Skip to main content

"พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์"…อันละเมิดมิได้

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


เราต้องเรียนรู้ที่จะเคารพวัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน ของชุมชนอื่น รวมทั้งเคารพในวัฒนธรรม


ศักดิ์ศรี และผู้คนของเราเองด้วย เราต้องมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้มาเยือนจะละเมิดมิได้


เพราะหากเราไม่เคารพวัฒนธรรมของเรา นักท่องเที่ยวชาติอื่นก็ไม่เคารพเช่นกัน…"


                           (ชาญวิทย์  เกษตรศิริ : บทนำหนังสือ "วิถีไทย : การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม" , 2540)


 


1


 


หากเรายังไม่ลืม เมื่อเกิดเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยที่กรุงพนมเปญเมื่อปี 2545 จากความเข้าใจผิดน้ำผึ้งหยดเดียวว่าดาราสาวของไทยให้สัมภาษณ์ทวงนครวัด แล้วสื่อมวลชนกัมพูชาไปขยายความจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตนั้น


 


คนไทยเคืองคนเขมรมาก…


 


แม้ตัวผมเอง ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาอุษาคเนย์เรียนเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้โดยตรงตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่ายากจะทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


 


มีแต่ความสงสัยว่าทำไมเพื่อนบ้านจึงทำกันเช่นนี้ ทั้งยังปรากฏความละเลยของรัฐบาลกัมพูชาที่ไม่ส่งกำลังอารักขาสถานทูตซึ่งตามธรรมเนียมระหว่างประเทศนั้นถือเป็นเขตอธิปไตยของประเทศนั้นๆ รัฐบาลเจ้าบ้านมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยให้ดีที่สุด


 


ทำไมจึงไม่ได้รับการป้องกันจากม็อบที่ทำท่าจะบุกเข้าไปอย่างทันท่วงที?


จนกลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์…


 


แต่เมื่อหมอกควันของความไม่เข้าใจเรื่องราวเบาบางลง ผมก็กระจ่างใจว่าเหตุโดยปฐมนั้น เกิดจากประชาชนทั้งสองประเทศเรียนประวัติศาสตร์คนละฉบับที่ต่างฝ่ายต่างเขียนขึ้นด้วยความรักชาติตัวเอง และพร่ำสอนประชาชนของแต่ละฝ่ายจนฝังเข้าไปในหัวตั้งแต่เด็ก ทั้งการเมืองภายในเขมรยังไม่นิ่งพอ เหตุการณ์จึงสุกงอมโดยไทยรับเละ


 


ภาพที่เกิดขึ้นจึงเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ลอยพ้นน้ำ 2 ส่วนเท่านั้น  


อีก 8 ส่วนยังไม่ได้โผล่…


 


แทนที่จะแค้นเคือง ผมจึงลองทบทวนบางอย่าง สิ่งนั้นคือฐานภูเขาน้ำแข็งที่มองไม่เห็นด้วยการสำรวจความรับรู้เกี่ยวกับชาติเพื่อนบ้านของคนในแต่ละประเทศ


 


ไทย…


ในประวัติศาสตร์รู้จักคนเขมรเป็น "ขอมดำดิน" และ "ไว้ใจไม่ได้" เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านทางชายแดนตะวันตกที่คนประเทศนี้ก็มักคิดอยู่แต่ว่า "พม่าตีกรุงศรีอยุธยาถึง 2 ครั้ง" เป็นศัตรูตลอดกาล


 


มองไปที่ลาว คนไทยส่วนมาก (โดยเฉพาะจากส่วนกลาง) มักยืนมองไปอีกฝั่งโขงแล้วกล่าวว่าที่นั่นเคยเป็นอาณาเขตของเรา…แล้วพลันภาพเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏก็จะผุดขึ้นมาในความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาเสมอ


 


ลาว…


ในประวัติศาสตร์ คนลาวซึ่งสืบสายมาจากคนอาณาจักรล้านช้างมีภาพว่ากองทัพจากกรุงธนบุรีเคยมาเผาเวียงจันทน์เสียราบ และครั้งนั้นเองกองทัพสยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไป  ทิ้งความเสียหายไว้เหลือคณานับ


 


หรือกรณี "เจ้าอนุวงศ์" พยายามกู้เอกราช แต่ก็ไม่สำเร็จถูกทางกรุงเทพฯ จับไปขังไว้ที่ท้องสนามหลวงและในประวัติศาสตร์เจ้าอนุวงศ์ก็โดนดูถูกเหยียดหยามอย่างมากจากฝ่ายสยาม ทั้งเชลยศึกของลาวนั้นบางส่วนถูกก็นำมาขุดคลองแสนแสบจนเกิดเป็นบทกวีบทขึ้นมา


 


นี่คือภาพตรงข้ามเมื่อใช้แว่นตาประวัติศาสตร์จากอีกฝั่งโขงมอง…เพราะสำหรับพงศาวดารไทย พระเจ้าสีหะตะนุ (ไชยเชษฐาธิราชที่ 3) หรือที่รู้จักดีในพระนาม "เจ้าอนุวงศ์" ที่ยกทัพมากวาดต้อนผู้คนที่โคราชรวมไปถึงสระบุรีเมื่อ พ.ศ.2371 (ช่วงราวรัชกาลที่ 2-3) นั้นเป็น "กบฏ" สำหรับไทยแต่สำหรับคนลาว พระองค์คือ "ผู้พยายามกู้เอกราช"


 


เขมร…


กองทัพสยามยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้นสมัยเจ้าสามพระยายกทัพมาตีเมืองพระนครเสียราบ พงศาวดารกัมพูชารวมถึงนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังบางท่านยังวิเคราะห์ว่า นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เมืองพระนครอันรุ่งเรืองมานับพันปีของเขมรมีอันต้องล่มสลายลง (นอกเหนือสาเหตุที่ระบบบริหารและปกครองในความเชื่อฮินดูย้อนกลับทำลายตัวเองเพราะมีการใช้แรงงานคนไปสร้างปราสาทติดต่อกันมานับร้อยปีจนผู้คนเอือมระอา)


 


นี่คือสิ่งที่ผมพอจะประมวลได้จากการเดินทาง และจากแบบเรียนชาตินิยม


เราจะทำอย่างไรกับพงศาวดารเหล่านี้ ?


 


ปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีว่ามีความพยายามจากนักวิชาการหลายฝ่ายออกมาให้ความรู้ความเข้าใจว่าสงครามในอดีตนั้นเป็นเรื่องปกติที่รัฐราชวงศ์ต้องแย่งชิงผู้คนและทรัพยากรเพื่อความมั่งคั่งและตอบสนองความต้องการแรงงานที่สมัยก่อนมีอย่างจำกัดอย่างเป็นปกติ


 


การรบสมัยนั้นจึงไม่มีชุดความคิดเรื่อง "รัฐชาติไทย" และ "รัฐชาติ" พม่า หรือ "รัฐชาติกัมพูชา" ด้วยซ้ำ ระบบเช่นนั้นในทางรัฐศาสตร์ถือเป็นเรื่อง Dynasty State "รัฐราชวงศ์" ที่ต่างกับ Nation State "รัฐประชาชาติ" สมัยนี้อย่างลิบลับ


 


ท่านอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เคยวิเคราะห์เอาไว้ในนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย (ขออภัยที่ไม่สามารถจำได้ว่าฉบับใด) ในกรณีนี้โดยแทรกอยู่ในสารคดีเกี่ยวกับกิจการแผนที่ในสยามไว้โดยสังเขปว่า เราไม่สามารถเขียนหรือขีดเส้นอาณาเขตของรัฐจารีตของอุษาคเนย์ในอดีตได้แน่ชัดนัก เนื่องจากอาณาเขตนี้จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีการทำสัญญาหรือปักหมุดหมายแน่นอนเหมือนรัฐชาติปัจจุบัน


 


อาจารย์ธงชัยยังชี้ว่า หมุดหมายนั้นขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครแต่ละแห่งขณะนั้นมากกว่า ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงหากเกิดการเปลี่ยนผู้ครองอำนาจในนครรัฐนั้นๆ อาณาเขตของรัฐจารีตสมัยก่อนจึงเป็นดั่ง  "เทียนแต่ละเล่มที่ต่างก็ส่องแสงออกไป ยิ่งห่างไกลอาณาเขตก็ยิ่งเลือนรางลง"


 


ดังนั้นเรื่องเขตฉัน เขตเธอ ตรงนี้ของฉัน….ฯลฯ ทั้งหมดเป็นเรื่องในอดีตที่ไม่ควรเอามาเป็นสาเหตุการก่อศัตรูรอบบ้าน เพราะถ้าทำเช่นนั้นเพื่อนบ้านก็มีสาเหตุแค้นเคืองเราได้ร้อยแปดพันประการเช่นกัน


 


สำคัญที่สุดคือในอนาคตควรมีการตั้งคณะกรรมการระหว่างชาติปรับปรุงแบบเรียนประวัติศาสตร์ระหว่างกัน เพื่อประชาชนทั้งสองหรือสามฝ่ายจะมีความเข้าใจกันมากขึ้นและสามารถอยู่ร่วมกันต่อไปในอนาคตอย่างสงบสุข


 


กรณีนี้ผมยืนยันว่าทำได้ เพราะในยุโรประหว่างเยอรมันและฝรั่งเศสก็ทำเช่นนี้ และถ้าผมจำไม่ผิดก็น่ายินดีที่ไทยมีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้กับเพื่อนบ้านบางประเทศแล้ว (เข้าใจว่าเป็นกัมพูชา)


 


2


 


หากพูดถึงกรณี Spicy ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหลายคนคงจำได้


 


ครั้งนั้นนิตยสารซึ่งมีเนื้อหา "เฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ที่นำเสนอไลฟ์สไตล์และมุมมองขำขันหรืออะเมซิ่ง…" (จากบทสัมภาษณ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 684, 11 ก.ค. 2548 ของพรรทิภา สกุลชัย ในฐานะประธานบริหาร) นั้นนำเอามุกขำขันภาษาลาวมาตีพิมพ์ โดยอ้างว่านำมาจาก Forward Mail


 


มีเนื้อหาที่คนลาวรับไม่ได้หลายจุด เช่น การชมผู้หญิงให้ใช้คำว่า "สวยตาย-า" หรือเรียกผู้หญิงว่า "อี-อกทอง"  ผลจากการนั้นปรากฏชัดเมื่อหนังสือพิมพ์เวียงจันท์ใหม่รายวันของลาวเขียนวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในคอลัมน์ "ก้องฟ้าบันเทิงลาว" ตอบโต้หนังสือสัญชาติไทยอย่างเผ็ดร้อน


 


ผมจะไม่ย้อนอะไรมากกว่านี้ เพียงแต่อยากชี้ว่าคนทำหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีเนื้อหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ควรให้ "สติ" กับคนอ่านด้วย ไม่ใช่ให้แต่ "ความบันเทิง" อย่างเดียว


 


คนทำหนังสือ Spicy ไม่รู้หรอกว่า คนในแวดวงการทูตและนักวิชาการที่ทำงานเพื่อความสมานฉันท์ในอาเซียนรู้สึกอย่างไรเมื่อข่าวนี้ออกไป


 


คนทำหนังสือ Spicy ไม่รู้หรอกว่า คนที่ทำงานหนักกลุ่มนี้ต่างอึ้งตามๆ กันและปาดเหงื่อละเหี่ยใจกับการกระทำของสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบอย่าง Spicy  มากขนาดไหน


 


อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการผู้ทำงานเรื่องความเข้าใจระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์มาค่อนชีวิต ถึงกับแสดงความเหนื่อยหน่ายผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งถึงคนในแวดวงวิชาการในทำนองว่า ใช้เวลาทั้งชีวิตของท่านก็ดูเหมือนจะไม่พอเพียงเสียแล้วกับภารกิจสมานฉันท์กับเพื่อนบ้าน…


 


เชื่อไหม หากจะบอกว่าความเข้าใจกันระหว่างประชาชนไทย-ลาวที่กำลังไปได้ดี ซึ่งถ้าเปรียบเป็นกำแพงที่สร้างมานานนับสิบปีนั้น…ส่วนหนึ่งพังทลายลงในเวลาไม่นานที่หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่าย


 


เจ็บกระดองใจยิ่งกว่าที่หัวเรือใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ออกมาพูดว่าในฐานะ บก. "..ไม่ได้ดูเนื้อหาข่าวก่อน ถ้าเห็นคงไม่ให้ลง…"


 


ทำให้สังคมเกิดคำถามต่อการทำหน้าที่ของบรรณาธิการซึ่งควรจะถ้วนรอบคอบกว่านี้ อีกทั้ง Spicy เป็นหนังสือรายปักษ์ มิใช่รายวันที่อาจจะมีผิดพลาดบกพร่องได้ง่ายกว่า


 


                        

                           

 


               "การกระทำเพียงชั่ววูบของคนทำสื่อ สามารถก่อรอยร้าวต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์ได้"


3


 


เขียนมาเสียยาวก็เพื่อทบทวนบางอย่างที่เกิดขึ้นกับสื่อไทยบางแขนงในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะสื่อประเภทนี้ยังมีอีก "มาก" ในบ้านเรารวมถึงต่างประเทศ และปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อที่ก่อเกิดปัญหาทำนองนี้มักเป็นสื่อที่เน้นแฟชั่น และหลายครั้งมักจะปรากฏกรณีไปถ่ายแบบโดยไม่ดูกาลเทศะในสถานที่ต่างๆ


 


จำได้ไหมครับ เราจะร้องแรกแหกกระเชอทุกครั้งที่มีโฆษณาของสินค้าสักชิ้นเอาพระพุทธรูปไปทำอะไรสักอย่างไม่ว่าจะเป็นการนั่งทับ หรือการเอาโลโก้พระพุทธรูปไปแปะไว้ในรองเท้า (กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ออสเตรเลีย)


 


ผมไม่ได้กล่าวว่าการกระทำที่คนๆไทยประท้วงต่างชาตินี้ไม่ควร กลับกันควรอย่างยิ่ง…


หากแต่มันมีบางอย่างที่กำลังย้ำผมว่า "ก่อนจะให้คนอื่นเคารพเรา เราต้องเคารพตัวเองเสียก่อน"


 


                                                      


              


"การถ่ายแบบในสถานที่เช่นนี้ หากเอาสมองคิด ก็น่าจะรู้สึกอะไรบ้างกับธงชาติและดอกไม้ที่ญาติๆ ผู้เสียชีวิตนำมาคารวาลัยต่อผู้ที่จากไป"


4


 


ปลายเดือนสิงหาคม 2548…


 


ดูเหมือนบทเรียนจากกรณี Spicy ยังไม่ซึมเข้าหัวคนทำหนังสือจำพวกนี้


 


ผมยืนอ่านหนังสือที่ร้านหนังสือแห่งหนึ่ง หยิบหนังสือท่องเที่ยวเล่มหนึ่งขึ้นมาเปิด  หนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือท่องเที่ยวเชิงคู่รัก มีตัวอักษรเล็กๆ พาดบนปกด้านล่างเรียกความสนใจคนซื้อว่า "Kanchanaburi A Natural Adventure Into History" โดยมีนายแบบนางแบบหน้าตาดีคู่หนึ่งยืนโพสต์ท่าท่ามกลางธรรมชาติเขียวขจี


 


เปิดไปที่หน้าซึ่งอันเป็นที่ตั้งของคอลัมน์นี้จะเป็นการให้ความรู้เรื่องสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในกาญจนบุรีตั้งแต่จุดสำคัญอย่างสะพานข้ามแม่น้ำแควจนถึงอุทยานแห่งชาติไทรโยคเหมือนๆ กับหนังสือท่องเที่ยวทั่วไป


 


แต่ในหน้าซึ่งอยู่ในส่วนของคอลัมน์ Adventure’s Love.. นั้นผมได้แต่เปิดค้างแล้วอุทาน... ภาพที่เห็นคือคู่นางและนายแบบหน้าตาดีกำลังโพสต์ท่าโอบกอดอย่างหวานฉ่ำซาบซ่ากลางช่องเขาขาด หรือตรงจุดที่เรียกว่า "ด่านไฟนรก" (HellFirePass) ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด ที่ย้อนไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเชลยศึกญี่ปุ่นทำงานสร้างและล้มตายตรงช่วงนี้มากที่สุด


 


ทั้งที่ในคอลัมน์เดียวกันเขียนแสดงภูมิรู้ว่า "ที่นี่เป็นช่องเขางดงามระคนเศร้า" หรือในหน้า 29 ที่ผู้เขียนคอลัมน์ข้างๆ กล่าวเกี่ยวกับช่องเขาขาดว่า แม้ท้องฟ้าในวันนี้จะดูสดใสสักเพียงใด หากใครได้เดินทางมาเยี่ยมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คงไม่มีใครลืมภาพอันโหดร้ายของสงครามแห่งอดีตได้เลย"


 


ภาพนี้ทำให้ผมรู้สึกแย่เข้าไปอีกเมื่อเท้าของนายแบบนางแบบข้างหนึ่งยกขึ้นเหยียบต้นไม้


 


ต้นไม้...ซึ่งพวกเขาไม่รู้หรอกว่า มันเป็นอนุสรณ์เตือนใจถึงบรรดาเชลยศึกผู้เสียชีวิตของญาติทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่มาคารวะสถานที่แห่งนี้ทุกปีในวัน Anzac Day บางคนเชื่อว่าเมื่อครั้งที่สงครามดำเนินไป ต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้เล็กๆ ที่เฝ้ามองดูเหตุการณ์และความล้มตายของผู้คนมาตลอด


 


พวกเขาจะรู้ไหมว่า ในวัน Anzac Day อดีตเชลยศึกผู้รอดชีวิตซึ่งปัจจุบันมีอายุเป็นคุณปู่คุณทวดของพวกเราที่เสียสละสู้รบกับฝ่ายอักษะผู้รุกรานได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาหลั่งน้ำตาวางพวงหรีดคารวะเพื่อนๆ ผู้เสียชีวิตด้วยความโศกาอาดูรเหลือคณานับ


 


เป็นวันที่ชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และชาวไทยหลายคนร่วมกันอ้อนวอนพระเจ้าไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในโลกสีน้ำเงินใบนี้


 


พวกเขาโพสต์ท่านอนบนผืนดิน ยืนพิงแผ่นพา เก๊กหน้าถ่ายแฟชั่น โดยไม่ยอมรับรู้ว่าบริเวณนั้นเคยเต็มไปด้วยชีวิตซึ่งทุกข์ทรมานด้วยภัยสงคราม อดอยากกันอย่างถึงที่สุดท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย


 


                                                        


                                


                                                                                  


                          การถ่ายแบบ บางครั้งควรคำนึงถึงกาละเทศะของสถานที่ด้วย โดยเฉพาะสถานที่ๆ มีรอยน้ำตาอยู่เช่นนี้


 


* * * *


 


                                                         


                              


                        น้ำตาของชายคนนี้ที่หลั่งให้กับเพื่อนเชลยศึกที่ช่องเขาขาด  มันไม่ได้สำคัญอะไรกับการให้ความเคารพสถานที่แห่งความทรงจำนี้หรอกหรือ?


 


ก็ไม่เป็นไร…คนถ่ายภาพแฟชั่นไม่ต้องคิดเรื่องนี้หรอก มีประวัติส่งประวัติศาสตร์ก็ช่างมัน !


เพราะงานถ่ายแฟชั่นมันดูแค่โลเกชั่นและสถานที่ว่าแสงสวยไหมเท่านั้น?


 


ตรงนั้นจะเคยมีคนตายสักเท่าไรมันก็ไม่สำคัญ? ความรู้สึกของคนที่มีความหลังกับตรงนั้นมันจะมากมายสักเพียงไหนมันก็ไม่สำคัญ?


 


ไม่ต้องไปสนว่า ปีนี้ครบ "60 ปีสันติภาพโลก" หลังสงครามโลกครั้งที่สอง


 


เพราะฉะนั้นจะให้นายแบบนางแบบเอา "ตีน" เหยียบต้นไม้ธรรมดาๆ กลางช่องเขาขาดสักต้น แล้วโพสต์ท่าสวยๆ เซ็กส์ๆ สักครั้งก็คงไม่เสียหายอะไรหรอก


 


ใช่ไหมครับ? คุณบรรณาธิการหนังสือที่ผมไม่อยากจะเอ่ยชื่อ...