Skip to main content

ความกล้าหาญของ "เจ้าหญิง" (แหม่ม)

คอลัมน์/ชุมชน



 


 "ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์" กระหึ่มขึ้นทันทีหลังจากคุณแหม่ม คัทลียา แมคอินทอช เปิดแถลงข่าวในบ่ายวันศุกร์ที่ ๒ กันยายนว่าเธอมีข่าวดีมาบอก เธอตั้งครรภ์ เป็นข่าวดีที่ทำให้เธอความสุขมาก เพราะเธอเป็นคนรักเด็กและอยากมีลูกเหมือนผู้หญิงทั่วๆ ไป  แหม่มคิดว่าทุกคนคงจะยินดีกับเธอ


 


หลังจากนั้น ได้เกิดสถิติใหม่ในหลายเว็บไซต์   เพราะมีผู้คนสนใจเข้าไปอ่านและตั้งกระทู้แสดงความคิดเห็นกันเกือบแสนครั้งในเวลาไม่ถึงชั่วโมง   ตามมาด้วยข่าวภาคค่ำทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง และข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเช้าวันเสาร์  "แหม่ม – คัทลียาท้อง ๕ เดือนออกมาบอก ‘เพิ่งรู้’…"  ตัวอย่างจากพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


 


เอ...พอติดตามการนำเสนอข่าวแหม่มไปซักพัก  ฉันชักรู้สึกไม่สบายใจ (แทนแหม่ม) ว่า  ไหงสื่อไม่ "เลือก" หยิบ "ข่าวดี" ตามที่แหม่มบอก และตามที่พ่อของเด็กพูดว่าเขามีความสุขมากที่จะได้เป็นพ่อคนแล้ว  แต่การนำเสนอกลายเป็นเรื่องหยามหมิ่นว่าเธอปิดบังความจริง  การวางตัวไม่เหมาะสมในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะ  และตั้งข้อสงสัยกับความไม่รู้ของเธอที่กล่าวว่า "แหม่มไม่ทราบเลยว่าตัวเองตั้งท้อง"


 


ฉันเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกชื่นชมในการตัดสินใจที่กล้าหาญของแหม่ม และมองว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะบอกว่าเธอไม่เหมาะสมกับการเป็นตัวแทนยูนิเซฟ เพราะองค์กรนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของเด็กและผู้หญิงอยู่แล้ว เพียงแต่เกิดความรู้สึกแปลกใจ (โคตรๆ) ในเรื่องของมาตรฐานเชิงซ้อน (double standard) บางอย่างในสังคมไทยต่อเรื่องของแหม่ม ดังนี้


 


ประการที่หนึ่ง เรื่องท่าทีของนักวิเคราะห์ข่าว  ซึ่งดุดันและเอาเป็นเอาตายกับ "ความไม่รู้" ของแหม่ม ราวกับว่าแหม่มเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ปิดบังและพูดโกหกประชาชน เลยคิดถึงใครคนหนึ่ง (น๊า) ที่มักพูดบ่อยๆ ว่า "ผมจะแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาการจราจรกรุงเทพฯ จะตามตัวทนายสมชายและแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ภายใน...วัน"  ซึ่งจนแล้วจนรอด คนทั้งประเทศก็รู้อยู่เต็มอกว่า ปัญหาบางเรื่องยังคงอยู่และบางเรื่องนับวันที่จะทวีความรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่เคยได้ยินสื่อตีตราเขาผู้นั้นว่า "คุณคือ เจ้าของไร่สตรอเบอร์รี่"


 


 


ประการที่สอง เรื่องผู้หญิงกับการท้องก่อนแต่ง ซึ่งกรณีแหม่ม พบว่า คนส่วนใหญ่ยอมรับเรื่องนี้ได้ไม่ว่าจะเป็น สว.ชื่อดัง และนายวัฒนา เมืองสุข รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยเหตุผลว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ไม่เสียหาย เพราะอายุ ๓๐ กว่าปีแล้ว ไม่ได้อยู่ในวัยเรียน และมีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูลูก ถ้าคุณคัทลียาจะมีลูก มันก็หนักท้องคุณคัทลียา ไม่ได้หนักอย่างอื่นใคร"


 


ในทางตรงกันข้าม หากเป็นวัยรุ่นแล้วท้องก่อนแต่ง พวกเธอเหล่านั้นยังคงถูกผู้ใหญ่และสังคมไทยประณามว่า "เป็นวัยรุ่นยังต้องพึ่งพาพ่อแม่ (แต่ดันท้อง) จะมีปัญญาเลี้ยงลูกรึ"  ดังนั้น เธอ (บางคน) จึงถูกปิดกั้นทางเลือกในการลดโอกาสเสี่ยงหากว่าต้องการจะยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีที่ปลอดภัย โดยไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพราะกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งเมื่อโดนข่มขืนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น หรือเธอ (บางคน) อยากตั้งครรภ์ต่อจนคลอด แต่กลับไม่มีระบบบริการรองรับได้หมด ทั้งๆ ที่ปัจจัยที่ทำให้ทั้งแหม่มและวัยรุ่น "ท้องก่อนแต่ง" เหมือนกัน นั่นคือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน


 


หากผู้ใหญ่ หรือสังคมไทยเปิดใจยอมรับว่าการท้องก่อนแต่งเป็นเรื่องธรรมดา ก็ไม่ควรใช้เรื่อง "อายุ" มาเป็นเกณฑ์ตัดสินเรื่องความพร้อมที่จะเลี้ยงดูลูกให้เติบโตได้  แต่จากประสบการณ์ที่ฉันรู้จักวัยรุ่นที่ท้องก่อนแต่งบางคน แม้ว่าเธอจะอายุน้อยแต่เธอสามารถเลี้ยงดูลูกให้เติบโตได้อย่างดีและมีคุณภาพ เพียงเพราะว่าเธอเองได้รับกำลังใจและโอกาสจากครอบครัว จากสังคมรอบข้างในการ "เรียนรู้" และจัดการปัญหา จนทำให้เธอสามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง


 


ฉันจึงคิดว่าอายุมาก หรือน้อยมิใช่ประเด็นสำคัญในการอธิบายถึงความพร้อม หรือไม่พร้อมในการจัดการปัญหาต่างๆ ในชีวิต  แต่ขึ้นกับโอกาสที่คนๆ หนึ่งจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้  และนำมาคิดวิเคราะห์เป็นบทเรียนในการตัดสินใจในชีวิตอนาคต  แต่ผู้ใหญ่ที่มีอายุบางคนยังคงตัดสินใจทำผิดซ้ำซากในเรื่องเดิมๆ โดยไม่เกิดการเรียนรู้ก็มีให้เห็นในสื่อทุกวัน


 


ดังนั้น หากว่าใครก็ตาม ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่หากทำพฤติกรรมอันเดียวกันคือ "การท้องก่อนแต่ง" ผู้ใหญ่ หรือสังคมไทยก็ควรใช้มาตรฐานเดียวกันในการ "ตัดสิน"  คือดูที่พฤติกรรม  มิใช่หยิบยกเอาเรื่อง "อายุ" มาทำให้เกิดการเปรียบเทียบและทำร้ายซ้ำเติมวัยรุ่นที่ท้องก่อนแต่ง  ด้วยคำพูดที่รุนแรง ทั้งๆ ที่วัยรุ่นที่ท้องก่อนแต่งกำลังเผชิญกับปัญหาและต้องการกำลังใจและโอกาสจากผู้ใหญ่และสังคมเช่นเดียวกับแหม่ม


 


เป็นไปได้ไหมว่า มิใช่เพียงแหม่มติดกับในสิ่งสมมุติที่สื่อสร้างขึ้นให้เธอเป็น "เจ้าหญิงแห่งวงการบันเทิง"  อย่างที่นักวิเคราะห์ข่าวชื่อดังกล่าวไว้เท่านั้น  ฉันคิดว่า เราเองซึ่งเป็นผู้บริโภคสื่อ ก็กำลังติดกับในนิยามของความเป็นเจ้าหญิงที่ถูกสร้างขึ้นว่า เจ้าหญิงต้องไร้เดียงสา (ทางเพศ) ขลาดกลัวในการตัดสินใจและต้องมีเจ้าชายผู้กล้าคอยดูแล


 


จึงเป็นเรื่องทำใจยากสำหรับบางคนที่จะยอมรับในสิ่งที่เจ้าหญิงแหม่มเลือก เลือกที่จะเป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งท้องก่อนแต่งด้วยเหตุผลทางธรรมชาติและมองว่าเป็นข่าวดี เพราะอาจจะมีบางคนที่อยากเก็บแหม่มไว้ให้เป็นเจ้าหญิงผู้ใสซื่อและยังคงนอนหลับใหลรอการจุมพิตจากเจ้าชาย


 


ฉันขอเป็นคนหนึ่งที่ส่งกำลังใจเล็กๆ ให้แหม่มในความกล้าตัดสินใจ "เลือกชีวิตด้วยตนเอง" แม้ว่า...ผลที่ตามมาจากการเลือกจะทำให้เธอเจ็บปวดบ้าง เพราะเชื่อว่า ทุกการตัดสินใจย่อมมีความเจ็บปวด มิใช่หรือ แต่คงดีกว่าการที่เธอ "ต้องเป็น" ในสิ่งที่คนอื่นเลือกให้ "เป็น"... เป็นเพียงเจ้าหญิงในเทพนิยาย...