้านเริ่มลังเล ผู้เขียนจึงเล่าให้ฟังถึงกรณีหมู่บ้านใกล้เคียงที่สร้างสะพานลำคลองสายเดียวกัน โดยช่วงแรกของการก่อสร้างไม่มีงบประมาณจากภายนอกเลย คนภายในหมู่บ้านร่วมกันบริจาคและจัดทอดผ้าป่าได้เงินประมาณห้าหมื่นบาท เริ่มต้นสร้างโครงของสะพานก่อน ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลจึงช่วยสนับสนุนต่อ ผลที่เกิดขึ้นหลังจากผู้เขียนเล่าให้ฟังพบว่า มีผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอตัวที่จะบริจาคสมทบจำนวนหลายคน รวมทั้งกลุ่มออมทรัพย์ก็ยินดีจะสมทบด้วย


 


เมื่อถึงช่วงสำคัญในการยกมือสนับสนุนแต่ละโครงการ พบว่า  โครงการเสียงตามสายและการปรับปรุงประปา ไม่มีใครเล่นด้วย เกือบทั้งหมดยกมือให้กับโครงการก่อสร้างสะพาน แต่ต่อมาพบว่าโครงการก่อสร้างสะพานอยู่ในแผนงานห้าปีขององค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว จึงต้องยกเลิกโครงการไป แต่ก็ถือว่าเป็นบทพิสูจน์บทหนึ่งของพลังของชุมชน


 


ช่วงนี้จึงเป็นช่วงการแสวงหาโครงการใหม่ แกนนำชุมชนได้นัดหมายกันว่า น่าจะมีการทำการบ้านก่อน โดยแบ่งกันระดมความคิดเห็นเป็นกลุ่มบ้าน ว่าจะทำโครงการอะไรที่จะแก้ปัญหาชุมชนได้จริง ๆ แล้วจึงนำผลที่สรุปแต่ละกลุ่มบ้านมาหาข้อสรุปกันในระดับหมู่บ้านอีกที 


 


โครงการประปา ดูแนวโน้มจะกลับมาอยู่ในความสนใจของชุมชนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ชุมชนขอเข้าไปบริหารจัดการกันเอง ถ้าผู้ใหญ่ยินยอม แกนนำชุมชนและชาวบ้านก็จะลงมติให้ (จริง ๆ ผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่สิทธิที่ผู้ใหญ่บ้านจะยอมหรือไม่  ต้องถามว่าชุมชนเองจะเข้าไปใช้สิทธิของตนเองแค่ไหน) กลยุทธการเข้าไปพูดคุยกับผู้ใหญ่จึงนัดกลุ่มคนเล็ก ๆ   ที่พอจะคุยกับผู้ใหญ่บ้านได้ไปเจรจา ซึ่งผลเป็นอย่างไรต้องรอลุ้นกันอีกที


 


ก่อนที่จะเข้าไปเจรจากับผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชุมชนมีการทำการบ้านก่อนโดยนัดหมายพาแกนนำไปดูงานหมู่บ้านใกล้เคียงที่มีการบริหารจัดการโครงการประปาที่ดี  โปร่งใส มีกำไร เพื่อศึกษาว่าระบบการทำงานเขาเป็นอย่างไร หลังจากนั้น จึงนำข้อมูลที่ได้มาตั้งระบบของหมู่บ้าน แล้วนำระบบดังกล่าวไปปรึกษาผู้ใหญ่บ้านเป็นขั้นสุดท้ายก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ทั้งหมู่บ้าน ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ทีมแกนนำเห็นว่าน่าจะป้องกันปัญหาการถกเถียงและหักหน้ากันในเวทีประชุม


 


ปรากฎการณ์ของขบวนการชุมชน มิได้เกิดขึ้นแต่ในหมู่บ้านของผู้เขียน หมู่บ้านใกล้เคียงก็กำลังต่อสู้เพื่อให้ได้โครงการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็ยกมือให้ทั้งหมดด้วยเหตุผลที่ว่าตนเองไม่ได้คิดโครงการอะไรไว้ คำแนะนำที่ผู้เขียนบอกแก่ผู้นำชุมชน คือการพาแกนนำประมาณห้าหกคนที่ร่วมในโครงการไปดูงานชุมชนที่เขาทำแล้วก่อน เพื่อจะได้เตรียมทำโครงการให้ละเอียดและครอบคลุม


 


หมู่บ้านใกล้เคียงอีกหมู่บ้านหนึ่งเห็นว่า ได้เสนอโครงการประปาหมู่บ้านซึ่งคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านก็เห็นด้วย เนื่องจากหน้าแล้งที่ผ่านมามีปัญหาขาดน้ำอย่างหนัก  เรื่องราวก็ดูว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร  แต่ผู้ใหญ่ในองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้าน จะขอนำเงินโครงการดังกล่าวมาทำถนนเข้าบ้านตนเอง  ซึ่งผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยก็เกรงใจผู้ใหญ่ท่านนี้ แกนนำชุมชนคงต้องสู้กันต่อไป


 


โครงการเอสเอ็มแอล คงเป็นอีกเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ชุมชนเริ่มลุกขึ้นมาแสดงสิทธิของตนเองบ้างแล้ว เป็นบทพิสูจน์บทหนึ่งของพลังชุมชน ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอลุ้นกันต่อไป  


 


ช่วยส่งใจมาช่วยหน่อยก็แล้วกัน