Skip to main content

จะทิ้งลูกหรือแท้งลูก

 


 


เรื่องปิดถนนให้แข่งรถจบไปอย่างรวดเร็วโดยสาธารณชนทำหน้าที่ของตนอย่างน่าชมเชย      นั่นคือวิจารณ์และวิพากษ์ให้เสร็จเรียบร้อยไปในครั้งเดียว     ปิดโอกาสมิให้ไอเดียรายวันจากคน ๆ เดียวส่งผลในทางปฏิบัติได้


 


นับจากนั้นยังมีไอเดียรายวันจากบุคคลระดับรัฐมนตรีออกมาอีก     แต่กระแสต่อต้านเบาลงกว่าเรื่องแรก     น่าจะเป็นเพราะว่าบางไอเดียก็ฟังคล้าย ๆ จะดี    หรือไม่ก็กำลังรอรวบรวมข้อมูล    


 


มีเรื่องหนึ่งที่ทุกคนน่าจะมั่นใจได้ก็คือ ภายใต้สังคมที่สลับซับซ้อนและมีความเป็นพหุจริยธรรมเช่นนี้      ไอเดียของคน ๆ เดียวไม่มีทางที่จะดีไปทั้งหมดได้    ทุก ๆ ไอเดียควรผ่านการกลั่นกรองจากคณะทำงานที่ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากชนทุกชั้นและมีความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น


 


หน่วยงานหลายแห่ง   สถาบันหลายแห่ง   มักมีคณะกรรมการหรือบอร์ดที่มาจากคนหลายกลุ่มหลายเหล่า   แต่ตามธรรมเนียมและวัฒนธรรมอันดีงามของบ้านเรามักทำให้มีคนไม่กี่คนในคณะกรรมการหรือบอร์ดนั้น ๆ ผูกขาดอำนาจ  ผูกขาดประเด็น  และผูกขาดการตัดสินใจเสมอ ๆ    


 


ไอเดียรายวันของรัฐมนตรีปิดถนนแข่งรถจึงต้องสงสัยอย่างมากว่า คิดรายวัยคนเดียวหรือมีคณะทำงาน  คณะทำงานนั้นมีความเสมอภาคและรอบด้านเพียงใด    


 


ไอเดียเรื่องที่สองที่สาธารณชนพูดถึงน้อยไปหน่อยคือ เรื่องให้คุณแม่ทำสัญญาฝากทารกแรกเกิดให้แก่โรงพยาบาลได้   


 


สาเหตุที่มีการพูดกันน้อย  เดาว่าน่าจะเกิดจาก 2-3 สาเหตุคือ


หนึ่ง เรื่องนี้เกี่ยวพันกับความเคร่งครัดทางจริยธรรมอย่างสูง   สูงจนงง    


สอง คือมีไอเดียที่สามและสี่ตามออกมาติด ๆ จนสาธารณชนขยับตัววิพากษ์ไม่ทัน      


รวมทั้งอาจจะมีข้อสาม  คือรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีภาพพจน์ค่อนไปทางบวกคล้าย ๆ จะรับลูก   เติมอีกนิดว่ามีการอ้างชื่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการซึ่งภาพพจน์บวกสุด ๆ คล้าย ๆ จะรับลูกด้วย


 


ผมไม่ทราบว่ารัฐมนตรีภาพเป็นบวกทั้งสองท่านจะรับลูก (ไปเลี้ยง) จริงหรือเปล่า  แต่ถึงจะจริง    เรื่องนี้ก็สมควรที่สาธารณชนจะพูดคุยกันให้มากอยู่ดี


 


คำถามที่ผมสงสัยอย่างเร็วๆ คือ  คุณแม่ที่ทิ้งลูกเป็นใคร   คุณแม่ที่ทิ้งลูกเป็นกลุ่มคนที่กล้าปรากฏตัวมาทำสัญญาจริงหรือ    คุณแม่ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทำสัญญาได้ด้วยหรือ  จะให้คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูประจำชั้นลงนามรับรองหรือไม่   หรือจะให้พ่อเลี้ยง (ที่ทำลูกสาวท้อง) ลงนามรับรอง     หรือจะให้แม่ (ที่ปล่อยให้พ่อเลี้ยงทำ) ลูกสาวท้องลงนามรับรอง   


 


สุดท้ายแล้ว สัญญารับลูกมาเลี้ยงของรัฐจะได้ทารกมากี่คน  ใช่กลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่   ส่วนที่เหลือยังคงถูกทอดทิ้งในถังขยะหรือทำลายตามเดิมหรือเปล่า      เมื่อรัฐไปรับมาแล้วจะเลี้ยงให้มีคุณภาพได้อย่างไร   มีการพูดคุยเรื่องงบประมาณชัดเจนแล้วหรือว่าใครจะเลี้ยง   ใครจะจ่าย  คนเลี้ยงและคนจ่ายมีปัญญาจริง ๆ หรือ   หรือจะทิ้ง (ทิ้งๆ ขว้างๆ ) ต่อ


 


ทั้งหมดนี้คิดคนเดียวแบบเร็ว ๆ ประมาณ 10 วินาทีเสร็จ    หากคิดช้า ๆ และชวนคนมาคิดเป็นคณะท่าจะเละ


 


ในฐานะ (คล้าย ๆ) นักวิชาการ     ผมสงสัยด้วยว่าเคยมีงานวิจัย (ที่เชื่อได้) สักชิ้นมั้ยที่ตอบคำถามแรกนั่นคือ คุณแม่ที่ทิ้งลูกเป็นใคร   ทั้งที่ทิ้งไว้ในโรงพยาบาล   ในถังขยะ  หรือทำลายก่อนทิ้ง     


 


โปรดสังเกตว่าผมใช้คำว่า "ทำลาย" แทนที่คำว่า "ฆ่า" ตลอดมา   บางทีการฝากลูกให้คนอื่นที่มิใช่พ่อแม่เลี้ยงกับการทำลายลูกที่แท้แล้วเป็นเรื่องเดียวกัน   และเป็นเรื่องเดียวกันกับการฆ่า   การฆ่าเป็นการทำลายชีวิตทันที   การฝากลูกให้คนอื่นเลี้ยงเป็นการทำลายพัฒนาการบุคลิกภาพหรือ "ตัวตน" หรือ "self" ของชีวิต   ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นการทรมานชีวิตระยะยาวมากกว่าการฆ่าเสียอีก


 


ผมจึงไม่เห็นว่าเรื่องนี้ต่างจากการทำแท้งตรงไหน    และสงสัยมากว่าทำไมไม่มีใครพูดเรื่องการทำแท้งในช่วงนี้ ทั้งที่มีคนเซ่อซ่าเปิดโอกาสให้แล้ว


 


การทำแท้งจะเรียกว่าการฆ่าก็ได้     แต่ก็มีการบัญญัติศัพท์ว่า "ยุติการตั้งครรภ์" เพื่อหลีกเลี่ยงความหมายที่น่ากลัว   แม้ว่าการทำแท้งจะเป็นการทำลายแต่การทำแท้งก็สามารถหยุดการทรมานชีวิตน้อย ๆ ที่ไม่มีใครต้องการในระยะยาวได้ด้วย


 


การยุติครรภ์กับการยุติชีวิตทารกแรกคลอดนั้นบาปเท่ากันหรือไม่     เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร        


 


การท้องและคลอดที่ไม่พร้อมกับการยกลูกให้รัฐเลี้ยงนับเป็นการทรมานชีวิตที่ไม่มีใครต้องการหรือไม่  เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร 


 


ท้องไม่พร้อมควรยุติด้วยการทำแท้งจริงหรือ     คลอดทารกไม่พร้อมควรแก้ไขด้วยการยกให้รัฐเลี้ยงจริงหรือ


 


จะเห็นว่าเรื่องฝากลูกให้รัฐเลี้ยงมีประเด็นน่าคุยกันได้มาก   ไม่น่าจะยอมให้เงียบกันง่าย ๆ เช่นนี้นะครับ