Skip to main content

ไฟฟ้าจากขี้หมู-ขี้วัวค่านับพันล้านบาท: ไร้ค่าเพราะอะไร?

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


             


 


 


ท่ามกลางวิกฤติพลังงานทั่วโลก และสภาวะที่ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังจะขึ้นราคาครั้งใหญ่  รวมทั้งการเสนอให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราน่าจะหันมามองเรื่อง "ขี้หมู-ขี้วัว" ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้ากันดูบ้าง ดังรูปถ่ายและการ์ตูนที่ผมค้นหามาได้จากเว็บไซต์หนึ่งในต่างประเทศ


 


ผู้อ่านทุกท่านต่างก็ทราบกันดีแล้วว่า ขี้หมูและขี้วัวสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้  แต่ว่าจะมีมูลค่านับพันล้านบาทต่อปีตามที่ปรากฏในชื่อบทความจริงหรือ  ท่านอาจจะสงสัยว่าโม้หรือเปล่า


 


บทความนี้จะนำผลการศึกษาของ "สถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"  ซึ่งได้รับสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งนำข้อมูลของต่างประเทศมาเปรียบเทียบกันด้วย


 


สุดท้ายจะวิเคราะห์ให้เห็นว่า ทั้ง ๆ ที่การนำขี้หมู-ขี้วัวมาผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นการลดความรุนแรงของกลิ่นเหม็นที่กระทบต่อสุขภาวะของชุมชนให้กลับมามีมูลค่านับพันล้านบาท แต่ทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่สนใจ  อะไรคือเบื้องหลังความคิดที่พิสดารเช่นนี้


 


จากขี้หมูถึงไฟฟ้า


 


ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึงหลักการคร่าวๆ ในการเปลี่ยนขี้หมูมาเป็นไฟฟ้าก่อน ขี้หมูเมื่อนำมาผสมกับน้ำล้างทำความสะอาดคอกหมูในถังหมักที่ปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้อากาศหรือออกซิเจนเข้าไปได้ ขี้หมูก็จะถูกย่อยสลายแล้วเกิดเป็นก๊าซซึ่งเรียกรวมๆ ว่า "ก๊าซชีวภาพ(Biogas)"  ก๊าซชนิดนี้ประกอบด้วยก๊าซมีเทน  ซึ่งสามารถติดไฟได้ประมาณ ๖๐-๖๕% โดยปริมาตร(อีก ๓๔-๓๙ % เป็นคาร์บอนไดออกไซด์)


 


ถ้านำก๊าซชีวภาพนี้ไปต้มน้ำให้เป็นไอ แล้วนำไอน้ำไปผลักดันหรือปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เราก็จะได้กระแสไฟฟ้าออกมา  ซึ่งก็เหมือนกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้อยู่มากถึง ๗๕% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดในขณะนี้


 


ค่าปริมาณความร้อนที่ได้รับจากก๊าซชีวภาพกับก๊าซธรรมชาติในปริมาตรที่เท่ากัน พบว่าก๊าซชีวภาพให้ความร้อนได้ประมาณ ๖๐% ของก๊าซธรรมชาติ


 


ถ้าเทียบกับเชื้อเพลิงอย่างอื่น พบว่าก๊าซชีวภาพ ๑ ลูกบาศก์เมตรให้ความร้อนเท่ากับน้ำมันเตา ๐.๖ ลิตร  หรือ เท่ากับก๊าซหุงต้ม ๐.๔๖ กิโลกรัม มูลค่า ๗.๕๙ บาท (กิโลกรัมละ  ๑๖.๕๐ บาท)  พูดให้จำง่ายกว่านี้ก็ได้ว่า "หมู ๑ ตัว ให้ก๊าซหุงต้มมูลค่าประมาณ ๑ บาทต่อวัน" 


 


วารสารเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ (ฉบับเมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๘ ซึ่งผลิตโดยสถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ-ค้นได้จาก www.biogastech-cmu.com)  ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากคือ  "ระบบก๊าซชีวภาพที่มีขนาด ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรซึ่งเหมาะกับหมูขุนจำนวน ๘ พันตัว (ตัวละ ๗๐ กก.) สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้วันละ ๑,๒๐๐ หน่วย  ถ้าราคาค่าไฟฟ้าหน่วยละ ๒.๘๐ บาท คิดเป็นค่าไฟฟ้า ๓,๓๖๐ บาทต่อวัน "


 


ท่านที่มีเครื่องคิดเลขอยู่ในมือ ก็สามารถคำนวณได้ว่า  ถ้าทางบริษัท กฟผ.จำกัดขึ้นราคาค่าไฟฟ้าไปเป็น ๓.๐๐ บาทต่อหน่วย  มูลค่าพลังงานไฟฟ้าที่หมูจำนวน ๘ พันตัวผลิตได้ก็ตกปีละ ๑.๓๑๔ ล้านบาท แต่ประเทศไทยเราไม่ได้มีหมูเพียงแค่นี้


 


ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ระบุว่า  ในปี ๒๕๔๗ ประเทศไทยมีผู้เลี้ยงหมูขุนเพื่อการค้า (นับเฉพาะที่มีตั้งแต่รายละ ๕๐ ตัวขึ้นไป) รวมกันแล้วมีหมูถึง ๒.๓๗ ล้านตัว ดังนั้น พอจะประมาณได้ว่า หมูจำนวนนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ ๓๘๙ ล้านบาท


 


นี่เป็นการนับเฉพาะหมูขุน แต่ยังไม่นับหมูพันธุ์เพื่อการค้าอีก ๑.๔ ล้านตัว ยังไม่นับวัวเนื้อ (ที่เลี้ยงตั้งแต่รายละ ๓๐ ตัวขึ้นไป) อีก ๑.๓ ล้านตัว และวัวนมอีก ๓.๔ แสนตัว เมื่อนับเฉพาะที่กล่าวมาแล้ว (ไม่รวมรายย่อยในครัวเรือน) มูลค่าไฟฟ้าไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งพันล้านบาท


 


อนึ่ง ข้อมูลที่ผมค้นได้จากประเทศเกาหลีใต้ พบว่าขี้หมูจำนวนเท่ากันกับของบ้านเรา แต่ของเขาสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าข้อมูลที่ผมอ้างแล้วถึงสองเท่าตัว (อาจเป็นเพราะการคิดเผื่อความผิดพลาดไว้เยอะเกินไป)  ยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่า มูลค่าไฟฟ้าที่ได้ต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาทต่อปีอย่างแน่นอน


 


ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากขี้หมู


 


ผมได้อ่านโครงการที่ทางสถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพฯ  ได้ศึกษาให้กับฟาร์มหมูแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา (ขณะนี้กำลังก่อสร้าง) พบว่าในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้วันละ ๔๓๑ หน่วยจะใช้ทุนเพียง ๒.๓ ล้านบาทเท่านั้น (ไม่คิดราคาที่ดินซึ่งใช้พื้นที่ไม่ถึง ๑ ไร่)


 


เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าธรรมดา  ก็พบว่าการผลิตไฟฟ้าจากขี้หมูจะมีต้นทุนเพียงกิโลวัตต์ละ ๕.๓ ล้านบาท  ในขณะที่โรงไฟฟ้าธรรมดาประมาณ ๓๕ ล้านบาท หรือสูงกว่า ๖ เท่าตัว แถมยังต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงอีกต่างหาก


 


ทีนี้มาคิดถึงการได้ทุนคืนกันบ้าง สถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพฯ คิดว่าถ้าเจ้าของฟาร์มสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด (ในราคาหน่วยละ ๓ บาท) ก็จะได้ทุนคืนภายในเวลาประมาณ ๖ ปี (แม้ไม่ต้องรับทุนสนับสนุนใดๆ เลย)


 


ทางสถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพฯ ได้กรุณาศึกษาเพิ่มเติมอีกว่า ตลอดการเลี้ยงโรงเรือนฟาร์มหมูแบบธรรมดาจะใช้ไฟฟ้าเพียง ๔๘% ของที่หมูผลิตได้เท่านั้น


 


แต่ปัญหามีอยู่ว่า ไฟฟ้าที่เหลืออีก ๕๒% จะเอาไปไหน


 


สถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพฯ ได้เสนอแนะว่า เจ้าของฟาร์มควรจะหาธุรกิจอื่น เช่น โรงเผาอิฐ มาอยู่ใกล้ๆ แล้วจำหน่ายไฟฟ้าที่เหลือออกไป แต่ในความเป็นจริงผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากครับ


 


อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศยุโรป เขามีทางออกที่จะจัดการกับไฟฟ้าส่วนเกินนี้ ซึ่งในทางเทคนิคแล้วเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายมากราวกับดีดนิ้วมือ  โดยจะขอกล่าวถึงในหัวข้อต่อไปครับ


 


ตัวอย่างในกลุ่มประเทศยุโรป


 


ในเชิงเทคนิคก็คือว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศได้ตราเป็นกฎหมายที่เรียกว่า "ฟีดอินลอ (Feed in Law)" คือให้เอกชนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้สามารถต่อสายไฟฟ้าของตนเองเข้ากับระบบสายส่งของประเทศได้  โดยที่ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า (โดยตรง) ต้องรับซื้ออย่างน้อย ๙๐% ของที่เอกชนรายย่อยผลิตได้


 


ที่ว่าง่ายก็เพราะว่า เพียงแค่เราต่อสายไฟฟ้าและมิเตอร์ในฟาร์มหมูเข้ากับสายส่งรวมของประเทศเท่านั้น กระแสไฟฟ้าก็จะไหลไปสู่ผู้ใช้รายอื่นๆ โดยอัตโนมัติ


 


ในแง่ของความสม่ำเสมอของกระแสไฟฟ้าก็ไม่มีปัญหา เพราะก๊าซขี้หมูมีทุกวันและตลอด ๒๔ ชั่วโมง  ในแง่ราคาแม้ไม่มีการชดเชย ไฟฟ้าจากขี้หมูก็สามารถแข่งขันได้เพราะต้นทุนถูกกว่าตามที่กล่าวแล้ว


 


ใน ๑๒ ประเทศของสหภาพยุโรปมีโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพรวมกัน ๗๖๕ โรง โดยเฉพาะในเยอรมนีประเทศเดียวมีถึง ๕๐๐ โรง นอกจากนี้กลุ่มสภาพยุโรปมีแผนการจะผลิตก๊าซชีวภาพเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๔ ขึ้นอีกถึง ๗ เท่าตัวภายในปี ๒๕๖๓


           


สรุป


 


หนึ่งในวิธีคิดของกลุ่มประเทศยุโรปที่ขับเคลื่อนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังก็คือว่า  ไม่ใช่เพียงแต่เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มาทดแทนพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่กำลังมีราคาแพงขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่เป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาล และปัญหาน้ำเสียในระดับท้องถิ่น รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาในระดับโลกด้วย


 


ผมคิดไม่ออกจริงๆ ครับว่า ทำไมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจึงไม่ยอมรับซื้อไฟฟ้าจากขี้หมู-ขี้วัวซึ่งมีจำนวนมากและมั่นคงแน่นอนด้วย   เหตุผลเดียวที่ผมเหลืออยู่ก็คือ ต้องคิดว่าทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(ปัจจุบันคือ บริษัท กฟผ.จำกัด) กลัวว่ากำไรของตนเองจะลดลงรวมทั้งจะลดโอกาสในการจัดซื้อจัดจ้างในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เท่านั้น


 


สำหรับข้อสงสัยที่ว่าทำไมรัฐบาลจึงไม่ออกกฎหมายในทำนองเดียวกับกลุ่มประเทศยุโรป คำตอบก็คงจะเป็นอื่นไปได้ยาก นอกจากว่าคนของรัฐบาลคุมนโยบายพลังงานของประเทศทั้งหมดนั่นเอง


 


ไหนๆ ก็พูดเรื่องขี้หมูกันแล้ว ผมนึกถึงสำนวนที่ล้อกับสำนวนฝนตกขี้หมูไหล คือ  "ฝนตกขี้หมูฉุน คนมีบุญมาพบกัน"   นั่นคือ เราจะทำอย่างไรกันดีเพื่อให้คนมาช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายพลังงานของชาติให้ถูกทิศทางเสียที  หรือว่าต้องออกเป็นพระราชกำหนดบังคับให้ บริษัท กฟผ.ต้องรับซื้อไฟฟ้าจากขี้หมู-ขี้วัว จะดีไหมนี่?