Skip to main content

เทคนิคใดเล่าจะดีเท่า ความเข้าใจ

คอลัมน์/ชุมชน

ประชุ้ม ประชุม ๆ ๆ ๆ 


 


หลายคนเชื่อว่าการประชุม จะทำให้เกิดการพูดคุย เกิดการระดมสมอง และการประชุมยังสามารถ แก้ปัญหาต่างๆ ได้  ดังนั้น จึงมีผู้คิดค้นเทคนิคการประชุมมากมาย  ทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ   


 


ผู้เขียนซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ และก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ทางด้านวิชาการน้อยมาก  จึงไม่สามารถบอกชื่อทฤษฎีเหล่านั้นได้  ในอดีต  เมื่อมีการประชุม  ผู้เขียนเป็นได้แค่เพียงผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งเท่านั้น   แรกๆ ที่เข้ามาโลดแล่นในวงการผู้นำชุมชนหรือที่เรียกว่าพวกที่ชอบยุ่ง(เสือ…) เรื่องของชาวบ้าน  ยุคก่อนรัฐธรรมนูญปี 40 ไปซัก 10-15 ปี ยุคนั้นการประชุมทั้งหมดมีลักษณะแบบเป็นทางการ   หากชาวบ้านชุมชนไหนจะจัดประชุมต้องเชิญข้าราชการในพื้นที่  เข้าไปร่วมประชุมด้วย  และหากการประชุมใดไม่มีข้าราชการเข้าร่วมการประชุมนั้นจะถูกเรียกว่า  "การประชุมเถื่อน"  ไม่ใช่เพียงราชการเท่านั้นที่คิดอย่างนี้  แม้แต่ชาวบ้านด้วยกันเองก็ยังไม่ยอมรับ


 


ดังนั้น  การที่ผู้นำชุมชนสมัยนั้น จะทำอะไรก็ต้องอยู่ในสายตาของข้าราชการทั้งหมด เหมือนบท เพลงที่ว่า  "พอศอสองพันห้าร้อยสี่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านต่างมาชุมนุมมาชุมนุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี"  แล้วมีเนื้อเพลงตอนที่สำคัญคือ  "ทางการเขาสั่งมาว่า"  นั่นหมายถึงผู้คนในประเทศต้องปฏิบัติตัวตามคำสั่งของทางราชการ  นับตั้งแต่มีแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 จึงทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสในการใช้ความคิด  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  


 


แล้วมาวันหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเซซุนครั้งร้ายแรง   แต่ในเรื่องร้ายก็มีเรื่องดี วิกฤติทำให้เกิดโอกาสเสมอ  ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น   ดังนั้น ในขณะที่บ้านเมืองเกิดปัญหา ประเทศไทยก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 40 (เขาว่ามาอย่างนั้น) มาเป็นกฎหมายหลัก   ซึ่งหากจะพูดให้ชัดคือกฎหมายที่กำหนดทิศทาง การบริหารจัดการประเทศนั่นเอง  


 


และเมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป หลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลง  คนทำงานในท้องถิ่นเริ่มตื่นตัวเมื่อมีเงินจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ชุมชน (กองทุนเพื่อสังคม หรือ sif ) ซึ่งแต่เดิมคนทำงานในชุมชนไม่เคยมีเงินมาช่วยในการทำงานมาก่อน  จึงทำให้มีคนทำงานด้านนี้น้อยมาก แต่เมื่อมีตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดทีมทำงานเพื่อชุมชนเพิ่มขึ้นมากมาย เรียกว่าแย่งกันทำดีจนฝุ่นตลบเลยทีเดียว ทำให้การประชุมของชาวบ้าน  ไม่จำเป็นต้องมีราชการร่วมด้วยก็ได้


 


เส้นทางการไหลของเงิน ไหลลงสู่ชุมชนโดยตรง  ตามโครงการที่ชุมชนเสนอไป  จะมากจะน้อยอยู่ที่เนื้องานตามโครงการนั้นๆ  โดยไม่ผ่านส่วนราชการเป็นครั้งแรก  แต่ผ่านมาทางผู้นำชุมชนที่เป็นชาวบ้านจริงๆ  บวกกับกระแสการมีส่วนร่วมของรัฐธรรมนูญ  ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวเป็นอย่างมาก   จุดนี้เป็นจุดหักมุม เพราะเงินกับแนวคิดทฤษฎีการประชุมแบบมีส่วนร่วมเข้ามาแพร่ระบาดสู่ชุมชนพร้อมๆ กัน นั่นคือทฤษฎีการประชุมแบบประชาคม  


 


การประชุมแบบนี้ มีการใช้เทคนิคที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมมีความรู้สึกคล้อยตามและตื่นเต้นกับเทคนิคการประชุมที่ชาวบ้านไม่เคยคุ้นกับมันมาก่อน ทั้งเทคนิคการบันทึกการประชุม  เทคนิคการระดมความคิด "mindmapping" และเทคนิคที่ทำให้คนที่ไม่ชอบพูด  แสดงความรู้สึกออกมาได้โดยผ่านการเขียน "metaplan"


 


เทคนิคแรก  ใช้บันทึกความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมลงในกระดาษแผ่นใหญ่ ที่ติดไว้ในที่ๆ ทุกคนมองเห็น   มีการเขียนทุกความคิดของผู้เข้าร่วมประชุมลงไปในกระดาษ เพื่อให้ทุกคนที่เข้าประชุมดูว่า  เขาคิดอะไรไปบ้างแล้ว  และหากยังมีคนไม่พูดในเวทีเดียวกันก็จะใช้เทคนิคที่สอง คือแจกกระดาษแผ่นเล็กๆ  ให้เขียนแทนการพูด  เทคนิควิธีการเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลมากในกลุ่มของคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนทำงานเพื่อสังคม (รวมผู้เขียนด้วย) ขณะนั้นพวกเราคิดว่ามันคือสุดยอดแห่งเทคนิคการประชุม  และที่แปลกก็คือทฤษฎีการประชุมแบบนี้ชาวบ้านใช้เป็นก่อนราชการ  แสดงว่าชาวบ้านก้าวนำส่วนราชการไปนิดหนึ่ง


 


แต่เมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับ  การประชุมแบบประชาคมแพร่ระบาดว่องไวกว่าโรคร้ายเสียอีก  อาจจะเป็นเพราะความรู้สึกว่ามันคือสุดยอด  ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนจัดประชุม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่หลั่งไหล (แย่งชิง) กันลงชุมชน  เหมือนสายน้ำหลาก  ชาวบ้านไม่เป็นอันทำมาหากิน


 


ยิ่งหากเป็นชาวบ้านคนไหนที่ชอบแสดงความคิดเห็นในเวทีบ่อยๆ จะยิ่งได้รับเชิญประชุมมาก จนเหมือนศึกแย่งชิงชุมชนของแต่ละหน่วยแต่ละสำนัก  โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่แสดงออกชัดเจนมาก และยิ่งมีนโยบายรัฐบาลทั้งเรื่อง OTOP เรื่องกองทุนหมู่บ้าน และนโยบายอื่นๆ  อีกมากมาย  เรียกว่าประชุมกันแหลกราญ  ประชุมจนอ่อนอกอ่อนใจ ประชุมจนกลัวการประชุม


 


เทคนิคที่เคยคิดว่ามันคือสุดยอด  เลยกลายเป็นความซ้ำซาก    ทำให้ชาวบ้านเบื่อการประชุม จนไม่สามารถเรียกประชุมได้  หรือหากเรียกได้ก็จะมีแต่พวกพ้องของผู้จัดประชุมเท่านั้นที่เข้ามาร่วมประชุม


 


เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามตอนหน้านะจ๊ะ