Skip to main content

โอ้อนิจจา...โรงสีชุมชน ภาค 2

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


วันนี้เสนอตอน... โรงสีชุมชนที่ไม่ได้ทำการค้าแต่ทำสวัสดิการสีข้าวฟรี ทำไมจึงเจ๊ง


 


ความเดิมจากตอนที่แล้ว โรงสีชุมชนในจังหวัดแห่งหนึ่งมี่ 44 โรง แต่เหลือชนิดที่ "อยู่รอด และอยู่ดี" เพียงแค่ 2 โรงเท่านั้น และได้เล่าว่าทำไมโรงสีเหล่านี้จึงเจ๊ง (อย่างคร่าวๆ) และสัญญาว่าจะมาเล่าต่อว่าทำไมโรงสีที่ไม่ได้ทำธุรกิจค้าๆ ขายๆ (ข้าวสาร) แต่สีข้าวเพื่อเป็นสวัสดิการจึงเจ๊งได้อีก และจะทำอย่างไรไม่ให้เจ๊ง!


 


โรงสีชุมชน มีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรก คือผลิตข้าวสารและขายทั้งในและนอกชุมชน ประเภทที่ 2 คือสีข้าวเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ชุมชน คือสีข้าวให้ฟรี แล้วโรงสีเอารำกับปลายข้าวไว้ไปขายเป็นเงินทุนมาเป็นค่าซ่อมและบำรุง (น้ำมัน น้ำ ไฟ) แก่โรงสี  โรงสีชุมชนประเภทนี้มิติการค้าขายน้อยมาก โรงสีประเภทที่ 2 นี้ เกิดขึ้นมาในชุมชนที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เก็บข้าวไว้กินเอง (ไม่ได้ขายข้าวเปลือกที่ปลูกได้ทั้งหมด แล้วซื้อข้าวสารจากตลาดมากิน เหมือนชาวนาในเขตชลประทาน)


 


เมื่อชาวบ้านเก็บข้าวไว้กินเองจึงต้องการโรงสีไว้สีข้าว แต่ทว่าโรงสีของเอกชนที่มีอยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่แม้ว่าจะสีข้าวให้ฟรี (แลกเปลี่ยนรำกับปลายข้าว) ล้วนแล้วแต่ "ถอดข้าว" หรือ "ยักยอก" ข้าวของชาวบ้านทั้งสิ้น เช่น ข้าวเปลือก 10 กิโลกรัม ควรสีได้ข้าวสาร 6 กิโลกรัม แต่เหลือ 5 กิโลกรัม เป็นต้น เรื่องนี้ชาวบ้านทุกคนรู้ดี และเคยว่า "แปลกมั้ย...อาจ้าน เถ้าแก่โรงสีไม่ได้ทำนา ไม่ได้ซื้อข้าว แต่มีข้าวขายทุกวัน เขาเอามาจากไหน" ผู้เขียนเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนหลายแห่ง ก็พบว่าชาวบ้านต่างก็รู้ว่าข้าวของตัวเองโดนโรงสี "ถอด" ทุกครั้งที่มีการสีข้าว เฉลี่ยแล้ว 1 กิโลกรัมข้าวสารต่อการสี 10 กิโลกรัมข้าวเปลือก


 


แม้รู้ว่าถูก "ถอดข้าว" ชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือก ต้องสีข้าวของโรงสีเอกชนต่อไป เรื่องนี้ผู้นำชุมชนหลายแห่งเห็นปัญหา จึงได้ขอเงินจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างโรงสีเป็นสวัสดิการสีข้าวแก่ชาวบ้าน โดยไม่ "ถอดข้าว" ชาวบ้านเลย


 


แต่ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้มาใช้บริการโรงสีนี้เลย และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้โรงสีชุมชนหลายโรง เจ๊ง! ในที่สุด


 


เป็นไปได้ไง (วะ) ...ฮ่วย!


 


เรื่องแบบนี้ เพื่อนของผู้เขียนและผู้เขียนได้เคยลงไปทำงานเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่หมู่บ้านหนึ่ง ทำให้ทราบว่าแกนนำชาวบ้านคนหนึ่งกำลังจะขายโรงสีชุมชนที่เอามาสีข้าวเป็นสวัสดิการแก่หมู่บ้าน ซึ่งได้รับมากจากสำนักงานกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) ให้กับหมู่บ้านข้างเคียง เพราะชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านไม่ยอมมาสีข้าวที่โรงสีชุมชน ทั้งๆ ที่ก็สีข้าวฟรีเหมือนโรงสีเอกชน และที่สำคัญคือไม่ได้ถอดข้าวชาวบ้านแต่อย่างใด


 


เมื่อฟังเหตุผลที่ชาวบ้านไม่มาใช้บริการสีข้าวในโรงสีชุมชนจากคณะกรรมการโรงสี พบว่า :


1)      ชาวบ้าน "ติดสุข" รักสบาย เพราะโรงสีเอกชนมีบริการลากข้าวจากบ้าน-โรงสี รับ-ส่งฟรี ชาวบ้านไม่ต้อง "เมื่อยตุ้ม" เอาข้าวขึ้นรถ "อีโก้ง" เอง


2)      ชาวบ้านไปกู้เงินเถ้าแก่โรงสีมา ถ้าไม่เอาข้าวไปสีที่เขา ต่อไปจะไปกู้เงินเขาก็ไม่ได้อีก


 


แต่เมื่อฟังเหตุผลจากชาวบ้านแล้วพบว่า :


1)      (ชาวบ้าน) เฮาลากข้าวไปสีหลายครั้งแล้ว ไม่ค่อยจะมีคนสีอยู่ที่โรงสี ลากไปเก้อ ต้องลากกลับ


2)      สงสัยจะเป็นโรงสีของ "ลุงโก๋" (นามสมมติ) คนนั้นแต่เพียงผู้เดียว ไม่รู้ว่ากำไรจากการขายรำและปลายข้าวเอาเข้าโรงสีแค่ไหนก็ไม่รู้


 


เมื่อคณะกรรมการฟังเหตุผลของชาวบ้านแล้วตอบว่า


1)       (คนเฝ้าโรงสี)ใครจะไปนอนคอยให้ชาวบ้านมาสีข้าวตลอดเวลา ต้องไปทำมาหากินบ้าง บางวันคนมาสีข้าวแค่ 2 ราย ไม่คุ้มกับค่าแรงที่ได้รับ (ค่าแรงหักจากจำนวนข้าวเปลือกที่มาสี)


2)       เรื่องเงินนี่เรา (ประธานกลุ่มโรงสี) ไม่ได้ยักยอกเข้ากระเป๋าตัวเองแน่นอน แต่ว่าเราไม่ได้ทำบัญชี เพราะทำไม่เป็น อีกอย่างคือขายรำขายปลายข้าวให้คนอื่นแล้ว เขาไม่ยอมใช้หนี้พวกเรา (ตั้งหลายหมื่นบาท) ซักที โดยเฉพาะเกษตรตำบล มาเอารำและปลายข้าวของเราไปหลายครั้ง ตอนหลังย้ายไปอยู่อำเภออื่นก็หายเงียบจ้อย...


 


โอ้แม่เจ้า...โรงสีชุมชนเจ๊งกันง่ายๆ ด้วยเรื่องการบริหารจัดการเพียงแค่นี้หรือ? แต่กระนั้นชาวบ้านทุกฝ่ายก็ไม่เคยได้มีโอกาสหันหน้าคุยกันเลย เรื่องแบบนี้มีทางออกถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและยอมฟังเหตุผลของแต่ละคน และเป็นทางออกที่เกี่ยวข้องกับการหันหน้าเข้าหากันโดยแท้ น่าแปลกไหมที่ในชุมชนไม่ค่อยหันหน้าคุยกัน แต่ต่างคนต่าง (นินทา) โทษกันคนละทีสองที


 


ดังนั้น เมื่อพวกเราจัดให้ทุกฝ่ายมาคุยกันและวิเคราะห์สาเหตุอย่างรอบด้านแล้ว พบว่า


1)      เรื่องชาวบ้านติดสุข รักสบายนั้นแทบจะไม่จริง ความจริงคือชาวบ้านลากข้าวไปสี แต่ไม่มีคนสีให้ เพราะคนสีข้าวนั่งๆ นอนๆ รอชาวบ้านไปสีแล้วได้ค่าแรงจากการหักจากจำนวนข้าวเปลือกที่มาสีนั้นไม่คุ้ม เรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มค่าแรง แต่ต้องฝึกให้คณะกรรมการจำนวน 10 คนที่มีบ้านอยู่ใกล้โรงสีให้สีข้าวเป็น เพื่อจะได้เป็น "ตัวตาย ตัวแทน" ของคนสีข้าวประจำ ชาวบ้านจะได้ไม่ลากข้าวมาเก้อ


2)      ฝึกคณะกรรมการโรงสี 2 คนมาทำบัญชีที่ชาวบ้านเห็นว่าโปร่งใส ตรวจสอบได้ถึงที่มาที่ไปของเงิน


3)      มีทีมขายรำและปลายข้าวเป็นเงินสด ไม่ขายเชื่อ และเมื่อขายได้แล้วต้องออกใบเสร็จที่มีสำเนาเพื่อให้คนทำบัญชีลงบัญชีได้


4)      ประชุมชาวบ้านในวันทำบุญหลายๆ ครั้งบอกว่า โรงสีจะมีการปรับระบบให้เป็นโรงสีของทุกคน และทุกคนได้ประโยชน์ นอกเหนือจากจะไม่ถูกถอดข้าวแล้ว ถ้ามาสีข้าวบ่อยๆ จะได้คูปองเอาไปจับสลากของรางวัลที่มาจากกำไรของโรงสีด้วย


 


อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่ปรารถนาให้คนที่อ่านบทความนี้เอาทางออกทั้ง 4 ข้อข้างต้นไปแก้ปัญหาโรงสีในที่อื่นๆ  เพราะแต่ละที่มีเงื่อนไข/ปัจจัยที่แตกต่างกัน จึงขอพูดให้เป็นนามธรรมว่า เรื่องนี้แก้ปัญหาได้เพราะ


1)      โดยภารกิจหน้าที่ของโรงสีๆ ก็เป็นประโยชน์ต่อชุมชน "โดยตรง" อย่างเห็นได้ชัด


2)      คณะกรรมการโรงสีเป็นคนคิดดีเพื่อโรงสี ไม่มีการฉ้อโกง (เพียงแต่ทำบัญชีและบริหารจัดการหนี้ไม่เป็นเท่านั้นเอง)


3)      พูดคุยกันและวางระบบบริหารจัดการบนศักยภาพ/เงื่อนไขของชาวบ้านและคณะกรรมการ


4)      ฝึกทักษะในด้านการบริหารของคณะกรรมการที่ยังบกพร่องอยู่ เช่น ทักษะด้านบัญชี และการสีข้าว


 


และแล้วโรงสีชุมชนของหมู่บ้านแห่งนี้ก็อยู่รอดปลอดภัย จนบัดนี้เป็นเวลา 4 ปีแล้ว...