Skip to main content

จากสบยอนถึงศาลปกครองสูงสุด เส้นทางสายประวัติศาสตร์คดีสัญชาติแม่อาย

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


คุณจันทราภา นนทวาสี ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานให้ สว.เตือนใจ  ดีเทศน์ รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหา สิทธิและสถานะบุคคล รวมทั้งกรณีชาวแม่อายที่ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนราษฎรตั้งแต่ต้น ทั้งในนาม ผู้ช่วยของ สว.เตือนใจ และในนามมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)


 


เธอได้ทำงานลงลึกร่วมกับพี่น้องชาวแม่อายจนผูกพันกันดุจญาติสนิท เมื่อ "ญาติของเธอ" มีชัยชนะโดยคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แสดงให้เห็นว่า แผ่นดินไทยยังมีความเป็นธรรม มีความหวัง เธอจึงเขียนบทความนี้ ด้วยความศรัทธาและปลื้มปิติในขบวนการต่อสู้ของชาวแม่อาย เชิญท่านอ่าน ณ บัดนี้ค่ะ


 


"ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย


เป็นประชารัฐ ผไทของไทยทุกส่วน


อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล


ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี


ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด


เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่


สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี


เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ไชโย"


 


เพลงชาติไทยที่กระหึ่มอยู่หน้าศาลปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2548 เป็นเพลงชาติที่ไพเราะที่สุด ตั้งแตู่้เขียนจำความได้ ไม่ใช่เพราะเพลงถขับร้องโดยนักร้องมืออาชีพที่เสียงดีที่สุด หากแต่เป็นเสียงประสานจากพี่น้องชาวแม่อายร่วมห้าร้อยชีวิต ที่เดินทางมาด้วยการเหมารถโดยสารประจำทางขนาดใหญ่ถึง 3 คัน และรถยนต์ส่วนตัวอีก 10 คัน


 


นับเป็นเวลาสามปีเศษ ตั้งแต่วันที่ชาวบ้าน 1,243 รายในอำเภอแม่อาย รู้ว่าชื่อของตนถูกถอนออกจากทะเบียนราษฎร (ทร.14) สิทธิพื้นฐานของชีวิตถูกล่วงละเมิด เปลี่ยนจากคนไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชนและมีทะเบียนบ้าน กลับกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ชื่อถูกจำหน่ายให้เป็นคนที่มีชื่อใน ทร. 13 คือมีสิทธิอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว


 


สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบกับสิทธิอื่น ๆ มากมาย อาทิ บุคคลที่รับราชการอยู่ ต้องให้ออกจากหน้าที่ไว้ก่อน คนที่กู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ต้องรีบหาเงินมาชดใช้หนี้สินทั้งหมด เด็กนักเรียนที่เคยได้รับทุนถูกตัดสิทธิ์และหาเงินที่กู้ยืมเรียนไปแล้วกลับมาคืน คนเฒ่าคนแก่ตรอมใจและ เป็นห่วงลูกหลานจนล้มหมอนนอนเสื่อ กระทั่งเสียชีวิตไปเลยก็มี  ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถูกนำเสนอตามสื่อเป็น ระยะ


 


ความเดือดร้อนทั้งมวล ส่งผลให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง ลุกขึ้นรวมตัวกันเป็นแกนนำ จัดตั้ง "กลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย" ทำหน้าที่ในการเรียกร้องสิทธิที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา


 


การทำงานของกลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย ในเบื้องต้นขับเคลื่อนไปตามธรรมชาติของผู้คนที่ต้องเผชิญ ชะตากรรมเดียวกัน มีการชุมนุม รวมตัวกันเพื่อออกเดินทางไปร้องเรียนตามที่ต่าง ๆ แกนนำและชาวบ้าน หลายคนคลั่งแค้น คิดหาวิธีการที่รุนแรงเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อาศัยว่าที่ปรึกษาคนสำคัญของกลุ่ม คือ ท่านมหานิคม มหาภินิกฺขมโน พระสงฆ์ที่อดีตครอบครัวของท่านเป็นผู้เรียกร้องสัญชาติไทยนานถึง ยี่สิบกว่าปี คอยโน้มนำจิตใจของชาวบ้านที่เดือดร้อนด้วยหลักธรรมะและสันติวิธี


 


การดำเนินงานในระยะต่อมา จึงเริ่มมีกระบวนการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ติดต่อประสานงาน อย่างเป็นระบบ ทำให้ความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานหลั่งไหลเข้าสู่กลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย นับตั้งแต่ สภาทนายความแห่งประเทศไทย ช่วยในเรื่องคดีความ การฟ้องศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยในการสนับสนุนและจัดตั้งคณะทำงานเพื่อสืบค้นข้อเท็จจริง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยพายัพ ช่วยเสริมความรู้ทางกฎหมายสัญชาติ อบรมชาวบ้านให้สามารถรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อเท็จจริงของตนเองและชุมชน


 


คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (ชุด แรกที่ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน) ได้ตรวจสอบการทำงานของอำเภอแม่อายและกรมการปกครอง เรื่อยไปจนถึงรองอธิบดีกรมการปกครองใน ยุคปี พ.ศ.2546 (รองฯปริญญา อุดมทรัพย์) ที่มีส่วนสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดคณะทำงานพิสูจน์สถานะ ของพี่น้องแม่อายทั้ง 1,243 ราย แล้วนำผลมาพิจารณา ร่วมกันในที่ประชุม


 


ผู้เขียนเอง เริ่มต้นงานสถานะบุคคลจริงจังจากกรณีของแม่อาย ซึ่งได้ร่วมงานกับญาติมิตรจาก หลายองค์กรหลายรุ่น ตั้งแต่น้อง ๆ เช่น คุณชุติ งามอุรุเลิศ คุณสรินยา กิจประยูร จากศูนย์คาทอลิก พระจิตเจ้า อาจารย์วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล   อาจารย์สิทธิพร  ภู่นริศ จากมหาวิทยาลัยพายัพ   คุณณัฐพล สิงห์เถื่อน จากมูลนิธิกระจกเงา เรื่อยไปจนถึงรุ่นพี่ ผู้หลักผู้ใหญ่ และอาจารย์ที่มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ใหญ่โตแต่มารวมกันเพื่อเป้าหมายบรรเทาทุกข์ให้กับชาวบ้าน ได้แก่ คุณมานะ งามเนตร จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณวิบูลย์ เชื้อชุมพล จากสภาทนายความ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   อาจารย์จรัล ดิษฐาภิชัย และคุณหญิงอัมพร มีสุข คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  และท่านอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่อาจเอ่ยนามได้จนครบ


 


ปัจจัยสำคัญที่สุดของการต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีของกลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย คือ ตัวของชาวบ้าน ทั้งผู้ที่ถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียนราษฎรเอง ญาติพี่น้องใกล้ชิดที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกจำหน่าย รวมไปถึงกลุ่ม คนในชุมชนบางส่วนที่ไม่ถูกจำหน่ายชื่อ แต่ยินยอมพร้อมใจเป็นแกนนำของกลุ่ม ทุกคนต่างร่วมมือร่วมใจ เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยดี


 


การต่อสู้เพื่อสิทธิอันพึงมีของกลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย เริ่มมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนไร้สัญชาติในพื้นที่อื่น ๆ มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันความทุกข์แก่กันและกันหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เกิดการ ถ่ายเทกระบวนการทำงาน สร้างกำลังใจแก่อีกหลายกลุ่มที่เคยคิดว่าตนเองตกอยู่สภาพที่ย่ำแย่


 


ดังนั้น กลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย นอกเหนือจากเป็นความหวังของชาวบ้านทั้งหมดที่ถูกจำหน่ายชื่อ ยังเป็นเสมือนเวทีแห่งการเรียนรู้ร่วมกันของชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่เข้าไปเกี่ยวข้อง และยัง เป็นแหล่งผลิตผู้กล้า ที่เรียกกันว่า "สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ" หลายคน


 


ประเสริฐ กายทวน หรือหนานปั๋น อดีตนักบิณ (ฑบาตร) แกนนำหนุ่มอายุ 30 เศษ คือ หนึ่งใน จำนวนผู้กล้าขึ้นมาเป็นแกนนำทั้งที่วัยวุฒิยังไม่มากนัก หนานปั๋นต้องผันตัวเองจากงานครูสอนพระและเณรที่โรงเรียนวัดท่าตอน มาเป็นหัวขบวน ร่วมศึกษากฎหมายสัญชาติ เริ่มบทเรียนการร้องเรียน จัดทำข้อมูล ข้อเท็จจริงของตนเองและผู้คนเป็นพันที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน


 


                                                    


                                                              


 


หลายครั้งหลายหนที่ต้องทำงานเก็บข้อมูลอย่างหนัก เดินทางใกล้ไกล ควักกระเป๋าตัวเองเป็นค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนความสุ่มเสี่ยงกับอาชีพที่สั่นคลอนและการขาดงานบ่อยครั้ง รวมไปถึงสุขภาพที่มีปัญหาทุกครั้งกับการเดินทางสู่เมืองหลวงเพื่อชี้แจงและทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


 


ประกายความหวังของหนานปั๋น เรืองรองขึ้น เมื่อผู้แทนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เลือกกรณีศึกษาของเขาขึ้นมาเป็น 1 ใน 6 กรณี เพื่อเสนอให้กับที่ประชุมของกรมการปกครอง และระบุชัดถึงการยอมรับความเป็นไทยของตัวเขา แต่หนานปั๋นก็ต้องผิดหวัง เมื่อกรมการปกครองไม่ได้หยิบยกเอาคำรับรองของทีมงานที่ประทับตรากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อให้ชื่อของเขากลับคืนสู่ทะเบียนราษฎรตามเดิม


 


แม้กระนั้น ชีวิตของหนานปั๋นก็ยังดำเนินต่อไปตามปกติ สิ่งที่ทำให้หัวใจชุ่มชื่นขึ้นมา ก็เห็นจะเป็น การได้แต่งงานกับหญิงที่หมายปองมานาน หนานปั๋นพูดติดตลกว่า "ถ้าไม่โดนถอนสัญชาติและตกอยู่ใน สภาวะปัญหาเหมือนกัน แม่ของเขาก็คงไม่ยอมให้เขาแต่งงานกับผมหรอก"


 


ความเจ็บปวดตอกย้ำจิตใจหนานปั๋นอีกครั้ง เมื่อแกนนำที่ร่วมต่อสู้กันมาส่วนหนึ่งได้สัญชาติไทยคืนมาจากการพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (DNA) ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิความเป็นคนไทยคืนมา 127 คน ขณะที่ตัวเขาเองเสมือนไร้ความหวังเพราะไม่มีญาติผู้ใหญ่ที่สามารถเจาะเลือดพิสูจน์ได้ มีเพียงพยานบุคคลซึ่งทางอำเภอแม่อายไม่ยอมรับ


 


หนานปั๋นยินดีกับพี่น้องที่ได้คืนสัญชาติ แต่ยังคงต่อสู้ร่วมกับอีกพันกว่าคนที่เหลือ นับจากวันแรก ที่รับรู้ว่าตนเองกลายเป็นคนไร้สัญชาติ และผ่านการบ่มเพาะ ขัดเกลาประสบการณ์ด้วยการทำงานเป็น แกนนำกลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย คนที่เคยรู้จักและเฝ้าดูเขา ต่างแปลกใจในพัฒนาการของหนุ่มฉกรรจ์ที่ ใช้ชีวิตเป็นครูสอนพระไปวัน ๆ พูดจาติดตลก อารมณ์ร้อน กลายเป็นคนเฉลียวฉลาด พูดฉะฉาน รอบคอบ ในทางความคิด มีความเยือกเย็น สงบทั้งในแววตาและอารมณ์


 


ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มผู้ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฎรของชาวแม่อาย จำนวน 866 คน มาถึงจุดสำคัญที่สุด คือการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง และได้รับชัยชนะในศาลชั้นต้น เมื่อปี พ.ศ. 2547 แต่กรมการปกครองได้ยื่นอุธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว ส่งผลให้การดำเนินการของกลุ่มสิทธิชุมชน ในช่วงปีที่สามค่อนข้างยากลำบากกว่าเดิมมาก  ความกระตือรือร้นของชาวบ้านที่เคยร่วมมือกันอย่าง แข็งขันแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด แกนนำที่เคยร่วมคิดในทิศทางเดียวอย่างเข้มแข็ง เริ่มมีแนวคิดที่แตกต่าง อำเภอ แม่อายไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติมจากผู้ที่ชื่อกลับคืนสู่ทะเบียน 127 คน


 


แกนนำของกลุ่มสิทธิชุมชนชะลอการทำงาน และเฝ้านับวันเวลาฟังคำพิพากษาจากศาลปกครอง สูงสุด ซึ่งเป็นเหมือนที่พึ่งสุดท้ายของชีวิต กระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2548 การอ่านคำพิพากษา ต่อหน้าชาวบ้านและพยานผู้สนับสนุนมากกว่าห้าร้อยคน ตั้งแต่ 14.00 น. กินเวลาเกือบสี่สิบนาที


การรอคอยสิ้นสุดลง พร้อมด้วยหยาดน้ำตาแห่งความมีชัยของชาวบ้าน เสียงพึมพำสรรเสริญขอบคุณ ความยุติธรรมที่พวกเขาได้รับ    เสียงไชโยโห่ร้องดังขึ้น  พร้อมเพลงชาติไทยที่ทำให้ผู้ฟังขนลุกเกรียวไป ตาม ๆ กัน


 


 


                                                      


                                                     


 


คดีชาวแม่อาย 1,243 คน ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนราษฎร นับเป็นคดีสัญชาติที่เป็น ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่หัวใจยิ่งใหญ่


 


ตลอดแนวตะเข็บชายแดนของประเทศ  ยังมี เรื่องราวของคนไร้สัญชาติอีกมากมาย ที่สามารถถอดบทเรียนการทำงานของกลุ่มสิทธิชุมชนแม่อายเพื่อเป็นกำลังใจและเป็นแนวทางในการต่อสู้ ด้วยหลักสันติวิธีและนิติธรรม วันเวลาแห่งชัยชนะคงมาถึงในไม่ช้า แล้ววันเหล่านั้น พวกเราก็คงจะได้ฟัง เสียงร้องเพลงชาติไทยที่ไพเราะ เหมือนที่ชาวบ้านแม่อายร้องหน้าศาลปกครองดังกึกก้อง ตลอดแนวตะเข็บ ชายแดนแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยความภาคภูมิใจที่เขาสามารถทำหน้าที่ และมีสิทธิความเป็นพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์


 


ขอขอบคุณ กลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย  เอื้อเฟื้อภาพประกอบ