Skip to main content

สิ่งที่เรียกว่า Critical Thinking

คอลัมน์/ชุมชน

 


 






 


ได้แรงบันดาลใจจากความเห็นในบทความก่อนหน้า และความตั้งใจที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้มานานคราวนี้ จึงขอเสียหน่อยที่จะ


พูดถึงเรื่อง critical thinking เพราะคันเหลือเกิน การเกาวันนี้น่าจะสนุกไม่เจ็บ และหายคันในความรู้สึกของผู้เขียนและผู้อ่านหลายท่าน


 


ขอเริ่มที่นิยาม  มีการให้นิยามง่ายๆ ของคำว่า critical thinking ดังนี้  "An ability to evaluate information and opinions


in a systematic, purposeful, efficient manner."  [1] ถอดเป็นไทยได้ว่า "ความสามารถในการประเมินข้อมูล (สาร)


 และความเห็นต่างๆ ในวิถีทางที่เป็นระบบ มีจุดประสงค์ และมีประสิทธิภาพ"


 


ฟังดูแล้วน่าสนใจ เก๋ เปรี้ยว เฉี่ยว เท่  แต่ไม่ได้ทำง่ายนัก ผู้รู้หลายคนทั้งไทยและฝรั่งเห็นตรงกันว่า การที่จะมีความ


สามารถดังกล่าว มีที่มาและที่ไป เชื่อกันว่าความสามารถในการคิดดังกล่าว น่าจะเกิดได้จากทักษะทางระบบการเรียนรู้ (cognitive skills) [2]  ซึ่งสามารถแยกออกเป็น ๖ ลำดับย่อย ได้ดังนี้ ๑. interpretation, ๒. analysis, ๓. evaluation,


๔. inference, ๕. explanation, และ ๖. self-regulation  โดยเชื่อว่าหากผู้ใดสามารถมีทักษะและใช้ทักษะดังกล่าวได้  


 ก็น่าถือได้ว่ามี critical thinking   แต่ว่าก็ขึ้นอยู่กับว่ามีในระดับไหนด้วยเช่นกัน


 


ในบทความนี้ ขออธิบายหกลำดับย่อยดังกล่าวเป็นไทยๆ ง่ายๆ (พอควร) ดังนี้


 


๑. interpretation แปลเป็นไทยตรงๆ คือการตีความ แต่ในที่นี่คือเน้นที่ความเข้าใจว่า สารที่รับเข้ามามีความหมายอย่างไร สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นสารประเภทไหน และเข้าใจเนื้อสารได้อย่างชัดเจน เช่น ข่าวน้ำท่วม กทม. ก็เข้าใจว่า


น้ำท่วมกทม. ไม่ใช่เข้าใจว่าน้ำท่วมสัตหีบ รู้ว่าเป็นข่าวไม่ใช่ความเห็น


 


๒. analysis แปลเป็นไทยตรงๆ ว่าการวิเคราะห์ แต่ในที่นี้เน้นในการที่สามารถชี้ระบุว่า เนื้อสารที่ได้รับมีองค์ประกอบ


อย่างไร มีความสัมพันธ์เช่นไร เช่น สามารถเข้าใจว่าการให้สัมภาษณ์ของ สส. คนหนึ่งต้องการที่จะสร้างภาพให้กับตนเอง


ในด้านบวก โดยการอ้างวุฒิการศึกษาตนเอง ประสบการณ์การเป็นนักการเมืองอันยาวนาน และผลงานที่เคยรับใช้


ประชาชน เช่น สร้างสะพานทางเดินในสลัม   และในขณะเดียวกัน ก็สามารถตั้งคำถามต่อไปได้ว่าทำไม สส.คนนี้ไม่พูดถึงความซื่อสัตย์ แล้วทำไมถึงเน้นแต่ความเก่งของตนเอง มองประชาชนว่าช่วยตนเองไม่ได้  ไม่เคยให้ประชาชนได้เข้าถึงเพื่อแสดงความเห็นเลย    สิ่งเหล่านี้จะผุดขึ้นมาเองในใจของผู้ที่มีทักษะดังกล่าวนี้ เมื่อได้รับสารจาก สส. คนนั้น


 


๓. evaluation แปลเป็นไทยตรงๆ ว่าการประเมินคุณค่า แต่ในที่นี้เน้นในความสามารถที่จะฟันธงไปได้หรือไม่ว่าสิ่งนั้นดี


หรือเลวได้อย่างไร โดยวัดออกมาเป็นระดับของความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น หาก สส. คนนั้นในข้อสองไม่มีหลักฐานมา


ตอบข้อสงสัยที่กล่าวมา หรือว่าหลักฐานที่มาสนับสนุนคุณงามความดีที่อ้างไม่มี หรือมีหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็ทำให้ระดับความน่าเชื่อถือของ สส.คนนี้ตกลงไป  ดังนั้น ในข้อนี้ยิ่งทำให้เห็นว่า ทักษะข้อนี้เป็นเรื่องยากมากขึ้น เพราะต้องมีการ


ฝึกฝนและศึกษาในเรื่องต่างๆ และต้องอ่านมาก [3] ฟังมากที่จะตามคนอื่นทัน


 


๔. inference แปลเป็นไทยตรงๆว่าการสรุปผลต่อเนื่องตามข้อมูล แต่ในที่นี้เน้นในการที่สามารถคิดต่อได้หลังจากที


ประเมินคุณภาพของสารที่ส่งมา เช่น ในกรณีที่ส.ส. ที่กล่าวมาแล้ว มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยในความโปร่งใสซื่อสัตย์


ทำให้เราสามารถสงสัยได้ต่อไปว่า ส.ส. ท่านนี้ไม่น่าไว้วางใจ และไม่ว่าจะทำอะไร น่าจะมีวาระแฝงเร้นด้วยทุกครั้ง


ไม่มีอะไรตรงไปตรงมา สรุปคือ ไม่ควรเอามาเป็นส.ส. อีกต่อไป


 


๕. explanation แปลเป็นไทยตรงๆว่าการอธิบาย จุดนี้จะเริ่มเห็นว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงกรอบออกมาจากเดิม ที่อยู่แต่ในสมองของเรา และเป็นฝ่ายตั้งรับต่อสิ่งที่เร้าหรือสาร  ตอนนี้เริ่มกลายมาเป็นกระบวนการที่เราจะนำเสนอข้อที่หนึ่งถึงสี่ที่


ผ่านมาได้อย่างไร (หรือ เราจะทำอย่างไรที่จะบอกว่า ไม่ควรเลือก ส.ส. คนนี้มาในสมัยหน้า) เพื่อให้คนอื่นเข้าใจตรง


กับที่เราเข้าใจได้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนจะต้องมีการนำเสนอที่อยู่บนเงื่อนไขของการใช้หลักของเหตุผลที่ชัดเจน ไม่โกหก


 


๖. self-regulation  แปลเป็นไทยตรงๆว่าการที่จะจัดระเบียบและควบคุมตนเองได้ ในที่นี้เน้นสองกระบวนการย่อยคือ การตรวจสอบตนเองได้  (self-examination) และการที่แก้ไขตนเองได้ (self-correction) ถ้าพูดแบบไทยๆก็คือ มีสติ สัมปชัญญะ รู้จักผิดชอบชั่วดี ตัวอย่างเช่น ต้องมีการยอมรับว่าตนเองอาจมีข้อบกพร่องได้ในการมอง


จึงหมั่นที่ตรวจสอบตนเองตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน ถ้าพบข้อผิดพลาดก็ต้องพยายามแก้ไขเต็มความสามารถ


แต่ก็ไม่ใช่ขนาดที่ใครว่าอะไรเชื่อหมดหรือน้อยอกน้อยใจ หรือมีอีโก้มากจนใครแตะไม่ได้


 


เป็นที่เชื่อกันว่า ทักษะทั้งหกที่กล่าวมานี้ จะช่วยให้คนมีการพัฒนาในเรื่อง critical thinking ซึ่งเป็นกรอบแบบง่ายๆ


แต่ทำไม่ง่ายนัก


 


คำถามมีต่อว่า แล้วเราๆ ท่านๆ พอจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองมี critical thinking บ้างมั้ย?


 


คำตอบคือ มีวิธีที่จะตรวจสอบได้  เพราะมีสิ่งที่เป็นตัวชี้ในการมี critical thinking ในแต่ละบุคคล   อาจพอมองเห็นได้ ดังนี้ [4]


๑.      ตั้งคำถามในแต่ละเรื่องอย่างกว้างและครอบคลุม


๒.      ต้องการที่จะได้รับข้อมูลอย่างสม่ำเสมอและเป็นอย่างดี


๓.      ตื่นตัวที่จะใช้กระบวนการ critical thinking ในโอกาสต่างๆ (หกลำดับที่กล่าวมา)


๔.     มีความมั่นใจในตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องความสามารถในการให้เหตุผล


๕.     มีใจเปิดกว้าง ที่จะมองโลกทัศน์อื่นๆ ที่แตกต่าง


๖.      มีความยืดหยุ่นที่จะพิจารณาทางเลือกและความเห็นอื่นๆ ได้


๗.     มีความเข้าใจในความเห็นของชาวบ้านอื่นๆ


๘.     มีใจเป็นธรรมที่จะประเมินการให้เหตุผลของคนอื่น


๙.      มีความซื่อสัตย์พอที่จะเผชิญกับความมีอคติของตนเองหรืออัตตาจริตในเรื่องต่างๆ  (คือยอมรับว่าตนเองไม่ได้ดีเลิศ)


๑๐.  มีความฉลาด สุขุม รอบคอบที่จะกักเก็บ   สร้าง หรือ เปลี่ยนการตัดสินของตนเองได้


๑๑.  มีความยินดีที่ทบทวนการพิจารณาและแก้ไขทัศนะของตน โดยเฉพาะในกรณีที่มีต้องยอมรับอย่างสัตย์จริงว่าการ


เปลี่ยนแปลงนั้นมีรากฐานของความถูกต้อง (คือยอมรับว่าตนเองไม่ได้ถูกต้องเสมอไป หากมีการยืนยันว่าสิ่งอื่น


      ถูกต้องจริง)


 


ผู้เขียนได้เห็นว่า ปัจจุบันนั้นสังคมไทยไม่ว่าจะบนเน็ตหรือนอกเน็ต เริ่มมีการถกเถียงในกรณีต่างๆ ทางสังคม การเมือง วัฒนธรรมมากขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มา ถือเป็นเรื่องดี แต่ว่าเท่าที่เห็นมา ไม่ว่าบอร์ดใดก็ตาม ไม่ค่อยได้พบเห็นการถกเถียงที่มีคุณภาพเท่าไรนัก  หลายครั้งเป็นเถียงข้างๆ คูๆ บางทีมีการรวมพวกพ้องมาช่วยกันกระหน่ำ กลายเป็นว่าคนไหนพวกน้อย


ต้องหลบไป ทั้งที่เป็นฝ่ายที่มีคุณภาพมากกว่า แต่เพราะว่าการที่ขาดกระบวนคิดและแสดงออกที่ถูกต้อง


จึงกลายเป็นว่าไม่ได้เกิดการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาในระดับสังคมและปัจเจกบุคคลอย่างแท้จริง


 


ก่อนจบ ลองนึกถึงข่าวดังต่างๆ ในสังคมไทยตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมืองฮุบสื่อ ข่าวดาราสาวกับปัญหาส่วนตัว ข่าวเหตุการณ์ภาคใต้ หรือแม้กระทั่งความเชื่อต่างๆ ที่สั่งสมกันมาในสังคมไทยที่กำลังถูกท้าทายกับความเชื่อจากตะวันตก  สิ่งเหล่านี้บังคับให้คนต้องพยายามใช้ critical thinking ทั้งในระดับปัจเจกและกลุ่ม และระดับสังคมประเทศชาติ เพื่อให้เกิด


ความเข้าใจและเท่าทันประเด็นต่างๆ ได้ชัดเจน


 


การมี critical thinking ย่อมดีกว่าการที่ไม่มีแน่นอน