Skip to main content

ปัญหาชาวบ้านคืองานของ "เรา"

คอลัมน์/ชุมชน



คนไทยมีคำพูดหลายๆ คำที่บอกว่า เป็นการห้ามไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่น เช่น  "เรื่องของชาวบ้าน"  "ธุระไม่ใช่" "เรื่องของผัวเมีย" หรือ "หมูเขาจะหาม อย่าเอาคานไปสอด"  แต่หากมองให้ลึกลงไปในอีกด้านหนึ่ง การจมอยู่กับความคิดแบบนี้นานๆ เข้าโดยไม่ไตร่ตรองเรื่องที่เราควรจะเข้าเกี่ยวข้องให้ดี ก็อาจทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่คนไม่ใส่ใจกันมากขึ้น


 


ก่อนอื่นเราอาจจะต้องแยกระหว่างความเป็นเรื่องส่วนตัว (privacy) ปัญหาส่วนตัว (personal issue) และปัญหาสาธารณะ (public issue) ซึ่งในปัญหาส่วนตัวหลายๆ ปัญหานั้นหลายครั้งก็เป็นปัญหาสาธารณะ และหลายๆ ครั้งก็เกิดจากปัญหาสาธารณะ ซึ่งปัญหาสาธารณะนี้ควรจะเป็นเรื่องที่เราซึ่งอยู่ในสังคมไม่ควรจะเพิกเฉยและไม่ควรจะคิดว่าธุระไม่ใช่


 


ปัจจุบัน เราจะเห็นแนวโน้มของสังคมไทยว่า ผู้คนจะสนใจใคร่รู้ในเรื่องส่วนตัว (privacy) ของคน คนใดคนหนึ่ง (ซึ่งอันที่จริงไม่จำเป็นจะต้องรู้) มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับปัญหาสาธารณะ ไม่เช่นนั้น เราคงจะไม่เห็นข่าวการท้องก่อนแต่งของดาราเป็นข่าวใหญ่ ไม่เห็นรายการเรียลลิตี้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เว็บไซด์ที่เป็นคอลัมน์ซุบซิบมีคนเข้าไปชมมากจนเป็นเว็บที่ฮิตติดอันดับต้นๆ ตลอด แต่ก็แค่อยากรู้ไปเท่านั้น  พอจะต้องกลายเป็นเรื่องจริงจังหรือต้องกลายเป็นปัญหาและต้องเป็นภาระที่จะต้องแก้ปัญหาขึ้นมา เราก็มาโยนว่า นั่นเป็นเรื่องส่วนตัว  เราไม่ควรไปยุ่งด้วย "ธุระไมใช่"


 


เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องราวเฉพาะของคนๆ หนึ่ง เช่น น้ำหนักเท่าไร สูงเท่าไร แต่งงานหรือยัง  ได้เงินเดือนเท่าไร ไปกินข้าวกับใครเมื่อวานนี้  ไปมีเพศสัมพันธ์กับใครมาบ้าง  แต่งงานแล้วไปฮันนีมูนที่ไหน หรือจะมีลูกกี่คน นั่นอาจเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ที่ใครๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปรู้เรื่องของเขาก็ได้  นี่เป็นเรื่องที่ธุระไม่ใช่จริงๆ


 


แต่ถ้าคนๆ นี้ดันร่ำรวยผิดปกติ มีรายได้มากเกินจากความเป็นไปได้ขึ้นมา แน่นอนว่านี่ไม่ควรจะเป็นแค่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น เราก็ควรจะรู้กันหน่อยไหมว่าเขาไปทำอะไรมา มีการโกงกิน หรือคอรัปชั่นมาหรือเปล่า เพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม การสืบค้นเรื่องนี้ยังควรเป็นเรื่องที่ "ธุระไม่ใช่" สำหรับเราหรือเปล่า หรือ ชายหญิงไปมีเพศสัมพันธ์กันตามปกติควรเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้ามีเรื่องเด็กวัยรุ่นหลอกเพื่อนสาวไปให้กลุ่มเพื่อนผู้ชายมารุมโทรม แล้วเราก็รู้อยู่ว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้น  นี่เราควรจะยังเฉยๆ ถือเป็น "ธุระไม่ใช่"  ได้อยู่ไหม


 


เห็นผู้ชายตบตีผู้หญิงอยู่กลางถนน แล้วไทยมุงก็เข้าไปดู ผู้ชายตะโกนออกมาว่า "นี่เป็นเรื่องผัวเมียคนอื่นไม่เกี่ยว" แล้วไทยมุงก็ยืนดูผัวตีเมียต่อไปเฉยๆ  เพราะว่านี่เป็น "เรื่องส่วนตัว"อย่างนั้นหรือ


 


หรือเห็นชายกำลังลวนลามทางเพศผู้หญิง ตั้งใจว่าจะเข้าไปช่วย แต่เขาบอกว่า "หมูเขาจะหามอย่าเอาคานไปสอด" ก็คิดว่าเออ นั่นสิ "ธุระไม่ใช่" อีกหรือเปล่า


 


เราจะเห็นว่า หลายๆ เรื่องที่เราคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวนั้นจริงๆ แล้วกลับไม่ใช่ แต่คนส่วนใหญ่กลับแยกไม่ออกมาว่าช่วงไหนควรเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ  หลายคนเรียกปัญหาหรือสิ่งที่ไม่ดีไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับคนในประเทศว่าเป็น "ปัญหาสังคม"  แต่ก็แล้วยังไง  ก็เป็นปัญหาสังคมไง ไม่ใช่ปัญหาของข้า จะไปยุ่งทำไม ใครจะไปทำอะไรก็ช่างเขา พี่น้องครอบครัวเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็แล้วกัน  และสิ่งที่ทำก็คืออยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วก็เฉยๆ หรือเอาไปพูดต่อด้วยความสนุกปาก ไม่ได้คิดต่อว่าเรื่องนี้น่าจะเอาตัวเองไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร เพราะเกรงภาระที่จะเกิดขึ้นกับตัว แล้วคนก็ยกคำอ้างเรื่อง "ธุระไม่ใช่"  หรือ "เรื่องของเขา" มาใช้อ้างกันไป


 


กรณี  มีคนโรคจิตเอามีดไปแทงเด็กนักเรียนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวใดๆ มาก่อน เป็นปัญหาส่วนตัวของคนโรคจิตหรือ ปัญหาส่วนตัวของเด็กนักเรียนที่ถูกแทงเองหรือไม่


 


กรณีคนไทยที่แม่อายถูกถอดถอนสัญชาติไทยไปพันกว่าคน เป็นเรื่องส่วนตัวของคนแต่ละคนหรือไม่


 


กรณีผู้ประสบภัยสึนามิถูกไล่ออกจากที่ดินที่เคยอยู่อาศัย จนไม่มีที่อยู่เป็นปัญหาส่วนตัวของเขาหรือไม่


 


หรือกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีถูกปฎิเสธจากการรับเข้าทำงาน ทั้งๆ ที่ยังมีความสามารถและยังมีสุขภาพร่างกายที่ปกติดีอยู่ เป็นเรื่องส่วนตัวของคนๆ นั้นหรือไม่


 


ตัวอย่างเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับคนหลายๆ ส่วนและล้วนไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หากไม่เช่นนั้น คงจะไม่ได้ยินคำพูดที่บอกว่า วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหานั้นอยู่ครอบครัว ชุมชนและสังคม ไม่ว่าจะเป็นกรณีคนโรคจิต ผู้ใช้สารเสพติด หรือปัญหาเอดส์ที่ทุกอย่างล้วนเริ่มต้นที่ชุมชน และแก้ปัญหาได้ด้วยชุมชน ซึ่งหมายความว่าผู้คนในสังคมควรจะเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา หรือป้องกันปัญหา แต่ส่วนใหญ่ผู้คนทำได้เพียงเห็นว่ามีปัญหาเท่านั้น และมักไม่ทำอะไรต่อ


 


อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่ออกมาตำหนิ หรือแม้กระทั่งกล่าวร้ายด่าทอ คนที่พยายามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เพื่อช่วยให้คนที่พบปัญหามีทางออกมากขึ้น ว่าเป็นพวกชอบยุ่งไม่เข้าเรื่อง หรือชอบสร้างปัญหา ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสาธารณะ ควรเป็นเรื่องที่ผู้คนควรจะเข้ามาร่วมมือกัน แทนที่จะนั่งมองและด่าทอ


 


ที่สำคัญเหตุการณ์ร้ายหลายๆ เหตุการณ์จะไม่เกิดขึ้น หากผู้คนหัดลองเอาปัญหาคนอื่นมาให้เป็นเรื่องของตัวเองกันมากกว่านี้  ปัญหาที่เราเรียกว่าปัญหาสังคม หรือปัญหาสาธารณะก็คงจะไม่เกิดขึ้นมากเท่านี้ เช่น หากเราจะคิดว่าปัญหาของคนแม่อายที่ถูกถอนสิทธิ์ก็เป็นปัญหาของเรา หรือหากมองว่าปัญหาการละเมิดสิทธิ์ผู้ติดเชื้อก็เป็นปัญหาของเรา เพราะคนเหล่านั้นคือประชาชนที่เหมือนกับเรา ปัญหาเหล่านี้อาจจะสามารถเกิดกับเราได้เช่นกัน เราก็คงจะเข้าใจเขาได้มากขึ้น การร่วมกันแก้ไขปัญหาก็จะง่ายขึ้น หรือปัญหาเรื่องนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ


 


แม้กระทั่งเรื่องที่ดูเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เป็นเรื่องคนๆ เดียว อย่างกรณีจิตรลดา ที่เดินวนเวียนอยู่ที่หน้าโรงเรียนมาหลายวัน หากคนที่พบเห็นจะใส่ใจสักนิด คนขับมอเตอร์ไซค์ที่ถูกว่าจ้างให้ติดตามไปดูบ้านเด็กจะสงสัยและนำเรื่องไปให้เจ้าหน้าที่ได้มาตรวจสอบ เรื่องต่างๆ ก็อาจจะคลี่คลายไปในทางที่ดี หรือกรณีพบเห็นการทำร้ายร่างกาย หากจะมีคนยอมเข้าไปช่วยเหลือและคิดว่านี่คืออาชญากรรมไม่ใช่เรื่องส่วนตัวที่ใครจะมาทำร้ายใครก็ได้ ก็อาจจะช่วยเหลือคนที่ถูกทำร้ายได้มากกว่านี้ และที่สำคัญหากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะเห็นปัญหาของประชาชนเป็นปัญหาของตัวเองแล้ว เชื่อว่า หลายๆ เหตุการณ์ร้ายคงจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งโดยหน้าที่ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ทว่า มีหลายครั้งและหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองกลับเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน


 


ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะเรียนรู้ว่า เราควรจะมีส่วนร่วมกับสิ่งที่พบเห็นมากน้อยแค่ไหน และให้ความสำคัญกับปัญหาใดปัญหาหนึ่งมากน้อยแค่ไหน หรือ แยกแยะให้ออกว่าเรื่องใดเป็น "เรื่องส่วนตัว" ของแต่ละคน หรือเรื่องใดที่เราควรจะเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง


 


แต่ที่แน่ๆ ก็คือ หากเราใส่ใจกันมากขึ้นตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ว่าใครกำลังมีปัญหาอะไร มาจนกระทั่งเป็นเรื่องใหญ่ๆ เช่น การติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชน การคอรัปชั่น การเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจในสังคม  และเราหันมาเปลี่ยนวิธีคิดจากคำว่า "ธุระไม่ใช่" มาเป็นวิธีคิดที่ว่า ปัญหาของชาติเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา หรือพูดง่ายๆ ว่า ปัญหา/ทุกข์ของชาวบ้านก็เป็นงานของเรา และเป็นเรื่องที่เราต้อง "เอาเป็นธุระ" บ้าง เชื่อว่า สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้