Skip to main content

ชาวลาหู่ (มูเซอ) ผู้รักป่า กับเทพอื่อซา

คอลัมน์/ชุมชน


ชาวลาหู่แห่งลุ่มน้ำแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ได้พิสูจน์ให้ดิฉันและผู้คนที่ไปเยี่ยมเยือน ประจักษ์ชัดว่า ความเชื่อต่อ "อื่อซา" (คือเทวดาหรือพระเจ้าสูงสุดของชาวลาหู่) ว่าเป็นผู้สร้างสิ่งที่ดีงามทั้งหลายในโลก การนับถือผีเจ้าป่า เจ้าเขา และผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นผีที่ดี โดยทำหิ้งบูชาไว้ที่หัวนอนของเจ้าบ้าน ทำให้ชาวลาหู่รักษาต้นไม้ พืชพรรณ แมลงและสัตว์เอาไว้ เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในชุมชนนี้และคนทั่วไป


 


ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวลาหู่สอนลูกหลานว่า "ถ้าจะทำบุญต้องรีบทำโดยรักษาป่า รักษาต้นไม้ไว้ เพราะถ้าต้นไม้พูดได้ จะพูดว่า อย่าฆ่าฉันเลย ฉันก็อยากมีชีวิตอยู่เพื่อจะพบพระเจ้าเหมือนท่าน ท่านต้องใช้ต้นไม้เพื่อเซ่นไหว้พระเจ้า มิฉะนั้นจะไปถึงพระเจ้าไม่ได้  ยามเมื่อพระเจ้าที่แท้จริงเดินทางลงมาถึงโลกมนุษย์แล้ว จะมีแต่พืชพรรณต่าง ๆ และแมลงที่จะน้อมไหว้พระเจ้า ดังนั้นชาวลาหู่จึงต้องรักษาป่า รักษาต้นไม้ รักษาแมลงและสัตว์ต่างๆ เอาไว้ เพื่อจะได้รู้จักพระเจ้าองค์จริงโดยไม่ต้องไปเชื่อพระเจ้าของศาสนาอื่นที่มีอยู่มากมายในโลก แม้ถอนเส้นผมบูชาพระเจ้าองค์ละเส้น จนผมหมดหัวก็ไม่ใช่พระเจ้าองค์จริง"


 


คุณสุพจน์ หลี่จา เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีความผูกพันกับชาวลาหู่มานาน ได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง "ภูมิปัญญาของลาหู่ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ"  โดยทำกรณีศึกษาที่บ้านลาหู่แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตป่าต้นน้ำแม่จัน เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ของคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA)     


 


ซึ่งดิฉันเองขอแสดงความชื่นชมคุณสุพจน์และอาจารย์ที่ปรึกษา คือ ดร.สุพรรณี  ไชยอำพร ที่ใช้หลักวิชาการวิจัย ศึกษาภูมิปัญญาของชาวลาหู่ เพื่อเผยแพร่ให้สังคมเข้าใจ ทั้งยังเสนอให้รัฐออกกฎหมายรับรองสิทธิมนุษยชนในการจัดการทรัพยากรตามมาตรา ๔๖ ของรัฐธรรมนูญ กับมาตรา ๕๖ ที่กำหนดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ  ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน เพราะมีบทพิสูจน์ศักยภาพของชุมชนที่ทำดีได้จริง ๆ เป็นเครื่องยืนยัน


 


หมู่บ้านแสนใหม่กับบ้านจะกอนะ เป็นชาวลาหู่ยี (มูเซอแดง) และเป็นเครือญาติกัน ตั้งถิ่นฐานมาไม่น้อยกว่า ๔๐ – ๕๐ ปีแล้ว ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เป็นหมู่บ้านที่มีวิถีชีวิตผูกพัน พึ่งพาป่า ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทำการเกษตรเพื่อยังชีพและหาพืชผัก ผลไม้จากป่าได้ตลอดปี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านแสนใหม่ มีรายได้หลักจากการหาของป่า คือลูกก่อ ([1])



หน่อไม้ และดอกไม้กวาด ชาวบ้านจึงรักษาป่าไว้อย่างดีถึง ๔–๕พันไร่ โดยผืนป่าของบ้านจะกอนะกับจะบูสี เป็นเขตติดต่อกัน จึงร่วมกันรักษาตลอดมา


 


พื้นที่ป่าของหมู่บ้านแสนใหม่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มากกว่าบ้านจะกอนะ (ประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร) ป่าบ้านแสนใหม่มีต้นก่อแป้นมากนับพันต้น สลับกับป่าสนและไม้ชนิดอื่น ๆ มากมาย เมื่อ พ.. ๒๕๓๘ – ๒๕๔๐ ชาวบ้านแสนใหม่ได้ร่วมโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ  โดยทุนของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจำนวน ๓,๐๐๐ไร่   โดยมีระบบการจัดการที่ดี ทั้งการทำแนวกันไฟยาวถึง ๑๕ กิโลเมตร มีการจัดเวรยามดูแลป้องกันไฟป่าในช่วงเดือนมกราคม -  เมษายนของทุกปี บ้านแสนใหม่และบ้านจะกอนะจึงมีไฟลามเข้าป่าน้อยมาก นับเป็นผลงานเด่น เป็นแบบอย่างของชุมชนที่อยู่กับป่าทั้งหลาย  หากเกิดไฟขึ้นในบริเวณที่ดูแลอยู่ ชาวบ้านจะไปช่วยกันดับทุกครั้ง


 


                                   


 


ผู้สอนศาสนาของชาวลาหู่ คือ ตูบูกับลาส่อ โดยตูบูทำหน้าที่เหมือนผู้ติดต่อกับเทวดา (อื่อซา) บ้านของตูบูมีสัญลักษณ์คือธงขาวประดับไว้เห็นชัดเจนและมีห้องบูชาอื่อซา ซึ่งชาวบ้านจะนำเครื่องเซ่นไหว้มาถวายในช่วงเทศกาลสำคัญคือช่วงปีใหม่ (ตรุษจีน)     ช่วงวันศีลแรม ๑๕ ค่ำ ส่วนลาส่อทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำการประกอบพิธีกรรมและสอนการทำเครื่องเซ่นไหว้ในการ ประกอบพิธีดังนั้นหมู่บ้านที่มีทั้งลาส่อและตูบู จึงถือเป็นหมู่บ้านที่สมบูรณ์ในการสืบทอดภูมิปัญญาด้านมิติทางจิตวิญญาณ


 


เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ชาวลาหู่ยี (มูเซอแดง) จากประมาณ ๔๐ หมู่บ้านมาประชุมเพื่อทบทวนหลักคำสอนและจัดการระบบสืบทอดความเคารพนับถือเทพอื่อซา ที่ประชุมกำหนดให้มีเครื่องแต่งกายเฉพาะของตูบู และลาส่อ เป็นเสื้อคลุมยาวสีขาว ประดับด้วยแถบสีเหลือง สวมกับกางเกงสีขาว เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของผู้สืบทอดคำสอน อื่อซาและผู้สื่อสารกับเทพอื่อซากับเทวดาต่าง ๆ ได้ และมีการประชุมใหญ่ ๑ – ๒ ปีต่อครั้ง


 


เพราะปัญหาที่ถูกศาสนาและลัทธิความชื่ออื่น ๆ เข้ามาแทรกแซงมาก จนแม้ตูบูลาส่อ คนสำคัญบางส่วนก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความเชื่อความเคารพ ความผูกพันที่มีต่อป่าไม้ และสรรพสัตว์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เด็กรุ่นใหม่สับสนไม่รู้ว่าจะเชื่ออะไรดี


 


สังคมของมูเซอแดงเป็นสังคมที่บทบาทหญิงชายเสมอภาคกัน สามีภรรยาจะช่วยกันเลี้ยงลูก ช่วยกันทำไร่ หาฟืน ตักน้ำ ตำข้าว ทำอาหาร โดยไม่ได้แยกว่าบทบาทในบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิง บทบาทการติดต่อกับสังคมภายนอกเป็นของชาย หญิงลาหู่จึงมีบทบาททุกด้าน คือ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ธรรมชาติ


 


ในวงเต้นรำเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ หญิงลาหู่เป็นผู้สามารถเล่นดนตรีได้ทุกชนิดเหมือนผู้ชาย ทั้งเป่าแคนน้ำเต้า ตีกลองยาว ตีฉาบ ในขณะที่ชนบางเผ่า หญิงเป็นผู้ร่วมเต้นรำหรือร้องเพลงได้ แต่ไม่สามารถเล่นดนตรี ซึ่งเป็นการนำวงเต้นรำได้เหมือนผู้ชาย


 


                                    


 


หญิงลาหู่ทำหน้าที่สืบทอดภูมิปัญญาด้านจิตวิญญาณได้ควบคู่กับชาย มีตำแหน่ง "แมบูมา" ผู้สั่งสอนให้ลูกหลานทำความดีตามคำสอนของเทพอื่อซา เมื่อมีงานพิธีสำคัญในหมู่บ้าน เช่น งานกินข้าวใหม่ การทำบุญเรียกขวัญ งานขึ้นปีใหม่ "แมบูมา" จะได้รับเชิญมาทุกครั้ง


 


ภูมิปัญญาของชาวลาหู่ในการจัดการทรัพยากรป่า เป็นหลักสำคัญในการกำหนดวิถีชีวิตให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน สมดุล  โดยผ่านทางพิธีกรรม  และประเพณีต่าง ๆ  เช่น พิธี "เซก่อเว" คือการบูชาอื่อซา ด้วยดอกไม้ ทราย น้ำ เป็นการขอขมาต่อแมลง และสัตว์น้อยใหญ่ที่ต้องเสียชีวิตไปในช่วงที่ทำไร่ พิธี "มอเลเว" การบวชป่า พิธี "คะอู้ป่าเตเว" คือการบูชาเทพารักษ์ เป็นต้น


 


พิธีกรรมเหล่านี้ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ ลูกเด็กเล็กแดง คนทุกวัย จะมาร่วมกันด้วยใจที่ผูกพันเป็นหนึ่งเดียว จึงทำให้ครอบครัวและชุมชน อบอุ่น มั่นคง เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจให้เคารพและกตัญญูต่อผู้อาวุโส ต่อบรรพบุรุษ ต่อเทวดาผู้คุ้มครองรักษาธรรมชาติ  ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ และต่อเทพสูงสุด คือ อื่อซา


 


                                      


 


แม้ว่าชาวลาหู่จะมีภูมิปัญญาในการรักษาป่าที่สืบทอดกันมานานอย่างเข้มแข็ง แต่สังคมยุคโลกาภิวัฒน์  บริโภคนิยม ทุนนิยมเสรี ที่คืบคลานเข้ามาทุกรูปแบบ ผ่านถนน ไฟฟ้า ทีวี ซีดี คาราโอเกะ การโฆษณา การค้า การท่องเที่ยว ก็ทำให้มีการหวั่นไหว เปลี่ยนแปลง ในความเชื่อ ค่านิยม วิถีการผลิตทางการเกษตร การบริโภค ที่พึ่งพาตลาดภายนอกมากขึ้น รวมทั้งนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมพืชเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออก การใช้เครื่องจักร ใช้สารเคมีในการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิต บังคับให้ออกผลทุกฤดูกาล และนโยบายส่งเสริมให้แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ทำให้ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ที่เคยเป็นของส่วนรวม เป็นของสาธารณะ ถูกแปลงมาเป็นสมบัติส่วนตัว เป็นภาระหนี้สิน และอาจถูกยึดไปเป็นของนายทุน ผู้มีอำนาจ ในท้ายที่สุด


 


วิทยานิพนธ์ของคุณสุพจน์ เสนอให้องค์กรภาครัฐ สนับสนุนสิทธิชุมชน ในการจัดการดูแลทรัพยากร สนับสนุนให้มีการรวบรวม เผยแพร่องค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากร การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถม การตั้งแผนงานงบประมาณรองรับการดูแลจัดการป่าของชุมชน  และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภูมิปัญญาในการรักษาป่าของชุมชนที่อยู่กับป่า เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีของคนในกรุงผู้อยู่ห่างไกลจากธรรมชาติ ให้เข้าใจพี่น้องร่วมชาติผู้มีชีวิตผูกพันกับป่า


 


ดิฉันหวังว่าคณะกรรมาธิการของรัฐสภาที่กำลังพิจารณาร่าง พ...ป่าชุมชน จะร่วมกันกำหนดเกณฑ์ "เขตอนุรักษ์พิเศษ" ได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง ในวิถีชีวิตของประชาชน ขอให้กฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่เสนอโดยประชาชนจงสัมฤทธิ์ผด้วยความสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภา และประชาชนไทยทั่วประเทศ ที่ตระหนักว่ามนุษย์ต้องมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ จึงจะทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุลอันเอื้อให้มนุษย์และสรรพสัตว์มีชีวิตที่สันติสุขตลอดกาล






[1] คือผลไม้ที่เปลือกมีหนามแข็งต้องทุบเปลือกออกจึงจะพบลูกที่มีเปลือกแข็งอีกชั้นหนึ่งคล้ายลูกเกาลัดหรือลูกนัทต้องเอาไปคั่วให้สุกจึงทุบเปลือกกินเนื้อข้างในมีลูกมากในช่วงกลางจนถึงปลายฤดูฝน ต้นก่อจะขึ้นบนพื้นที่สูงมากกว่าพันเมตรขึ้นไป