Skip to main content

"มติชน" ที่เป็น "อิสสรชน"

คอลัมน์/ชุมชน

                      

                      

 


 


"หนังสือพิมพ์จะบำเพ็ญหน้าที่ของตนได้มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความเป็นอิสระที่หนังสือพิมพ์นั้นมีอยู่ ถ้าหนังสือพิมพ์ขาดความเป็นอิสระแล้ว ก็อย่าได้อวดอ้างไปเลยว่า เราจะบำเพ็ญหน้าที่ของเราโดยเต็มที่ เว้นแต่เมื่อเราพูดเช่นนั้น เราจะหมายความเช่นเดียวกับคนที่เจ็บใกล้จะตายพูดออกมาว่า เขาจะต่อสู้กับความตายโดยเต็มที่ คือเต็มกำลังของร่างที่มีแต่โครงกระดูกและความเจ็บปวดทรมานอย่างสุดที่จะต่อสู้ได้"


                                                                                    กุหลาบ  สายประดิษฐ์


 


1


14 กันยายน 2548 …ถนนราชดำเนิน


สายฝนที่พรั่งพรูลงมาบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่หยุดมาวันเต็มๆ แล้ว


 


ผมยืนมองสายฝนเงียบๆ ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งเด่นเป็นสง่าท่ามกลางสายฝน


บรรยากาศแบบนี้ทำให้นึกถึงอดีต


อดีตที่บอกผมว่า…บางครั้ง การเดินทางก็สอนอะไรหลายอย่าง


ผู้ด้อยประสบการณ์อย่างผมพบว่า คนเรามีการเดินทางอยู่สองแบบ


แบบหนึ่ง คือเดินทางในตัวตน


อีกแบบหนึ่ง คือการเดินทางผ่านการประจักษ์แล้วผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากความคิดที่ตกผลึก


 


ปีกว่าแล้ว…ผมได้เข้ามาทำอาชีพที่คนทั่วไปเรียกกันเล่นๆ ว่า "นกน้อยในไร่ส้ม"


ชื่ออย่างเป็นทางการคือ "สื่อมวลชน"


 


 "สื่อมวลชน" ที่หากแปลตามพจนานุกรมประสบการณ์ชีวิตของนักข่าวผู้รักความเป็นธรรมหลายคน


เขาบอกผมว่านี่คือ "สุนัขเฝ้าบ้าน" ที่คอยจะเห่าหอนบอกเจ้าของบ้านเมื่อมีกลุ่มโจรหรือคนแปลกหน้าล่วงล้ำอาณาบริเวณ


 


 "สื่อมวลชนพัฒนาการขึ้นมาตั้งแต่หมอบรัดเลย์นำแท่นพิมพ์เข้ามาในสยาม จนได้พิมพ์…"บางกอกรีคอร์เดอร์"  ออกมาเป็นหนังสือพิมพ์ยุคแรกๆ เมื่อราวรัชกาลที่ 3-4


ครั้งนั้นถือเป็นรุ่งอรุณของคนทำสื่อสิ่งพิมพ์


 


ก่อนที่ "สื่อมวลชน" โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์จะได้รับการวางรากฐานด้วยความตั้งใจและแน่วแน่จากคนรุ่นแรกๆ อย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 7


ด้วยภูมิปัญญา


ด้วยน้ำพักน้ำแรง


และบางครั้ง…ด้วยชีวิต


 


2


พ.ศ. 2474 …


 "กุหลาบ สายประดิษฐ์" นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้บุกเบิกและวางรากฐานวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในบรรณพิภพสยาม อาจหาญเขียนบทความ "มนุษยภาพ" ด้วยเชื่อว่า  "ความจริงคือความซื่อตรง ความซื่อตรงคือความจริง"


 


เมื่อเชื่อดังนั้น "มนุษยภาพ" บทความวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างถึงแก่นด้วยหลักวิชาการและเหตุผลจึงถูกตีพิมพ์ลง "ไทยใหม่" รายวันโดยไม่ลังเล


 


แน่นอน…กุหลาบรู้ดีว่าหลังจากบทความนี้เผยแพร่ไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น


พ.ศ.2474 สยามไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" หรือรู้จักคำว่า "อำนาจเป็นของปวงชน" แต่อย่างใด


 


ครั้งนั้นสยามไม่มี "ตลาดหุ้นตลาดเงินของพวกแมลงเม่า ของพวกนายทุนที่เอาเงินเข้ามาเก็งกำไร และถึงที่สุด "ทำนาบนหลังคน" เมื่อลุพุทธศักราช 2548 โดยนักการเมืองน้ำเน่าในระบอบทุนนิยมทักษิณซึ่งเอากิจการไฟฟ้า ประปา มาแปรรูปเข้าตลาดหุ้น โดยอ้างว่าประชาชนจะได้ถือหุ้น ได้ร่วมเป็นเจ้าของ (ทั้งที่ความจริงก็มีอยู่ไม่กี่ตระกูล) แล้วขอแบ่งกำไรซึ่งควรจะตกเป็นของแผ่นดินไปจากการถือหุ้น


 


ครั้งนั้น…สยามไม่มีตลาดหุ้น แต่การร่วมทุนในธุรกิจนั้นมีอยู่


บทความที่วิจารณ์ผู้ถืออำนาจซึ่งตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่" ถูกสั่งระงับหลังตีพิมพ์ รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตัดสินใจแทรกแซงสื่อด้วยการส่ง "หลวงวิจิตรวาทการ" (ซึ่งต่อมาเป็นมือขวาของจอมพลป.ในการสร้างประวัติศาสตร์และนโยบายชาตินิยมต่างๆ) เข้ามา "ถือหุ้น" และ "เบี่ยงเบนนโยบายของหนังสือพิมพ์…"


 


กุหลาบ และคณะ "สุภาพบุรุษ" ตัดสินใจตั้งรับสถานการณ์ในครั้งนั้นด้วยการ "ลาออก"


ลาออก…ดีกว่าจะให้นายทุนมาสั่งซ้ายหันขวาหัน


 


"ลาออก" ในแบบที่สุภา ศิริมานนท์ ได้บรรยายถึงสภาพของท่านและคณะสุภาพบุรุษไว้ว่า


"การลาออกไปครั้งนั้น ถ้าจะกล่าวตามภาษาที่เรียกกันในยุคต่อมาก็คือ ยกคณะตบเท้าออก เป็นการยกคณะออกที่มีชื่อโด่งดังมากเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยทีเดียว…ยกคณะออกมา ไม่ใช่ว่ามีสตางค์เต็มกระเป๋า หากเป็นการลาออกมาด้วยความทระนงของคนหนุ่มผู้ยึดมั่นในความเป็นธรรมแห่งสังคม ชิงชังในความเอาเปรียบของฝ่ายเจ้าของทุน และรังเกียจในความจุ้นจ้านไม่เข้าเรื่องของตัวแทนฝ่ายเจ้าของทุน ปรากฏว่าคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และเพื่อนร่วมคณะเกือบทุกคนตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า "ถังแตก" เราดีๆ นี่เอง จะกินเข้าไปก็แทบจะไม่มี"


 


กุหลาบ…นักหนังสือพิมพ์หนุ่มตัดสินใจหลังเหตุการณ์นี้ว่า จะทำหน้าที่ของ "สื่อ" ต่อไป


เขาตัดสินใจส่งบทความ เขียนนิยายไปลงในหนังสือพิมพ์บางฉบับเพื่อเลี้ยงชีวิต


และตัดสินใจส่ง "มนุษยภาพ" ที่ได้รับการปรับปรุงเล็กน้อยลงในหนังสือพิมพ์ "ศรีกรุง" เพื่อยืนยันว่า


"ความจริงคือความซื่อตรง ความซื่อตรงคือความจริง"


 


ครั้งนั้น…บทความที่ลงเพียง 3 ตอน มี "ความจริง" มากมาย


มากมายเสียจนทำให้หนังสือพิมพ์ "ศรีกรุง" ถูกสั่งปิด และแท่นพิมพ์ "ถูกล่ามโซ่"


แต่ให้หลังไม่กี่ปี "คณะราษฎร" (ซึ่งไม่เคยถูกบรรจุในแบบเรียนมากไปกว่าเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยไม่ระบุความเป็นมา) ก็ได้ก่อการอภิวัฒน์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น


 


"ประชาธิปไตย" และ "สิทธิ" ที่พวกเราได้เรียนรู้ กันทุกวันนี้


"วิชาการ" ซึ่งเป็นของต้องห้ามเฉพาะชั้นเจ้าในมหาวิทยาลัยสมัยก่อน จึงได้วัฒนาสถาวรลงในมหาวิทยาลัยสำหรับประชาชนที่ก่อตั้งติดตามกันมาหลายแห่งอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน


 


3


14 กันยายน 2548 …ปีนี้ครบรอบ 100 ปีชาตกาลของกุหลาบ สายประดิษฐ์


สายฝนที่พรั่งพรูลงมาบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่หยุดมาวันเต็มๆ แล้ว…


 


หนังสือพิมพ์ทุกฉบับบนแผงหนังสือราวกับจะนัดกันพาดหัวข่าว


"แกรมมี่ฮุบมติชน-โพสต์"  (ผู้จัดการรายวัน)


"อากู๋ ประกาศยึดสื่อครบวงจร" (กรุงเทพธุรกิจ)


 "โพลล์ชี้คนค้าน"อากู๋"ซื้อหุ้นมติชน-โพสต์" (คมชัดลึก)


 


 เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาข่าวการเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทมติชน ซึ่งเป็นเจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์รายวัน รายเดือน และรายสัปดาห์ รวมไปถึงหนังสือพิมพ์อย่าง โพสต์ ทูเดย์ นั้นได้ขึ้นมาดังกลบกระแสข่าวอื่นๆ ไปซะสนิท


 


 "มันเหมือนกับการที่สื่อโดนเอามีดมาจ่อคอหอย"


เพื่อนผมคนหนึ่งกล่าวขึ้นมา ขณะที่เรากำลังสนทนาเรื่องนี้กันด้วยความกังวล เพราะรู้ดีว่ากลุ่มทุนชื่อ "แกรมมี่" ซึ่งทำงานในเรื่องวงการเพลง วงการบันเทิงมาตลอดนั้น เข้ามาซื้อกิจการสิ่งพิมพ์ซึ่งค่อนข้างเล่นเรื่องหนักๆ อย่างมติชนไปเพื่ออะไร และคนทำข่าวอย่างเราคาดเดากันได้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง


 


บางครั้ง การทำงานก็เหมือนกับการเดินทางในชีวิต


การทำงานในแวดวงสื่อไม่นานบอกผมว่า…


บ้านเรามี "สื่อมวลชน" ไร้จรรยาบรรณ…อยู่จริง


เป็น "สื่อมวลชน" ที่จ้องแต่จะเอาจำนวนคนอ่านอย่างเดียว โดยไม่ได้ดูว่าสิ่งที่ตนเองเขียนออกไปนั้นถูกหลักจรรยาบรรณและจรรโลงจิตใจผู้คนและสังคมหรือไม่…อยู่จริง


 


บ้านเรามี "สื่อมวลชน" ที่เป็นดั่งกาฝากวงการ รับเงินใต้โต๊ะอย่างหน้าด้านๆ โดยไม่มีความละอายใจอยู่จริง


บ้านเรามี "สื่อมวลชน" ที่มีถือสาก ปากถือศีล…อยู่จริง


และบ้านเรามีสื่อมวลชนที่มี "จรรยาบรรณ" …อยู่จริง


ซึ่งพวกเขาถือเป็นจำนวนน้อยของวงการ หากแต่ทรงคุณค่ายิ่งนัก


 


การที่มติชนใช้พาดหัวหน้าหนึ่งในวันนี้ (14 ก.ย.) ออกมาว่า "เครือมติชน"ย้ำปณิธาน ดำรง"อิสระ" เป็นกลาง-ยึดความถูกต้อง"


อย่างน้อยหากนี่เป็นเกมการเมืองจริง… "มติชน" กำลังบอกบางสิ่งกับคนอ่านมติชน


 


คนอ่านมติชน…ซึ่งวันนี้สร้างมิติใหม่ขึ้นมาคือ มีการรวมตัวต่อต้านการเทกโอเวอร์ของกลุ่มทุนบันเทิงที่มีเบื้องหลังอย่างแกรมมี่เพื่อ "มติชน" หนังสือพิมพ์ที่พวกเขารู้จักว่านำเสนอข่าวอย่างมีคุณภาพ


 


ลองคิดดูว่า ในฐานะคนทำสื่อจะน่าภูมิใจขนาดไหน เพราะสิ่งที่มติชนทำมาตลอด 30 ปีจนถึงวันนี้ได้ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมที่มีค่ายิ่งกว่าตัวเงิน…


สิ่งนั้นคือ "พลังผู้อ่าน"


ถ้าหนังสือพิมพ์เป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ซื่อสัตย์ เจ้านายย่อมเห็นความดีและปกป้องมันเช่นกัน


 


* * * *


 


14 กันยายน 2548 …ปีนี้ครบรอบ 100 ปีชาตกาลของกุหลาบ สายประดิษฐ์


"หนังสือพิมพ์จะบำเพ็ญหน้าที่ของตนได้มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความเป็นอิสระที่หนังสือพิมพ์นั้นมีอยู่ ถ้าหนังสือพิมพ์ขาดความเป็นอิสระแล้ว ก็อย่าได้อวดอ้างไปเลยว่า เราจะบำเพ็ญหน้าที่ของเราโดยเต็มที่ เว้นแต่เมื่อเราพูดเช่นนั้น เราจะหมายความเช่นเดียวกับคนที่เจ็บใกล้จะตายพูดออกมาว่า เขาจะต่อสู้กับความตายโดยเต็มที่ คือเต็มกำลังของร่างที่มีแต่โครงกระดูกและความเจ็บปวดทรมานอย่างสุดที่จะต่อสู้ได้"


                                                                                    กุหลาบ  สายประดิษฐ์


 


ด้วยกำลังใจจากเสียงเล็กๆ เสียงหนึ่ง…


แด่นักข่าว "มติชน" ที่ขณะนี้กำลังต่อสู้เพื่อรักษาความเป็น "อิสสรชน" ครับ


 


เอกสารประกอบการเขียน



  • คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา รำลึก 100 ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์.หนังสือที่ระลึกเนื่องในวันครบรอบ 100 ปีชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ 2548.