Skip to main content

Pom Poko – เมื่อ "ทานุกิ" เป็นกบฏ

คอลัมน์/ชุมชน

 


ยี่สิบสี่เศษหนึ่งส่วนหก


 


ถ้าพูดถึงการ์ตูนทางจอภาพยนตร์ในความรับรู้ของสังคมไทย  เราคงคุ้นกับการ์ตูนจากฝั่งอเมริกันเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งคิดมาคิดไปก็น่าแปลก ว่าทำไมการ์ตูนจอเงินจากฝั่งญี่ปุ่น ถึงไม่ค่อยได้เข้ามาฉายในบ้านเราเลย ทั้งๆ ที่เราคุ้นเคยกับการ์ตูนลายเส้นญี่ปุ่นมากกว่าอเมริกัน (จะมีช่วงหลังๆ ที่มีการ์ตูนอย่างโดราเอม่อนตอนพิเศษต่างๆ เข้ามาฉายในโรงอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกันแล้วก็ต้องนับว่าน้อยกว่าอยู่ดี)


 


ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นดีๆ หลายๆ เรื่องหลงหูหลงตาเราไป รวมถึงการ์ตูนของ Studio Ghibli – สตูดิโอที่มีบางคนเรียกว่าเป็นดิสนีย์ของญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ฉายและวางขายอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่ถึงกระนั้น การ์ตูนของจิบลิหลายๆ เรื่องก็เป็นที่กล่าวขวัญในบรรดานักดูการ์ตูนบ้านเรา เช่น การ์ตูนเรื่อง Grave of the Fireflies (หรือที่รู้จักกันในชื่อไทยว่า "สุสานหิ่งห้อย") ที่สามารถสะท้อนภาพความโหดร้ายของสงครามได้อย่างชัดเจน หรือ Spirited Away ที่โด่งดังบนเวทีระดับโลก


 


ผมเองก็ได้ยินชื่อเสียงของการ์ตูนจากจิบลิมาหลายครั้ง  รวมถึงเคยแอบน้ำตาซึมเพราะ "สุสานหิ่งห้อย" ด้วย ผมเลยลองขวนขวายหาการ์ตูนของจิบลิมาดู และผมก็ไปพบการ์ตูนเรื่อง Pom Poko จากบ้านเพื่อนย่านคลองสานเข้าจนได้


 



 


Pom Poko เป็นการ์ตูนที่ออกฉายในปี 1994 (พ.ศ. ๒๕๓๗) โดยเป็นผลงานกำกับของ Isao Takahata เจ้าของเดียวกับ "สุสานหิ่งห้อย" เป็นเรื่องที่เล่าถึงตัวทานุกิ (สัตว์รูปร่างคล้ายแรคคูน ที่ถ้าใครเป็นแฟนๆ ของโดราเอม่อนคงจะจำได้ว่าพี่’ม่อนของเรามักจะถูกล้อว่าเป็นตัวทานุกิอยู่เสมอๆ) ที่เคยอยู่กันอย่างสงบสุข แต่จู่ๆ ที่อยู่อาศัยของพวกมันก็ถูกมนุษย์รุกรานเพื่อนำไปสร้างที่อยู่อาศัย จนทำให้บรรดาทานุกิ ซึ่งโดยปกติจะอยู่กันอย่างสงบสุขและเฮฮาปาร์ตี้ตามประสาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อรักษาผืนดินที่อยู่อาศัยให้คงอยู่ต่อไป


 


แต่ด้วยความที่ทานุกิเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิต "ขำๆ" เป็นทุนเดิม  วิธีต่อสู้ของบรรดาทานุกิจึงเป็นไปอย่างครื้นเครง ด้วยการพยายามรื้อฟื้นวิชาแปลงร่างของตัวเอง (ในตำนานของญี่ปุ่น เขาเชื่อว่าทานุกิมีพลังวิเศษสามารถแปลงร่างเป็นสิ่งต่างๆ ได้) เพื่อใช้พลังในการก่อกวนการก่อสร้างของมนุษย์ อีกทั้งยังมีการส่งตัวแทนเพื่อไปเชิญทานุกิผู้มีพลังพิเศษจากท้องถิ่นต่างๆ ในญี่ปุ่นมาเพื่อฝึกสอนวิทยายุทธการแปลงร่างให้กล้าแกร่งขึ้น


 


หนังดำเนินเรื่องด้วยอารมณ์ครื้นเครง ทั้งในส่วนของลีลาการแปลงร่างหลอกมนุษย์ ที่ออกจะเน้นขำมากกว่าเน้นความน่ากลัว หรือความคิดน่ารักน่าชังของบรรดาทานุกิทั้งหลาย (ที่ตั้งใจว่าจะไม่ไล่มนุษย์ออกไปหมด แต่ให้เหลือคนดีๆ เอาไว้ เพราะ "ถ้าไล่มนุษย์ออกไปหมด เราก็อดกินเทมปุระนะสิ "J) ก่อนที่เรื่องจะจบลงอย่างเศร้าๆ เมื่อบรรดาทานุกิไม่สามารถรักษาที่อยู่อาศัยของตัวเองได้ และต้องแปลงร่างเป็นมนุษย์เพื่ออยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างจำใจ


 


ผมดูการ์ตูนเรื่องนี้ด้วยอาการ "หัวเราะร่าน้ำตาริน" – ฮาแตกกับเรื่องในช่วงต้น ก่อนจะเศร้าจนต่อมน้ำตาแตกในตอนท้ายเรื่อง พร้อมๆ กับคิดถึงชาวบ้านปากมูล ป้อมมหากาฬ และหลายๆ พื้นที่ๆต้องประสบกับการไล่รื้อโดยรัฐ


 


เหมือนผมเห็นภาพการต่อสู้ที่ถูกสังคมภายนอกมองเป็น "การมองเห็นแต่ไม่รับรู้" เพราะแม้บรรดาทานุกิจะพยายามขนาดไหนก็ตาม แต่ว่ามนุษย์กลับไม่ได้ใส่ใจกับปัญหาของพวกมันเลย...พาลให้คิดถึงความรู้สึกแบบนี้ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ที่เราอาศัยอยู่


 


ซึ่งความรู้สึกห่างเหินแบบนี้แหละ ที่อาจทำลายชุมชนงามๆ ที่มันดำรงอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว...


 


ปล. – ชื่อบทความนี้ ผู้เขียนตั้งใจล้อชื่อสารคดี "เมื่อคนหาปลาเป็นกบฎ" ของสมัชชาคนจน ด้วยความเคารพในหัวใจนักสู้ของชาวบ้านสมัชชาฯ ครับ