Skip to main content

ต้มยำกุ้ง 2 : ยำใหญ่ใส่สารพัด

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


เมื่อผมถามหลานที่ไปดูหนังเรื่องต้มยำกุ้งว่าเป็นอย่างไรบ้าง  หลานที่เรียนอยู่มัธยม 3 ก็บอกว่าหนังเรื่องนี้มีคนหลากหลายชาติ พอถามว่าชอบเรื่องไหนมากกว่าระหว่างเรื่องต้มยำกุ้งกับเรื่ององค์บาก ตอนแรกหลานบอกว่าชอบพอ  ๆ กัน แต่พอคุยไปคุยมา หลานก็สารภาพว่า ชอบเรื่ององค์บากมากกว่า


 


…….


 


ถูกต้องทีเดียว ที่หนังเรื่องต้มยำกุ้งมีคนหลากหลาย "สัญชาติ" ทั้งเวียดนาม จีน ออสเตรเลีย เกาหลี และแน่นอนไทย (แต่อาจมี "เชื้อชาติ" ที่หลากหลายยิ่งกว่าอีก)


 


เพื่อการโกอินเตอร์ในโลกโลกาภิวัตน์  ผู้สร้างคงจะอยากให้หนังมีคนชาติต่าง ๆ เข้ามาร่วมแจมด้วย แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าการให้มีคนหลายสัญชาติ (และหลายเชื้อชาติ) ในหนังเรื่องนี้ถือเป็นจุดอ่อนประการหนึ่งของหนัง เพราะการ "แจกบท" ให้คนหลากหลายสัญชาติไม่มีความลงตัว ขาด ๆ เกิน ๆ  (เป็นเพราะว่ารู้จักวัฒนธรรมของคนหลากหลายชาติน้อยเกินไปจึงไม่รู้จะเขียนบทให้ยังไง ?)


 


ตัวละครในหนังก็มีมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น "กุ้ง"  สาวไทยในร้านอาหารต้มยำกุ้ง (ที่เจ้าของร้านเป็นชาวเวียดนาม ซึ่งอยู่แก๊งค์เดียวกับคนจีนที่มีตำรวจออสเตรเลียร่วมมืออยู่ด้วย) หรือ "ตุ๋ย" เด็กไทยที่ปล้นร้านสรรพสินค้า (ที่เป็นของคนเกาหลี) หรือเสี่ยสุเทพกับ สจ. สองพ่อลูก (มาเฟียท้องถิ่น) ที่ช่วยกันขโมยช้าง, ซินแสชาวจีนที่บุคลิกท่าทางวิปริตพอ ๆ กับมาดามโรสผู้เป็นนาย ฯลฯ (ช่างเชื่อมโยงท้องถิ่นกับกระแสโลกให้เข้ากันได้อย่างไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย)


 


หนังสามารถตัดบทของ "จอห์นนี่ชาวเวียดนาม" ออกไปก็ได้  บทของ "ริคตำรวจคู่หู" ของ  "หม่ำ จ๊กมก"  ก็ไม่มีความจำเป็นอะไร บทของ "มิสเตอร์ซิม นักธุรกิจชาวจีน" ไม่ต้องใส่เข้ามาก็ยังได้ ฯลฯ


 


แต่หนังเรื่องต้มยำกุ้งคงจะอยากเน้นสีสันของความหลากหลาย (ซึ่งจะว่าไปความหลากหลายก็เป็นแค่เรื่องของ option ภายใต้วิธีคิดของระบบทุนนิยม) จึงยำใหญ่เติมใส่บทบาทของใครต่อใครไปมากมาย และตัวละครแต่ละตัวก็มีความสัมพันธ์กันอย่างสะเปะสะปะ


 


ตัวโกงในหนังเรื่องนี้มีมากเกินไป มากจนน่าเวียนหัว มันก็เลยเกิดภาพที่ผมอยากจะเรียกว่า "แย่งกันเป็นตัวโกง" คนดูไม่รู้ว่าจะเกลียดใครมากกว่าระหว่าง "จอห์นนี่เวียดนาม" กับ "วินเซนต์ตำรวจออสเตรเลีย" กับ "สจ.แห่งสุรินทร์" กับ "มาดามโรสชาวจีนลักเพศ"


 


นอกจากหนังจะใส่สารพัดตัวละครเข้าไปอย่างอิเหละเขละขละแล้ว ประเด็นต่าง ๆ ที่หนังพยายามจะสื่อก็อิเหละเขละขละ ไม่เข้าที่เข้าทางด้วยเช่นกัน ภาพของการประท้วงต่อต้านการนำช้างไทยเข้ามาขายในออสเตรเลียโดยพวกเอ็นจีโอออสเตรเลียก็ "โดด" ออกมายังกะเล่นลิเก ไม่กลมกลืนกับหนังที่ตั้งท่าจะบู๊ล้างผลาญเลยแม้แต่น้อย


 


หรือการที่ "พระเอก" ของเราตามหาช้างจนไปเจอกับเข้ากับ "กะหรี่ไทย" ที่ถูกขังอยู่อย่างน่าเวทนา ก็เป็นเรื่องที่ "มีสาระเสียจนน่าหัวร่อ" แต่ชีวิตของกะหรี่ไทย (ที่เป็นผู้หญิง) ทั้งกลุ่มก็ไม่มีความสำคัญเท่ากับช้างตัวเดียว ดังนั้นพระเอกจึงได้แต่ร้องเสียงหลงเหมือนคนเมากัญชาว่า "ช้างกูอยู่ไหน!" (ความผูกพันของคนกับช้างช่างลึกซึ้งกินใจนัก)


 


ู๊กันไป บู๊กันมา ในที่สุด หนังก็ลืม "นางเอก" ของเราเสียสนิท หนังเรื่องต้มยำกุ้งไม่สนใจความเป็นอยู่ของ "นางเอก" แม้แต่น้อย (เพราะช้างน่าสนใจกว่า หรือว่าที่จริงช้างเป็น "นางเอก") ชะตากรรมต่อไปของนางเอกจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้   หรือว่าเธอคงเป็น "กะหรี่ไทยในต่างแดน" ต่อไป เสพยาเสพติดต่อไป  (ทีช้างหายไปยังออกตามหาได้ถึงออสเตรเลีย แต่กับความเป็นไปของผู้หญิงที่เป็นคนไทยด้วยกันกลับทำเมินเฉยเสียได้-ช่างเลือกที่รักมักที่ชังเสียจริง ๆ - หรือว่าที่จริงช้างเป็น "นางเอก"?)


 


…….


 


อ่านดูในเรื่องย่อก็ได้รู้ว่าพระเอกเป็นคนเลี้ยงช้างแห่งจังหวัดสุรินทร์ แต่ฉากในหนังหลายฉากกลับเป็นที่จังหวัดอุบลราชธานี เช่น ที่โขงเจียม หรือที่แก่งตะนะ แต่โอเคเรื่องนี้ไม่ซีเรียส ขอให้มันดูแล้ว "เนียน" และไปด้วยกันได้ก็พอ


 


ที่ผมสงสัย แต่หลายคนอาจมองข้ามไปก็คือ พ่อของพระเอก และรวมถึงพระเอกด้วยมีความปรารถนาที่จะถวายช้างแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่กลับถูก "นักการเมืองท้องถิ่น" ที่เชื่อมโยงกับขบวนการโจรข้ามชาติ(กล้า)ขโมยไปเสีย และขโมยไปในงานตรวจคชรักษ์  ที่มีข้าราชการอยู่ในที่นั้นด้วย   มันแปลว่าอะไร? ข้าราชการสมรู้ร่วมคิดด้วย ?


 


ไม่รู้สิ ผมคิดว่าคงไม่มีใครกล้าที่จะขโมยอะไรก็ตามที่เจ้าของมีความประสงค์จะนำไปถวายแด่องค์กษัตริย์ หรือว่านักการเมืองท้องถิ่นและเสี่ยภูธรไม่รู้ถึงความปรารถนานี้ หรือว่ารู้แต่ไม่สนใจ! หรือว่า...


 


การใช้ตรรกะในหนังเรื่องนี้อ่อนยวบยาบจนน่าตกใจ มันไม่อาจพยุงให้โครงเรื่องดำเนินไปอย่างน่าติดตามได้  อย่างที่กล่าวไปในบทความที่แล้วว่าไม่มีความสมเหตุสมผลหลายต่อหลายประการด้วยกัน การลำดับเรื่องส่งบทกันไปในแต่ละฉากละตอนขาดเหตุผล ไม่ปะติดปะต่อ ผมอยากจะกล่าวว่าหนังเรื่องต้มยำกุ้ง "ใช้แต่เพียงความบังเอิญ"  ในการดำเนินเรื่อง


 


หนังเต็มไปด้วยความบังเอิญที่อธิบายไม่ได้ เช่น ตอนไปออสเตรเลีย พระเอกบังเอิญไปเจอ "จิมมี่" และคิดว่าเขาเป็นคนขับรถแท็กซี่รับจ้างแต่ที่จริงแล้ว "จิมมี่" เป็นผู้ร้ายที่บังเอิญพัวพันอยู่กับแก๊งค์ที่โขมยช้าง บังเอิญจิมมี่พาไปเจอกับ "หม่ำ จ๊กมก" บังเอิญ "หม่ำ จ๊กมก" พาไปเจอกับร้านต้มยำกุ้ง บังเอิญพระเอกเห็นตัวโกง (จอห์นนี่)ป้วนเปี้ยนอยู่หน้าร้าน


 


พระเอกต่อสู้กับจอห์นนี่และสมุนจนสะบักสะบอม และบังเอิญนางเอก (ตั๊ก บงกช) ไปเจอเข้า จึงพาไปรักษาพยาบาลที่ห้อง  จากนั้น นางเอกพาพระเอกของเราไปยังร้านต้มยำกุ้งโดยคิดว่าอาจได้เบาะแสของช้างที่ตามหาอยู่ พระเอกบุกเข้าไปอย่างห้าวหาญ เกิดการต่อสู้กันยกใหญ่ และแล้วโดยบังเอิญที่พระเอกได้พบกับลูกช้างที่กำลังตามหา บังเอิญอีกเช่นกันที่ช่วยหม่ำ จ๊กมก ที่บังเอิญถูกขังอยู่ในที่นั้นออกมาได้ และเมื่อพากันออกมาแล้ว ก็บังเอิญมีรถมารับพวกเขาไปพอดี ฯลฯ


 


มีความบังเอิญอีกชุดหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับชุดที่แล้ว คือ เมื่อหม่ำ จ๊กมกในฐานะตำรวจ รีบรุดไปยังห้างสรรพสินค้าที่มีการปล้นเกิดขึ้น ซึ่งบังเอิญคนที่ปล้นเป็นคนไทย และบังเอิญคนที่ปล้นรู้จักกับหม่ำ คนที่ปล้นซึ่งทราบว่าชื่อตุ๋ยนี้ ในตอนต่อมา บังเอิญเป็นมือปืนที่ยิงท่านมิสเตอร์… ตายในอ่าง ซึ่งบังเอิญมีนางเอกในฐานะกะหรี่อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย แต่บังเอิญหลบออกไปได้


 


และเจ้าของร้านชาวเกาหลีที่เคยถูก "ไอ้ตุ๋ย" ปล้นนี่เองที่บังเอิญขับรถผ่านไปทางร้านต้มยำกุ้งและบังเอิญเจอพระเอก ลูกช้าง กับหม่ำ จ๊กมกที่บังเอิญออกมาพอดีหลังการต่อสู้จบลง ฯลฯ


 


ความบังเอิญอันล้นหลามเช่นนี้ไม่รู้ว่าจะทำความเข้าใจมันได้อย่างไร นอกเสียจากคิดว่าบังเอิญมันเป็นหนัง ! ซึ่งบังเอิญผมได้ดูเพราะต้องไปดูเพื่อนหลาน ที่ต้องไปเป็นเพื่อนหลานเพราะบังเอิญหลานไม่มีเพื่อนไปด้วย (โลกนี้ช่างเต็มไปด้วยความบังเอิญดีแท้)


 


.........


 


ขณะนั่งกินส้มตำข้างถนน หลานผมพูดไปหัวเราะไปว่าพระเอกพูดเป็นอยู่คำเดียวคือ "ช้างกูอยู่ไหน" (หลานผมทำท่าเลียนแบบพระเอกได้ตลกเสียจนผมหัวร่องอหงายแทบจะสำลักส้มตำตาย) หลานยังบอกอีกว่า "หม่ำ จ๊ก มก"   เล่นเรื่องนี้ไม่ค่อยตลกเพราะดูเก่งเกินไป อวดภาษาอังกฤษอัน "ชัดถ้อยชัดคำ" มากไปหน่อย


 


ผมไม่พูดอะไร เพราะไม่รู้จะพูดอะไร ได้แต่คิดว่า ขนาดเด็กยังดูออก ก็เล่นยำใหญ่เอาอะไรต่างๆ มาใส่เข้าด้วยกันทั้งที่มันเข้ากันไม่ได้ (เอาเนยมายำรวมกับพริกไทยดำเหยาะน้ำปลาร้าเล็กน้อยใส่โสมเกาหลีสองชิ้นคลุกให้เข้ากับเป็ดปักกิ่ง...  โอ้  พระเจ้า)


 


ผลที่ออกมาก็คือรสชาติไม่กลมกล่อมน่ากินอย่างที่ควรจะเป็น.