Skip to main content

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์: "กับดักพลังงาน" ที่สังคมไทยต้องข้ามให้พ้น

คอลัมน์/ชุมชน

 


 



1. คำนำ


 


ในที่สุดก็เป็นไปตามความคาดหมายของคนที่ได้ติดตามเรื่องพลังงานว่า เมื่อเกิดภาวะราคาน้ำมันแพงแล้วรัฐบาลก็จะเสนอให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาอย่างแน่นอน 


 


"โครงการการจัดการความรู้เรื่องพลังงาน"[1] ซึ่งมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพลังงานที่เชื่อมโยงไปถึงผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน จึงขอถือโอกาสนำเสนอบทความชิ้นนี้ว่า ทำไมรัฐบาลจึงได้เสนอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ในขณะเดียวกันก็กีดกันการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าเล็กๆที่ผลิตจากขี้หมูหรือแผงเซลแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านคนทั่วไป


 


ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ดังนั้นแต่ละบทความนี้จึงมีเนื้อหาที่จบในตัว  โดยในตอนต้นนี้ผมจะนำเสนอปัญหากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการพลังงานไฟฟ้า ทำให้รัฐบาลทักษิณอ้างว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการของทั้งประเทศ จนต้อง "ปัดฝุ่น" โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมา ทั้งๆที่กระแสสังคมทั่วโลกต่างรู้สึกกลัวอันตรายหลังจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศยูเครนเมื่อปี 2529


 


2. กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการพลังงานไฟฟ้า


 


ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเพียงประเด็นเดียวที่สำคัญมากและเป็นอุปสรรค คือกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยที่ผลิตจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวมวลเช่น จากขี้หมู ชานอ้อย ด้วยกฎหมายนี้จึงส่งผลให้กิจการดังกล่าวไม่สามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น  จากนั้นจะนำเสนอให้เห็นว่ากฎหมายในประเทศเยอรมนีที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของกังหันลมและเซลแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านนับหลายแสนรายและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้อย่างไร


 


เชื้อเพลิงจากขี้หมู ชานอ้อย กังหันลมและแสงอาทิตย์ ถูกจัดให้เป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพราะใช้แล้วไม่มีวันหมดหรืองอกใหม่ขึ้นมาแทนที่ตนเองได้ (replace itself) ตรงกันข้ามกับพลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้หมดแล้วก็หมดเลย งอกหรือสร้างขึ้นมาใหม่ก็ไม่ได้


 


การนำขี้หมูมาหมักให้ได้ก๊าซแล้วนำก๊าซไปผลิตไฟฟ้า นอกจากจะได้ใช้ไฟฟ้าสมใจนึกแล้วยังช่วยลดปัญหากลิ่นและมลพิษตลอดจนการทำลายแหล่งน้ำอันเป็นที่มาของปลาแหล่งโปรตีนอันโอชะของผู้คนจำนวนมากอีกด้วย  แต่ทำไมเรื่องที่ดีงามอย่างนี้จึงกลายเป็นปัญหาในบ้านเรา


 


คุณสมชาย นิติกาญจนา เจ้าของฟาร์มหมูขนาด 5 หมื่นตัว จากตำบลวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ได้กล่าวในเวทีเสวนาแห่งหนึ่งด้วยความน้อยใจว่า "ทาง กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าที่ผมผลิตได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ก๊าซที่เหลือผมต้องปล่อยทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย"  นอกจากนี้คุณสมชายยังได้เสริมอีกว่า  "ในขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ต้องเสียภาษีในการนำเข้าเครื่องจักรเพราะได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่กรณีของผมต้องเสียภาษีนำเข้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถึงร้อยละ 20 และต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 นี่เป็นความไม่เป็นธรรม"


 


ในกรณีการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อยของโรงงานน้ำตาล  ผู้ประกอบการโรงน้ำตาลท่านหนึ่งที่อดีตเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยได้เล่าให้ผมฟังว่า "ทาง กฟผ. ถือว่าโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากชานอ้อยเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่แน่นอน คือมีชานอ้อยเพียงบางฤดูเท่านั้น ดังนั้น กฟผ.จะรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่ต่ำกว่าของโรงไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอดทั้งปี แล้วผมจะเอาชานอ้อยที่ไหนมาป้อนโรงงานได้ทั้งปี  อย่างนี้ถือว่าไม่เป็นการส่งเสริมจริง"


 


ท่านผู้อ่านอาจคิดว่า ขี้หมูและชานอ้อยที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างปัญหานั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดจำนวนมหึมา   แต่กฎหมายในลักษณะนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการผลิตไฟฟ้าที่จากกังหันลมและจากแสงอาทิตย์ซึ่งมีจำนวนมหาศาลที่สามารถได้มาฟรีโดยไม่ต้องซื้อ


 


ในประเทศเยอรมนีรวมทั้งอีกหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีกฎหมายที่เรียกว่า "ฟีดอินลอ (Feed in Law)"  สาระสำคัญของกฎหมายนี้มี 2 ประเด็น คือ


 


หนึ่ง ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากกังหันลม แผงเซลแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวมวล หรืออื่นๆ ไม่ว่าโดยใครก็ตาม ทางผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าต้องรับซื้อหรืออนุญาตให้ส่งกระแสไฟฟ้านั้นเข้าสู่ระบบสายส่งรวมได้ทั้งหมด 


 


การมีกฎหมายข้อนี้จะช่วยให้ ผู้มีแผงเซลแสงอาทิตย์ (หรือโซล่าร์เซล) บนหลังคาบ้าน ของตนเองสามารถขายไฟฟ้าที่ตนผลิตได้แต่ไม่ได้ใช้ในตอนกลางวันที่ยาวนานถึง 10 ชั่วโมงได้ ครั้นถึงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่ตนต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากก็สามารถซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการได้  


 


ทำนองเดียวกันทำให้เจ้าของกังหันลมที่ผลิตได้เยอะในช่วงที่ลมพัดแรงสามารถขายไฟฟ้าได้เงินจำนวนมาก ครั้นถึงเวลาจะใช้เอง (ซึ่งอาจไม่มีลมแล้ว) ก็ซื้อไฟฟ้าจากสายส่งได้ การเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ในภายหลังจะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆก็คล้ายกับตลาดสดในชนบท ใครผลิตได้เหลือใช้ก็นำสินค้ามาขาย อะไรที่ตนไม่มีก็ซื้อกลับบ้าน


 


สอง พื้นที่ที่ใดที่มีลมไม่แรงนักแต่มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ เขาจะรับซื้อไฟฟ้าในราคาแพงกว่าพื้นที่ซึ่งลมพัดแรงดีมาก นอกจากนี้ในช่วง 5 ปีแรกของสัญญาเขาจะรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูงกว่าช่วง 15 ปีสุดท้าย ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าของกังหันลมได้ทุนคืนเร็วขึ้น ส่วนผู้ประกอบการไฟฟ้าซึ่งเป็นกิจการขนาดใหญ่จะได้กำไรมากขึ้นในช่วง 15 ปีหลังเพราะคาดว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นกว่าเดิมด้วย


 


สำหรับแผงเซลแสงอาทิตย์ซึ่งมีต้นทุนสูง(แต่กำลังจะถูกลงกว่าเดิมถึง 5 เท่าตัวในเร็วๆนี้เพราะเทคโนโลยีใหม่) เขาต้องรับซื้อในราคาที่แพงมาก  เช่น สมมุติว่า ในขณะที่ราคาไฟฟ้าที่ผู้บริโภคจ่ายหน่วยละ 10 บาท กฎหมายฉบับนี้บังคับให้ผู้ประกอบการรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ถึงหน่วยละ 50 บาท ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงหน่วยละ 5 บาทเท่านั้น(หมายเหตุ-ตัวเลขที่ยกมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการประมาณเพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ เท่านั้น) 


 


จากที่กล่าวมาแล้ว เราจะเห็นว่า "ฟีดอินลอ" เป็นกฎหมายที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะต่อสังคมโดยรวมดีขึ้นได้ กล่าวคือ ไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์ช่วยลดมลพิษที่เกิดจากถ่านหิน  มีการเกลี่ยเฉลี่ยความได้เปรียบ-เสียเปรียบจากธรรมชาติให้กับทุกภาคส่วน


 


ผมอยากจะเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า "กฎหมายเอื้ออาทร" อย่างแท้จริงเพราะใช้กลไกของธรรมชาติอยู่เหนือกลไกการตลาด ไม่ใช่เอื้ออาทรในความหมายที่รัฐบาลทำอยู่


 


3.      กับดักพลังงาน


 


การที่กฎระเบียบของไทยเราเป็นไปในลักษณะกีดกันไม่ให้คนทำธรรมดา รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องพลังงานนั้น จะมองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการวางแผนหรือสร้าง "กับดัก" ให้คนทั้งหลายต้องยอมจำนนต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั่นเอง


 


พร้อมๆกับการสร้างกับดักดังกล่าวก็คือการปล่อยชุดความคิดออกมาครอบสังคมให้เชื่อตาม เช่น เมืองไทยเราลมไม่แรงพอที่จะทำไฟฟ้าได้ (ทั้งๆที่มีการศึกษาวิจัยโดยกระทรวงพลังงานเองแล้วว่าทำได้ถึง 1,600 เมกะวัตต์) ต้นทุนแผงเซลแสงอาทิตย์ยังแพงอยู่ เป็นต้น


 


กิจการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ว่าใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือสารนิวเคลียร์ ล้วนแต่เป็นกิจการที่ผูกขาดและรวมศูนย์ตามธรรมชาติของธุรกิจ นอกจากผลประโยชน์ทางธุรกิจจะตกอยู่กับพ่อค้าและนักการเมืองจำนวนน้อยและก่อมลพิษต่างๆนานาต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีปัญหาต่อการจ้างงานของคนอีกด้วย


 


เอกสารที่ชื่อ "Solar Generation" โดย กรีนพีซ (ค้นได้ทั้งฉบับจาก google.com) พบว่าปัจจุบันกิจการแผงเซลแสงอาทิตย์สามารถสร้างงานได้ถึง 1 ล้านคนทั่วโลก และจะเพิ่มเป็น 2 ล้านคนในปี 2563 ในขณะที่กิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถจ้างคนได้จำนวนนิดเดียว


           


ปัญหาพลังงานจึงเกี่ยวพันถึงการว่างงานของคนที่กำลังวิกฤตมากขึ้นทั่วโลก นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นตรงกันว่า เรื่องพลังงานเชื่อมโยงอย่างแน่นเหนียวกับปัญหาความยากจน ไม่มีรัฐบาลใดสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้โดยไม่นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้


 


4. สังคมไทยจะข้ามพ้นกับดักได้อย่างไร


 


เราต้องช่วยกันทำให้สังคมได้รู้เท่าทันถึงแผนกลยุทธ์ของกลุ่มพ่อค้าพลังงานทุกระดับที่เป็นผู้กำหนดนโยบายพลังงานของรัฐ  คนพวกนี้จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะบอกสังคมว่า พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม เป็นพลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ  ต้นทุนแพง ไม่มั่นคง


 


แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาสามารถผูกขาดดวงอาทิตย์ได้ เมื่อนั้นพวกเขาคงจะพูดอีกอย่างที่ตรงกันข้ามกับวันนี้


 


นอกจากสังคมไทยจะต้องรู้เท่าทันให้ได้แล้ว เรายังต้องร่วมกันผลักดันเชิงนโยบายด้วยครับ


             


 



เผยแพร่ครั้งแรกในผู้จัดการรายวัน







[1] สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข (สวรส.) ภาคใต้ แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)