Skip to main content

ชายหนุ่มกับชะตากรรม : สาวร เสียงทองคำ

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


คนเรามีเรื่องน่าจดจำมากมาย…แต่บางเรื่องก็ไม่น่าจดจำ


 


เช่นเดียวกับชาวมอญบริเวณพรมแดนไทย-พม่า ที่เดินทางบนสายธารแห่งประวัติศาสตร์และเส้นทางชีวิต


 


เขาทุกคนล้วนมีเรื่องเล่าขานไม่รู้จบ…


 


แต่บางคนบอกผมว่า หากเลือกได้ พวกเขาก็ไม่อยากจำ แต่ที่ไม่อาจปฏิเสธ….เพราะนี่คือชีวิตจริง!


 


1


 


พ.ศ. 2544


แดดโพล้เพล้สาดมายังบ้านไม้เล็กๆ สองชั้นที่ยังไม่เป็นรูปร่าง สาวร เสียงทองคำ ง่วนทำงานอยู่ท่ามกลางกองไม้เกะกะ  ก่อนเสียงฝีเท้าและเสียงตะโกนจากเพื่อนบ้านดังขึ้น


"สาวร มีคนมาหา"


เขาละมือจากไม้ มองออกจากบ้านมาที่ผมด้วยความสงสัย…


เช่นเดียวกัน ในความสงสัยที่ต่างออกไป ทำไมสาวรจึงสร้างบ้านกลางฤดูที่หุบเขาตะวันตกเย็นยะเยือกเช่นนี้  


 


คนมอญที่อาศัยใกล้วัดวังก์วิเวการามส่วนมากรู้จักเขาดี เพราะเขาเป็นคนรณรงค์รักษาวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงต่อต้านยาเสพติดในหมู่บ้านเสมอ และแน่นอนสาวรรู้เรื่องราวในพื้นที่มากพอตัว  (เพราะหลายครั้งเขาบ่นกับผู้มาเยือนอย่างผมด้วยประเด็นร้อนไม่ว่ายาเสพติด สถานการณ์ฝั่งพม่า ปัญหาร้อยแปดประการที่เกิดในหมู่บ้านมอญ)


 


ก็ไม่แปลก…เพราะสิ่งที่หล่อหลอมชายคนนี้ในวัยหนุ่มเป็นเรื่องการเมืองจริงๆ


 


* * * *


8 สิงหาคม 2531…


การต่อสู้วันนั้นใช่เพียงคนพม่าเองที่หวังในประชาธิปไตย ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็หวังเช่นกัน ด้วยพวกเขามั่นใจว่า เมื่อมีประชาธิปไตย ความเป็นอยู่รวมถึงสิทธิของคนกลุ่มต่างๆ ที่มีมากมายในพม่าจะได้รับการปรับปรุงมากขึ้น


 


หลายคนอาจไม่รู้ว่ากำลังส่วนหนึ่งที่อยู่บนท้องถนนในครั้งนั้นมีชนกลุ่มน้อยซึ่งผนึกกำลังกับประชาชนพม่าผู้รักประชาธิปไตยอย่างแข็งขันด้วยจำนวนไม่น้อย


 


สาวรก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในระดับแกนนำ


 


 "ผมเป็นเบอร์ 4-5 อะไรนี่แหละ ตอนนั้นมีการประชุมกันหลายฝ่ายเพื่อวางแผนการเคลื่อนไหวมวลชน"


 


แต่สัจธรรมคือ เผด็จการที่ไหนจะยอมปล่อยอำนาจให้หลุดมือง่ายๆ …


 


การชุมนุมตามหัวเมืองต่างๆ ในครั้งนั้นทั่วพม่าถูกรัฐบาลทหารปราบรุนแรงด้วยกระสุน (จากภาษีประชาชน) มหาวิทยาลัยย่างกุ้งซึ่งเป็นจุดรวมตัวของกลุ่มแกนนำนักศึกษารวมถึงชนกลุ่มน้อยก็ถูกปิดลง


 


สาวรต้องซมซานหลบหนีเผด็จการมาเมืองไทย…


วันนี้ หลายคนอาจบอกว่าเขาเป็นผู้อพยพต่างด้าว


 


แต่เราคงต้องนิยามการเป็น "ผู้อพยพ" ของคนตามแนวชายแดนกันใหม่เมื่อพิจารณาเรื่องของสาวร


 "ความจริงผมเกิดที่ทองผาภูมิ แต่ก็มีญาติอยู่ที่ฝั่งพม่าด้วย"


 


เรื่องของสาวรกระตุ้นเตือนว่า หากเราลองลบเขตแดนรัฐชาติให้หมด จะพบว่าในอดีตคนแถบนี้ไปมาหาสู่กันได้อิสระ ค้าขายแลกเปลี่ยนและเยี่ยมเยียนกันอย่างสม่ำเสมอ


 


ไม่แปลกเลยที่ปัจจุบันนี้มอญพระประแดง สามโคก และสังขละบุรีบางคนจึงเป็นญาติกัน  แต่สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไปเมื่อเกิด "พรมแดนรัฐชาติ" ขึ้น


 


รัฐชาติคือ "ชุมชนในจินตนาการ" ซึ่งขีดเส้นเขตแดนจนทำให้ไทย-พม่า มีกำแพงสมมติกั้นกลาง


 


สิ่งนี้ไม่ร้ายแรง และไม่ผิด หากกำแพงสมมตินี้เป็นเพียงแค่ให้รู้อาณาเขตอธิปไตยของรัฐชาติที่เป็น "รัฐประชาชาติ" (หมายถึงมีคนหลายกลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม) ราชการมีความเข้าใจ ใช้พรมแดนสมมตินี้อย่างถูกวิธี โดยรับรู้พลวัตความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยซึ่งคร่อมอยู่บนดินแดนเหล่านี้อย่างกระจ่างแจ้ง


 


แต่ปัจจุบันมันแย่ตรงที่ความเป็นรัฐชาติทำให้คนสัญชาติไทยซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีบรรพบุรุษเป็นคน "ไทย" แท้สักกี่คนกัน ปฏิเสธการดำรงอยู่ของชนกลุ่มน้อยเกือบทุกกลุ่มด้วยเหตุผลว่าพวกเขาไม่ใช่ "คนไทย"


 


แต่พวกเขาลืมถามตัวเองว่า "ไทย" คืออะไร มาจากไหน และเกิดขึ้นเมื่อไร????


 


* * * *


 


สาวรใช่จะไม่อาลัยหลังเหตุการณ์เขาก็เหมือนคนมอญหลายคนที่คิดถึงแผ่นดินซึ่งบรรพบุรุษเคยอาศัยอย่างสุขสงบอีกฟาก แต่ปัจจุบันโดนทหารพม่าย่ำยีด้วยการยึดครอง ปล้น จี้ ข่มขืน กวาดทรัพยากรไปใช้อย่างหน้าตาเฉย จนสถานการณ์บังคับให้เขาต้องหนีออกมาในที่สุด


 


หลังหลบหนีออกมา สาวรก็มาพึ่งบารมีหลวงพ่ออุตตมะที่สังขละบุรี


ที่นี่เอง…เส้นทางชีวิตก็พาเขามาพบหญิงพม่าคนหนึ่งที่ลักลอบออกจากแดนมิคสัญญีเช่นเดียวกัน


 


เธอคนนั้นป่วยหนักจากมาลาเรียซึ่งมีอยู่ชุกชุมตามป่ารอยต่อชายแดนไทย-พม่า สาวรซึ่งรู้เรื่องยาสมุนไพรพื้นบ้านอยู่บ้างจึงมีโอกาสช่วยพยาบาลเธอขณะเจ็บป่วย


 


และความสงสารก็เปลี่ยนเป็นความรัก…


 


นี่ไม่ใช่นิยายน้ำเน่า แม้เขาจะไม่ชอบทหารพม่า แต่ใช่หมายรวมชาวพม่าธรรมดา ความรักซึ่งไม่มีพรมแดนนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและเกิดขึ้นในปีที่โบสถ์ (วัดวังก์วิเวการาม) หลังใหม่ของหลวงพ่ออุตตมะสร้างเสร็จนั่นเอง


 


ปัจจุบันทั้งคู่มีลูกสาววัยซน ซึ่งสาวรห่วงยิ่ง เพราะ "ไม่มีสัญชาติ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น"


 


2


พ.ศ. 2545…


"ซื้อขายยังกับขนม" การสัญจรมาสังขละบุรีทำให้ผมพบสาวรอีกครั้ง ครานี้เรื่องยาเสพติดในหมู่บ้านถูกระบายอย่างอัดอั้น ก่อนเขาบอกว่าห่วงประเทศไทย เพราะยาพวกนี้เสมือนข้าศึกที่ทำลายประชาชน


 


สาวรยังเหมือนเดิม อายุเขามากขึ้นอีกหนึ่งปี ทำงานที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับคนในบ้านป่าสักซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของหมู่บ้านมอญที่อยู่ใกล้วัดหลวงพ่ออุตตมะที่สุด


 


จดหมายข่าวมอญฉบับหนึ่งถูกกางให้ผมดู จดหมายนี้ทำขึ้นโดยชาวมอญที่ตั้งรกรากในเมืองไทย หลังจากอ่านก็พบว่าเนื้อหามุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมมอญ ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า รวมถึงบอกข่าวสารกิจกรรมชาวมอญในไทย


 


สายเลือดมอญยังเข้มข้นในตัวเขา …


 "วัฒนธรรมมอญผมยังสามารถรักษาได้อยู่ แม้อิทธิพลภายนอกจากสื่อพวกโทรทัศน์และวิทยุเข้ามา เด็กๆ ที่นี่รับหมด แต่ยังไม่ทิ้งของเดิม อย่างหิ้งบูชาวิญญาณที่ติดบ้านชาวมอญที่นี่ยังคงมีทุกบ้าน"


 


ซึ่งปัจจัยใหญ่ก็ยังมาจากอริยบุคคลอย่างหลวงพ่ออุตตมะ "หลวงพ่ออุตตมะท่านเป็นหัวใจที่สำคัญมากของหมู่บ้านในเรื่องเหล่านี้" เพราะวัฒนธรรมมอญที่ยังอนุรักษ์เอาไว้ได้นั้น มีงานที่ออกงานเดียวคือ "วันเกิดหลวงพ่อ"


 


 "ที่นี่เหมือนสวนสัตว์เปิดนะ…."


สาวรเปลี่ยนเรื่องดื้อๆ และปล่อยคำนี้ออกมาด้วยแววตาจริงจัง


 "มีคนเข้ามาดู มาศึกษาคนมอญ แต่คนมอญที่นี่ออกไปไหนไม่ได้ จะโดนไล่เมื่อไรก็ยังไม่รู้"


 


3


 


                                        


                 ภายใต้หน้ากากที่ ททท. สวมให้กับหมู่บ้านมอญสังขละบุรี  ที่แห่งนี้มีเรื่องราวมากมายซุกซ่อนอยู่


พ.ศ. 2546


สายน้ำเหมือนเดิม แปลกตาไปคือถนนตัดใหม่และรีสอร์ทที่ถูกปรับปรุงเป็นการใหญ่เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่แห่กันมาชมความงามของเมืองบาดาลจากการส่งเสริมของหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน


 


ปราการขุนเขาตะนาวศรีที่ส่วนหนึ่งเคยกางกั้นอำเภอสังขละฯ กับตัวเมืองกาญจนบุรีไร้ประสิทธิผลในการกรองนักท่องเที่ยวสิ้นเชิง การคมนาคมอันสะดวกสบายจนสามารถขับรถถึงได้ภายในวันเดียว แม้ใช้เวลามากกว่า 3 ชม. นำหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามา



 ส่วนหนึ่งของเมืองบาดาล


ต่างกับสมัยที่หลวงพ่ออุตตมะมาที่นี่ใหม่ๆ ตอนนั้นใครอยากไปกรุงเทพฯ ต้องเดินป่านั่งเรืออย่างเดียว ผมเจอไกด์ท้องถิ่นตัวน้อย ซึ่งไม่เคยมีบนสะพานไม้เมื่อปีก่อนๆ มาคอยแนะนำสถานที่ นี่อาจถือเป็นมาตรวัดบางอย่างที่บอกว่าที่นี่ "บูม" ขนาดไหน  ดัชนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือสภาพน้ำที่เริ่มขุ่นลงไม่ใสสะอาดเหมือนก่อนอันเนื่องจากการทำกิจกรรมต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวริมฝั่ง


 


อนาคตคงน่าเป็นห่วง…เพราะน้ำที่ผมเห็นนี่ก็คือน้ำเหนือเขื่อนที่ส่วนหนึ่งนำไปใช้ในการเกษตร ผลิตไฟฟ้า น้ำประปาให้กับคนพื้นราบได้ใช้กินกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน


 


4


 



สะพานมอญ สะพานอุตมานุสรณ์ ที่เป็นสะพานแห่ง "ใจ" ของชาวมอญสังขละบุรี  ขณะนี้มีสะพานสีแดงเพื่อการท่องเที่ยวขึ้นอยู่เทียบด้านหนึ่งของสะพานฝั่งตัวอำเภอในแบบที่ออกแบบได้  "แย่" ที่สุด


พ.ศ. 2547


 "สะพานที่เห็นนั่นเรียกสะพานแดง" สาวรชี้สะพานไม้ประหลาดที่โผล่มาในปีนี้ โดยมีเอกลักษณ์คือตัวสะพานทาสีแดงสดทั้งหมด


 


แน่ละ สะพานเกิดใหม่มาพร้อมกับการปรับปรุงภูมิทัศน์หลายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว


 


แต่สำหรับสาวรแล้ว สะพานไม้อุตมานุสรณ์เดิมนั้นสำคัญที่สุด เพราะเป็นสะพาน "ใจ" ที่ไม่ได้เกิดจากเครื่องจักร แม้ดูเก่าซอมซ่อ และสีไม่สดใสเหมือนของใหม่


 


 "สะพานไม้ไม่มีทางเกิดขึ้นหากขาดหลวงพ่อและความร่วมมือจากชาวบ้าน" เขาย้ำ ก่อนกล่าวว่าไกด์ท้องถิ่นรวมถึงชาวบ้านส่วนมากไม่ได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่มา เป็นนายหน้าบริษัททัวร์ภายนอกมากกว่า


 


 "หากพม่ายังเป็นแบบนี้ผมคงไม่อยากกลับไป อยู่ที่นี่ผมรักที่นี่ แต่ยังรู้ตัวเสมอว่ามาจากไหน บรรพบุรุษเป็นใคร รักประเทศไทยมากพอๆ กันกับแผ่นดินมอญ เพราะให้ที่อยู่ผม มีบุญคุณมาก"


 


วันนี้สาวรหาทางมีชีวิตอย่างสงบในแผ่นดินที่ให้โอกาสกับเขา (?)


 


ยังคงพยายามรักษาวัฒนธรรมมอญ สอนหนังสือมอญให้กับเด็กในหมู่บ้าน ไม่คิดมากถึงอนาคต ทำตรงหน้าให้ดีที่สุดอย่างไม่หวั่นเกรงเส้นทางชะตากรรมที่ทอดยาวไกลสำหรับคนที่ถูกตีตราว่า "ต่างด้าว"


 


บน "ถนนชะตากรรม" เวลานี้…นี่คือสิ่งที่คนตัวเล็กๆ อย่างเขาทำได้ …ã


 



   แสงอาทิตย์สาดส่องสะพานมอญ