Skip to main content

เธอเป็นเจ้าหญิงได้ก็แต่ในนิยายเท่านั้น

คอลัมน์/ชุมชน

บางครั้งความจำเป็นก็บีบบังคับให้ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ อาทิ การพูดโกหก 


 


การพูดโกหกในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่สลักสำคัญก็คงจะไม่เสียหายมากนัก  แต่การพูดโกหกในบางกรณีอาจส่งผลสะเทือนต่อตนเองและคนอื่น ๆ  มากจนอาจกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำโกหกนั้นเป็นโกหกคำโตที่ออกมาจากปากของบุคคลสาธารณะ


 


พอพูดถึงบุคคลสาธารณะ  อาชีพที่หลายคนนึกถึงทันทีก็คือนักการเมืองและดารานักแสดง ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความชื่นชมและชื่นชอบของสาธารณชนเป็นสำคัญ แต่การทำให้สาธารณชนชื่นชมและชื่นชอบจนยอมเทคะแนนเสียงให้ในกรณีที่เป็นนักการเมือง หรือทำให้สาธารณชนติดตามผลงานอย่างต่อเนื่องไม่เสื่อมคลายในกรณีของดารานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย


 


นอกจากความสามารถทางการแสดงในกรณีที่เป็นดารา หรือความสามารถในการปกครองบริหารบ้านเมืองในกรณีที่เป็นนักการเมืองแล้ว ยังต้องอาศัยความสามารถในด้านอื่นอีกมาก ในการมัดใจสาธารณชนไว้ให้ยาวนานที่สุด  ซึ่งความสามารถด้านสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือความสามารถในการสร้างภาพ


 


ในโลกของโลกาภิวัตน์ที่สามารถแปรทุกอย่างออกมาให้อยู่รูปของ "ภาพ" เพื่อการทอดทัศนาด้วยสายตานั้น การสร้างภาพและเล่นกับ "ภาพ" ที่สร้างขึ้นมาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด  แต่การจะสร้างและเล่นกับ "ภาพ" ได้นั้นจะต้องอาศัย "สื่อ" ที่ถ่ายทอด แต่งเติม "ภาพ" นั้น ๆ ออกไปสู่สายตาของสาธารณชน


 


การเสนอ "ภาพ" ผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ ไม่ได้เป็นอะไรที่ตรงไปตรงมาเหมือนการสะท้อนของกระจกเงา หากแต่มีการตัดต่อแต่งเติมจนบางที "ภาพ" ที่ถูกสร้างขึ้นนั้นเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับ "ตัวตนสามัญ" โดยสิ้นเชิง เป็นบุคคลอีกคนหนึ่งที่แยกขาดจาก "ตัวตนสามัญ" ไปเลยก็ว่าได้


 


เทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือในยุคโลกาภิวัตน์ช่วยให้การสร้าง "ภาพ" ดำเนินไปจนถึงจุดที่เรียกได้ว่าไร้ข้อจำกัดสำหรับคนที่มีช่องทาง ดังนั้น บางคนจึงสามารถสร้างภาพให้ตนเองเป็นฮีโร่ บ้างก็เป็นภาพของผู้นำการเปลี่ยนแปลง บ้างเป็นภาพของอัศวินขี่ม้าขาว (ที่เข้ามาแก้วิกฤติ) บ้างก็เป็นภาพของพระผู้ไถ่ และบ้างก็เป็นภาพของเจ้าหญิง


 


ในนิยาย  การเป็นเจ้าหญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ "ท้อง" โดยไม่มีพ่อ  ถ้าหากเกิดการ "ท้อง" โดยไม่มีพ่อของเจ้าหญิงในนิยาย ก็ถือได้ว่านิยายเรื่องนั้นแหกขนบวรรณกรรมและโครงสร้างความหมายของการเป็นเจ้าหญิงอย่างรุนแรง ซึ่ง(ผม)ยังนึกไม่ออกว่ามีนิยายเรื่องใดบ้างที่เจ้าหญิงท้องโดยไม่มีใครรับ และเจ้าหญิงก็เลี้ยงลูกด้วยตัวของตัวเองไปโดย "ไม่แคร์" เจ้าชาย


 


ในนิยายหลายเรื่อง การแต่งงานครองรักกันระหว่างเจ้าหญิงและเจ้าชายถือเป็นจุดจบอย่างมีความสุขของเรื่อง แต่นิยายบางเรื่องอาจดำเนินต่อไปโดยที่เมื่อครองคู่สู่สมปองกันแล้ว เจ้าหญิงก็ "ท้อง"


 


การ "ท้อง" นับว่าเป็นเรื่องธรรมดาของหญิงทุกคนที่ผ่านการสู่สมมาแล้ว ซึ่งก็รวมถึงเจ้าหญิงด้วย และการ "ท้อง" ของเจ้าหญิงก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ยังความปรีดาปราโมทย์แก่ข้าทาสบริวาร


 


แต่การ "ท้อง" โดยไม่มีพ่อเป็นเรื่องน่าอายเหลือรับสำหรับเจ้าหญิงแห่งนิยาย  คนแต่งนิยายต้องผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่ปล่อยให้เจ้าหญิงแสนสวย พูดจาไพเราะฉะฉาน มีความเชื่อมั่นสูง ต้อง "ท้อง" โดยหาเจ้าชายไม่ได้


 


และเป็นเรื่องผิดพลาดของคนแต่งนิยายอีกเช่นกัน หากปล่อยเจ้าหญิงที่แสนจะสมบูรณ์เพียบพร้อมต้องขึ้นคานจนแก่เฒ่า โดยไม่เคยผ่านมือเจ้าชายมาก่อนเลย  (นอกเสียจากว่าเจ้าหญิงองค์นั้นไม่ใช่มนุษย์) 


 


เจ้าหญิงจะต้องไม่ขึ้นคานค้างเติ่งอยู่โดยไม่มีกำหนดลง  และก็ต้องไม่ "ท้อง" โดยไม่มีพ่อด้วย นี่เป็นบทบังคับ


 


แต่เจ้าชายรูปงาม ร่ำรวย และเก่งกาจมีคุณธรรมนั้นหายากแสนยาก แหวกหญ้าดำดิน บินขึ้นไปหาบนอากาศก็ยังหาไม่เจอ และหากเจอเข้าจริง ๆ ก็คงจะสายเกินไป เพราะเป็นธรรมดาที่ "เขานั้นมีคู่อยู่แล้ว" ครั้นจะให้เจ้าหญิงไปแย่งผัวชาวบ้านมาเป็นของตนเองก็คงจะกระไรอยู่


 


บางทีเพราะความไร้เดียงสาน่ารัก ตามท้องเรื่อง เจ้าหญิงอาจหลงผิดไปบ้างก็ได้ เช่น เข้าใจผิดคิดว่าเพื่อนของเจ้าชาย หรือ "ตัวประกอบ" เป็นเจ้าชายที่ตนเฝ้ารอคอยและตามหาอยู่ ดังนั้น เจ้าหญิงจึงคาดหวังให้อีกฝ่ายหนึ่งเล่นบทเจ้าชาย ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เป็น


 


กระนั้นก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว เจ้าหญิงกับเจ้าชายตัวจริงก็ต้อง "ได้" กันแม้จะมีนางร้ายมาสกัดและมีอุปสรรคมากีดกั้นมากเพียงใดก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งปวงที่ร่ายมาก็เป็นเรื่องของ "ภาพ" ของเจ้าหญิงที่เกิดขึ้นในโลกของนิยาย


 


แต่ชีวิตจริงไม่ใช่นิยาย และนิยายก็ไม่ใช่ชีวิตจริง กระนั้นก็ตาม ผู้คนสามารถสร้างนิยายให้แก่ชีวิตของตนเองได้ เพราะจะว่าไปชีวิตที่ไม่มีนิยายก็เป็นชีวิตที่ไร้รสชาติ จืดชืดสิ้นดี


 


การที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต จะต้องทำให้มันเป็นนิยายเสียก่อน (บางคนอาจเรียกว่า "สร้างตำนาน" หรือบางคนอาจบอกว่าชีวิตควรมี story) บางครั้งหลายคนจึงอาจเกิดอาการสับสนเพราะแยกระหว่างชีวิตจริงที่ต้องการมีนิยายกับนิยายจริง ๆ ไม่ออก กรณีของ "เจ้าหญิงแห่งวงการบันเทิง" อาจถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดอาการสับสน เพราะมัวแต่เล่นบทเป็นเจ้าหญิงตลอดศก โดยหาได้ดูความเป็นจริงไม่


 


ความเป็นจริงก็คือบริบทในชีวิตจริงกับในนิยายนั้นต่างกันมากและเป็นคนละเรื่องกัน การเกาะติดกับ "ภาพ" ของเจ้าหญิงโดยไม่ตระหนักถึงบริบท จึงนับได้ว่าเป็นความผิดพลาดในการทำความเข้าใจในโลกสองโลกที่แตกต่างกันคือโลกจริงและโลกนิยาย


 


แต่ "ภาพ" ที่เจ้าหญิงยึดเกาะอยู่นั้นใครเล่าสร้างมันขึ้นมา ก็คงจะเป็นดังที่กล่าวแล้วคือว่า การ "สร้างภาพ" ไม่อาจทำได้โดยไม่ใช้สื่อ แต่คนที่สื่อให้ความสนใจย่อมไม่ใช่ตาสีตาสาหรือพ่อค้าหาบเร่ แต่เป็นบุคคลสาธารณะที่สาธารณชนสนใจติดตาม


 


การ "สร้างภาพ" จึงอาจกล่าวได้ว่าต้องอาศัยการ "สมรู้ร่วมคิด" กับสื่อ


 


แม้ว่าสื่อไทยจำนวนมากจะบ้าจี้ งี่เง่า และถูกบุคคลสาธารณะใช้เป็นเครื่องมือบ้างในบางคราว แต่สื่อไทยก็คงไม่ถึงกับปัญญาอ่อนที่ไม่รู้ว่าการพูดโกหกกับการพูดความจริงนั้นน่าจะแตกต่างกัน แต่เบื้องหลังของการพูดโกหกนั้นบางทีอาจเป็นเรื่องของความจำเป็นอย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้น


 


คำว่า "ความจำเป็น" อาจช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการพูดโกหก มันทำให้การโกหกเป็นเรื่องที่ให้อภัยได้ อย่าว่าแต่การพูดโกหกเลย แม้แต่การประกอบอาชญากรรมร้ายแรงอันเนื่องมาจากความจำเป็น ก็เป็นเรื่องที่ให้อภัยได้ อย่างน้อยที่สุดก็ในสายตาของคนที่มีปัญญาและคุณธรรม (ไม่ใช่ในสายตาของตำรวจและกฏหมาย)


 


ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย "ความจำเป็น" จึงจำเป็นต้องถูกพิจารณาแยกย่อยอย่างละเอียดเพื่อดูว่าแท้จริงแล้วมันจำเป็นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร


 


แต่การพิจารณาเรื่องความจำเป็นอย่างลึกซึ้งรอบด้านไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และจะว่าไปการตัดสินเรื่องการพูดโกหกกับพูดความจริงก็เป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน เพราะในบางสถานการณ์การตั้งคำถามว่าพูดจริงหรือเท็จนั้นเป็นตั้งคำถามที่ผิด แต่มันควรตั้งคำถามว่าเป็นการพูด "ตามบท" หรือพูด "นอกบท" มากกว่า


 


ในกรณีของเจ้าหญิงแห่งวงการบันเทิงนั้นการไม่กล้าพูด "นอกบท" ได้ให้บทเรียนแก่ตัวเจ้าหญิงเองเพราะมันทำให้ใคร ๆ พากันคิดว่าเธอโกหกเพื่อปกป้อง "ภาพ" เจ้าหญิงของเธอ


 


ถึงตอนนี้ เจ้าหญิงคงจะรู้แล้วว่าในโลกจริงไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งในนิยายชีวิตของตนเองก็ตาม และจริง ๆ แล้วในสมัยนี้ ภายใต้บรรยากาศที่มีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์และข้อมูลข่าวสารรั่วไหลกันขนาดนี้ก็เป็นไม่ได้ด้วย 


 


"ภาพ" ของเจ้าชายและเจ้าหญิงเป็นแค่เรื่องของจินตนาการและความปรารถนาที่จะเป็นมากกว่าที่จะเป็นได้จริง ๆ   ดังนั้น สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือการหันกลับมามอง  "ชีวิตสามัญที่เป็นจริง"  ของตนเองซึ่งต้องทำงานหาเงิน ต้องเวียนว่ายอยู่กับวัฏจักรแบบสัตว์เดียรฉาน คือต้องรับประทาน   ต้องขับถ่าย  ต้องสมสู่ และต้องนอน


 


การจะไปให้ถึง "ภาพปรารถนา"  ซึ่งในที่นี้ก็คือเจ้าหญิงนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยแน่แท้ และในตอนนี้ "ภาพ" นั้นก็พังครืนลงมาแล้ว สิ่งที่เจ้าหญิงต้องทำคือการยอมรับถึงความสามัญและสามานย์ของ "ชีวิตที่เป็นอยู่" ซึ่งต้องใช้ความกล้าหาญไม่น้อย


 


เพราะถึงที่สุดแล้วการยอมรับความจริงอันเจ็บปวดของชีวิตสามัญน่าจะดีกว่าการพูดไป "ตามบท" ซึ่งเหมือนกับการพูดโกหกโง่ ๆ  เพื่อปกป้องและรักษา "ภาพ" ของเจ้าหญิง ทั้ง ๆ ที่เธอไม่เคยได้เป็นจริง ๆ