Skip to main content

การพึ่งพาตนเองของชุมชน ความหวังที่เป็นไปได้

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ช่วงนี้ได้ยินคนหลายคนบ่นให้ฟังถึงความท้อแท้ในการทำงานชุมชน ว่าไม่ค่อยจะเห็นพัฒนาการชุมชนไปสู่การพึ่งพาตนเองเท่าไหร่  ซึ่งก็เป็นความจริงที่พบได้ในเกือบทุกพื้นที่


 


แต่ผู้เขียนไม่แปลกใจเลยที่ชุมชนส่วนใหญ่จะยึดถือกระแสการพัฒนาที่มุ่งไปสู่การพึ่งพาคนนอก เพราะการพัฒนาที่ผ่านมาไม่ว่าอดีตถึงปัจจุบันล้วนแต่สร้างให้ชุมชนพึ่งพาภายนอกทั้งสิ้น เปรียบดังกระแสน้ำใหญ่ ที่โหมกระแทกใส่ตลอดเวลา ในที่สุดก็ไม่มีใครยับยั้งกระแสดังกล่าวได้ สุดท้ายต้องลอยตามกระแสน้ำไป แต่ที่แปลกก็คือ ทำไมบางชุมชนกลับพัฒนาตนเอง ไปสู่การพึ่งพาตนเองมากขึ้น เช่น กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดตราดที่พยายามพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเองด้านเงินทุนของชุมชน เครือข่ายอินแปงที่พัฒนาการพึ่งตนเองเรื่องการกินอยู่ โดยผ่านการยกป่าภูพานมาอยู่ในสวน คำตอบก็คงต้องช่วยกันค้นหากันดู


 


กระบวนการพัฒนาที่เน้นให้ชุมชนเข้ามาพึ่งตนเองจึงนับได้ว่าเป็นแนวคิดที่สวนทางกับสิ่งที่คนหรือหน่วยงานส่วนใหญ่คิดและทำกันอยู่ในปัจจุบัน แนวคิดการส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองจึงนับว่าเป็นงานที่ยาก เพราะต้องสู้กับสื่อโฆษณา ทุนนิยม ที่ใช้ "วัตถุหรือเงิน" เป็นสิ่งดึงดูด ขณะที่การเน้นให้ชุมชนหันกลับมาพึ่งตนเองใช้  "ปัญญาการรู้เท่าทัน" เป็นหลัก  ถ้าใครได้มาอยู่ในจุดยืนดังกล่าวจึงนับได้ว่า สวนกระแสอย่างมาก "จิตใจ" ของคนเหล่านี้จึงต้องถูกประคับประคองอยู่ตลอดเวลา การค่อยๆ ทำ แล้วหยิบยกการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเล็กๆ น้อยๆ มาเป็นกำลังใจในการก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขึ้น จึงอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการประคับประคองจิตใจ  


 


ครั้งที่แล้วถ้าจำกันได้ เขียนถึงการที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งเริ่มลุกขึ้นมาสลายขั้วอำนาจเก่า โดยใช้โอกาสที่โครงการเอสเอ็มแอลเข้ามา  แม้ว่าตัวโครงการยังวนเวียนอยู่ในโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็เริ่มต้นจากกระบวนการคิดของชุมชนเอง แม้ผู้เขียนลุ้นอยากให้เกิดโครงการแก้ปัญหาในเรื่องปากท้อง แต่เมื่อกระบวนการความคิดของชุมชนยังไปไม่ถึง ก็คงต้องค่อย ๆ สร้างกันก่อน ค่อย ๆ พัฒนา เรียนรู้ ไปทีละระดับขั้น


 


การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการชุมชนของทุกๆ โครงการ ทุกๆ ปัญหาของชุมชน "การเตรียมชุมชน" นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น  กระบวนการเหล่านี้ควรเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ก่อนที่โครงการเอื้ออาทรทั้งหลายจากภาครัฐ จะลงมาให้ชุมชน ตั้งแต่ขั้นการเตรียมความพร้อมของวิทยากรชุมชนที่จะชวนพูดชวนคุย การระดมความคิด การไปดูงานพื้นที่อื่นๆ กรณีที่ชุมชนยังมีความรู้ไม่ค่อยชัดเจน หรือกระบวนการอื่นๆ ที่เหมาะสมในแต่ละชุมชน


 


ที่ผ่านมา หลายโครงการละเลยกระบวนการดังกล่าว แต่กลับไปให้ความสำคัญเรื่องรูปแบบมากกว่า เช่น ต้องมีจำนวนคนกี่เปอร์เซ็นต์เข้าร่วมประชุม รูปแบบการจัดเวทีเป็นอย่างไร องค์ประกอบของตำแหน่งต่างๆ ในการดำเนินการ จนละเลยเนื้อหาในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้โครงการที่เข้ามาแทบจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชุมชนได้เลย แล้วบางโครงการยังสร้างภาระและกระทบทำให้ทั้งชุมชนอ่อนแอ เป็นหนี้สิน ต้องอพยพไปหากินนอกชุมชน


 


ตัวอย่างกระบวนการจัดการเรื่องใกล้ตัว ที่ชุมชนยังคงเข้ามามีส่วนร่วมน้อย คือ การจัดการเรื่องน้ำ        ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาจัดการมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมาบอกเราว่าน้ำจะท่วมมากขึ้นหากต้นไม้ดูดซับน้ำมีน้อยลง มีการสร้างสิ่งขวางกั้นน้ำมากขึ้น  และแล้งมากขึ้นจากการที่ปริมาณฝนตกน้อยลง  เช่น บริเวณจังหวัดที่ผู้เขียนอยู่ แม้อยู่ภายในจังหวัดเดียวกัน แต่ปริมาณฝนต่างกันมาก โดยด้านทิศตะวันตกที่ติดกับกำแพงเพชร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก รุนแรงขนาดชาวนาไม่สามารถทำนาได้ เพราะไม่มีฝนตกขนาดที่น้ำขังนาเลย จนหลายครอบครัวต้องอพยพเข้าเมืองกรุง เรียกได้ว่าไปตายเอาดาบหน้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของชุมชน ส่วนด้านทิศตะวันออก โชคดีที่ฝนตกค่อนข้างดี ทำนาได้เป็นปกติในชนบท หมู่บ้านหลายแห่งมีการจัดการประปาหมู่บ้านของตนเอง


 


นับว่าเป็นการพึ่งตนเองในระดับหมู่บ้านของชุมชน ในเรื่องน้ำในการอุปโภคในครัวเรือน เท่าที่ผู้เขียนสำรวจภายในตำบลพบว่าการจัดการที่ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนจริงๆ มีประมาณ 4 หมู่บ้านจาก 14 หมู่บ้าน พบหลายหมู่บ้านมีกระบวนการจัดการที่ตกอยู่ในการดูแลของผู้ใหญ่บ้านเพียงผู้เดียว   ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ประกอบกับการทำงานดังกล่าวเรียกได้ว่า "เป็นไปตามยถากรรมของชุมชน" คือ เรียนรู้เทคนิคการจัดการคุณภาพน้ำกันเอง หาแหล่งน้ำกันเอง จัดการบริหารกันเอง ถ้าชุมชนไหน มีกระบวนการของชุมชนดี เข้ามาช่วยกันบริหารจัดการ  การจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคได้อย่างดี


 


กรณีที่หมู่บ้านจัดการได้ดี บ้านท่ามะไฟ ม.10 เมื่อก่อนพบว่าน้ำขุ่นบ่อย ไม่ค่อยใส ค่าน้ำแพง  ซึ่งเกิดจากกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่มุ่งหวังผลประโยชน์ แต่เมื่อมีการถ่ายโอนให้กับกลุ่มคนสายเลือดใหม่ ที่ชุมชนคัดเลือกเข้ามา มีการจัดระบบการบริหารกันใหม่จากการผูกขาดโดยกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ ไปสู่ความหลากหลายของกลุ่มคน และสร้างการคานอำนาจระหว่างฝ่ายจดมาตรและเก็บเงิน กับฝ่ายเหรัญญิก มีการแจ้งผลกำไรผ่านป้ายประชาสัมพันธ์ของหมู่บ้านและประกาศในหอกระจายข่าวให้คนในหมู่บ้านทราบทุกเดือน จากกระบวนการทำงานพบว่าคุณภาพน้ำดีขึ้น มีกำไรจากการทำประปาหมู่บ้านมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มคณะกรรมการบอกว่าอาจลด ค่าน้ำได้ เพราะเริ่มมีกำไร และที่สำคัญเป็นของชุมชน ที่ชุมชนเข้ามาบริหารจัดการได้


 


กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการจัดการน้ำในชุมชน ซึ่งยังมีหลายแห่งมากที่กระบวนการจัดการยังเป็นปัญหา ซึ่งถ้าหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานสาธารณสุข กรมทรัพยากรน้ำ องค์การบริหารส่วนตำบล เล่นบทบาทเชื่อมโยงกระบวนการพัฒนาแต่ละกลุ่ม ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ตลอดจนการพัฒนากระบวนการเทคนิควิศวกรรมการจัดการน้ำ และอีกหลาย ๆ เรื่องที่ชุมชนขาดความรู้ เพิ่มเติมให้กับชุมชน จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ส่งผลให้ชุมชนแต่ละหมู่บ้านได้พัฒนาตนเอง จนสามารถลุกขึ้นมาจัดการปัญหาน้ำของชุมชนได้อย่างครบวงจร


 


การจัดการน้ำเหนือกว่าระดับหมู่บ้านคือการจัดการน้ำระหว่างลำคลองเดียวกัน ระหว่างแม่น้ำ จนถึงลุ่มน้ำ ในภาคเหนือตอนล่างยังไม่มีการจัดการการพูดคุยที่ชัดเจน คณะกรรมการลุ่มน้ำที่มีบทบาทเข้าไปจัดการ ยังไม่ได้แสดงบทบาทของตนเอง เพราะบางส่วนยังไม่รู้ว่าตนเองเป็นกรรมการ และบทบาทของตนเอง การก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำยังคงกำหนดมาจากภายนอกชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้รับเหมา จุดนี้อาจเชื่อมโยงให้เกิดปัญหาการทะเลาะเรื่องการจัดสรรน้ำเพิ่มขึ้นในอนาคต


 


ถ้าการจัดการไม่ดี ความรุนแรงก็จะเพิ่มขึ้น โดยการพูดคุยระหว่างลำคลองเดียวกันยังเกิดขึ้นน้อยมาก  คงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ให้คนในชุมชน หันหน้ามาชวนหมู่บ้านใกล้เคียง หรือในลำคลองเดียวกันมา "จับเข่าคุย" กัน ถึงปัญหาจริง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องคุยกันด้วยการจับเข่าคุยกันเท่านั้นที่จะ "ได้เรื่อง" "ได้ใจ" คนคุย หาวิธีการจัดการแบบพี่น้องช่วยเหลือกัน มิฉะนั้นอนาคตเกิดปัญหาการยกเครื่องไม้เครื่องมือการเกษตรมาฟาดฟันกันได้


 


บทบาทการ "พัฒนาปัญญา" เหล่านี้มีความจำเป็นและน่าจะเป็นทางตรงที่ส่งผลให้แต่ละหมู่บ้านได้พัฒนาตนเอง และเริ่มจัดการปัญหาของชุมชนตนเองมากขึ้น   แต่บางครั้งในการเริ่มต้น คนนอกไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือคนที่คิดว่า "ธุระใช่" อาจเป็นฝ่ายกระตุ้นให้ชุมชนมองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเป็นคนกลางที่จะช่วยเยียวยาชุมชนที่มีความแตกแยกให้หันหน้ามาคุยกัน


 


การจัดการกับสิ่งจำเป็นของชีวิต ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าทุกชุมชนทำได้ แต่ในบางชุมชนที่ยังอ่อนแอ หน่วยงานภายนอกต้องช่วยในเรื่องการขุดค้น เชื่อมโยง และพัฒนา สิ่งที่เรียกว่า "ปัญญาของชุมชน" ขึ้นมาใช้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ เรื่องพลังงาน การทำมาหากิน โดยกระบวนการอาจเริ่มที่การให้โอกาสชุมชนมาร่วมคิด คนนอกก็พร้อมเรียนรู้ไปกับชุมชน


 


ถ้าทุกคน ทุกหน่วยงานช่วยกันคนละไม้คนละมือ ดวงเทียนที่ส่องสว่างท่ามกลางความมืดมิดของสังคมในแต่ละพื้นที่ก็จะเริ่มสว่างไสวมากขึ้นๆ จนกลายเป็นแสงสว่างกระจ่างไปทั้งประเทศได้