Skip to main content

จิตเภท

คอลัมน์/ชุมชน

 


                                                  


                                          รูปประกอบจาก www.siamhealth.net


 


ดิฉันเคยมีเพื่อนร่วมงานเป็นโรคจิตเภท  ทำงานร่วมกันมาเป็นปีโดยไม่รู้ว่าเขาเป็นโรคนี้อยู่ ไม่มีการแสดงออกใดๆ เขาสามารถทำงานได้ปกติตามความรับผิดชอบที่ได้รับ มีเพียงวันหนึ่งที่เปลี่ยนไป  เขาหมกมุ่นอยู่กับตนเอง และเริ่มมีอาการหวาดระแวง ดำเนินชีวิตไปโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไร ไปไหน ไปทำไม แต่เมื่อได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งก็ไม่ใช่โรงพยาบาลเฉพาะของโรคจิต ได้รับยารักษาที่เหมาะสม ได้รับการปรึกษาโดยนักจิตวิทยา และกินยาต่อเนื่อง เขาก็ดำรงชีวิตตามปกติได้ ทำงานได้ และก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้  


 


ตอนนั้นดิฉันเองไม่เคยรู้จักโรคนี้มาก่อน และกลัวมากเนื่องจากภาพประทับในความทรงจำ คือ คนที่เป็นโรคจิต คนบ้า โรคประสาท จะอาละวาดและน่ากลัว แต่เมื่อได้เจอเพื่อนคนนี้ ความรู้สึกจึงเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ยังกลัวคนที่อาละวาดอยู่ ทั้งที่อาละวาดเพราะกินเหล้าเมาหาเรื่องคนอื่น และอาละวาดแบบคนบ้าไม่มีสติกับตัว รวมถึงคนที่เครียดจัดๆ แล้วเอามีดออกมาจี้ตัวประกันที่บางครั้งก็เป็นลูกหรือญาติใกล้ชิดตนเอง


 


ความรู้สึกลักษณะนี้ดำรงคงอยู่ในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และยิ่งมีความกลัวมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ผู้ป่วยโรคจิตเภทบุกเข้าไปใช้มีดแทงเด็กนักเรียน เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา


 


ซึ่งเป็นเหตุให้โรงเรียนต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยให้กับนักเรียนของตนเอง จากเดิมที่ปล่อยให้ผู้ปกครองเดินเข้าเดินออก หรือไปนั่งรอรับลูกในบริเวณโรงเรียน รวมถึงเอารถมาแย่งกันหาที่จอดในลานจอดรถ และเลยไปถึงบนถนนหน้าโรงเรียน นี่ยังไม่นับรวมการเข้าออกของบรรดารถส่งของ ส่งน้ำแข็ง ส่งอาหารให้กับโรงเรียนที่เข้าออกกันอย่างเสรี เปลี่ยนรถ เปลี่ยนหน้ากันมาตลอด  ซึ่งหากใช้มาตรฐานความปลอดภัยมาวัด ก็ต้องถือว่าโรงเรียนเหล่านี้สอบไม่ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว


 


ดิฉันไม่คิดว่า การลงโทษอย่างเอาเป็นเอาตายกับผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท จนเอามีดเข้าไปไล่แทงนักเรียนถึงห้องเรียน  ด้วยการตัดสินโทษประหารชีวิตให้ตายไปนั้น  จะเป็นหนทางแก้ปัญหาได้ การลงโทษคนที่ทำร้ายคนอื่นหรือฆ่าคนอื่น ด้วยการจำคุก ซึ่งเป็นการจำกัดอิสรภาพนั้นก็นับว่าเป็นการลงโทษที่มากแล้ว โดยเฉพาะการจำคุกตลอดชีวิต


 


สำหรับบทเรียนในกรณีนี้  นับเป็นโอกาสที่สังคมควรได้รับรู้ว่า มีคนที่ป่วยเป็นจิตเภทในสังคมไทยหลายแสนคน ที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกเราอย่างปกติเมื่อเขาไม่มีอาการ  ทั้งนี้จากข้อมูลรายงานการวิจัยของรศ. นพ. มานิต ศรีสุรภานนท์  เรื่อง  ปัจจัยเสี่ยงของโรคจิตเภท : การทบทวนวรรณกรรมทางระบาดวิทยา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2546 พบว่ามีความชุกของผู้ป่วยจิตเภท เป็น 0.59 ของประชากร  หรือราวๆ สามถึงสี่แสนคน  ซึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว 


 


และจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ระบุถึงสาเหตุของโรคมาจากกรรมพันธุ์  ความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์  และความผิดปกติระหว่างคลอด นับเป็นสาเหตุที่ผู้ป่วยเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้  นอกจากว่าจะมีการป้องกันในกลุ่มคนที่ตั้งครรภ์  การคลอด รวมถึงการทำความเข้าใจของครอบครัวที่มีผู้ป่วยเหล่านี้ว่าจะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้  ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลว่า ผู้ป่วยเหล่านี้หากได้รับการรักษา การดูแลอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถหายและกลับเข้าสู่การดำรงชีวิตปกติได้  นี่คือบทเรียนสำคัญที่สังคมควรให้เอาใจใส่ต่อสภาวะสุขภาพของคนในชุมชนของตน


 


บทเรียนต่อไปคือ เรื่องความปลอดภัยของคนในสังคม  ซึ่งทุกวันนี้ยังเผชิญต่อความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งทางกายภาพ เช่น อุบัติเหตุทางรถอันเนื่องมาจากความประมาท  การทำร้าย การกระทำรุนแรงทางเพศต่อคนที่อ่อนแอกว่า ไม่มีสถานที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับคน โดยเฉพาะเมื่อเป็นยามค่ำคืน มิต้องกล่าวถึงความเสี่ยงของผู้คนที่ต้องเดินเข้าออกซอยเปลี่ยวที่มีอยู่ทั่วไปในบ้านเมือง  ความแล้งน้ำใจที่จะช่วยกันสอดส่องดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสังคม  การไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยของนักเรียน 


 


ดังเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอุบัติเหตุของนักเรียนจากเครื่องเล่นในโรงเรียนที่เก่า ชำรุด ไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัย  ตลอดจนการปล่อยให้มีการขายขนม อาหารที่ไม่ปลอดภัยให้กับนักเรียน ทั้งที่เป็นการดำเนินการเองของโรงเรียน หรือการปล่อยให้ร้านค้าหน้าโรงเรียนขายโดยโรงเรียนไม่เอาใจใส่  เหล่านี้เป็นความรุนแรงที่เกิดต่อนักเรียน นอกเหนือไปจากความรุนแรงจากการถูกทำร้ายร่างกาย 


 


การสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัย การมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม นับเป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม  เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการสร้างความปลอดภัยที่สอดคล้องกับชีวิตและไม่โอนภาระหน้าที่นี้ไปไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น


 


คงได้เวลาที่สังคมต้องร่วมกันส่งเสริมความปลอดภัยในสังคม เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีต่อเด็กๆ และเราทุกคน  การป้องกันเหตุร้ายนับเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการลดความรุนแรงและสร้างความปลอดภัย  ดังที่โรงเรียนหลายแห่งเริ่มเข้มงวดต่อการเข้าออกของผู้คนแล้วในวันนี้ 


 


หวังว่าเราจะไม่ต้องใช้ชีวิตของผู้ใดเป็นเครื่องเตือนสังคมอีก เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันทำให้สังคมนี้ปลอดภัยน่าอยู่ทั้งสำหรับเด็กๆ ลูกหลานของเราและสำหรับทุกคน