Skip to main content

ชะตากรรมของวิชาชีพแพทย์

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ก่อนที่ระบบการศึกษาและสถาบันการศึกษาแบบสมัยใหม่ ซึ่งได้รับอิทธิพลการจัดการการศึกษา และวิธีคิดมาจากประเทศตะวันตกที่ว่ากันว่าให้ความสำคัญกับเรื่องทางโลกมากกว่ามิติทางจิตวิญญาณ จะแพร่เข้ามาในประเทศไทยนั้น  "ความรู้" และการสร้าง "องค์ความรู้" เป็นสิ่งที่อยู่กับพระ กับวัด


 


วัดเป็นสถาบันฝึกฝนให้คนที่ปวารณาตัวเข้ามาบวชเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ และเป็นสถาบันที่ผลิตสร้าง ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น ความรู้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ


 


นอกจาก "ความรู้" แล้ว สิ่งที่สถาบันวัดเน้นอย่างยิ่งก็คือมิติทางจิตวิญญาณ เรื่องของ "ศีลธรรม" หรือหลักปฏิบัติของการเป็นศาสนิกที่ดี  ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า "ความรู้" กับ "ศีลธรรม" เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ภายใต้วินัยและการฝึกฝนของสถาบันวัดที่เป็นทั้งสถาบันในการศึกษาเล่าเรียน และสถาบันในการกล่อมเกลาทางจิตใจ


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์ความรู้ค่อย ๆ แยกตัวออกห่างจากวัด อีกทั้งมีความเป็นลักษณะเฉพาะทางหรือมีความเป็นเทคนิคมากขึ้น และเคลื่อนมาอยู่กับสถาบันการศึกษาสมัยใหม่อย่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการวิจัยขั้นสูงแทนที่วัด ศีลธรรมและจริยธรรมที่กำกับการใช้ "ความรู้" ก็ถูกแยกออกห่างจาก "ความรู้" มากขึ้นด้วยเช่นกัน และการสร้างองค์ความรู้ก็ถูกผูกขาดโดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสถาบันการศึกษาชั้นสูง


 


หน้าที่ในการสร้างและถ่ายทอดความรู้ของวัดของพระถูกแทนที่ด้วยนักวิชาการในสถาบันการศึกษา  ความรู้ที่ไม่มีหลักศีลธรรม จริยธรรมซึ่งเปรียบเสมือน "วิธีใช้ที่เหมาะสม" ควบคู่กำกับอยู่ด้วย เป็นเหมือนดาบสองคม คมด้านหนึ่งก่อให้เกิดคุณ อีกคมหนึ่งก่อให้เกิดโทษ ขึ้นอยู่กับว่าเวลานำ "ความรู้" ออกมาใช้ปัจเจกบุคคลจะหันคมดาบด้านที่เป็นคุณหรือเป็นโทษของความรู้เข้าฟาดฟันคนอื่น หรือเพื่อนำมาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม


 


 "ความรู้" ในบางเรื่อง เป็น "ความรู้" ในเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างยิ่ง และข้องเกี่ยวกับความเป็นความตายอย่างมาก  เช่น ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้น ความรู้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือความรู้ในทางการแพทย์จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักจริยธรรมหรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า "จรรยาบรรณ" ในการกำกับและกำหนดการใช้ความรู้อย่างใกล้ชิด


 


แต่การมีสำนึกในเรื่อง "จริยธรรม" หรือ "จรรยาบรรณ" ไม่ใช่สิ่งที่สถาบันการศึกษาสมัยใหม่จะสามารถบ่มเพาะปลูกฝังให้แก่ปัจเจกบุคคล นิสิต นักศึกษาได้โดยง่ายแม้ว่าจะมีการบรรจุหลักสูตรสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนก็ตาม


 


ดังนั้น จึงปรากฏข่าวคราวให้ได้อ่าน ได้ฟังอยู่บ่อย ๆ ว่ามีการนำ "ความรู้" แขนงต่าง ๆ ไปใช้ในทางผิด ๆ หรือนำไปก่อให้เกิดโทษ เกิดความเดือดร้อนต่อคนอื่น ๆ เช่น ความรู้ที่สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจรัฐในการตัดสินใจที่จะสร้างหรือไม่สร้างเขื่อน หากนักวิชาการที่ทำการวิจัยในเรื่องนี้ได้ผลการวิจัยออกมาในทำนองที่ว่าการสร้างเขื่อนจะก่อให้เกิดผลกระทบเพียงเล็กน้อยทางสิ่งแวดล้อม หรือทางวัฒนธรรมต่อชุมชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยแม่น้ำ ความเดือดร้อนของคนเล็กคนน้อยที่ไร้อำนาจต่อรองก็จะเกิดขึ้น


 


หรือความรู้ของแพทย์ที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนือง ๆ ซึ่งเป็นประเด็นให้วงการแพทย์ต้องพิจารณาทบทวนตัวเองในเรื่องจรรยาบรรณทางวิชาชีพกันอย่างจริงจัง เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการนำความรู้ทางการแพทย์ไปใช้ "ประกอบธุรกิจ" อย่างไม่คำนึงถึงความเหมาะสมได้สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน ทั้งยังสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการแพทย์อย่างมากอีกด้วย


 


เป็นข่าวปรากฏให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ว่า ความรู้ทางการแพทย์ได้สร้างหายนะให้เกิดขึ้นต่อประชาชนแทบไม่เว้นแต่ละวัน เพราะข้อเท็จจริงก็คือสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐบาลและเอกชนได้ผลิตแพทย์ (ที่บางทีก็ไม่ได้มาตรฐาน) ออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการของสังคม แพทย์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นย่อมมีทั้งแพทย์ที่ดีเพิ่มขึ้นและที่ตรงข้ามเพิ่มขึ้น


 


และนอกจากจำนวนแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ลักษณะความเป็น "เฉพาะทาง" ของแพทย์ก็เพิ่มมากขึ้นด้วยอย่างเหลือเชื่อ เป็นแพทย์เชิงเทคนิคที่มองสิ่งต่าง ๆ แยกย่อยออกเป็นส่วน ๆ โดยไม่ตระหนักถึงความเป็น "องค์รวม" หรือมองไม่เห็น "ชีวิต" ของคนที่ไปรักษา (ช่วยไม่ได้จริง ๆ ที่ผมนึกถึงหมอประเวศ)


 


แพทย์บางคนเอาชื่อและรูปถ่ายตอนรับปริญญาบัตรไปอวดอ้างติดโชว์ไว้ข้างฝาแล้วเปิดคลินิกทิ้งไว้ และให้คนอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ (อาจเป็นพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์) คอยจ่ายยาและทำการรักษาคนไข้แทน ในขณะที่ตนเองไปทำ "ธุรกิจทางการแพทย์" อยู่ที่อื่น


 


ที่ปรากฏเป็นข่าวและเป็นประเด็นวิวาทะระหว่างแพทย์ด้วยกันเอง และระหว่างแพทย์กับสาธารณชน เป็นสิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความฟอนเฟะของวงการแพทย์ที่ถูกปิดบังมาตลอด  เป็นความฟอนเฟะอันเกิดมาจากการมุ่งนำความรู้ทางการแพทย์ไปแสวงหากำไรมากจนละเลย และลืมเรื่องสำนึกในทางจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางวิชาชีพไป


 


เป็นที่น่าสังเกตว่า ความรู้ของแพทย์ในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นความรู้เพื่อการเยียวยารักษาคนไข้แล้ว ยังเป็นความรู้ชนิดที่นำมาใช้เพื่อการเสริมสร้างความสวย ความงาม และการตบแต่งร่างกายให้ดูดีขึ้นตามแบบของความงามในอุดมคติอีกด้วย 


 


ในแง่นี้ แพทย์จึงเป็นเหมือน "ช่างเสริมสวย" ที่ทำหน้าที่ "สร้าง" ความงามให้แก่เรือนร่างส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า (เสริมจมูก ทำตาสองชั้น เหลากราม ทำลักยิ้ม ฯลฯ) หน้าอก ตะโพก ฯลฯ มากกว่าที่จะเป็นผู้ "รักษา"   ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ


 


เมื่อแพทย์เปลี่ยนจากการ "รักษา" มาเป็นการ "เสริมสวย" ความสัมพันธ์และสถานะก็เปลี่ยนไปด้วยคนที่มาหาแพทย์เพื่อ "เสริมสวย" ไม่ใช่ผู้ป่วยหรือคนไข้อีกต่อไป หากแต่เป็น "ลูกค้า" ที่ใช้บริการ และดังนั้นแพทย์ก็ไม่ใช่แพทย์อีกต่อไป หากแต่เป็น "ผู้ให้บริการ" และสิ่งที่ให้บริการคือความรู้และปฏิบัติการที่เกี่ยวกับความงาม มันจึงชัดเจนอย่างยิ่งว่าความรู้ (ทางวิทยาศาสตร์ของแพทย์) เป็นสินค้าหากำไร


 


อย่างไรก็ตาม แพทย์ก็ต่างจากช่างเสริมสวยอย่างสำคัญตรงที่แพทย์มักอ้างถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ที่ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่องหรือแม้แต่นักวิชาการที่เรียนมาทางสาขาอื่นก็คงฟังไม่รู้เรื่อง) ในการ "สร้าง" ความงามให้แก่ประชาชนที่มาใช้บริการ  


 


การอ้างถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของแพทย์ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่ "ความจริง"  อันที่จริงในหลาย ๆ เรื่องจะเรียกว่าเป็น "ความรู้" ก็อาจจะยังไม่ได้ เพราะแพทย์ก็ยังลองผิดลองถูกอยู่ และบางกรณีคนที่เข้าไปใช้บริการก็เป็นเหมือน "สิ่งทดลอง"  ซึ่ง "การทดลอง" ที่ถูกนำมาใช้หากำไรของแพทย์ก็สร้างความวิบัติให้แก่คนดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ


 


วิชาชีพแพทย์ได้รับการเกียรติและการยกย่องจากสังคมอย่างมากเมื่อเทียบกับอีกหลาย ๆ อาชีพ แต่มาในระยะหลัง ๆ วิชาชีพและสถานะของแพทย์เสื่อมเกียรติลงไปอย่างมาก ชะตากรรมของอาชีพแพทย์ก็คงจะเป็นเหมือนกับอีกหลายอาชีพ อาทิ  ครู หรือ  อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่เดินทางไปสู่การสูญสิ้นความน่าเคารพ