Skip to main content

ใครยังไม่ตายยกมือขึ้น

คอลัมน์/ชุมชน

 



 


ภาพจาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=a-wild-sheep-chase&group=1


 



ในฐานะที่เรียนจบภาษาไทยโดยตรง  ต้องขอบอกว่าหนังสือ "เงาจันทร์ในอัญประกาศ" ของ มุกหอม วงษ์เทศ ถูกอกถูกใจผู้เขียนมิใช่น้อย


 


เป็นความถูกอกถูกใจตั้งแต่เห็นชื่อหนังสือ เนื่องจากเคยถูกสอนมาว่า อะไรก็ตามที่อยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะมันแสดงถึงความ "ไม่ธรรมดา"


 


เนื้อหาด้านในที่มุกหอมนำเสนอเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาและสังคม ใช้รูปแบบการเขียนเป็นเรื่องสั้นที่ค่อนข้างประชดประชันเสียดสีแต่ก็แฝงแง่ไว้ให้ผู้อ่านคิด


 


อย่างเรื่อง "เรื่องของภาษา"  ที่มีตัวเอกเป็นชายหนุ่มชื่อภาษา ทำงานอยู่ที่กรมควบคุมและการสะกดไวยากรณ์ และมีทำหน้าที่สำรวจการสะกดชื่อร้านของร้านค้าต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร หากร้านไหนสะกดชื่อร้านผิดล่ะก็  คุณภาษาก็จะวิ่งรี่ไปบอกให้เจ้าของร้านแก้ไขให้ถูกต้องทันที เช่น ร้านเค้กคุณเมี๊ยว ที่คุณภาษาเห็นแล้วต้องบอกเจ้าของร้านว่า


 


"ชื่อร้านเค็กคุณเมี๊ยวของคุณมีปัญหา "เค้ก"  ต้องใช้ไม้โท  ไม่ใช่ไม้ไต่คู้ มิฉะนั้นจะออกเสียงห้วนสั้นแบบ "เล็ก"  ส่วน "เมี้ยว" ก็ต้องใช้ไม้โทเช่นกัน เพราะ ม ม้า เป็นอักษรต่ำ เมื่อผันเสียงตรีต้องใช้รูปไม้โท"


 


ไม่ใช่แค่เรื่องของการสะกดคำเท่านั้น ที่คุณภาษาเข้มงวดกวดขัน เรื่องของ "ระดับภาษา" คุณภาษาก็วอรี่ไม่แพ้กัน (จะถูกคุณภาษาดุไหมนี่)  หากโกรธก็ต้องแสดงคำผรุสวาทออกมาให้เหมาะกับอารมณ์ที่ถึงขีดสุด  หากพูดถึงคนที่มีพฤติกรรมไม่ดีก็ต้องจิกด่าว่าชั่ว ว่าเลว ให้สาสม


 


ส่วนการสนทนากับเพื่อนนั้น คุณภาษาก็จะประดิษฐ์ถ้อยคำให้สวยหรูก่อนที่จะพูดออกมา เป็นต้นว่า "ความทุกข์ลำเค็ญอันแสนสาหัส"


"ประสบการณ์อันบาดลึกบีบระบม กรีดกะซวกเข้าไปทุกซอกหลืบของหนั่นเนื้อ" 


"ดวงตาที่เปล่งประกายสุกสกาวราวกับลูกแก้วเจียระไนที่เกลือกกลิ้งอยู่ในลำธารน้ำใส"


 


ครั้นเมื่อคู่สนทนาติงว่า ภาษาของคุณภาษาดูดัดจริต  ตลกแบบน่ารำคาญ และแนะนำให้คุณภาษาพูดแบบธรรมดาๆ ดูบ้าง  คุณภาษาก็ถึงกับรับคำวิจารณ์นั้นไม่ได้ ความโกรธแล่นเข้าสู่เส้นเลือด พุ่งตรงสู่ขั้วหัวใจ เป็นลมหมดสติในบัดดล


 


ไม่รู้จะสมน้ำหน้าหรือสงสารคุณภาษาดี  ความจริงก็เข้าใจเจตนาดีของเขาที่อยากเห็นคนไทยใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง  แต่รู้สึกว่าคุณภาษาจะ "ตึง" เกินไปหน่อย  ยึดหลักไวยากรณ์ไทยเป๊ะๆ จนลืมนิยามของภาษาข้อหนึ่งที่ว่า  "ภาษาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้"


 


หากศึกษาประวัติศาสตร์ของภาษาไทยจะพบว่า ภาษาไทยมีการวิวัฒนาการมาโดยตลอด ถามหน่อยเถอะว่า มีใครยังใช้สรรพนาม "เผือ และ ตู"  ซึ่งแปลว่า "เรา และ ข้า"  ในการสนทนากันอีกบ้าง หรืออย่างคำว่า "กู มึง" ซึ่งเป็นคำสรรพนามที่สุภาพในอดีต ก็กลายเป็นคำหยาบในปัจจุบัน  ซึ่งถ้าใช้ผิดที่ผิดทางก็อาจโดนผู้เชี่ยวชาญและเคร่งครัดในการใช้ภาษาตำหนิติเตียนเอาได้


 


ดังนั้น ภาษาจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย ภาษาที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือภาษาที่ตายแล้ว และไม่นิยมใช้ในการสนทนาแล้วเช่นกัน เช่น ภาษาบาลีสันสกฤต 


 


ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง  ไม่ยอมเปิดใจไปตามการเปลี่ยนแปลงของภาษา  จะเข้าข่ายเป็นคนที่ตายแล้วหรือเปล่า