Skip to main content

หลวงพ่อ อู อุตตมะ... ลมหายใจของชาวมอญสังขละฯ

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ทุกชุมชนมีผู้นำ...ชาวมอญที่อำเภอสังขละบุรีก็เช่นเดียวกับที่อื่น พวกเขามีผู้นำ


แต่ผู้นำสำหรับคนมอญที่นี่ซึ่งมีอิทธิพล (ในทางจิตใจ) ยิ่งไปกว่าผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนก็คือ  "หลวงพ่ออุตตมะ"


 


เป็นที่รู้กันว่า "มอญ" แต่ดั้งเดิมมาได้ชื่อว่าเคร่งครัดในศาสนาพุทธมากเสียจนแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิต มีความศรัทธาในศาสนาพุทธล้นเหลือเสียจนได้ชื่อว่า "ชาวพุทธที่เคร่งครัดที่สุด" ในอุษาคเนย์


 


มีคำพูดกล่าวไว้ว่า "คนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ (พม่า ลาว ไทย) นั้น ผูกพันกับวัดและศาสนาอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น หากหมู่บ้านไหนนับถือพุทธ ก็จะมีวัดอย่างน้อยหนึ่งแห่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนนั้นเสมอ"


 


ซึ่งก็เป็นจริง เพราะดูเหมือนสังคมเดียวที่ผมพบว่าชุมชมแยกกับวัดอย่างชัดเจนก็คือบางแห่งของกรุงเทพฯ นี่เอง เพราะจากประสบการณ์เดินทางต่างจังหวัดไม่กว่าไกลแค่ไหน หมู่บ้านหนึ่งแห่งจะต้องมีวัดอยู่วัดหนึ่งเสมอ


 


เป็นของคู่กันที่ขาดกันไม่ได้...


 


 


 



ภาพหลวงพ่ออุตตมะจาก www.siristore.com/ Products/Chakthee_1.asp


 


1


 


คำกล่าวนี้ยังเป็นความจริงสำหรับคนมอญสังขละบุรี...แม้จะพลัดบ้านจากเมืองมา 


 


ด้วยหลวงพ่ออุตตมะและวัดวังก์วิเวการามไม่เพียงเป็นศูนย์รวมของชุมชนมอญที่นี่ หากแต่ยังเป็นศูนย์กลางจิตใจและศรัทธาของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่มาตั้งรกรากใกล้เคียงด้วยโดยที่เขตแดนไม่สามารถขวางกั้นแต่อย่างใด


 


หลวงพ่อเชื่อมระหว่างคนมอญ ไทย กะเหรี่ยงและทางราชการไทยกรณีปัญหาต่างๆ ให้ประนีประนอมกันมาตลอด ขณะเดียวกันก็พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้าน จากรูปธรรมคือสิ่งก่อสร้างสาธารณประโยชน์ต่างๆ และนามธรรมคืออุปการะกับเด็กๆ ชาวมอญที่ขาดโอกาสทางการศึกษาด้วยการให้ทุนและสร้างโรงเรียนในพื้นที่


 


ความดีทั้งหมดที่ท่านทำ เป็นผลให้วันคล้ายวันเกิดของท่านคือ 16 มีนาคมของทุกปี อำเภอสังขละบุรีจะเกิดมหกรรมขนาดใหญ่เพราะผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมามืดฟ้ามัวดินเพื่ออวยชัยให้พรหลวงพ่ออย่างไม่กลัวเหยียบกันตาย โดยเป็นการมาแบบไม่แบ่งเชื้อชาติความศรัทธา ด้วยปรากฏว่ามี มอญ กะเหรี่ยง ไทย ฯลฯ ตามแนวชายแดนเดินทางเข้ามาจุดหมายเดียวกัน คือ วัดวังก์วิเวการามอย่างคึกคัก


 


วันนั้นยังมีการแสดงประเพณีมอญที่สำคัญซึ่งเท่ากับงานประจำปีของหลวงพ่อยังเป็นตัวช่วยในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของคนมอญไม่ให้สูญหายไปอีกด้วย


 


เพราะกล่าวได้ว่าทุกคนในหมู่บ้านเตรียมตัวเตรียมใจกันไม่น้อยกว่า 3 เดือนเพื่อวันนี้…


 


ช่วงก่อนงานวันเกิดหลวงพ่อเมื่อ 2 ปีก่อน ผมมีโอกาสเข้าไปในหมู่บ้าน เห็นบ้านหลังหนึ่งซ้อมรำ "ทะแยมอญ" อย่างขะมักเขม้น โดยให้เด็กๆ แต่งตัวเป็นหงส์และสัตว์ในป่าหิมพานต์ ก่อนการแสดงจะมีการไหว้ครู ซึ่งไม่ต่างจากลิเกไทยสักเท่าไร เครื่องดนตรีที่ประกอบก็มีจะเข้ (กยำ) ซอสามสาย (กะโหร่) ขลุ่ย (หะลด) กลองมอญ (หะเปิ้น) และฉิ่ง (หะดิ)


 


ไม่ต่างกับอีกหลายหลังคาเรือนที่บรรดาชาวมอญต่างเตรียมการในส่วนของตนและรอวันงานด้วยความอิ่มเอิบในบุญที่ตนเองจะได้ทำเพื่อหลวงพ่อ


 


2


 


หลวงพ่ออุตตมะเป็นใคร?


หลวงพ่ออุตตมะหรือพระราชอุดมมงคล นามเดิมท่านชื่อ "เอหม่อง" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "อุตตมะ" ตามพยางค์ต้นของฉายา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2453 ที่บ้านเมาะกะเนียง ตำบลเกสาละ อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง จังหวัดซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงของชาวมอญ (เพราะที่นี่มีคนเชื้อสายมอญมากที่สุดในพม่า)


 


เอหม่องอุปสมบทเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2476 ที่วัดเกสาละในหมู่บ้าน ซึ่งช่วงที่บวชนั้นรัฐมอญและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ยังไม่ได้มีการสู้รบกับทหารพม่าเหมือนเช่นทุกวันนี้ เนื่องมาจากในขณะนั้นพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ


 


บวชต่อมาได้สักพักก็ได้รับฉายาว่า "อุตฺมรัมฺโภ" แปลว่า "ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด" ด้วยวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดและแตกฉานในพระธรรมคำสอนของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า


 


และในที่สุด สถานการณ์การเมืองในพม่าก็ทำให้ท่านตัดสินใจลาจากบ้านเกิดมาเมื่อพ.ศ.2491 เดินเท้าฝ่าความยากลำบากรวมไปถึงโจรป่าเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยตั้งใจแน่วแน่จะหลีกหนีความวุ่นวายจากกองกำลังต่างๆ ในพม่าที่ทำการสู้รบกันอย่างหนักหน่วงเพื่อเข้าสู่ทางธรรม


 


2491...เป็นปีที่พม่าประกาศเอกราช แต่ก็แน่นอนว่ามีกองกำลังชนกลุ่มน้อยบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการที่จะเอาเขตแดนของไปรวมกับสหภาพพม่าตามคำขอจากท่านนายพลอองซาน ผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่า ที่ต้องการให้ชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มรวมกันต่อรองกับอังกฤษผ่านสนธิสัญญา "เวียงปางหลวง" หรือที่เรารู้จักกันในแบบเรียนว่า "ปางโหลง" นั่นเอง (เพราะทำขึ้นที่เมืองปางหลวง) ตกลงกันว่าชนกลุ่มน้อยมีสิทธิในการเลือกจะรวมกับพม่าหรือแยกไปเป็นเอกราชหลังจากเวลา 10 ปีนับแต่วันประกาศอิสรภาพได้ผ่านพ้นไป


 


ซึ่งในเวลาต่อมาสัญญานี้ถูกฉีก เมื่อนายพลอองซานถูกลอบยิงเสียชีวิต กลายเป็นแผลทางประวัติศาสตร์ที่กลัดหนองจนถึงทุกวันนี้ระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยทั่วประเทศที่ยังคงสู้รบกันไม่หยุดหย่อน


 


แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หลวงพ่ออุตตมะต้องการแสวงทางสงบ ไม่สนใจการสู้รบกับใคร ท่านตัดสินใจมาเมืองไทย แม้จะรู้ดีว่าการข้ามแดนต้องฝ่าอุปสรรคยากลำบากอย่างสาหัสก็ตาม


 


และภายหลังไม่กี่ปี...เส้นทางแห่งชะตากรรมก็นำท่านมาพบกับชาวมอญบ้านจากเดียวกันที่อพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนเข้ามายังกาญจนบุรี


 


ในที่สุดสยามก็ยังเป็นที่พึ่งพิงของคนมอญกลุ่มนี้เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของพวกเขาในอดีต


 


หลวงพ่ออุตตมะร่วมกับชาวมอญสร้างหมู่บ้านเหนือบริเวณอำเภอสังขละบุรีเดิม (ปัจจุบันนี้ตัวอำเภอสังขละเดิมและหมู่บ้านมอญเดิมถูกน้ำท่วมกลายเป็นเมืองบาดาล UNSEEN IN THAILANDเรียบร้อยแล้ว โดยหมู่บ้านมอญและวัดวังก์ที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นการสร้างใหม่ช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา) โดยประสานทางการไทยซึ่งก็นับถือหลวงพ่อขออนุญาตให้ชาวมอญได้อยู่เพื่อหลบภัยจากพม่า


 


ซึ่งเมื่ออยู่ที่นี่ หลวงพ่อก็ไม่ได้ต้องการให้คนมอญเป็นภาระ พยายามสอนลูกหลานมอญทุกรุ่นให้ปฏิบัติตัวในศีลในธรรม เป็นธุระแทนทางการดูแลคนมอญทั้งหมดด้วยตัวท่านเอง และยังมีส่วนในการช่วยพัฒนาตัวอำเภอสังขละบุรีอีกด้วย


 


ตราบถึงปัจจุบันที่ท่านมีปัญหาสุขภาพต้องเข้ามารับการรักษาอาการอาพาธที่กรุงเทพฯ บ่อยๆ


 


 


3


สำหรับคนมอญสังขละบุรี หลวงพ่ออุตตมะไม่ต่างจาก "พ่อ"...


เพราะนอกจากปกป้อง ท่านยังให้การศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดี


 


ไม่เกินไปนักที่ชาวมอญสังขละบางคนกล่าวว่า "หมู่บ้านมอญที่นี่อยู่ได้ด้วยบารมีของหลวงพ่ออุตตมะ" สะท้อนถึงความผูกพันทางจิตใจ ระหว่างคนมอญที่นี่กับ "ศาสนาพุทธ" ซึ่งมีหลวงพ่ออุตตมะเป็นสื่อกลางได้เป็นอย่างดี


 


ปัจจุบันหลวงพ่อมีอายุถึง 95 ปีแล้ว  ท่ามกลางความกังวลของชาวมอญที่รักเคารพท่านถึงปัญหาสุขภาพที่หลวงพ่อประสบช่วงหลายปีให้หลัง


 


แน่นอน รวมถึงชะตากรรมที่ไม่แน่นอนของชาวมอญสังขละบุรีซึ่งเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ã


 



 เด็กชาวมอญรุ่นใหม่ที่อนาคตของพวกเขายังคงเป็นปริศนา