Skip to main content

"ความตายหลายระดับ" ที่ตันหยงลิมอร์

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


-๑-


 


ด้วยสามัญสำนึกของผู้มีใจเป็นธรรมแล้ว ย่อมเป็นที่แน่ชัด ว่าการฆ่า เรือตรีวินัย นาคคะบุตร และ จ่าเอกคำทอน ทองเอียด เมื่อบ่ายวันที่ ๒๑กันยายน ๒๕๔๘ ที่บ้านตันหยงลิมอร์ เป็นเรื่องที่ต้องประณาม และเจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง จะต้องเร่งรัดหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย "ให้ได้" และ "ให้ถึงที่สุด" โดยเร็ว


 


แต่ขณะเดียวกัน ในฐานะ "ศาสนิกชน" ไม่ว่าจะ นับถือ-ศรัทธา ในศาสนาหรือความเชื่อใดๆ ย่อมต้องเตือน "ตนเอง" กันเสียในเบื้องต้น ว่าจะต้อง "เกี่ยวข้อง" กับเหตุการณ์นี้ ด้วย สติ, ปัญญา, สัมปชัญญะ และสมาธิ ที่ประกอบไปด้วย ความเมตตา และกรุณา เป็นที่ตั้ง อย่าง "ลึกซึ้ง" และ "แยบคาย" ไม่ว่าในศาสนานั้นๆ จะมี "ศัพท์บัญญัติ" เรียก "ถ้อยคำ" ดังกล่าวนั้นว่าอย่างไรก็ตาม


 


แน่นอนล่ะ ว่า "ความตาย" และ "ความสูญเสีย" เป็นเหตุอันนำมาซึ่ง "ความทุกข์โศก" และ "ปวดร้าว" ของผู้ที่รับรู้และเกี่ยวข้อง แต่อีกด้านหนึ่ง และน่าจะเป็นด้านที่สำคัญอยู่ไม่น้อย ก็คือ เราจะ "เรียนรู้" และ "สรุปบทเรียน" ของสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ตลอดจน เราจะฝ่าข้าม หรือผ่านพ้น "วิกฤติ" เช่นนั้นไปได้อย่างไร


 


เพราะความ "ปวดร้าว" หรือ "สูญเสีย" เป็นความ "รู้สึก" ที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะผ่านไป  "ผล" ต่างหากเล่าที่จะเหลืออยู่ และเราต่างหากเล่า ที่จะเป็นผู้แปรเปลี่ยนให้เป็นสิ่งใด


 


...เป็น "สีขาว" ของสันติ ทั้งในใจตนเองและผู้อื่น


หรือเป็น "สีดำ" ของความโหดร้ายและรุนแรง ของความ อาฆาต-พยาบาท และปรารถนาเพียงการล้างแค้น หรือ "เอาคืน" ให้ได้ ในลักษณะตาต่อตา-ฟันต่อฟัน


อย่างที่ "บางคน" หรือ "หลายคน" กำลังอยากให้เป็น...


 


-๒-


 


ไม่ว่า การกราดยิงเข้าไปในร้านน้ำชาเมื่อเวลาสองทุ่มเศษของคืนวันที่ ๒๐ กันยา การจับตัวนายทหารนาวิกโยธินไว้เป็นตัวประกัน การชุมนุมของชาวบ้าน การตั้งเครื่องกีดขวางและกำแพงมนุษย์ การเรียกร้องสื่อให้มวลชนมาเลเซียเข้ามาทำข่าว และสืบเนื่องมาเป็น การทำร้าย หรือสังหารนายทหารทั้ง ๒ นาย ในบ่ายวันรุ่งขึ้น  จะเป็นเหตุการณ์ที่ผันแปรไปเองด้วย เหตุ-ปัจจัย ต่างๆ หรือจะเป็นเพราะการสร้างสถานการณ์ของผู้ไม่ประสงค์ดีก็ตาม


 


แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ "ยุติลงชั่วขณะ" ด้วยความสูญเสียและเศร้าสลด จนอาจจะนำมาซึ่งผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อสถานการณ์ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายภาคใต้ อย่างยากที่จะคาดการณ์ได้ ทั้งในปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต


 


กล่าวคือ นี่มิใช่เป็นเพียงการสังหารนายทหาร ๒ นาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติในสงคราม หรือในการทำหน้าที่สู้รบของคนอาชีพนี้โดยทั่วไป เท่านั้น แต่เหตุการณ์ครั้งนี้กลับชักจูงและกระตุ้นเร้าให้ชาวบ้านธรรมดา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็กกับวัยรุ่นให้เข้ามา "เผชิญหน้า" กับรัฐและอำนาจรัฐ ตลอดจนกองกำลังติดอาวุธของรัฐ ภายใต้กฎหมายฉบับพิเศษ และสถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตและเลือดเนื้อ


 


มิหนำซ้ำ ยังมีการเผชิญหน้าและการแสดงปฏิกิริยาต่อสื่อมวลชนไทย ด้วยการประกาศไม่ต้อนรับ(จนกว่าจะมีสื่อมวลชนมาเลเซียเข้ามาร่วมทำข่าวด้วย)


 


อีกทั้งยังแสดงท่าที "ไม่ไยดี" ต่อการเจรจาของตัวแทนรัฐไทย ซึ่งประกอบไปด้วยนายทหารระดับสูง ข้าราชการพลเรือนระดับผู้ว่าราชการจังหวัด และนักการเมืองระดับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนร่วมภาษา ร่วมศาสนา และร่วมภูมิลำเนากับชาวบ้านตันหยงลิมอร์


 


นี่นับว่าเป็น "เรื่องใหญ่" และ "ร้ายแรงยิ่ง" ไม่ว่าจะมองในแง่ผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันสุขสงบและเรียบง่ายของศาสนิกชนผู้เคร่งครัดในถิ่นนั้น หรือมองในมุมความมั่นคงของรัฐและการรักษาอธิปไตยเหนือดินแดน หรือกระทั่งจะมองในแง่มุมของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่ออำนาจรัฐ ไม่ว่าจะในฐานะนักรบศาสนาในสงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือยุทธวิธีการรบของกองกำลังที่ปรารถนาการแบ่งแยกดินแดน ก็ตามที


 


เพราะหากสิ่งที่ปรากฏในรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยไม่ "บิดเบือน" (ดังที่ชาวบ้านที่นั่นตั้งข้อสังเกต) จะพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ซึ่งมีทั้งกำลังและอาวุธเหนือกว่าชาวบ้านอย่างเทียบกันไม่ได้) ต่างสงบและสงวนท่าทีอยู่ในที่ตั้ง และมีความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ตึงเครียดได้อย่างประสงค์สันติและน่ายกย่อง


 


ซึ่งหากมองในทางการเมือง และอาศัยสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ เพื่อช่วงชิงความชอบธรรม (อย่างที่จำเป็นต้องยอมสูญเสียหรือจำหน่าย ๒ ชีวิตของผู้จากไป)ทางการยุทธ์แล้ว  สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมหมายถึง ความเข้มแข็งกว่าของเจ้าหน้าที่รัฐ และความอ่อนด้อยและไร้เดียงสาของฝ่ายก่อความไม่สงบโดยแท้


 


เพราะการสังหารนาวิกโยธินทั้ง ๒ นาย จะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการล้อมปราบ และการโหมใช้กำลังคนกำลังอาวุธเข้าไปในพื้นที่ ๓ จังหวัดอีกมากต่อมาก มิหนำซ้ำ ความตายของนายทหารทั้ง ๒ คน ซึ่งตกอยู่ในฐานะตัวประกัน หรืออยู่ในฐานะเชลย จากการถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ย่อมส่งผลสะเทือนทางจิตใจต่อผู้ติดตามข่าวสารนี้อีกเป็นจำนวนมาก


 


และโดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณชนแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อความรู้สึกของผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ ก็ตามที


 


-๓-


 


คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และคงเป็นที่ยอมรับกันแล้วในระดับกว้าง ว่าอาณาจักรไทย อาทิ อยุธยา รัตนโกสินทร์ ในอดีตที่ยาวนานหลายศตวรรษ ได้ก่อกรรมทำเข็ญต่อเมืองขึ้นและประเทศราชหลายต่อหลายอาณาจักรมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการยึดครองพื้นที่และการดูดกลืนทางเศรษฐกิจ การเมือง และทางภาษา-ศาสนา ตลอดจนการแทรกแซงทางวัฒนธรรมและ จารีต-ประเพณี กระทั่งมีการสถาปนารัฐชาติสยาม เป็นพระราชอาณาจักรไทย หรือประเทศไทย ขึ้นในที่สุด


 


สองข้างทางเดินสายประวัติศาสตร์อันต่อเนื่องและยาวนานนั้น เปื้อนเปรอะไปด้วย "รอยเลือดและคราบน้ำตา" มาแล้ว "นับครั้ง" และ "นับรอย" ไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นระยะใกล้หรือระยะไกล  โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่องรอยที่เป็นของ "ไพร่บ้าน-พลเมือง" ซึ่งแทบมิได้มีส่วนในผลประโยชน์ใดๆ มากไปกว่าการตกอยู่ในภาวะ สงบสันติ หรือ มีชีวิตลำเค็ญในยามสงคราม อย่างปราศจาก อิสรภาพ-เสรีภาพใดๆ อย่างแท้จริง มาโดยตลอด


 


ด้วยเหตุที่ "ผลประโยชน์", "กรรมสิทธิ์" และ "อภิสิทธิ์" นานาชนิดและประเภท นั้น ย่อมตกเป็นของผู้มีศักดินา ผู้มีอาวุธ และ/หรือ ผู้มีอำนาจ อย่างหนึ่งอย่างใด มาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ยุค "อำนาจราชศักดิ์" กระทั่งมาเป็น "อำนาจคณาธิปไตย" และ "อำนาจธนาธิปไตย" เช่นในปัจจุบัน


 


นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครศรีธรรมราช นครราชสีมา และอีกหลายต่อหลาย "นคร" ตลอดจนถึงหัวเมือง เช่น พัทลุง สงขลา หรือ ปัตตานี ก็ย่อมเป็นพยานในปรากฏการณ์ที่ว่ามานี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการ เคยถูกเปลี่ยนกษัตริย์ ถูกตัดเฉือนแผ่นดิน ถูกยึด ถูกครอบครอง หรือเคยถูกปองร้ายล้างผลาญทั้งเจ้าทั้งไพร่ ในหลากและหลายรูปแบบ


 


เพียงด้วยเหตุผลหรือยุทธศาสตร์เดียว ว่า..เมื่อที่ใดยอมสยบ เมื่อนั้นจะให้อาศัยอยู่ด้วย อย่างไม่รุกราน...เท่านั้น!


 


แม้บัดนี้ก็มิได้มีความแตกต่างใดๆ ในภาวะของความขัดแย้งและสถานการณ์รุนแรงระดับวิกฤติ ชนิดสามารถบาดเจ็บล้มตายได้ทุกขณะ เพราะ "ความเดือดร้อน" ต่างตกอยู่ในความรับผิดชอบของ "ประชาชน" ทุกหมู่เหล่า นับตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาดไปถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย และ "นักรบ" ประเภท "ไพร่ราบทหารเลว" โดยที่ "คนสร้างสถานการณ์" และ "คนปราบปราม" ใน "ระดับนโยบาย" ล้วนแล้วแต่กระทำการในลักษณะ "คนนอกเวที" หรือเป็นคนที่ "รอกินกำไรขั้นสุดท้าย" แทบทั้งสิ้น


 


จนอาจกล่าวได้ว่า จะเป็น "ผู้ก่อการร้าย" หรือ "ผู้ก่อการดี" ก็สร้างความเดือดร้อนให้ "คนทั่วไป" หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน


 


ทั้งนี้ ยังไม่นับ "คนดู" หรือ "กองเชียร์" ประเภท "นักบริโภคข่าวเอามัน" หรือ "ผู้ร้ายอินเตอร์เน็ต" ที่คอยยุแยงตะแคงรั่ว และเผยแพร่ข้อความ "เสี้ยมเขาให้ชนกัน" อีกมากต่อมากนัก


 


-๔-


 


จะอย่างไรก็ตาม "ความตาย" ที่เกิดขึ้น ณ "ตันหยงลิมอร์" ที่ผ่านมานั้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ย่อมมิใช่เป็นเพียง "ความตาย" ของ เรือตรีวินัย นาคคะบุตร และ จ่าเอกคำทอน ทองเอียด เพียง ๒ ท่าน อย่างแน่นอน หากเป็น "ปรากฏการณ์" ที่ส่อแสดงถึงความสุกงอมของสถานการณ์และ เหตุ-ปัจจัย อื่นๆ อีกหลายระดับ


 


ประการแรก ความเชื่อถือที่มีต่อ "รัฐ" และ "ปฏิบัติการของรัฐ" ได้ตายไปแล้วอย่างสิ้นเชิง จากหัวใจหรือการรับรู้ของชาวบ้าน อย่างน้อยที่สุด ก็คือชาวบ้านในแถบนั้น หรือที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้


 


ประการต่อมา "ความตาย" ในด้านความ เชื่อถือ-ศรัทธา ลักษณะต่อเนื่อง จากที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ บัดนี้ "คนในพื้นที่" ได้แสดงออกอย่างแจ่มชัดแล้วว่า "เจือจาน" มาถึงสื่อมวลชนไทย ผู้ที่จะมากจะน้อย จะเจตนาหรือไม่เจตนา ก็มักอาศัย "แหล่งข่าวภาครัฐ" ในฐานะ "ของตาย" หรือในฐานะ "จำเป็นต้องลงให้" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


 


ประการที่สาม จากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อสายวันที่ ๒๒ กันยายน และเย็นวันที่ ๒๑ ว่า "ทหารทั้งสองนายจะไม่ตายฟรี" และ "ต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะกับผู้ที่กระทำผิดและไม่สามารถสมานฉันท์ได้" ซึ่งเป็น "คนไทยพูดภาษามลายู ถือสองสัญชาติ และบางคนไม่มีสำนึกความเป็นคนไทย" หรือที่ว่าจะ "สั่งการเร่งรัด" ให้เจ้าหน้าที่ทำงานทำให้เต็มที่ อย่าง "ไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใด ผมรับผิดชอบเอง ผมจะดูแลให้"


 


ตลอดจน ถ้าใครทำไม่ทัน "ผมปลดหมด" ซึ่งอาจนับได้ว่า นี่เป็นการส่งสัญญาณในการปฏิบัติ "ขั้นเด็ดขาด" ชนิด "ไม่ประนีประนอม" กันอีกต่อไปแล้ว และอาจเรียกได้ว่า งานด้านสันติวิธีและความสมานฉันท์ อันกำลังถึงทางตันและรอยืนต้นตาย ได้ถูก "ฟางเส้นสุดท้าย" ฝีมือนายกฯ กดทับลงมาจน "ดับดิ้นสิ้นชีวิต" ไปก่อนครบกำหนดจนได้ในที่สุด


 


ประการต่อมา หากบุคคลระดับชาวบ้านหรือผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่อาจ หรือไม่สามารถ อธิบายถึง เหตุและผล ตลอดจน ความเป็นมาเป็นไป ที่สมบูรณ์ชัดเจน ของ "ความตาย" ที่เกิดขึ้นกับนาวิกโยธินทั้ง ๒ นายนี้ได้ และปล่อยให้คนนอกพื้นที่ ตลอดจนบุคคลในภาครัฐ เป็นผู้อธิบายและตีความปรากฏการณ์นี้เพียงด้านเดียวหรือฝ่ายเดียว ก็เป็นที่น่าวิตก ว่าความมีน้ำใจ ความห่วงใย และความเอื้ออาทร ของผู้รักความเป็นธรรมฝ่ายต่างๆ ซึ่งเคยให้กำลังใจ และพยายามเรียนรู้ หรือทำความเข้าใจกับหลายสิ่งหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะต้องป่วยไข้ และอาจล้มตายไปในที่สุดเช่นกัน


 


ประการที่ห้า ทั้งรัฐ ชาวบ้าน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะต้องหาข้อเท็จจริงและหาคำตอบออกมาให้ได้ ว่าการยิงกราดเข้าไปในร้านน้ำชา เมื่อเวลา (ที่ระบุตามข่าวว่า) ประมาณ ๒๐.๓๐ น. เกิดขึ้นโดยใคร และโดยเหตุใด เช่นเดียวกับเหตุผล ของการที่นายทหารนาวิกโยธินทั้ง ๒ นาย ได้เข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุด้วยเครื่องแต่งกายแบบพลเรือน โดยมีอาวุธปืนสงครามเก็บอยู่ในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือการที่ปล่อยให้มีการปล่อย ข่าวลวง-ข่าวลือ ขึ้นในหมู่บ้าน ขณะที่สถานการณ์ยังตึงเครียด โดยไม่มีการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที เป็นที่มาของการแทรกแซงโดยมือที่สาม ซึ่งข่าวระบุว่าเป็นวัยรุ่นคนถิ่นอื่น ที่แอบแฝงเข้ามาฆ่าตัวประกันทั้ง ๒ คน ตลอดจนการที่ "ทุกฝ่าย" จะต้องแสวงหาวิธีการอันเหมาะสม ที่จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาไม่ "ความตาย" ในลักษณาการเช่นนี้ก็จะ "ต้องมี" หรือจะต้อง "เกิดขึ้น" อีก โดยมิอาจป้องกันหรือแก้ไขใดๆ ได้


 


และประการสุดท้าย หากคำแถลงของ พ.อ.(พิเศษ) อภิไชย สว่างภพ ผอ.กองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ที่ว่า


 


 "ยืนยันว่าทหารทั้ง 2 นายเสียชีวิตแล้ว ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้า เพราะความเข้าใจผิด ซึ่งอันตรายกว่าการหลงผิด ขอยืนยันว่าชาวบ้านไม่ปรารถนาให้เกิดเหตุเช่นนี้ แต่มือที่ 3 เป็นกลุ่มวัยรุ่น ไม่รู้ว่ามาจากไหน บุกเข้าไปทำร้ายจนตาย ทุกคนไม่ประสงค์ให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น ซึ่งกองทัพภาคที่ 4 จะพยายามแก้ปัญหานี้ต่อไป"


 


นี้เป็นความสัตย์จริง ที่มิใช่ปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อเอาใจมวลชนในพื้นที่ หรือเป็นแต่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็แสดงให้เห็นว่านายทหารระดับสูงผู้นี้ มีความเข้าใจ"ชาวบ้าน" หรือ "คนพื้นที่" ในระดับหนึ่ง


 


และควรที่เขาจะมีโอกาสเป็นผู้ให้ความคิดเห็นหรือเป็นผู้ชี้แนะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทันทีที่ทำได้ เพื่อเสริมความเข้าใจทำนองนี้ของท่านนายกฯ ให้เพิ่มขึ้น แทนที่จะมัวเสียเวลาแสดงความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด หรือแสดงปะทุอารมณ์ส่วนตัว หรือแก่นแท้จิตใจในส่วนลึก ออกมาสู่สาธารณะ เมื่อมีเหตุการณ์ประเภทนี้เกิดขึ้น โดยที่ท่านมักลืมนึกไปว่า ในฐานะ "นายกรัฐมนตรี" นั้น ถ้อยคำของท่านกล่าวในนามรัฐบาล และในนามของประเทศ ซึ่งหากไม่สามารถประคับประคองอารมณ์ของตนให้มั่นคงได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ย่อมกระทบถึง "ประชาชนทั้งชาติ" และ/หรือ "ผลประโยชน์ของชาติ" อันมีประชาชนเป็น "เจ้าของ" นั่นเอง


 


กล่าวคือ โดยนัยนี้ "ถ้อยคำ" ของนายกรัฐมนตรี ที่ประกอบไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลทั้งหลาย จะเป็นที่มาแห่ง "ความตาย" ของ สันติภาพ ภราดรภาพ และความสมานฉันท์  ทั้งที่มีอยู่แล้ว และกำลังจะมี หรือที่กำลังจะเกิดขึ้น จนได้ในที่สุดนั่นเอง


 


-๕-


 


ด้วยเหตุที่ว่ามาแล้ว ความตายที่ หมู่ ๗ บ้านตันหยงลิมอร์ ตำบลตันหยงลิมอร์ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส นั้น จึงมิใช่มีเพียงนายทหารนาวิกโยธิน ๒ นาย ซึ่งถูกฆ่าตายในวันที่ ๒๑ เพียงฝ่ายเดียว หากยังมีชาวบ้านที่ถูกกราดยิงในร้านน้ำชาเมื่อคืนวันที่ ๒๐ และเสียชีวิตในเวลาต่อมาอีก ๓ ศพ รวมอยู่ด้วย และถ้าไม่เร่ง "ร่วมมือกัน" เพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหาแล้ว ต่อไป ก็น่าเชื่อว่าจะยังมี "ความตาย" อันเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงระหว่างกันและกัน เกิดขึ้นได้อีกมากต่อมาก


 


และนั่นก็คงจะไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดเลย ไม่ว่ากับใคร หรือผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นๆ หรือในสายธารอันยาวไกลแห่งความเป็นมนุษย์ ที่จำต้องหลอมรวมมนุษยภาพไว้ด้วยกันเสมอ อย่างมิอาจแบ่งแยกได้ ไม่ว่าจะยินดีหรือยินยอมหรือไม่ก็ตาม


 


......................  ......................  ......................


 


อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด ด้วยความเป็นนักบวช และความเป็นศาสนิกชน ผู้เขียนขอยืนยันอย่างเป็นส่วนตัวอีกครั้ง ว่าถ้อยคำประเภท


 


 "คนพวกนี้ก็ยังใช้ความโหดเหี้ยมทารุณ ในลักษณะเหมือนกับไม่ใช่มนุษย์ ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นก็ไม่ได้ต่อสู้อะไร และทำร้ายแบบนี้ เราจะไม่ยอมให้ 2 คนนี้ตายฟรีแน่นอน กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ผมสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ภายใต้กฎหมาย จะต้องจับกุมดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด" (อ้างอิงจากบทความของเปลว สีเงินแห่งไทยโพสต์ ฉบับออนไลน์ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๘)


 


นั้น ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อหาเสียง หรือปลุกกระแสรักชาติก็ตาม ไม่น่าจะเป็นแนวทางหรือนโยบาย ที่จะก่อให้เกิด "สันติสุขใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้" ขึ้นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นในบริบทใดๆ ก็ตาม


 


...ไม่พูดเสียเลยยังดีกว่า อย่าพูดให้ "คนอื่น" ต้อง "ตาย" กันอีกหลายต่อหลายชีวิตเลย


 


ขอบิณฑบาตเถอะนะ ท่านนายกรัฐมนตรี...