Skip to main content

เพียงแค่ ๑๓๑ เท่านั้นหรือ ?

คอลัมน์/ชุมชน

 



 


ทันทีที่สองเท้าของผู้อพยพ คนที่ ๑๓๑ หยัดยืนอยู่บนผืนดินมาเลเซียได้สำเร็จ สถานการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง


 


ไม่ว่าเจ้าหน้าที่, นายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลไทย จะสรุปเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าอย่างไรก็ตาม


 


ไม่ว่าจะแก้ตัว, แก้หน้า หรือพยายามจะอธิบายอย่างไรก็ตาม...


 


ด้วยว่า "ความขัดแย้ง" และ "ความรุนแรง" ใน ๓ จังหวัดชายแดน ไทย-มาเลเซีย ได้ยกระดับตัวมันเองขึ้นเป็นเรื่องระหว่างประเทศ หรือสถานการณ์ทางสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิทธิมนุษยชนไปในทันทีทันใด


 


คนเหล่านี้ "หลบหนีอะไร" จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่า "หลบหนีใคร" ในเนื้อหาสาระ และว่ากันโดยปรากฏการณ์แล้ว นอกเหนือไปจากประเด็นการเมือง การปกครอง และ/หรือการสงคราม


 


ประเด็นที่ "รัฐไทย" หรือ "รัฐบาลไทย" เป็น "พุทธ" ผู้มุ่งรังแกประชากร "มุสลิม" ก็คล้ายจะหวนกลับมาอีกวาระหนึ่ง


 


ทั้งยังคล้ายกับจะเป็นความรุนแรงระหว่างศาสนายิ่งกว่าเดิมไปอีกหลายเท่า แม้ "ภายในประเทศ" จะมิได้มีสิ่งใดส่อว่าเป็นเช่นนั้นอย่างชัดแจ้งนัก...


 


กาละและเทศะเช่นนี้จึงดูเหมือนกับว่า หาก "ผู้นำรัฐ" ไม่มี "ทางออก" หรือไร้ "วิสัยทัศน์อันสร้างสรรค์"  ใดๆ เสียแล้ว  การ "หุบปาก" เพื่อ "ใช้สมอง" จะเข้าท่า น่าสนใจ หรือ "ดีเสียกว่า" วิธีการอื่นๆ ไม่ใช่น้อย


 


ในฐานะ "คนไทย" ไม่ว่าจะ "รักชาติ" หรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร จึงควรที่จะช่วยกัน "ภาวนา" และ "กระตุ้นเร้า" ให้ "ท่านผู้นำ" เริ่มใช้ สติ, ปัญญา และ ธรรมะ ในการ "แก้ปัญหา" นี้อย่าง "จริงจัง" และ "จริงใจ" เสียที


 


แทนที่จะใช้ "การตลาดนำการเมือง" อย่างที่โหมทำกันอยู่ในปัจจุบัน...


 


เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น และกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกๆ ทีนั้น เกิดขึ้นกับสมาชิกทั้งสังคม ทุกภาคส่วน มิใช่จะเกิดขึ้นกับ "ผู้นำ" หรือ "ผู้เกี่ยวข้อง" ดังที่มักเกิดขึ้นในบางประเทศ


 


และที่สำคัญ จะว่าไปแล้ว "ความเสียหาย" ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ ก็ใช่ว่า "ใครต่อใคร" ในบรรดาผู้นำรัฐจะรับผิดชอบได้ ด้วยตัวเอง หรือด้วยสิ่งที่ตนมี...


 



 


ไม่เพียงเท่านั้น การที่ "บางพื้นที่" เริ่มมีท่าทีและปฏิบัติการ "ขัดขวาง" มิให้ "เจ้าหน้าที่รัฐ" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจ-ทหาร หรือ "ผู้ถืออาวุธ" เข้าเขตหมู่บ้าน และเขตศาสนสถาน ด้วยวิธีการสร้าง "กำแพงมนุษย์" ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นการ "ปฏิเสธอำนาจรัฐ" อย่างละมุนละม่อม หรือนุ่มนวลที่สุดแล้ว


 


และอาจเรียกได้ว่า นี่เป็นปฏิบัติการ "การเมืองนำการทหาร" ที่นำหน้ารัฐไทยไปหลายก้าว หากจะถือเอาความขัดแย้งและความรุนแรงใน ๓ จังหวัด เป็นสถานการณ์สงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สงครามแย่งชิงพื้นที่" และ "สงครามแย่งชิงมวลชน"


 


แต่ประเด็นที่สำคัญ และน่าใส่ใจก็คือ นี่มิใช่สงคราม และนี่มิใช่การแข่งขัน ซึ่งตัดสินกันด้วยผล "แพ้-ชนะ" หากเป็นเรื่องของ "ปัญหา" และ "การแก้ไข" หรือ "วิกฤติ" และ "การหาทางออก" โดยมีสันติภาพและสันติสุขในชีวิตของเพื่อนร่วมสังคมเป็นข้อยุติ


 



 


หากปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา สาระสำคัญคงอยู่ที่ว่า "เรา" จะ "แก้ไข" มันอย่างไร หรือหากที่ว่ามาทั้งหมดป็น "วิกฤติ" ก็แล้ว "โอกาส" หรือ "ทางออก" เล่า ไปอยู่เสียที่ไหน?


 


ในประเด็นนี้หลายท่านกล่าวไว้ตรงกัน หากต่างกรรมต่างวาระว่า สิ่งหนึ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ ในการแก้ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ "ความจริงใจ"


 


"ความจริงใจ" ซึ่งมิได้มีอยู่เพียงในคำพูด ในนโยบาย หรือในแถลงการณ์ของรัฐ ตลอดจนผู้นำประเทศ หากจะต้องมีอยู่อย่างเป็นเนื้อเดียวกับปฏิบัติการณ์ระดับต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ก็ยังหมายถึง "ความจริงใจอันยั่งยืน" อันมิใช่การขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เช่นที่มักจะเป็นอยู่


 


อีกทั้ง การแก้ปัญหา และปฏิบัติการณ์ "อย่างมีส่วนร่วม" ก็เป็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ได้แก้ปัญหาของเขาเอง โดยมิต้องเสียเวลากับระบบรวมศูนย์อำนาจ หรือการที่คนระดับล่างมิสามารถลงมือ "ทำงาน" ได้โดยอิสระ


 


ภายใต้กรอบของกฎหมายและวิธีปฏิบัติ ซึ่งมีความครอบคลุม และไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ใดอย่างเป็นการเฉพาะ


 


นอกจากนั้น ก็กล่าวกันไม่น้อย ว่าทำอย่างไร จึงจะเกิด "สมัชชาประชาชน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่ประกอบด้วย "ตัวแทน" อย่างแท้จริงของพวกเขา ซึ่งน่าจะสามารถคัดเลือกได้ โดยวิธีการและกระบวนการอัน เรียบง่าย-บริสุทธิ์-ยุติธรรม ไม่มีการเมืองระดับชาติ หรือกลไกของรัฐในส่วนกลางเข้ามาแทรกแซง นับแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับรวม ๓ จังหวัดเป็นสมัชชาเดียวกัน


 


"ความจริงใจ" "การมีส่วนร่วม" ในบรรยากาศแห่ง "ความไว้วางใจ" นี้เอง ที่น่าจะสมานและเยียวยาความป่วยไข้ของรัฐและระบบกลไกรัฐเอาไว้ได้มิใช่หรือ


 



 


หมอกเมฆแห่งความพลั้งเผลอและพลาดผิดซึ่งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีเจตนาใดหรือไม่ก็ตาม หากวันเวลาไม่เนิ่นช้าไปกว่านี้ และมีผู้นำ ตลอดจนกลไกของรัฐ ประกอบไปด้วย "วุฒิภาวะ" และ "สติ-ปัญญา-สัมมาทิฏฐิ" เป็นที่ตั้งแล้ว การ "ยอมรับ" และ "ยอมขอโทษ" ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหาย หรือเป็นเรื่องที่สายเกินไป


 


จริงอยู่ ข้อเท็จจริงมากมายในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันแสดงถึงที่มาที่ไปอันซับซ้อนและสับสน ตลอดจนเกี่ยวข้องโยงใยหลายต่อหลายสิ่งเข้าไว้ด้วยกัน


 


แต่นั่นคงมิใช่เรื่องยากชนิดที่เหลือบ่ากว่าแรง หากทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้อง จะพยายามใช้ หรือพยายามน้อมนำเอาหลักศาสนธรรม ตลอดจนหลักและวิธีการด้านสันติวิธี "ที่แท้จริง" เข้ามาใช้ให้เป็นรูปธรรมสำหรับแก้ปัญหาในทุกระดับ


 


ความเข้มแข็งหรือแข็งแกร่งในทางศาสนา และวัฒนธรรมระหว่างศาสนา ของประชากรส่วนใหญ่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยมีมาในอดีต แม้ว่าจะถูกบ่อนเซาะด้วย "อำนาจ", "ผลประโยชน์" และ "ความรุนแรง" มาอย่างต่อเนื่อง


 


แต่การที่ "จุดแข็ง" ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังเปรียบเสมือนเป็น "นั่งร้าน" หรือ "ค้ำยัน" ความรุนแรง ไม่ให้ "ทำร้าย" ต่อผู้คนและชุมชนในพื้นที่ มิให้ "ล้มครืน" ลงไป ตลอดสมัยเศษของ "รัฐบาลทักษิณ๑-๒" มิให้คะมำคว่ำลงมาง่ายๆ ก็ย่อมแสดงให้ประจักษ์อยู่แล้ว ว่า "ทุน" ทั้งทาง "สังคม", "ศาสนา" และ "วัฒนธรรม" เหล่านั้น "แข็งแกร่ง" และ "มั่นคง" เพียงใด


 



 


ขณะเดียวกัน "ความมั่นคงของรัฐ" นั้น มักได้รับการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงแทนที่ความมั่นคงของผู้คนและชุมชนที่กล่าวไว้ข้างต้นเสมอ ในกรณีที่รัฐมีความขัดแย้ง หรือมีความเห็นไม่ลงร่องลงรอยกับสมาชิกของรัฐ หรือผู้คนในอาณัติ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งมักจะถูกละเลยไปเสีย ด้วยโครงสร้างและองค์ประกอบอันใหญ่โตขึงขังของรัฐเอง นั่นก็คือ "ความมั่นคงที่แท้จริงของรัฐ" ย่อมมีความ "มั่นคง" และ "ผาสุก" ของผู้คนในรัฐเป็นบาทฐานเสมอ


 


ด้วยว่า "ตัวตนของรัฐที่แท้จริง" นั้น มิใช่มีเพียงนักการเมืองแค่กระหยิบมือ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่กี่แสนคน หรือ องค์กร-องค์การของรัฐ ไม่กี่ร้อยหน่วยงานเท่านั้น หากสถาปนาขึ้นโดย "ประชาชน" ผู้ให้ทั้งข้าวและน้ำ เงินและทอง ตลอดจนเกียรติยศชื่อเสียง ให้แก่ "ตัวแทน" ทั้งทางตรงและทางอ้อมของพวกเขา (และเธอ)


 


"รัฐบุรุษ" จึงเกิดขึ้นไม่ได้เพียงแค่ใคร "บางคน" หรือ "บางกลุ่ม" ได้รับ "ชัยชนะอย่างล้นหลาม" ในการเลือกตั้งที่ประกอบไปด้วยกลโกงและความฉ้อฉลซึ่งคนทั่วไปยังเอาผิดไม่ได้...


 


การที่รัฐใดพยายามออกกฎหมายโดยอาศัยกลไกอันบกพร่องและอาศัยเสียงข้างมากของตนในระบบรัฐสภา เพื่ออาศัยอำนาจของกฎหมายนั้นๆ ค้ำจุนบัลลังก์ของตนเอง หรือเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ทั้งในที่ลับและในที่แจ้งของตนและพวก จึงเป็นเรื่องที่ผู้นำรัฐจะต้องรับผิดชอบ และมีคำตอบต่อสาธารณะให้จงได้


 


มิพักจะต้องกล่าวถึงการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ถืออาวุธนับพันนับหมื่น(หรือหลายๆ หมื่น)เข้าไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อปราบปราม "ศัตรู" ที่ตนไม่สามารถระบุได้ว่า คือ "ใคร" หรือคือ "อะไร" กันแน่ อันเป็นที่มาของความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยสถานการณ์ และโดยความเดือดร้อน เจ็บปวด และล้มตายไป ของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นผู้คนชายขอบ และเป็นศาสนิก "กลุ่มน้อย" หรือ "ส่วนน้อย" ในสังคม "ผู้มีศาสนา" ของประเทศไทย


 


จะว่าไปแล้ว หาก "ความรุนแรง" ใน ๓ จังหวัดภาคใต้ จะเป็นอาการบาดเจ็บหรือป่วยไข้ของใครสักคนหนึ่ง ก็คงกล่าวได้ว่า นี่เป็น "โรคหมอทำ" มากเสียยิ่งกว่าการกระทำของ "เชื้อโรค" หรือ การถูก "สิ่งหนึ่งสิ่งใด" กระทำขึ้นเป็นแน่


 


เพียงประชาชน "อพยพลี้ภัย" ออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน ๑๓๑ คน นอกจากจะตีแผ่แห่ประจาน หรือเป็นการกระทำที่ชวนให้ "รัฐไทย" เสียหน้าแล้ว ในที่สุดก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสรุปเอาอย่างรวบรัด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ว่าคนเหล่านั้นเป็นคน ๒ สัญชาติ ที่มักข้ามไปมาอยู่เสมอ หรือเป็นเพราะคนเหล่านั้นถูก "วิชามาร" บางวิชา จากบางคน ล่อลวงไป


 


แต่หากยังไม่คิดทบทวน ยังไม่ใช้ "ปัญญา" แก้ไขปัญหาและวิกฤตการณ์ "คุณทักษิณ" แน่ใจหรือ ว่าจะใช้ "อำนาจ" และ "อาวุธ" หรือ "ผลประโยชน์" ซื้อใจพวกเขา(และเธอ)ที่ยังเหลืออยู่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้ได้


 


ก็ขนาดเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ยังแทบไม่มีใครอยากอยู่ที่นั่น


แน่ใจจริงๆ หรือ ว่าถึงที่สุด... จะมี "ชาวบ้าน" ออกไปแค่ ๑๓๑ คน??