Skip to main content

ขาย-ขอ-ขู่

คอลัมน์/ชุมชน

ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาแล้ว หากไม่คุยเรื่องเลือกตั้งก็คงเชยแย่ วันนี้เรามาคุยเกี่ยวกับเรื่องเลือกตั้งกันหน่อยดีกว่า แต่ก่อนอื่นผู้เขียนต้องออกตัวก่อนนะว่า ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง แต่ผู้เขียนมองแบบกลาง ๆ เห็นอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมากับประชาธิปไตยใบผุ ๆ ของเรา


เริ่มกันเลยดีกว่า เพราะทุกคนก็คงจะเห็นเหมือน ๆ กัน ไม่ว่าเราจะเดินทางไปไหน ก็มีแต่ป้ายผู้หาเสียงเต็มไปหมดทุกพื้นที่ มันมากมายจนตาลายไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แม้แต่จะนั่งอยู่กับบ้านก็ยังรับไหว้ไม่หวาดไม่ไหว ถือได้ว่าการเลือกตั้งเป็น "เทศกาลการอ่อนน้อมท่อมตัวและเทศกาลประชาธิปไตยเบ่งบาน"


เพราะเดี๋ยวก็มีคนมาเรียกคุณพี่ คนนี้เรียกคุณน้า สารพัดจะเรียก แม้นั่งอยู่ที่บ้านก็รับไหว้กันมือเป็นระวิง (ตอนไม่เลือกตั้ง ไม่เห็นมีใครมาเรียก/มาไหว้) ต่างคนก็ต่างอวดอ้างสรรพคุณสารพัดจะเป็นคนดี ซึ่งมันก็เป็นอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย แตกต่างกันก็ตรงวิธีการหาเสียง


เมื่อก่อนใกล้เลือกตั้ง ชาวบ้านจะรู้ว่าจะได้เงินตุงกระเป๋า บางบ้านบอกว่าน่าจะมีเลือกตั้งบ่อย ๆ จะได้ไม่ต้องทำงาน บ้านไหนมีคนมากก็ได้เป็นกอบเป็นกำ บ้านไหนคนน้อยก็ได้น้อยหน่อย จนมีชาวบ้านหลายคนพูดว่า ตอนเลือกตั้งน่าจะมีลูกสักสิบคน เรียกได้ว่าเป็นช่วงประชาธิปไตยขาย-ซื้อ ต่างคนต่างสมประโยชน์ร่วมกัน ชาวบ้านไม่รู้ว่านักการเมืองจะได้อะไร แต่ที่แน่ ๆ เขาได้เงิน ปัจจุบันกระบวนการหาเสียงเปลี่ยนไป การซื้อเสียงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตอนใกล้เลือกตั้งเหมือนในอดีต


ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติข้อห้ามซื้อสิทธิ/ขายเสียงไว้ในกฎหมายการเลือกตั้ง นักการเมืองก็หันมาใช้วิธีซื้อก่อนเวลา บางรายก็ใช้วิธีลงพื้นที่แจกแหลก ทั้งเสื้อ ทั้งสมุด บางรายหนักขนาดซื้อไม้ช๊อตยุงแจก และอะไรอีกมากมายที่เราคิดไม่ถึงว่า เขาจะแจกก็ยังแจก เรียกว่าทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ใจชาวบ้าน และได้เปรียบคู่แข่ง การลงพื้นที่แจกก่อนเวลาก็เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเลือกตั้ง ที่เป็นผลดีต่อผู้แจกมากที่สุด (กฎหมายทำอะไรไม่ได้)


ปัจจุบันการซื้อเสียงใกล้วันเลือกตั้งลดลงมาก แม้จะมีการซื้ออยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะใช้วิธีหาตัวบุคคลที่ชาวบ้านเกรงอกเกรงใจในแต่ละแวกบ้าน มาเป็นผู้เจรจาขอคะแนน โดยมีเรื่องจูงใจสารพัด และเป็นตัว แทนในการให้คำมั่นสัญญาแทนผู้สมัครว่า ถ้าเลือกคนนี้ จะได้นั่นได้นี่ที่ชาวบ้านอยากได้ทุกอย่าง และชาวบ้านก็ยังเป็นชาวบ้านเหมือนเดิม เขามาซื้อก็ขาย เขามาขอก็ให้


เมื่อนำการเลือกตั้งในอดีตมารวมกับปัจจุบัน ก็ได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยเรามีประชาธิปไตยในรูปแบบ ขายกับขอ


ประชาธิปไตยที่เขียนมาตอนต้นว่าแย่แล้ว การเลือกในปัจจุบันที่กำลังหาเสียงกันอุตลุตอยู่ขณะนี้ แย่หนักกว่าทุกครั้งที่มีมา เพราะการเลือกตั้งยุคนี้ใช้วิธีซื้ออย่างเบ็ดเสร็จเผด็จการ ซื้อโดยไม่มีใครเอาผิดได้ แม้แต่กฎหมายเลือกตั้งก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะการซื้อเสียงเริ่มตั้งแต่นโยบายของรัฐบาล ที่เรียกว่านโยบายประชานิยม ที่ให้ทุกอย่างกับชาวบ้าน ส่งผลกระทบกับอำนาจในการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งเดิมก็มีน้อยอยู่แล้วให้ยิ่งน้อยลงไปอีก


การซื้อเสียง การแจกสิ่งของ รวมถึงการขอเริ่มลดลง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาอย่างน่าตกใจคือการขู่ และการขู่เริ่มตั้งแต่การทำให้ชาวบ้านเคยตัว และคุ้นชินที่จะเป็นผู้รับและผู้ให้ที่รู้ไม่ทัน และการใช้วิธีขู่ว่าจะไม่ให้ในสิ่งที่เคยให้หากไม่เลือกคนที่ตนส่งลงสมัคร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับชาวบ้านมากที่สุด และมีผลในการตัดสินใจเลือกตัวแทนของชาวบ้านมากที่สุดเหมือนกัน


เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน พร้อมให้อำนาจประชาชนในการตัดสินใจเลือกตัวแทนขึ้นไปบริหารประเทศ แต่เมื่อชาวบ้านถูกมอมเมาให้ลุ่มหลงกับสิ่งล่อใจ อำนาจการตัดสินใจจึงถูกแทรกแซง ประชาธิปไตยของประเทศไทยจึงติดอยู่ในวังวน ของการขาย/ขอและข่มขู่ โดยที่ไม่มีใครแก้ไขได้


อนาคตของประเทศจะอยู่ที่ไหน หากประชาชนยังขาดฐานความคิดในการเป็นเจ้าของประเทศ และยอมมอบอำนาจที่มีอยู่ให้กับธุรกิจการเมืองอย่างเช่นปัจจุบัน คราวหน้ามาคุยกันว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้นในชนบท