Skip to main content

เด็กๆ มีสิทธิได้รับการป้องกันมิให้คอหัก

 


 


สำหรับคนที่ดูเคเบิลทีวี   คงจะคุ้นตาสปอตโฆษณาขององค์การยูนิเซฟที่มีข้อความว่าเด็กๆ มีสิทธิได้รับการป้องกันจากนั่นจากนี่ต่างๆ นานา


 


ผมขอเสนอให้เติม "เด็กๆ มีสิทธิได้รับการป้องกันมิให้คอหัก"


 


วันที่ 24 กันยายนเป็นวันมหิดล    วันมหิดลปี พ.ศ.2548 เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของวงการสาธารณสุขโลก     เพราะเป็นวันที่ประเทศไทยห้ามวางบุหรี่ ณ จุดขายเป็นผลสำเร็จ   เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อพอๆ กับเป็นเรื่องน่ายินดี   


 


ไม่น่าเชื่อว่าเราทำได้  น่ายินดีเพราะ "เด็กๆ มีสิทธิได้รับการป้องกันจากควันบุหรี่"


 


เพียงวันเดียวคือวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2548  ประเทศไทยโดยกระทรวงวัฒนาสังคมก็เปิดสนามแข่งมอเตอร์ไซค์บรึ้นๆ ให้เด็กๆ ได้ประลองความเร็วกันอย่างถูกกฎหมาย


 


รัฐบาลนี้ถนัดนักเรื่องทำอะไรต่อมิอะไรให้ถูกกฎหมาย  นำหวยใต้ดินมาไว้บนดิน  คิดเปิดบ่อนพนันถูกกฎหมาย   คิดเอาเหล้าเข้าตลาดหุ้น  คิดเพียงว่าเมื่ออ้างกฎหมายแล้วทุกอย่างก็จะเรียบร้อยตามกฎหมาย


 


ตามข่าวแจ้งว่า เด็กๆ ที่จะลงสนามแข่งขันในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ.2548 นี้ส่วนใหญ่อายุ 15-17 ปี  ความเร็วที่ใช้แข่ง 180-220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ผู้ปกครองต้องลงนามยินยอม และเด็กต้องใส่หมวกกันน็อค


 


ย่อหน้าที่ผ่านมา มีอะไรต่อมิอะไรขัดแย้งกันเอง  คนอายุ 15-17 ปีเป็นเยาวชนที่ยังไม่สามารถรับผิดชอบการกระทำของตนเองได้   แต่ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ทำเหมือนว่าเมื่อลากเอาพ่อแม่มาลงนามยินยอมและสวมหมวกกันน็อคให้ 1 ใบได้แล้ว  เพียงเท่านี้คนอายุ 15-17 ปีก็เติบโตรับผิดชอบผลลัพธ์ของการกระทำได้ทันตา


 


เป็นตรรกะที่บ้าบอคอแตกจริงๆ


 


คนอายุ 15-17 ปีนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ  อันนี้เป็นภาษากฎหมาย  ภาษาจิตวิทยาจะพูดว่าคนอายุ 15-17 ปีนั้นยังไม่มีวุฒิภาวะ  ไม่มีวุฒิภาวะแปลได้หลายอย่าง  อย่างหนึ่งนั้นคือไม่มีความสามารถในการทำนายผลลัพธ์ของการกระทำได้เต็มร้อย  พูดให้สุดโต่งว่าไร้ความสามารถในการทำนายอนาคต


 


เหตุที่คนอายุไม่ครบ 18 ไร้ความสามารถในการทำนายอนาคตเพราะความคิดเชิงนามธรรมหรือที่เรียกว่า abstract thinking ยังพัฒนาไม่เสร็จสมบูรณ์   การคิดเชิงอุปมาอุปมัย  การตั้งสมมติฐาน    หรือการเปรียบเทียบก็ทำได้ไม่เต็มที่   จึงไม่สามารถคิดไกลได้


 


คนอายุไม่ครบ 18 ยังคิดเป็นท่อนๆ และเป็นก้อนๆ เสียมาก   ดังที่เรียกว่า concrete thinking  รู้แค่ว่าขับรถเร็วสนุก   แต่ไม่รู้ว่าแล้วไงต่อ   รู้แค่ว่าขับรถเร็วเท่   แต่ไม่รู้ว่าแล้วไงต่อ    รู้แค่ว่าดัดแปลงท่อไอเสียอย่างไรถึงจะดัง   แต่ก็ไม่รู้ว่าไงต่อ     รวมทั้งรู้ว่าพ่อแม่เซ็นยินยอมแล้วแข่งได้   แต่ก็คิดไม่ได้ว่ายังไงต่อ   และรู้ว่าใส่หมวกกันน็อคป้องกันหัวกระแทกพื้นได้   แต่ก็รู้เท่าที่เขาบอกมา   ไม่รู้ว่ายังไงต่ออีกเหมือนกัน


 


เมื่อครั้งที่ผมทำงานอยู่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล  ผมเห็นเด็กขี่มอเตอร์ไซค์แล้วล้มคอหักมาห้องฉุกเฉินเสมอๆ (ภาษาอังกฤษว่า always) เวลาไปเยี่ยมผู้ป่วยที่หอผู้ป่วยออโธปิดิกส์ก็พบเห็นเด็กคอหักเป็นอัมพาตแขนขาทั้ง 4 ข้างและไอ้จู๋อีก 1 บ่อยๆ (ภาษาอังกฤษว่า often)  เด็กพวกนี้อายุไม่เกิน 18 ทั้งนั้น  ที่ตายถือว่าโชคดี  ที่เป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไปทำได้แค่อ้าปากให้แม่ป้อนข้าวตลอดชีวิตที่เหลือนั้น  เห็นแล้วจะจุกพูดไม่ออก


 


เวลาอุจจาระก็ต้องรอแม่เอาถาดมาวางให้  เสร็จแล้วแม่ก็ต้องเช็ดก้นให้  ตลอดชีวิตและตลอดไป  


 "รู้สึกยังไงบ้าง" ผมเคยถาม


 "ผมอยากตาย  ผมสงสารแม่" เด็กคอหักตอบ


 


ตอนเอารถมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านทำไมไม่คิดสงสารแม่   เช่นนี้จึงว่าเด็กอายุไม่ถึง 18 นั้นคิดไกลไม่เป็น   ทำนายผลลัพธ์ของการกระทำไม่ได้  คนที่ทำนายผลลัพธ์ของการกระทำได้จึงเป็นผู้ใหญ่   ผู้ใหญ่จึงมีหน้าที่ป้องกันเด็ก  มิใช่ส่งเสริมเด็กไปคอหัก  


 


เรื่องนี้อย่างไรๆ เด็กก็เป็นเหยื่อ      เมื่อเหยื่อกำลังเดินไปตาย     จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องห้าม จึงว่า "เด็กๆ มีสิทธิได้รับการป้องกันมิให้คอหัก"


 


การห้ามตั้งบุหรี่ ณ จุดขายเป็นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ซึ่งก็คือเยาวชน   ยุทธศาสตร์นี้มุ่งจัดการนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะ    ผู้ใหญ่ที่ทำงานด้านบุหรี่รู้ว่าเด็กคือเหยื่อ   ถึงเด็กจะมีเงิน  ถึงเด็กจะอยากสูบ  แต่เขาก็คือเหยื่อ  ผู้ใหญ่ที่ดีจึงทำหน้าที่ป้องกันมิให้เหยื่อถลำตัวเข้าไปหาความตาย  


 


การพนันเป็นของไม่ดี  สังคมต้องป้องกันมิให้เยาวชนเข้าหาการพนันโดยง่าย


เหล้าเป็นของไม่ดี  สังคมต้องป้องกันมิให้เยาวชนเข้าหาเหล้าได้โดยง่าย


แข่งรถไปคอหักก็เช่นกัน  เยาวชนไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรควร  สังคมต้องช่วยกันอบรมสั่งสอนให้พวกเขารู้ถูกรู้ควร แม้ว่าเขาจะมีเงินและอยากแข่งความเร็ว แต่เขาก็คือเหยื่อที่ไร้วุฒิภาวะ


 


ผู้ใหญ่ที่ดีต้องทำหน้าที่ป้องกันมิให้เหยื่อถลำตัวเข้าไปหาความตาย