Skip to main content

ปฎิรูประบบราชการ


 


 


สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานผลการพัฒนาระบบราชการประจำปีแก่วุฒิสภา โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ( ก.พ.ร.)


 


ในการรายงานได้มี รองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองาม มาชี้แจงและตอบข้อซักถามและมารับฟังปัญหาของการปฎิรูประบบราชการจากสมาชิกวุฒิสภา


 


คงจำกันได้ว่า รัฐบาลได้มีนโยบายในการปฏิรูประบบราชการ หรือพัฒนาระบบราชการตั้งแต่กันยายน ๒๕๔๖ โดยได้ตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่ ๖ กระทรวงด้วยกันคือ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  กระทรวงพลังงาน  และกระทรวงวัฒนธรรม และได้ยุบทบวงมหาวิทยาลัยจาก ๑๕ กระทรวง เป็น ๒๐ กระทรวง จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า ทำให้มีตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการมากขึ้น  แต่ไม่ปรับปรุงคุณภาพของงาน


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีแรกของการปฏิรูป ถือว่ามีความสับสน และประชาชนได้รับความเดือนร้อน เพราะไม่เข้าใจอำนาจหน้าที่  และข้าราชการเองก็ต้องปรับสภาพการทำงาน เพราะต้องย้ายสังกัด  และมีปัญหาเรื่องการแบ่งหน้าที่การงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ เพราะได้มีการยุบหน่วยงานในเขตอำเภอไป เช่น เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ  และอื่นๆ จนทำให้การเดินทางไปติดต่อในต่างจังหวัดทำได้ยาก เพราะหน่วยงานที่ยุบไปอยู่ที่จังหวัด


 


ในต่างจังหวัด เขตอำเภอส่วนใหญ่ห่างไกลจากศาลากลางมาก บางแห่งเป็นร้อยกิโลเมตรซึ่งสมาชิกวุฒิสภาได้ร้องเรียนปัญหาเหล่านี้ให้กับรัฐบาลทราบมาเป็นลำดับ  และได้มีการแก้ไข โดยดึงหน่วยงานที่จำเป็นกลับคืนมา  และให้มีหน่วยบริการเคลื่อนที่ไปให้บริการ


 


คำชี้แจงที่ได้รับในวุฒิสภาก็คือ รัฐบาลเน้นเรื่องการประเมินผลงานของข้าราชการ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องวัดผลงานได้ และไม่ได้เพิ่มคนมากขึ้น ถึงแม้ว่ากระทรวงจะเพิ่มขึ้น แต่ข้าราชการยังคงเท่าเดิม  เน้นกระจายคนไปให้ถูกต้องกับงาน  โดยปัจจุบันมีข้าราชการทั้งประเทศประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คน


        


สรุปเป็นข้อสังเกตที่วุฒิสภาเห็นตรงกับรัฐบาล โดยสิ่งที่ต้องแก้ไข คือ


        ๑.การปฏิรูปราชการในปีแรก เน้นการปฏิรูปโครงสร้างมากเกินไป 


        ๒.การปฏิรูปราชการทำคนละเวลากับการกระจายอำนาจ  ทำให้เกิดความสับสน โดยมีแนวความคิดการปฏิรูปหลายหน่วยงาน  เช่น ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปการศึกษา


 การทำงานสับสนวุ่นวายในช่วงแรกของการเสนอกฎหมาย


        ๓.การปฏิรูปเน้นการบริหารส่วนกลางมากเกินไป ละเลยการปกครองส่วนท้องถิ่น


 


ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เน้นเรื่องของผู้ว่าซีอีโอ ซึ่งประชาชนเข้าใจว่าผู้ว่ามีอำนาจมหาศาล และคาดหวังสูง จนทำให้ผิดหวังเมื่อแก้ไขปัญหาไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับอำนาจผู้ว่าให้มีอำนาจเหมือนที่ประชาชนต้องการ


       


ก็ต้องเรียนว่าขณะนี้ท่านผู้ว่าราชการทั้งประเทศจะต้องประเมินผลงาน ดังนี้


๑. ให้ตัวเองประเมิน


๒.ให้รองนายกรัฐมนตรี รับงานให้ผู้ดูแลพื้นที่เป็นผู้ประเมิน


๓. จ้างบริษัทเอกชนประเมิน


๔. ประชาชนในจังหวัดประเมิน


๕ .กระทรวงมหาดไทยประเมิน


 


ก็เป็นการประเมินที่ต้องถ่วงดุลย์ และมีมาตรการในการวัตผลงานอย่างชัดเจน ตรวจสอบได้  ซึ่งที่ประชุมก็ได้ให้การรับทราบรายงาน พร้อมเสนอแนะอุปสรรคปัญหา เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขต่อไป