Skip to main content

สมมติสัจจะ

คอลัมน์/ชุมชน

 


สิบกว่าวันที่ผ่านมาผู้เขียนได้พบเจอเหตุการณ์ต่างๆ เกิดอาการเหนื่อยหน่ายในใจ จึงบอกตนเองว่าขอนั่งพักสักเดี๋ยว พอเริ่มๆสะสางได้จะค่อยเริ่มเขียนใหม่ ทั้งๆที่ปัญหาเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ได้กระทบกับผู้เขียนโดยตรง แต่ก็อดนำมาคิดมาตริตรองดูไม่ได้ ว่าทำไมคนเราจึงได้เป็นกันและทำกันถึงขนาดนี้


 


ผู้เขียนนึกถึงคำว่า "สมมติสัจจะ" ขึ้นมาเป็นเพราะมีพื้นฐานมาจากการที่ตนเคยเป็นพุทธตามกระแสหลักในสังคมไทย   ซึ่งทำให้ปลงได้มากขึ้น (นี่ก็แนวคิดพุทธอีก)   จากจุดนี้จึงขอนำมาเป็นกรอบในบทความชิ้นนี้


 


เรื่องแรกคือ พายุเฮอริเคน "แคธรินา" กับผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งทราบกันดีแล้วว่าเกิดอย่างไร ผู้คนเสียชีวิตเป็นหมื่น ร้ายแรงกว่าสึนามิที่เกิดในไทยมาก ทั้งที่มีการเตือนภัยก่อนหน้า แต่ที่น่าสังเวชใจมากคือกระบวนการในการจัดการช่วยเหลือเหยื่อหรือผู้เคราะห์ร้ายหลังจากที่พายุผ่านพ้นเป็นไปอย่างทุลักทุเล ทั้งที่สหรัฐฯนั้นมีทุกอย่างครบในเรื่องนี้


 


ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้คือคนที่ไม่มีโอกาสในสังคมอยู่แล้ว ในสังคมอเมริกันนั้น การแข่งขันสูงและอยู่ในกรอบวัฒนธรรมของคนผิวขาว พูดง่าย ๆ ก็คือว่าคนที่คุมเกมคือคนผิวขาวที่มีโอกาส คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้มากกว่า และออกกฎต่างๆ ขึ้นมาโดยเฉพาะเรื่องของการที่จะประสบความสำเร็จ ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งจะคิดหนี เพราะคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้โดนสอนให้คิด เนื่องจากไม่ได้เล่าเรียนมากนัก หรือไม่รู้ว่าภัยครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก


 


นอกจากนี้หากคิดได้ก็หนีไม่ได้ ไม่มีรถ ต้องรอรถที่ทางการจัดหามา ซึ่งก็ไม่พอเพียง  บ้างก็ยินดีที่จะไม่อพยพโยกย้าย เพราะว่าหากทุกอย่างต้องพังทลายจริง ก็เท่ากับว่าตนเองสูญทุกอย่าง อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะตั้งตัวใหม่ไม่ใช่ของที่ทำได้ง่ายๆ ตายที่บ้านเสียเลยน่าจะดีกว่า


 


ดังนั้น ผู้เขียนจึงรู้สึกรันทดจนบอกไม่ถูก อาจเป็นเพราะว่า  เคยไปที่นิวออร์ลีนส์ ไปเห็นทั้งบวกและลบของที่ตรงนั้น เกือบได้งานที่ตรงนั้น แล้วก็สนุกที่ไปเที่ยวตรงนั้น มีความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องนี้พอสมควร อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าจะเห็นใจชาวอเมริกันตรงนั้นมากกว่าคนไทยที่เจอสึนามิ ตอนนั้นผู้เขียนเองก็ช็อคไม่น้อยกว่าหนึ่งอาทิตย์เช่นกัน ดีทีเป็นช่วงปิดเทอม จึงไม่มีผลในการปฏิบัติงานนัก


 


คนในสังคมไทยเองอาจมองว่า ประเทศรวยๆอย่างสหรัฐฯ คงแก้ปัญหานี้ได้ง่ายๆ ผู้เขียนขอบอกว่าไม่จริง อาจยากกว่าที่เกิดในไทยก็ได้ เพราะผู้บริหารสหรัฐฯและกลุ่มคนที่ได้(เอา)เปรียบในสังคมในปัจจุบันมีอำนาจล้นฟ้า สิ่งที่กลุ่มนี้สนใจที่สุดในปัจจุบันคือจะแสวงหาผลประโยชน์อย่างไรได้มากที่สุด ดังนั้น จึงสนใจเรื่องศึกในอิรัก มากกว่าปัญหาความยากไร้ของคนในประเทศ และโดยเฉพาะคนจน คนผิวดำที่สังคมกระแสหลักดูถูกเหยียดหยาม


 


ความแบ่งแยกในสหรัฐฯ นับวันจะชัดเจนขึ้น และจากเฮอริเคนนี้ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนขึ้น ส่วนในสังคมไทยก็มีให้เห็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความเชื่อทางศาสนา การเมือง และฐานะทางสังคม การที่เป็นคนแตกต่างเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในกระแสหลักของสังคมไทย   การแก้ปัญหาแบบยั่งยืนจึงไม่มี เท่าทีมีและที่เห็นๆกันตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าถูกทางหรือไม่


 


เรื่องนี้ก็ทำให้เห็นว่า สมมติสัจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่เป็นผลร้าย นั่นคือ การแบ่งเขาแบ่งเรา และการหมกมุ่นกับผลประโยชน์ส่วนตัวที่เป็นเรื่องเปลือกๆ ทั้งสิ้น พุทธเองสอนง่ายๆ ว่าสัตว์โลกเป็นเพื่อนร่วมวัฏสงสาร ในเรื่องของการเกิดแก่เจ็บตาย ท้ายสุดไม่หนีไปไหนก็ต้องตายทุกคน  แปลกใจว่าทำไมไม่อยู่ด้วยกันด้วยความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน


 


เรื่องต่อมาคือ เรื่องของความไม่รู้ในสังคมไทยเกี่ยวกับดาราสาวคนหนึ่งในเรื่องส่วนตัวของเธอ ผู้เขียนไม่มีความเห็นใจหรือขัดแย้งกับการกระทำของเธอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแถลงข่าวหรือพฤติกรรมความสัมพันธ์ของเธอ เหตุเพราะว่าการเป็นคนดังนั้น ต้องทำทุกวิถีทางที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ แต่สังคมไทยต่างหากที่ไม่เข้าใจข้อนี้ เอามาเป็นเรื่องที่โจมตีดาราสาวจนลุกลามใหญ่โต แต่ลืมมองว่าข่าวแบบนี้จะผ่านมาและผ่านไป ดังนั้นการโกหกจึงเป็นเรื่องที่อาจเกิดได้ ตราบใดที่สังคมยังมีสภาพการณ์แบบนี้ คือเน้นเรื่องภาพเท่านั้น  


 


แน่นอน การโกหกเป็นเรื่องไม่ดี แต่เหมือนกับว่าที่ผ่านๆมาในสังคมไทย ความจริงในแต่ละเรื่องก็หาไม่ค่อยได้กันอยู่แล้ว แม้แต่เรื่องของ "ความเป็นไทย" อย่างที่กระแสหลักพยายามสร้างเรื่องนี้ขึ้นมา


 


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้บอกว่ามีการโกหกเกิดขึ้นในเรื่องนี้ เพราะผู้เขียนไม่ได้ไปตรวจสอบหรือมีหลักฐานแต่อย่างใด


 


ส่วนที่มีบางคนบอกว่าเรื่องนี้จะเป็นตัวอย่างไม่ดีต่อเยาวชน ผู้เขียนแย้งว่าก็ไม่ใช่อีก เพราะว่าเรื่องท้องแบบไม่ต้องการหรือเจตนานั้น เป็นเรื่องเกิดขึ้นมานานมาก และเกิดมาตลอดกาล ไม่เกี่ยวว่าพอดาราดังทำได้ เด็กจะทำตาม เด็กสมัยใหม่ไม่โง่หรอก นอกจากจะเอามาอ้างหลังจากที่ไปท้องแล้วว่าดารายังทำได้ อันนั้นผู้ใหญ่ก็ต้องบอกเด็กว่าผลที่เกิดตามมาตัวเด็กเองน่ะแหละต้องรับต่อ ไม่มีใครไปรับผิดชอบให้ และบางครั้งบทเรียนชีวิตมันยากและกว่าจะรู้ก็อาจสายไป


 


ผู้เขียนอ่านงานต่างๆ ที่ใครต่อใครเขียน แต่ให้แปลกที่ไม่มีใครพูดอย่างชัดเจนไปเลยว่า นี่คือเรื่องของความไม่รู้เท่าทันของสังคมไทยเอง โดยเฉพาะในเรื่องของการให้ข่าวของคนดัง ข่าววงการบันเทิง หรือแม้แต่รัฐบาลเอง


 


จากการที่ผู้เขียนเคยทำงานด้านประชาสัมพันธ์และการตลาดมาก่อน ขอบอกได้ว่า ข่าวที่ออกมาในเรื่องบันเทิงนี้ไม่ค่อยมีแก่นสารเพราะว่าเป็นเรื่องของภาพลักษณ์และผลประโยชน์เกือบร้อยทั้งร้อย  จำได้ว่ามีครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนไม่เท่าทันเกมได้บอกความจริงเต็มร้อยไป  เพราะคิดว่าจำเป็นต้องบอก ปรากฏว่าเป็นผลลบเนื่องจากทำให้คนบางกลุ่มยอมรับไม่ได้ และมีผลสะท้อนกลับมารุนแรง ดีที่ผู้บริหารท่านหนึ่งเข้าใจ บอกว่าดีเหมือนกัน ความจริงบางทีต้องบอกเหมือนกันแม้จะต้องจ่ายราคาแพงก็ตาม 


 


จากวันนั้นมาจนวันนี้ เมื่อผู้เขียนต้องเกี่ยวข้องกับการให้สัมภาษณ์ข่าว หรือแถลงข่าว จะต้องระวังมากในการให้ข้อมูล ต้องไม่โกหก ไม่บิดเบือน แต่ต้องไม่กระทบใครให้เดือดร้อน  ซึ่งยากมากแต่ต้องพยายาม


 


กระแสต่อต้านดาราสาวผู้นั้นมาแรงมาก  มากจนผู้เขียนอึดอัด ไม่ใช่เจ็บแค้นหรือเดือดร้อนแทนดาราสาว แต่อึดอัดเพราะว่าทำไมสังคมไทยจึงไม่มี critical thinking หรือการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ในเรื่องเหล่านี้  จึงขอสันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าเป็นเพราะเหตุดังนี้


 


ประเด็นแรก ข่าวคนดังคือข่าวสร้างภาพ ไม่จีรัง  


 


ประเด็นสอง เป็นเรื่องส่วนตัว ดาราสาวคนนี้จะไปทำอะไรกับใคร ไม่ใช่เรื่องของสังคม แต่สังคมต่างหากต้องมีภูมิคุ้มกันพอที่จะรู้ว่าข่าวไหนมีคุณค่าอย่างไร ถึงเป็นบุคคลสาธารณะก็ตาม สังคมตามได้ แต่สังคมไม่ต้องตื่นขนาดนี้ เรื่องสำคัญอื่นๆ เช่น คนไทยอ่านหนังสือน้อย หรือไม่มีจะกิน น่าสนใจกว่าเป็นไหนๆ


 


ประเด็นที่สาม สังคมไทยต้องแยกให้เป็นว่าอะไรคือความจริง (Reality)  อะไรเป็นมายาลวง (Illusion) ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ทำงานเรื่องนี้ เช่น สื่อมวลชนควรจะต้องมีการยกระดับตนเอง  โดยบอกตนเองว่าข่าวแบบนี้ขายได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด


 


อนิจจาที่คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ไปไม่ถึงไหน ยังไม่เข้าใจสามประเด็นข้างต้น มองไม่ออกในเรื่องความจริง (ดาราคือคนธรรมดา) และมายาลวง (ดาราคือเจ้าหญิง—กำมะลอ) เกิดความผิดหวังบ้าง สงสารบ้าง ไปตามเรื่องของความรู้สึกที่ชอบหรือไม่ชอบ


 


ผู้เขียนได้ดูหนังฝรั่งเรื่องหนึ่งนานมาแล้ว ชื่อ Wag the Dog (ดูรายละเอียดเบื้องต้นในภาษาอังกฤษได้ที่เว็บนี้ http://www.newline.com/sites/wagthedog/ ) เป็นเรื่องของรัฐบาลสหรัฐฯที่พยายามสร้างภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์แค่การโฆษณาชวนเชื่อ แล้วคนก็หลงเชื่อ    ทุกอย่างที่เป็นภาพจึงโดนทึกทักให้กลายเป็นจริง และไม่มีคนไหนที่จะท้วงถามว่าเพราะกระแสหลักโดนคุมทางความคิดไปหมดแล้ว


 


สมมติสัจจะ เกิดขึ้นเมื่อทุกคนมองไปในทางเดียวกัน เชื่อไปในทางเดียวกัน บางทีก็เป็นจริงแท้ได้ บางทีก็เป็นการหลอกลวง  ดังนั้น การคิดเห็นที่แตกต่างอาจช่วยได้บ้าง ถือเป็นการตรวจสอบในระดับหนึ่ง  ซึ่งมาจากการที่มี critical thinking หรือการคิดอย่างมีวิจารณญาณ


 


คำถามต่อไปคือ เราจะมีโอกาสที่คิดเป็น ตรวจสอบได้  รึไม่ในสังคมปัจจุบัน