Skip to main content

อภิปรายทั้งน้ำตา : ตอน ๑

 


 


 


ตอน ๑


 


ท่านประธานที่เคารพ ผมไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดภูเก็ต  ขออภิปรายไม่เห็นด้วยกับงบประมาณประจำปี ๒๔๔๙


 


เหตุผลก็เพราะรัฐบาลปิดหูปิดตาประชาชน


 


ท่านประธานครับ ปกติการอภิปรายงบประมาณประจำปีของวุฒิสภาตลอด ๔ ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีครั้งไหนที่จะไม่มีการถ่ายทอดสดจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐ เมื่อก่อนมีสองช่องคือช่อง ๙ และช่อง ๑๑


 


ตอนนี้ช่อง ๙ ก็แปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วถือว่ามีเพียงช่องเดียวที่เหลือ คือช่อง ๑๑  รัฐบาลก็ไม่ให้ถ่ายทอดอีก ระยะนี้มีข่าวตลอดว่ารัฐบาลปิดกั้นการให้ความคิดเห็น  ปิดกั้นสื่อ รายการไหนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล รัฐบาลก็จะปิด 


 


วันนี้ก็เป็นวันสำคัญยิ่งของวุฒิสภา  เป็นวันที่ตัวแทนประชาชนจะแสดงความเห็นต่อรัฐบาลให้แก้ไข สะท้อนภาพที่แท้จริง  ในประเทศที่มีอารยธรรม  ให้เกียรติซึ่งกันและกันของอำนาจแห่งประชาธิปไตย คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทุกครั้งที่มีการอภิปรายครั้งสำคัญ เช่นงบประมาณหรือแถลงนโยบายประจำปีจะต้องมีการถ่ายทอด ทีวี แม้กระทั่ง ซีเอ็นเอ็น หรือ บีบีซียังถ่ายทอดเลยครับ


 


รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ ท่านนายกก็ไม่มาสภา ปิดกั้นไม่ให้มีการถ่ายทอดสดของการอภิปรายวุฒิสภา ไม่มีพรรคการเมือง และรัฐบาลก็ไม่ต้องกลัว  ถ้าการอภิปรายผิดก็สามารถใช้สิทธิพาดพิง ใช้สิทธิอภิปรายโดยไม่จำกัดเวลา  พวกเราต่างหากที่ท่านประธานให้พูดแบบมีจำกัดเวลา


 


ท่านประธานครับ กว่าผมจะมาเป็นวุฒิสภา เดินพบชาวบ้านรองเท้าขาดไปสองคู่ เจ็ดเดือนเต็มๆ เดี๋ยวนี้ยังพบปะชาวบ้านอยู่ ก็เพราะต้องการรับฟังปัญหาของเขาแล้วมาพูดในสภา  ถ้ารัฐบาลปิดหูปิดตาประชาชน ผมไม่สามารถรับ และเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ เพราะพี่น้องประชาชนไม่ได้มีสิทธิรับรู้!                              


 


ความจริงแล้ว ผมตั้งใจจะชมท่านนายกฯ หลายเรื่อง เช่น  การใช้งบกลางในการแก้ปัญหาวิกฤติ   ที่อเมริกาเกิดพายุเฮอริเคน แคทรีน่า ประธานาธิบดีกว่าจะส่งรองประธานาธิบดีไปรัฐลุยเซียน่า ใช้เวลาหนึ่งอาทิตย์ ต้องโดนคนด่าถึงจะลงพื้นที่  แต่ของเราตอนเกิดสึนามิ ท่านนายกฯ ลงไปเอง พร้อมมอบรองนายกฯ รักษาพื้นที่ ทุกจังหวัด ในวันแรกของการเกิดภัย


 


เราจึงได้เห็นความร่วมมือที่ดีของทุกฝ่าย จากข้าราชการทหาร ตำรวจ พี่น้องประชาชน  ช่วยกันจนต่างชาติเลื่องลือ  ต่างจากในลุยเซียน่า  ขณะนี้ยังมีภาพที่ทหารต้องถือปืนกวาดล้างอาชญากรอยู่  นั่นหมายถึงการบริหารวิกฤติได้อย่างดีเยี่ยมน่าชม


 


ราคายางบ้านผม ที่ภาคใต้  สูงเป็นประวัติการณ์ เพราะเมื่อก่อนพอน้ำมันขึ้น ผู้ซื้อจากต่างประเทศกดราคายางมาโดยตลอด ต้องบอกความจริงว่า ท่านนายกรัฐมนตรีทำการฮั้วราคาสำเร็จ  เหมือนโอเปกฮั้วน้ำมัน   คือฮั้วผู้ผลิตยางพารา คือไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ทำให้เรากุมการผลิต  นี่ผมปรบมือให้ เพราะผมเห็นท่านนายกฯ ทักษิณบินไปมาเลเซีย แค่ออกข่าวว่าจะฮั้วราคาเป็นหนึ่งเหรียญยูเอส ราคายางก็ขยับไปสี่สิบบาทแล้ว


 


กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร เมื่อก่อนช้าเป็นเรือเกลือพอได้นายกฯ เป็นประธานอะไรๆ ก็ดีขึ้น


ผมก็ต้องชมรัฐบาลพร้อมน้ำตา


 


น้ำตาแรก เป็นน้ำตาแห่งความชอกช้ำใจ 


 


ท่านประธานดูนี่ครับ ขออนุญาตใช้เอกสารประกอบ  นี่คือเป้าภาษี..... ท่านประธานทราบไหมบ้านผมส่งเงินให้รัฐปีละเท่าไร   ปี ๔๖ มีเก็บภาษีได้ ๒,๘๕๗ ล้าน  พอปีที่แล้วเกิดสินามิ ส่งให้รัฐได้เท่าไร ทราบไหม ๔,๓๐๐ ล้านครับ เพิ่มขึ้นถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์   สูงที่สุดในประเทศไทยครับ แม้จะเกิดสึนามิ คนภูเก็ตก็ส่งรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นการเพิ่มสูงที่สุด  เพราะฉะนั้นน้ำตาแรกคือน้ำตาแห่งความช้ำใจ


 


เพราะพอเกิดสึนามิ ธุรกิจทั้งจังหวัดล่มสลาย นักท่องเที่ยวเลือนหาย  แต่สรรพากรยังคงไม่มีวันตาย เก็บภาษีอย่างน่าเศร้าใจ  ปีหน้าผมขอเรียนว่าเป้าภาษีก็ไม่ลดนะครับแม้จะเกิดสึนามิ ตั้งเป้าไว้ ๔,๓๓๔ ล้าน  แต่สรรพากรบอกว่า ท่านจะต้องได้รายได้มากขึ้นกว่าเดิม เมื่อวานตัวเลขของธปท. นักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตลดลงจากปีที่แล้ว ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วทำไมเป้าภาษีไม่ลดให้


   


ท่านประธานเชื่อไหม นักธุรกิจเขาไปลงทุนที่ภูเก็ตไม่จดทะเบียนที่ภูเก็ต เพราะกลัวเสียภาษี กลัวโดนเป้าภาษี คนภูเก็ตก็เลยตกเป็นเหยื่อ เพราะสรรพากรต้องรีดภาษีให้ได้  ห้างใหญ่ๆ โลตัส เซ็นทรัล โรงแรมใหญ่มาเสียภาษีกรุงเทพ  พี่น้องชาวบ้านชาวตลาดสด ทุกแห่งเดือดร้อน เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายสรรพากร  เงินจะจ่ายลูกน้องไม่มี แต่สรรพากรไม่เข้าใจ


 


ท่านประธานครับ คนทำรถเช่า ตามชายหาดบางเทาเอย ป่าตองเอยมาร้องเรียนว่า แย่แล้ว รถเช่าก็โดยสึนามิกวาดไป แต่สรรพากรยังตามเก็บภาษี  ผมไม่โทษสรรพากรจังหวัด ไม่โทษเจ้าหน้าที่ แต่ต้องตำหนิคนตั้งเป้าภาษี  ต้องโทษรัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่ไม่ดูข้อเท็จจริง


 


ตัวอย่างที่สอง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะมีปัญหาความไม่สงบ เป้าภาษีปีหน้า เช่น ที่ยะลา ๔๑๙ ล้านบาท ไม่ลดลงแต่ประการใด   มิน่า ที่ยะลาขณะนี้สรรพากรเดินสายเก็บทุกถนน ทุกหย่อมหญ้า นักธุรกิจเขาไม่รู้จะหารายได้จากไหนมาเสียให้สรรพากรแล้ว


 


เพราะฉะนั้นน้ำตาแรกเป็นน้ำตาแห่งความชอกช้ำใจในการจัดทำงบประมาณ


 


>>อ่านต่อตอน ๒