Skip to main content

เลือดที่ต้องพึงระวัง

คอลัมน์/ชุมชน

 


มีเรื่องหนึ่งในแวดวงคนที่สนใจเกี่ยวกับประเด็นสิทธิ LGBT กำลังคุยกันอยู่ นั่นคือเรื่องการไปบริจาคเลือดของคนที่เป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย และคนข้ามเพศ


ที่ต้องมาคุยกัน (แต่ยังมองไม่เห็นทางออก) ก็เนื่องจากว่าคนเหล่านี้มีปัญหาในการไปบริจาคเลือดค่ะ


โดยเฉพาะคนที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีบุคลิกไม่ตรงตามเพศสรีระของตัวเอง อาทิ เป็นชาย แต่มีท่าทาง ตุ้งติ้ง นุ่มนิ่ม อ่อนหวาน ไม่ "สมชาย"  หรือเป็นหญิง แต่ดูห้าวเกินพิกัดของหญิงไทยมากไปหน่อย จะเกิดปัญหาโดยพลันค่ะ


กรณีของผู้ชายที่ไม่ "สมชาย" นี้ เมื่อเข้าไปแจ้งความจำนงขอบริจาคเลือด จะมีประโยคหนึ่ง ที่ทางองค์กรที่รับบริจาคจะถามว่า "เคยมีเพศสัมพันธ์หรือเปล่า และมีเพศสัมพันธ์กับเพศไหน"  ซึ่งถ้าตอบว่ามีกับเพศเดียวกัน ทางศูนย์ก็จะไม่รับบริจาคเลย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงนั่นเอง


กลุ่มที่มีความเสี่ยงคืออะไร ก็คือมีกลุ่มที่มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อโรคที่สามารถติดต่อได้ทางสารคัดหลั่งของร่างกาย อาทิ เลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ อันได้แก่เชื้อไวรัสบี และเชื้อเอชไอวี เป็นต้น โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวีนั้น กลุ่มเกย์จะถูกประทับตราหนาแน่นมากค่ะ ว่าเป็นผู้แพร่เชื้อเอดส์ ทำให้เกิดอคติต่อคนกลุ่มนี้ตามมา และทำให้เลือดของพวกเขาถูกปฏิเสธการบริจาคนั่นเอง


เมื่อสอบถามไปทางผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  ทำให้ทราบว่า เคยมีกรณีที่ (ต่างประเทศ) ชายรักชายไปบริจาคเลือด แล้วในเลือดมีเชื้อเอชไอวี ซึ่งเมื่อเอาไปบริจาคให้คนอื่นต่อ ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา นับตั้งแต่นั้น ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้อง "พึงระวัง" ขององค์การอนามัยโลก (ไม่ได้เป็นข้อบังคับที่จะต้องทำแต่อย่างใด) แต่ก็ทำให้สภากาชาดประเทศต่างๆ ไม่รับบริจาคเลือดจากคนกลุ่มนี้อีกเพื่อเป็นการตัดปัญหา รวมทั้งประเทศไทยด้วย


เกย์ กะเทย ทอม ดี้ หญิงรักหญิงที่อยากบริจาคเลือด ก็เลยเกิดอาการรู้สึกแย่ๆ กับตัวเอง ตามมาด้วยคำถามทำนองว่า การเป็นกะเทย เป็นทอมของตัวเขาและเธอเหล่านั้นมันน่ารังเกียจมากใช่ไหม ซึ่งจะว่าไปมันก็ส่งผลต่อสุขภาพจิต ต่อการเคารพนับถือตัวเองของคนกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อยเชียวล่ะ


 


นอกจากนั้นก็คือว่า ปัจจุบันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายรักชายได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะมีการรณรงค์ป้องกันอย่างแข็งขัน มีองค์กรทำงานด้านนี้มากมาย ทราบมาว่าล่าสุดนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดคลินิกเฉพาะให้บริการสำหรับกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายด้วย


แต่กระนั้นการไม่รับบริจาคเลือดของคนกลุ่มนี้ก็ยังดำเนินต่อไป


และที่น่าประหลาดใจกว่านั้นก็คือ แม้ว่าคุณจะเป็นเกย์ เก๊ เกย์ ประมาณว่าเกิดมาเพื่อที่จะเป็นเกย์หมื่นเปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางลื่นไหลไปทางเพศตรงข้ามแน่ๆ  แต่ถ้าคุณไม่มีท่าทาง "สาวแตก" หรือไป "ออกสาว" แถวนั้นให้คนรับบริจาคเห็น ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไรเลยในการไปบริจาค


แต่ขณะเดียวกัน กับคนที่แม้ไม่มีท่าทางออกสาว หรือออกหนุ่ม เพราะเก็บอาการกันสุดฤทธิ์ แต่ถ้าคุณแสดงความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ยอมรับว่าคุณคือ "คนรักเพศเดียวกัน" ทางศูนย์รับบริจาคก็จะไม่รับเลือดของคุณเหมือนกัน


เพราะทางศูนย์จะมีแบบฟอร์มสำหรับให้ผู้ไปบริจาคสำรวจสุขภาพตัวเองก่อนบริจาคว่าพร้อมหรือไม่ให้กรอก และมีอยู่ข้อหนึ่งที่เขียนว่า  "ท่านหรือคู่ของท่านมีพฤติกรรมทางเพศกับเพศเดียวกันหรือไม่"  ซึ่งแม้จะใช่ แต่ถ้าไม่กากบาทยอมรับลงไปก็ไม่มีปัญหาอะไรเหมือนกัน จะมีอุปสรรคเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไปยอมรับว่า "ใช่" นั่นแหละ ที่จะทำให้ไม่สามารถบริจาคเลือดได้


และคราวนี้ก็จะถูกปฏิเสธหมดเลย ทั้งหญิงรักหญิง ชายรักชาย รวมทั้งคนข้ามเพศด้วย ไม่ว่าจะดูออกหรือไม่ออกในระยะร้อยเมตรก็ตาม


การทำงานของศูนย์รับบริจาคเลือดแห่งนี้ ทำให้รู้สึกว่าช่างมีนโยบายที่มีอคติต่อ LGBT เสียเหลือเกิน เพราะจริงๆ แล้วเลือดที่รับบริจาคไป จะต้องนำไปตรวจสอบอีกทีในห้องแล็บ ก็ไม่เห็นมีจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมาถามหรือให้ตอบคำถามว่าใช่คนรักเพศเดียวกันหรือไม่


ถ้ามองว่านี่คือกลุ่มเสี่ยง กรองออกไปเสียก่อนรอบหนึ่ง เจ้าหน้าที่จะได้ทำงานสะดวกดายง่ายขึ้น โดยมีวิธีคิดมาจากอคติที่ว่าเกย์ (ชาย) เป็นกลุ่มเสี่ยง แล้วอคติ (ด้านบวก) ต่อกลุ่มหญิงรักหญิงที่ว่าเซ็กส์ของพวกเธอปลอดภัยไร้เอดส์ (เทียบจากไม่มีข้อมูลด้านเอดส์หรือองค์กรทำงานด้านเอดส์สำหรับหญิงรักหญิงเลย) ก็แล้วทำไมพวกเธอจึงถูกปฏิเสธเช่นกัน


มาตรฐานในการรับบริจาคเลือดของศูนย์แห่งนี้ จึงไม่เป็นธรรมและช่างบิดเบี้ยว ทำให้คนไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เพราะถ้าอยากบริจาคเลือดนักล่ะก็ อย่าได้พูดความจริงออกมาว่ารักเพศเดียวกัน โกหกได้ให้โกหกไป แล้วเราจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติให้ปวดใจเหมือนหญิงรักหญิงชายรักชายใสซื่อพวกนั้น


แต่ถึงขนาดนี้แล้ว ใครยังอยากบริจาคอีกหรือคะ!!