Skip to main content

น้องๆ ขอความรักแบบไม่หวานที่นึง

คอลัมน์/ชุมชน

เด็กใหม่ในเมือง


 


บทความชิ้นนี้ถูกจุดประกายขึ้นจากคำพูดของคุณเชค – สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ที่พูดในตอนท้ายของรายการ "หลุมดำ" ตอน "การ์ตูนสายพันธุ์ใหม่" ว่า "การ์ตูนสายพันธุ์ไทยหายไปไหน"


 


มันไม่ได้หายไปไหนหรอกครับพี่...


 


ถ้าพูดถึงการ์ตูนไทยบนแผงหนังสือการ์ตูน ผู้ที่ไม่ได้ติดตามแวดวงการ์ตูนอาจจะคิดว่าไม่มีที่ว่างสำหรับการ์ตูนไทยบนแผงหรอก แต่จริงๆ แล้วเรายังสามารถเห็นความเคลื่อนไหวของการ์ตูนไทยอยู่ตลอด ทั้งการ์ตูนสกุลขายหัวเราะ – มหาสนุก ที่ปัจจุบันมีงานหลายชิ้นที่น่าสนใจ อย่างเช่น "สามก๊กฉบับการ์ตูน" ที่เหมือนกับการเอาเรื่องเล่าสามก๊กมาเล่าโดยทีมพากย์ "พันธมิตร" จนแม้จะดูนอกเรื่องไปนิด แต่สนุกน่าดูทีเดียว


 


หรือหากจะมองทางการ์ตูนที่รับอิทธิพลจากการ์ตูนสายญี่ปุ่น เราก็ยังพบความเคลื่อนไหวจากหลายกลุ่มทีเดียว สำนักพิมพ์ที่พิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นอยู่แล้วหลายๆ เจ้า ก็มีแผนกการ์ตูนไทยที่ผลิตงานอย่างต่อเนื่องออกสู่สายตาผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง


 


อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของการ์ตูนไทยที่น่าจับตามอง คือการที่มีการ์ตูนฝีมือคนไทยเล่มหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์และจัดจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น-ดินแดนที่เปรียบเสมือนเมืองหลวงของวงการการ์ตูน


 


เรียกว่าเป็นการ์ตูนที่ "อ่านแล้วภาคภูมิใจ การ์ตูนไทยทำเอง..." (ถ้าเลียนเสียงน้าแอ๊ด คาราบาวได้ จะทำให้การอ่านครั้งนี้สนุกขึ้นพิกลครับ)


 


การ์ตูนเล่มที่ว่าคือ  "everybodyeverything" ของคุณวิศุทธิ์ พรนิมิตร นั่นเองครับ


 


 




(รูปจาก http://www.typhoonbooks.com/6/ee-thai.htm )


 


พูดถึงคุณวิศุทธิ์ แฟนๆ นิตยสาร a day คงจะรู้จักเขาจากการ์ตูนชุด hesheit ที่หลายๆ คนชอบ และอีกหลายคนเช่นกันที่ไม่ชอบมันเอาซะเลย สำหรับคนที่ชอบ...  hesheit คือการ์ตูนที่จับเอาความเหงาแบบคนเมืองใหญ่ มาขยำเข้ากับความช่างคิด แถมผสมด้วยบทหวานน้อยๆ พอไม่เลี่ยน แต่ในฝั่งตรงข้าม...ลายเส้นของเขากลับ "ดิบ" และ "ชุ่ย" เอาเสียมากๆ จนหลายคนส่ายหัว


 


แต่ในงานชิ้นหลังๆ ของเขา เขาก็เริ่มปรับสไตล์ให้นุ่มนวลขึ้น อย่างเช่น "ควันใต้หมวก" ที่ลายเส้นเรียบร้อยผิดหูผิดตาอย่างยิ่ง และใน "everybodyeverything" ก็เป็นขั้นต่อมาจาก "ควันใต้หมวก" นั่นเอง


 


"everybodyeverything"  ก็เหมือนกับงานหลายๆ ชิ้นของวิศุทธิ์ที่หยิบเอาเรื่องความสัมพันธ์เล็กๆ ในชีวิตคนเมืองใหญ่มาเล่าในหลายๆ แง่มุม ทั้งเรื่องความรักระหว่างเด็กอ้วนๆ กับสาวห้องตรงข้าม, ชีวิตที่อิจฉาสิ่งที่ดีกว่าที่เรามี ทั้งๆ ที่สิ่งที่เรามีอยู่ก็ดีกว่าคนอื่นๆ มากมาย, หนุ่มวัยทำงานกับแม่ และเครื่องเล่นเกมแฟมิคอมในความทรงจำ หรือแม้กระทั่งละครรักที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ณ ค๊อฟฟี่ช็อปในโรงแรมใจกลางกรุง  ที่ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งเพื่อสร้างห้างสรรพสินค้า ฯลฯ


 


วิศุทธิ์เล่าเรื่องเมืองที่เขาเห็นด้วยสายตาอ่อนโยน เจือปนด้วยความรู้สึก อันเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะขาดหายไปในสังคมเมืองในปัจจุบัน (หรือมันอาจไม่ได้หายไป หากแต่เราหลงลืมมันไปเท่านั้น)


 


ในบรรดาเรื่องทั้งหมดในนั้น ผมชอบเรื่อง "พี่ชาย" มากที่สุด  ซึ่งถ้าจำไม่ผิด การ์ตูนเรื่องนี้เคยอยู่ในหนังสือชุดopen house เล่มใดเล่มหนึ่งนี่แหละ


 


เรื่อง "พี่ชาย" เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับพี่-น้องคู่หนึ่งที่พี่ชายไม่ได้แสดงออกถึงความรักน้องชายของตัวเองแบบชัดๆ...เอาขนาดที่ว่าจะยิ้มให้น้องชายตัวเองก็ยังไม่เคยสักครั้ง


 


แต่กลับแสดงความรักด้วยการไม่โอ๋น้องชาย เพื่อให้เขาเข้มแข็งขึ้น


 


แสดงความรักด้วยการยอมลงไปนอนบนพื้น แต่ให้เจ้าน้องชายนอนบนเตียง


 


แสดงความรักด้วยการช่วยถือกระเป๋าเดินทางให้


 


แสดงความรักด้วยการอยู่เป็นเพื่อน และยืนรอจนกว่ารถไฟที่น้องนั่งจะลับตาไป


 


มันอาจจะไม่ใช่วิธีแสดงความรักหวานๆ แบบที่เราเห็นตามนิยายรักหวานแหววทั่วไป แต่ผมก็เชื่อว่ามันก็ซาบซึ้งใจไม่แพ้กัน อาจจะซาบซึ้งกว่าซะด้วยซ้ำ


 


ผมเชื่อว่าความรักนั้นไม่ได้วัดกันที่คำหวานที่หว่านไว้ แต่วัดกันที่ความปรารถนาดีที่เราจะมอบให้กับคนที่เรารักเสียมากกว่า   แต่ก็อย่างว่าแหละครับ ไอ้ของหวานๆ นี่ใครๆ ก็ชอบ


 


เอาว่าลดน้ำตาลของความรักลงไปเสียบ้าง ความรักก็คงไม่เลี่ยนเกินไปนัก...จริงมั้ยครับ