Skip to main content

มันถูกต้องแล้วจริง ๆ หรือ

คอลัมน์/ชุมชน

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ขอแก้ข่าวคราวที่แล้วหน่อยนะ ที่เขียนมาว่าชาวบ้านถูกหลอก คือจริง ๆ แล้วอาจไม่ได้ถูกหลอกทั้งหมดก็ได้ เพราะแม้จะชวนไปประท้วงรัฐบาล แต่กลับพาไปงานรากหญ้าก็ตาม และแม้จะไปผิดงานแต่ชาวบ้านก็ได้รับการช่วยเหลือเรื่องหนี้สินจริง ๆ อย่างที่ผู้ชักชวนบอกไว้ เพราะวันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 ที่ผ่านมา (งานรากหญ้าและใกล้เลือกตั้งพอดี) รัฐบาลก็อนุมัติกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรพอดีเหมือนกัน


กองทุนนี้เป็นกองทุนที่ช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง เบื้องต้นก็คือรับแบบจดทะเบียนหนี้สินของเกษตรกรที่มีอยู่กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งของรัฐและของเอกชน โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากการสนับสนุนจากภาครัฐ (ความล้มเหลวในการบริหารจัดการอาชีพให้เกษตรกรของรัฐ) และลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง จะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ยกเว้นหนี้นอกระบบ และหนี้กองทุนหมู่บ้าน เมื่อทุกคนขึ้นทะเบียนหนี้สินตามแบบฟอร์มที่กองทุนกำหนดมาเรียบร้อยแล้ว


ขั้นตอนต่อไปจะมีการโอนหนี้ทั้งหมดไปอยู่กับกองทุนฯ เกษตรกรผู้เป็นหนี้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ในระยะยาวถึง 25 ปี ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำมาก จากนั้นก็จะให้กลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของกองทุนทำโครงการเพื่อขอกู้เงินมาประกอบอาชีพ (ตรงที่จะได้กู้เงินนี่ละที่ชาวบ้านตื่นเต้นที่สุด) เพื่อฟื้นฟูให้ชาวบ้านสามารถมีรายได้พอเพียงในการดำรงชีวิตและมีเงินชำระหนี้กองทุน


ผลที่ตามมา คือชาวบ้านแตกตื่นกันทั่วสารทิศทั้งผู้ที่ไปร่วมงานรากหญ้า และที่ไม่ไปร่วม ไม่เป็นอันทำมาหากิน ต่างวิ่งเช็ครายชื่อของตนเองกันให้วุ่น เพื่อให้ทราบว่าตนเองมีชื่อเป็นสมาชิกเกษตรกรกลุ่มไหน (ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรไม่ได้รับการช่วยเหลือ) ที่มีชื่อแล้วต้องดิ้นรนไปขึ้นทะเบียนหนี้สิน ผู้ที่ยังไม่มีกลุ่มสังกัด ก็วิ่งไปสมัครกันให้วุ่นวายไปหมด มองแล้วน่าเวียนหัว และน่าสงสารชาวบ้านที่ยากไร้ ไม่มีที่พึ่งพอเห็นท่อนไม้ลอยมา ต่างก็แย่งยื้อกันเข้าไปเกาะโดยไม่รู้ว่าไม้ที่ลอยมาจะส่งผลกระทบในด้านบวกหรือด้านลบอะไรบ้างหรือเปล่าในอนาคต


วัน ๆ ไม่เป็นอันคิดทำมาหากินอะไร เที่ยวได้เสาะหาว่ารัฐจะช่วยอะไรบ้าง บางรายพอมีเงินที่จะชำระหนี้ได้ตามกำหนดสัญญาที่ทำไว้กับสถาบันการเงินที่เป็นหนี้อยู่เดิมได้ ก็เบี้ยวเอาซะดื้อ ๆ (เรื่องอะไรจะชำระเอาเงินไปใช้อื่นก่อนดีกว่าเดี๋ยวเสียเปรียบคนอื่น) และที่แย่กว่านั้นคือมีการเรี่ยไรเงินสมาชิกลงขันกันเลี้ยงโต๊ะจีน เพื่อฉลองที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ (เงินใช้หนี้ไม่มีแต่มีเงินเลี้ยงฉลอง)


ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็แซ่ซ้องสรรเสริญพรรคไทยรักไทยว่า คือผู้มีพระคุณ และเป็นรัฐบาลที่ช่วยเหลือคนยากคนจนมากที่สุด (ชาวบ้านลืมไปว่าเงินที่นำมาช่วยคือเงินภาษีของเขาเองไม่ใช่เงินพรรคไทยรักไทย) หากมองในมุมที่ดีก็ดีเหมือนกันที่ชาวบ้านจะได้รับการช่วยเหลือ เพราะพวกเขาถูกทอดทิ้งและเอารัดเอาเปรียบมานานมากแล้ว ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนก็ควรได้รับความช่วยเหลือเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น


แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ซึ่งมุมมองนี้อาจจะถูกด่า ว่าชาวบ้านจะเอาอย่างไรกันแน่ ช่วยก็ว่า ไม่ช่วยก็ด่า แต่ถึงจะถูกด่า แต่ผู้เขียนก็ต้องเขียน เพราะต้องการแลกเปลี่ยนมุมมองในฐานะชาวบ้านคนหนึ่ง เพราะปัญหานี้มันก็เป็นปัญหาของส่วนรวมเหมือนกัน


การช่วยเหลือชาวบ้านเป็นเรื่องที่ดี แต่ในหลักของการช่วยเหลือมันน่าจะมีการบริหารจัดการที่ดีเหมือนกัน ไม่ใช่มุ่งจะปลดปล่อยหนี้ให้ชาวบ้านเพราะหวังฐานคะแนนอย่างเดียว ด้วยความเชื่อว่าจะสามารถทำให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากจนได้ แต่ในฐานะที่เป็นชาวบ้านที่มีชีวิตคลุกคลีอยู่กับชุมชนมาตลอด อยากจะบอกว่าหากคิดแก้ที่หนี้สินก็จะแก้กันไม่รู้จบ เพราะมันมีปัญหาซ่อนอยู่ข้างหลังที่มาของหนี้สินมากมาย และหากพูดถึงความยุติธรรมยิ่งไม่มีข้อยุติ เพราะชาวบ้านที่ไม่สร้างหนี้ หรือมีหนี้สิน แต่ขยันทำงานและมีความรับผิดชอบในหนี้สินของตนเอง ยอมลำบากเพื่อเก็บออมเงินไว้ใช้หนี้ กับคนที่เป็นหนี้แล้วก็ยังไม่ขยันไม่รับผิดชอบในหนี้สินของตนเอง เวลารัฐช่วยก็ช่วยคนที่มีหนี้สิน แล้วมันยุติธรรมกับคนที่ไม่สร้างหนี้ คนที่รู้จักพอเพียง อดออมและรู้จักประหยัดแล้วหรือไม่ เพราะภาษีที่นำมาชำระหนี้หรือโอนหนี้สินทั้งหมดเป็นภาษีของคนส่วนรวม และรวมถึงภาษีของชาวบ้านที่รู้จักอดออมด้วย


ผู้เขียนคิดว่า การช่วยเหลือด้วยการโอนหนี้สินต่าง ๆ ของชาวบ้านมาไว้กับกองทุน ไม่ใช่แนวทางแก้ไขความยากจนที่ถูกจุดซะทีเดียว ถ้าหากไม่มีการแก้ไข ลักษณะนิสัยและแนวทางการดำรงชีวิต ภาวะหนี้สินก็จะกลับมาหากลุ่มคนเหล่านี้อีก


ยกตัวอย่างเช่น มีชาวบ้าน 2 ครอบครัว ครอบครัวหนึ่งขยันขันแข็ง ตื่นแต่มืดออกไปทำมาหากิน เงินที่หาได้มาก็ใช้อย่างประหยัดและรู้จักอดออม ไม่พัวพันการพนัน ไม่เห่อเหิมกับวัตถุรอบตัว ไม่สร้างหนี้ ไม่ผ่อนเครื่องอำนวยความสะดวกจนเกินตัว จึงทำให้ไม่มีหนี้สิน กับอีกครอบครัวหนึ่งไม่ขยันเท่าที่ควร หามาได้เท่าไรก็ใช้หมด ไม่รู้จัดอดออม (ขาดช่องทางทางปัญญา) ไม่ว่าจะมีใครมาขาย มาผ่อนอะไร ก็ผ่อนหมดซ้ำยังติดการพนัน จนทำให้เป็นหนี้ล้นพ้นตัว แต่ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ใครอยากได้อะไรก็มายึดเอาไป ยึดไปแล้วก็ผ่อนมาใหม่ คนพวกนี้จะเป็นพวกที่มีหนี้สิน ถึงเวลาช่วยเหลือคนที่ได้รับความช่วยเหลือก็คือคนที่เป็นหนี้ (ทำไม่ดีแต่มีรางวัล)


แล้วคนที่เคยดิ้นรนช่วยเหลือตนเอง จะทำไปเพื่ออะไร ทีคนอื่นไม่เห็นต้องดิ้นรนอะไร เป็นหนี้รัฐก็ช่วยเหลือ เพราะถึงอย่างไรรัฐก็คงไม่ฟ้องให้รับโทษแน่ (เอ็งทำได้ข้าก็ทำได้) คนดี คนขยัน คนที่รู้จักรับผิดชอบ รู้จักพอเพียง จะหายไปจากสังคมเกษตรกรหรือไม่ เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก ก็เลยเขียนมาแลกเปลี่ยนว่า วิธีการช่วยเหลือแห่งรัฐภายใต้กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรในขณะนี้ตกลงมันถูกต้องแล้วจริง ๆ หรือ