Skip to main content

เงิน

คอลัมน์/ชุมชน

พบกันอีกแล้วกับคอลัมน์ " กลับไม่ถูก " พบกันแต่ละครั้งเราก็จะมีเรื่องราวที่น่าคิดมาคุยกันเหมือนเดิม และวันนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของชาวบ้านอีกเช่นเดิม ( เพราะผู้เขียนก็เป็นชาวบ้าน )


วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง " เงิน " พูดถึงเรื่องเงินไม่มีใครไม่อยากได้ แม้แต่ผู้ทรงศีลที่อยู่ในเพศบรรพชิตก็ยังต้องใช้เงิน นับประสาอะไรกับชาวบ้านที่เดินดินกินข้าวแกงธรรมดาจะละได้ในเรื่องของเงิน ดังนั้น วันนี้เรามีกรณีเกี่ยวกับเรื่องเงินมาเล่าสู่กันฟัง ( ฟังเขาเล่ามาอีกที )


คุณลุงคนหนึ่ง ( ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ ) มานั่งคุยแล้วปรับทุกข์ว่า ขณะนี้มีเรื่องกลุ้มใจมากไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะ ไม่มีเงินไปใช้หนี้กองทุนหมู่บ้าน กลุ้มจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ เพราะเดินไปทางไหนชาวบ้านก็มอง แล้วก็ซุบซิบนินทาเรื่องที่ลุงไม่มีเงินไปใช้หนี้กองทุน จนทำให้ลุงเป็นที่รังเกียจของชาวบ้าน ก็เลยได้คุยรายละเอียดกัน


ลุงเล่าว่า เดิมตอนที่ยังไม่มีเงินกองทุนเราก็อยู่ของเราได้ อดบ้างกินบ้างก็มีความสุขดีไม่เดือดร้อนใคร เพื่อนบ้านก็ไม่เคยรังเกียจ อยู่มาวันหนึ่งผู้ใหญ่บ้านก็เรียกให้ไปประชุม และกำชับว่าเป็นเรื่องสำคัญต้องไปให้ได้ ลุงเกรงใจผู้ใหญ่บ้านจึงต้องเข้าประชุมด้วย ( ทั้ง ๆ ที่ลุงไม่อยากไป ) พอเปิดประชุม ผู้ใหญ่บอกว่า หลวง ( ราชการ ) จะให้เงินพวกเราในชุมชนกู้ยืมกันไปทำอาชีพ ทุกคนมีสิทธิกู้ได้ เสียดอกเบี้ยเพียงร้อยละบาทต่อเดือน


ตอนแรกลุงไม่คิดอะไรและยังไม่มีความจำเป็นต้องกู้ จึงสละสิทธิให้เพื่อนในชุมชนกู้กันไปก่อน คนที่ได้สิทธิก็ดีใจและขอบคุณลุง แต่คนทั่วไปกลับบอกว่าลุงโง่ เงินหลวงเขาอุตส่าห์เอามาให้กู้ กลับไปยอมให้คนอื่นกู้ไปโง่จริง ๆ กลับไปบ้านลูกเมียก็ว่าโง่อีก ทำให้ลุงกลับมานั่งคิดว่าลุงโง่จริงอย่างที่ใคร ๆ เขาว่าหรือเปล่า มาคิด ๆ แล้วก็รู้สึกว่าตนเองโง่จริง ๆ อย่างที่ชาวบ้านเขาว่า เพราะตนเองก็มีสิทธิในเงินจำนวนนี้


ดังนั้นลุงจึงไปคุยกับผู้ใหญ่บ้านว่าลุงขอกู้เงินในงวดต่อไป ( ทั้งที่ไม่ได้คิดจะทำอะไรกับเงินก้อนที่จะกู้เลย เรียกว่าขอกู้ตามสิทธิเพื่อให้ไม่โง่ ) ผู้ใหญ่บ้านก็บอกว่าลุงต้องไปเขียนแผนมาก่อนว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ลุงเขียนหนังสือไม่เป็น จึงไปวานเพื่อนบ้านเขียนให้ คนเขียนก็ถามว่าลุงจะเอาเงินไปทำอะไร ลุงก็บอกว่าไม่รู้ แล้วแต่คนเขียนจะเขียนให้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร แล้วก็เอาแผนที่เพื่อนบ้านเขียนให้ไปยื่นผู้ใหญ่บ้าน ทั้ง ๆ ที่ลุงก็อ่านไม่ออกว่า คนเขียน ๆ ให้ลุงทำอะไร และผู้ใหญ่ก็อนุมัติให้ลุงกู้ได้จำนวนเงิน 20,000 บาท และบอกว่าสิ้นปีลุงต้องใช้คืนเงินต้น 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย


ลุงดีใจอย่างบอกไม่ถูกเพราะในชีวิตยังไม่เคยมีเงินสดในมือมากอย่างนี้มาก่อน รีบนำเงินกลับบ้านไปให้ลูกเมียดู เมียลุงก็ดีใจ ลูกลุงก็ดีใจ แต่ทุกคนในครอบครัวยังนึกไม่ออกว่าจะเอาเงินไปทำอะไร จึงนำเงินไปฝากธนาคารไว้ก่อน เพราะเก็บไว้ที่บ้านก็กลัวถูกโจรปล้น ( กู้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 12 ฝากได้ร้อยละไม่ถึง 2 บาทต่อปี ) ฝากไว้ในธนาคารได้ประมาณ 5 เดือน และตลอดเวลา 5 เดือนลุงก็ได้แต่เอาสมุดบัญชีธนาคารออกมาดู และก็รู้สึกภูมิใจที่ลุงมีเงินฝากธนาคารเหมือนกัน และก็มีตั้ง 20,000 บาท


อยู่มาวันหนึ่งลูกมีธุระเดือดร้อนเพราะถูกคดีพรากผู้เยาว์ โดยตำรวจให้ตกลงกันระหว่างพ่อแม่ฝ่ายหญิง และพ่อแม่ฝ่ายชาย ผลของการพูดคุยพ่อแม่ฝ่ายหญิงเรียกเงิน 20,000 บาท ไม่อย่างนั้นลูกลุงต้องติดคุก ลุงบอกว่าขอเวลากลับมานอนคิดทั้งคืนเอาสมุดเงินฝากออกมาดู เพราะมีเพียงเงินก้อนนี้เท่านั้นที่จะช่วยลูกได้ ในที่สุดก็ตัดสินใจไปเบิกเงินก้อนนี้มาให้กับผู้เสียหาย เงินก็หมดถึงเวลาก็ไม่มีเงินไปใช้หนี้กองทุนทั้งดอกทั้งต้น ลุงบอกว่าถูกคณะกรรมการกองทุนทวงถามเกือบทุกวัน บางครั้งก็ถูกว่า เสีย ๆ หาย ๆ อับอายผู้คนจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่


ลุงกลับมานั่งคิดก็ว่าลุงฉลาดหรือโง่ที่ตัดสินใจกู้เงินกองทุน แล้วลุงจะมีโอกาสกลับมาเป็นคนไม่มีหนี้ได้อีกหรือไม่ เพราะวันนี้มันท้อแท้หมดแรงไม่มีกำลังใจจะต่อสู้อีกแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าสนใจเพราะคงไม่ใช่ลุงคนนี้คนเดียว แต่คงมีอีกหลายกรณีที่คล้ายกัน ผู้เขียนและลุงก็ไม่สามารถบอกได้ว่า เงินที่รัฐให้มานั้นมันเป็นเงินที่มาจากฟ้าหรือมาจากนรกกันแน่


เพราะมองแล้วก็เหมือนมีพระคุณ เงิน 60,000 กว่าล้านบาทที่รัฐทุ่มลงมาให้ชุมชน จะว่ามากก็มาก แต่ถ้าเปรียบกับโครงการใหญ่ ๆ ของรัฐ เงินนี้ก็ดูไม่มากนัก