Skip to main content

ข่าวดี จากลุ่มน้ำปากพนัง

คอลัมน์/ชุมชน



วันนี้ผมมีข่าวดีจากลุ่มน้ำปากพนังซึ่งมีปัญหาเรื่องผลกระทบจากการปิดประตูระบายน้ำมาหลายปีแล้วมาเรียนต่อแฟนๆ "ประชาไท" ครับ นักข่าวประชาไทเองก็เกาะติดเรื่องนี้มาตลอด แต่ครั้งสุดท้ายประชาไท "ตกข่าว" (ฮา!)


 


แต่ก่อนจะพูดเรื่องดังกล่าว ผมมีเรื่อง "น่าตื่นเต้น" มาแทรกก่อน คือเรื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าของโปรแกรม Google Earth ซึ่งจะทำให้ผมสามารถบอกเล่าเรื่องปากพนังได้ง่ายขึ้นมากเลย  กล่าวคือโปรแกรมนี้สามารถดูแผนที่ส่วนต่างๆ ของโลกได้อย่างละเอียด


 


ฉบับที่เขาอนุญาตให้ download ฟรี สามารถดูนากุ้งได้เป็นแปลงๆ  ส่วนที่เขาขายสามารถดูได้ถึงขนาด 61 เซนติเมตรเลยทีเดียว (ค้นได้จาก web ผู้จัดการ ครับ)


 


ผมรู้สึกสนุกมากที่ได้ใช้โปรแกรมฟรีชุดนี้ จึงถือโอกาสนี้นำบางภาพมาเสนอต่อชาวประชาไทไปด้วยในตัว  ก่อนหน้านี้ผมมี Encarta ผมก็ตื่นเต้นจังแล้ว  มาคราวนี้ละเอียดกว่าเยอะเลยครับ  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเชื่อมให้ค้นคว้าได้อีกเยอะมาก เฉพาะปากพนังก็มีเกือบ 600 รายการ แต่ว่าเนื้อหาจะรับใช้ใคร-กลุ่มใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ


 


ภาพต่อไปนี้มาจาก Google  Earth ครับ 


 


ภาพแรก มองจากระยะไกล ที่เห็นสีเขียวๆทางซ้ายมือ เป็นป่าไม้และภูเขา น้ำฝนจึงไหลลงลุ่มน้ำปากพนังและออกทางอ่าวไทย (สีน้ำเงินเข้ม)  ผ่านบริเวณที่เรียกว่าอ่าวปากพนัง (สีฟ้าๆ ปนขาวๆ)  ส่วนที่มีลูกศรชี้ คือบริเวณที่มีประตูระบายน้ำกั้นการไหลของน้ำอยู่


 


                 

 


 


 


ภาพต่อไปเป็นส่วนขยายของภาพแรก  เราจะเห็นแม่น้ำปากพนังชัดเจนขึ้น  ตรงบริเวณประตูระบายน้ำนั้น เดิมเคยเป็นพื้นดินมาก่อน คือแม่น้ำมันคด  หลังจากเขาสร้างประตูระบายน้ำเสร็จ เขาก็ถมแม่น้ำสายเดิม ดังที่เห็นในรูป  ความจริงรูปนี้สามารถขยายให้ละเอียดได้อีก แต่ผมเอาเพียงแค่นี้


 


                                              


      


 


ที่เห็นเป็นคล้ายตารางหมากรุกสีน้ำเงินเข้มๆ นากุ้งครับ  ในฐานะที่ผมเองเป็นคนแถบนี้ จึงสามารถบอกได้ว่า ปัจจุบันนากุ้งเจ๊งไปแล้วกว่า 99%


 


ที่เล่ามาแล้ว เน้นไปที่ความสามารถของโปรแกรม Google Earth ครับ


 


ต่อไปนี้เป็นข่าวดีที่จะเล่า


 


หลังจากมีการปิดประตูระบายน้ำเมื่อปี 2542  ระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำปากพนังที่เคยมีสภาพเป็น 4 น้ำ คือ น้ำเค็มที่ไหลเข้ามาจากทะเลอ่าวไทย น้ำกร่อย น้ำจืดจากภูเขา และน้ำเปรี้ยวจากบริเวณที่เป็นพรุ  ก็เปลี่ยนไป


 


การเปลี่ยนไปของระบบนิเวศน์ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในลุ่มน้ำปากพนัง  ชาวบ้านจึงร้องเรียนต่อทางราชการ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหลายครั้ง


 


ในที่สุด ทางราชการก็ได้ตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยหน่วยราชการ ตัวแทนชาวบ้านและนักวิชาการขึ้นมาแก้ปัญหา ถ้าผมจำไม่ผิดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547


 


ผมเองเป็นกรรมการด้วย การประชุมดำเนินไปหลายครั้ง  ตอนแรกมีความไม่เข้าใจกันระหว่างกรรมการสูงมาก ยิ่งกรรมการที่เป็นตัวแทนชาวบ้านที่พูดจาแบบคนใต้แท้ๆ คือเสียงดัง(แต่น้ำใจดี) ก็ถูกมองว่าเป็นการใช้อารมณ์ แต่ในระยะหลัง หลังจากคณะการการได้ลงพื้นเพื่อดีดูปัญหาจริง ความเข้าใจและไว้วางใจระหว่างก็สูงขึ้น  จนถึงขั้นหยอกล้อเล่นกันได้


 


เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน


 


ความจริงแล้วโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังก็เริ่มต้นมาจากความปรารถนาดีที่จะช่วยให้พี่น้องมีความอยู่ดีกินดี แต่เมื่อมีปัญหาที่คิดไม่ถึงก็ต้องช่วยกันแก้ไข


 


ในที่สุดคณะกรรมการก็มีมติว่า จะเปิดประตูระบายน้ำในวันที่ 15 กันยายน 2548 เพื่อให้คืนสมดุลให้กับธรรมชาติ อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมากจนเกินไป คณะกรรมการได้ตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าความเค็มที่บริเวณปากแพรก(ซึ่งอยู่ทางล่างของภาพแรกไปไม่มากนัก)เกิน 3  ประตูระบายน้ำก็จะปิดอีก


 


ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้กรุณาเรียกวิธีการดังกล่าวว่าเป็น "การบริหารจัดการน้ำ"


 


เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่าน ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้เรียกประชุมคณะกรรมการชุดเล็กเพื่อเตรียมความพร้อม และตกลงกันว่าวันที่ 15 เดือนนี้จะเริ่มต้น "บริหารจัดการน้ำ" อย่างแน่นอน


 


ความคืบหน้าเป็นอย่างไร ผมจะนำมาเล่าให้ฟังครับ