Skip to main content

ไม่กลับบ้าน

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้มาคุยเรื่องเบา ๆ ดีกว่า คุยเรื่องการเมืองแล้วมันเครียด เพราะถึงรู้ก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นอะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด แล้วค่อย ๆ เรียนรู้กันไปดีกว่า


พูดถึงเรื่องเรียนรู้ทำให้นึกขึ้นได้ เพราะวันก่อนมีโอกาสได้ไปพายเรือตามลำคลองในสวนแถว ๆ ตำบลคลองเขิน อำเภอเมือง ในจังหวัดสมุทรสงคราม ตามโครงการถักทอสุขภาวะชุมชนคนริมคลอง ที่ผู้เขียนทำอยู่ (คราวหน้าจะเขียนรายละเอียดมาให้อ่านกัน) เลยได้เห็นบรรยากาศที่สดชื่น มีต้นไม้ร่มครึ้มปรกคลุมอยู่ริมสองฝากฝั่ง มีบ้านทรงไทยสวย ๆ เรียงรายเต็มไปหมด น้ำก็ยังใสมีกลิ่นอายของความเป็นชนบทที่ยังแสนบริสุทธิ์ และเมื่อพายเรือผ่านไปตามลำคลองชาวบ้านก็ส่งเสียงทักทายอย่างอบอุ่น เรียกว่าสภาพโดยรวมยังน่าอยู่และน่าเที่ยวมาก ๆ


แต่ก็มีบางสิ่งที่เราได้เห็นคือ บ้านเรือนส่วนใหญ่มักมีแต่คนแก่และเด็กเท่านั้นที่อยู่บ้าน คนหนุ่มคนสาววัยทำงานมีไม่มากนัก ทั้งที่บ้านก็หน้าอยู่ ก็เลยแวะเรือพูดคุยกับชาวบ้านถึงสาเหตุที่ทำให้คนหนุ่มสาวไม่อยู่บ้าน ก็ทำให้ได้ทราบว่าเป็นเพราะพ่อแม่ส่งให้ลูกเรียนหนังสือสูง ๆ เพราะไม่ต้องการให้ลูกหลานต้องมาทำสวน หรือทำอาชีพที่ตนเองทำอยู่ เพราะคิดว่างานทำสวนเป็นงานที่ลำบากและเหนื่อยมาก จึงไม่อยากให้ลูกต้องลำบากเหมือนตนเอง


ส่วนใหญ่พ่อแม่ที่เป็นชาวสวน ต้องการให้ลูกรับราชการ เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติเป็นที่น่าภูมิใจของวงศ์ตระกูล ทุกครอบครัวจึงแข่งขันกันส่งให้ลูกได้เรียนสูง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามความใฝ่ฝันของพ่อแม่และญาติพี่น้อง ดังนั้นคนที่จะทำสวนต่อแทบจะไม่มีเพราะเด็กส่วนใหญ่ไปเรียนกันหมด และเมื่อเรียนจบแล้ว ต่างคนต่างก็ไปทำงานตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาในเมืองใหญ่ ๆ และบางคนก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นอย่างถาวร นาน ๆ ครั้งถึงจะกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ บางครั้งเป็นปีก็ยังไม่กลับมาได้แต่โทรศัพท์มาพูดคุยกัน เราก็เลยถามว่าไม่คิดถึงลูกหรือ เขาก็บอกด้วยสายตาแห้งแล้งว่า คิดถึงมาก แต่จะทำอย่างไรได้เพราะเขาต้องทำงานและงานเขายุ่งมาก


สิ่งที่เราเห็นและได้ยินทำให้เราคิดว่า สาเหตุที่ทำให้คนหนุ่มสาวไม่กลับบ้าน เป็นเพราะหลักสูตรการศึกษาหรือเปล่า ที่ผลักดันให้คนเหล่านั้นยิ่งเรียนยิ่งห่างไกลจากบ้านตัวเองออกไปเรื่อย ๆ เพราะหลักสูตรการเรียนเป็นบล๊อคเดียวกันทั้งประเทศ คือการเรียนรู้เพื่อรู้จักโลกภายนอก และลืมบ้านตัวเองไปในที่สุด เพราะไม่มีหลักสูตรใดที่เรียนแล้วได้กลับบ้าน เพราะที่บ้านไม่มีฐานงานที่รองรับกับความรู้ที่ร่ำเรียนมา ดังนั้นคนที่เรียนจบก็ต้องไปกระจุกตัวทำงานอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ ทิ้งบ้านที่เป็นแหล่งภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าและเป็นรากเหง้าของชีวิต รวมถึงต้องทิ้งพ่อแม่อันเป็นที่รักให้อยู่อย่างเหงาหงอย มีสภาพไม่ต่างกับสุนัขเฝ้าบ้านที่คอยการกลับมาของลูก ๆ โดยที่ความหวังของพ่อแม่ไม่ใช่แค่เงินที่ลูก ๆ ส่งมาเพื่อให้ประทังชีวิตไปวัน ๆ


ถึงแม้ว่ามีหลายโครงการของรัฐที่พยายามผลักดันให้บ้านเมืองน่าอยู่ และชุมชนเป็นสุข แต่ในขณะเดียวกันหลักสูตรการศึกษากลับสวนทางกัน โดยทุกหลักสูตรล้วนผลักดันให้คนทิ้งชุมชน เรียนจบแล้วไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนของตนเองได้ เรื่องเมืองน่าอยู่และชุมชนเป็นสุขเลยยิ่งห่างไกล


ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าการศึกษาไม่ดี แต่ต้องการแลกเปลี่ยนว่าทำอย่างไรบ้านเราจะมีหลักสูตรการศึกษาประจำถิ่น เพื่อที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้ความเป็นรากเหง้าของท้องถิ่นตนเองด้วยความรักความผูกพัน และสามารถนำความรู้กลับมาพัฒนาอาชีพของพ่อแม่ ให้สามารถอยู่ได้กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้อย่างชาญฉลาด และทำอย่างไรที่จะทำให้มีฐานงานรองรับกับความรู้ของคนในแต่ละชุมชนได้ เพราะในขณะนี้คนที่เรียนสูงก็ไปทำงานในเมือง คนที่เรียนน้อยก็ไปรับจ้างทำงานตามโรงงาน ต่างคนก็ต่างไม่กลับบ้าน โดยพร้อมใจกันทิ้งหน้าที่เฝ้าบ้านไว้ให้เป็นภาระของพ่อแม่ ความเป็นชุมชนก็ผุกร่อนไปเรื่อย ๆ


ในขณะที่คนเมืองก็เริ่มคืบคลานเข้ามาในลักษณะของธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งรูปแบบรีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศ ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ทยอยกันขายที่เพื่อเข้าไปอยู่ในเมือง


หากการปฎิรูปการศึกษายังเป็นเพียงนโยบายขายฝัน และเป็นเครื่องมือที่จะทำให้นักการเมือง และปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการแก้ไข อนาคตของชุมชนจะเป็นเช่นไร หากคนในพื้นที่ยังไม่กลับบ้าน