Skip to main content

" กลับไม่ถูก"

คอลัมน์/ชุมชน









































































ก่อนอื่นเราคงต้องมาทำความรู้จักกันก่อนกับความหมายของคอลัมน์นี้ และพื้นฐานของผู้เขียน เพื่อเราจะได้สื่อสารกันด้วยความเข้าใจ คำว่า " กลับไม่ถูก" ความหมายก็คือไม่สามารถกลับไปที่เดิมได้ หรือการหลงทาง นั่นเอง แต่จะหลงอยู่ที่ไหน หลงอย่างไร และจะกลับอย่างไร ต้องติดตาม

 

ส่วนตัวผู้เขียนก็เป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ ไม่ได้มีฐานะทางสังคม (หัวโขน) มาคลุมไว้ จึงเป็นคนที่ค่อนข้างมีอิสระทางความคิด เพราะชีวิตส่วนใหญ่สัมผัสกับความเป็นจริงของชีวิตเสมอ

 

ครั้งแรกจะใช้นามปากกาว่า " นักเขียน ป.4" เพราะเป็นคนเรียนน้อย (ไม่มีโอกาสจะเรียนเหมือนเด็กสมัยนี้) แต่การที่เรียนน้อยก็ดีไปอีกแบบหนึ่ง เพราะไม่ต้องเข้าไปอยู่ในกรอบการศึกษาที่เป็นบล็อกเดียวกันทั้งประเทศ การเรียนรู้ด้วยตนเองแม้จะไม่มีปริญญารองรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดการเรียนรู้ และการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริงจะมีมุมมองเป็นอย่างไรต้องติดตามงานเขียนกันดูต่อไป

 

อย่าลืมติดตามนะ จะได้ช่วยสะท้อนเพราะบางทีผู้เขียนอาจจะเป็นผู้ที่หลงทางเองก็ได้ วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดคอลัมน์ เรามาเริ่มพูดถึงกรณีอาการกลับไม่ถูกแบบเบา ๆ ที่ผู้เขียนจับประเด็นมาแลกเปลี่ยนมุมมองในวันนี้

 

ประเด็นที่ขอพูดถึงเป็นเรื่องแรกของคอลัมน์ จะพูดถึงเรื่อง การกระจายอำนาจ (คำว่าอำนาจนั้นเอง) เพราะทุกคนคงรู้จักดี โดยเฉพาะชาวบ้านในท้องถิ่นที่เป็นผู้รับผลของการกระจายอำนาจกันเแบบเต็ม ๆ

 

เคยถามชาวบ้านว่าการกระจายอำนาจดีไหม ชาวบ้านบอกว่าดีหรือไม่ดีบอกไม่ได้ เขาให้ไปเลือกก็ไป (มันเป็นกฎหมาย) เพราะใคร ๆ เขาก็ไปกันทั้งนั้น เลือกแล้วได้อะไร ก็จะมีคนในหมู่บ้านเข้าไปมีอำนาจในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 2 คน เวลาเลือกชาวบ้านก็ไปช่วยเลือกให้เขาได้เป็น พอเขาไปเป็นแล้วชาวบ้านที่เคยไปเลือกกลับกลัวคนที่ตนเองเลือก นี่เป็นเรื่องแปลกแต่จริง

 

คนที่ถูกเลือกเดิมก็เป็นชาวบ้านธรรมดาใช้ชีวิตประจำวันเหมือนชาวบ้านทั่ว ๆ ไป แต่พอได้รับเลือกเป็น อบต. เป็นผู้มีอำนาจ ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนไป เวลาของการดำรงชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนแปลง

 

จากเดิมเคยใช้เวลาทำมาหากินอยู่กับครอบครัวก็เริ่มเปลี่ยนเป็นเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการประชุม และคอยต้อนรับเจ้าใหญ่นายโตที่มักแวะมาเยี่ยมเยือนบ่อย ๆ

 

จากเดิมเคยแต่งตัวธรรมดา ๆ รู้จักแต่ชาวบ้านด้วยกัน แต่เมื่อเป็น อบต. แล้วต้องแต่งตัวดีขึ้น ไม่อย่างนั้นก็อายคนอื่นเขา และไม่สมศักดิ์ศรีกับตำแหน่งที่มีอยู่

 

เริ่มรู้จักคนใหญ่คนโตมากขึ้น เวลาไปช่วยงานแต่เดิมเคยนั่งคุยกับชาวบ้านอย่างครื้นเครง แต่พอมีตำแหน่งเป็นถึง อบต. ก็ต้องไปนั่งที่เก้าอี้รับแขกด้านหน้า มานั่งกับชาวบ้านไม่ได้เพราะงานศพก็ต้องคอยทอดผ้า งานบวช งานแต่งเจ้าภาพ ก็ต้องเชิญขึ้นกล่าวอวยพร

 

คิดดูเวลาทำงานไม่มี แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากมายแต่เงินเดือนที่ได้ไม่มากนัก " อะไรมันจะเกิดขึ้น"

 

มนุษย์ทุกคนต้องเอาตัวรอดกันทั้งนั้น ต่างคนก็ต่างหาวิธีของตนเองถูกบ้างผิดบ้างแล้วแต่แง่มุมของคนมอง (อบต.มันถึงอุตลุดอยู่ทุกวันนี้) ขณะอยู่ในอำนาจยังไม่ค่อยรู้สึกเท่าไร แต่ตอนที่หมดวาระต้องลงจากอำนาจนี่ซิ เรื่องใหญ่มีผลกระทบมากมาย เพราะจะให้กลับไปเป็นชาวบ้านเหมือนเดิมก็ไม่ได้

 

คนเคยมีอำนาจเคยมีคนนับหน้าถือตา ยกยอปอปั้นมากมาย แล้วอยู่ ๆ วันหนึ่งจะให้กลับไปใช้ชีวิตแบบชาวบ้านธรรมดาเหมือนเดิมมันทำใจลำบาก มองหน้าใครก็ไม่สะดวกพูดตรง ๆ ก็คืออยู่ยาก

 

มีวิธีเดียวคือต้องกลับไปมีอำนาจใหม่ให้ได้ ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตามเพื่อให้ได้อำนาจคืนมา และชาวบ้าน (พิเศษ) ที่เรียกตนเองว่านักการเมืองท้องถิ่น สามารถเรียนรู้ และซึมซับการดำเนินการด้านการเมืองได้เร็วมาก เพราะไม่ว่านักการเมืองส่วนกลางทำอย่างไร นักการเมืองท้องถิ่นทำได้หมด ไม่ว่าจะเป็นวิธีการหาเสียงวิธีการหาหัวคะแนน ทำป้ายโปสเตอร์ก็ทำเหมือนการหาเสียงระดับชาติ เรียกว่าทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้อำนาจมาอยู่ในมือ

 

หากโชคดีได้คืนมาก็ดีไป ใครโชคไม่ดี (เงินไม่ถึง) สอบตกก็แทบจะอยู่เป็นผู้เป็นคนไม่ได้
อาชีพที่เคยทำในขณะที่ยังไม่มีอำนาจก็กลับไปทำไม่ได้ อายชาวบ้านเพราะไม่ได้ทำมานาน คนใหญ่คนโตที่เคยคบเมื่อไม่มีอำนาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันจะไปคุยกับเขาก็อายที่สอบตก

 

ชีวิตมันช่างอยู่ลำบาก คำว่า " อำนาจ" มันมีอิทธิพลมากจริง ๆ
เพื่อนที่เคยรักก็พาลเคืองโกรธกัน คนที่เคยร่วมงานก็อาจเป็นศัตรูถึงขนาดชาตินี้มองหน้ากันไม่ได้

 

คนที่เคยทำงานเพื่อชุมชน (แสนดีในอดีต) เมื่อไม่ได้รับเลือกตั้งก็ถอดใจไม่ยุ่งเกี่ยวไม่ช่วยเหลือเพราะโกรธ (น่าเสียดายคนทำงาน) ชุมชนที่เคยอยู่กันอย่างอบอุ่นแต่เดิมหายไป กลายเป็นชุมชนที่แบ่งพรรคแบ่งพวก ความสามัคคีไม่ต้องพูดถึง หาไม่ได้ในยุคของการกระจายอำนาจ

 

สรุปแล้วการกระจายอำนาจทำให้ชาวบ้านหลงทางหรือมาถูกทางก็คงต้องไปช่วยกันคิด และหาแนวทางร่วมกันว่าชาวบ้านเองรู้ตัวหรือไม่ว่าเส้นทางของการกระจายอำนาจ กำลังเดินทางไปสู่เป้าหมายอะไร ถูกทางแล้วหรือไม่ หากยังไม่ถูกแล้วจะหาวิธีกลับกันอย่างไร?