Skip to main content

เทคนิคใดเล่า จะดีเท่าความเข้าใจ ตอน 2

คอลัมน์/ชุมชน

          


ปัญหาการเรียกประชุมไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ของทางราชการ เพราะเขาต้องการให้มีการประชุมเมื่อไร เขาก็ใช้วิธีสั่งมาทางผู้ใหญ่บ้าน  หรือทาง อบต. ให้เกณฑ์คนมาฟังสิ่งที่เขาต้องการจะบอกเล่า  นอกจากนี้ ยังมีนโยบายของรัฐที่มีทั้งแจกทั้งแถม  เดี๋ยวก็ให้รางวัลกองทุนที่บริหารจัดการดี  เดี๋ยวก็เงิน  SML หรือหากเกิดปัญหาชาวบ้านมาประชุมไม่ครบ  ก็สามารถให้ผู้ใหญ่บ้านหรือ อบต. ออกไปล่าลายเซ็นถึงบ้านเพื่อให้ได้รายชื่อครบองค์ประชุม  โดยชาวบ้านไม่ต้องมาร่วมประชุมก็ได้  


 


และที่สำคัญคือ  ถึงอย่างไรชาวบ้านก็ยังเป็นชาวบ้านอยู่วันยังค่ำ   คือพร้อมที่จะฟังทุกเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐพูด  และพร้อมที่จะเชื่อทุกเรื่องที่ได้ยินจากเจ้าหน้าที่รัฐบอก   


 


งานหนักจึงมาตกอยู่ที่ คนที่เรียกตัวเองว่าคนทำงานเพื่อชุมชน (รวมถึงผู้เขียนด้วย) คนเหล่านี้มักเป็นพวกที่มีความเห็นที่แตกต่างจากเจ้าหน้าที่รัฐ  เพราะเราเข้าใจว่าคำว่ามีส่วนร่วมไม่น่าจะเป็นเรื่องของการเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมอย่างเดียว แต่ควรจะร่วมกันแสดงความคิดเห็น  ร่วมกันตัดสินใจ ตลอดจนร่วมกันรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมกันมากกว่า  ซึ่งหากต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ก็ต้องผ่านเวทีประชุม  ปัญหาที่สำคัญคือ มันเรียกประชุมไม่ได้  


 


เมื่อเทคนิคที่เคยคิดว่าดีมันใช้การไม่ได้  การค้นหาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านยอมมาร่วมประชุมด้วยกันอีก  คือเรื่องจำเป็นเร่งด่วนของคนทำงาน (ทีมของผู้เขียนเอง) โดยทีมงานมีการแบ่งหน้าที่กัน  เฝ้าดูพฤติกรรมของชาวบ้านว่าเขาชอบอะไร และทำอะไรบ้างในแต่ละวัน แล้วจึงนำข้อมูลมากองรวมกัน 


 


จนทำให้ทราบว่า ตอนกลางวันชาวบ้านต้องประกอบอาชีพตลอดวัน(ชาวสวน) มีเวลาว่างช่วงเย็นๆ ประมาณ 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเป็นละครหลังข่าว ซึ่งทุกครอบครัวติดกันงอมแงม  ทำให้เรารู้แล้วว่าเวลาช่วงนี้ไม่สามารถดึงมาจากชาวบ้านได้แน่  ส่วนรายการทีวีที่ชาวบ้านเขาชอบดูส่วนใหญ่คือเกมโชว์ ที่มีการตอบชิงรางวัล  บวกกับลักษณะนิสัยของชาวบ้าน ที่เป็นคนไม่ชอบพูดไม่ชอบแสดงออก เรื่องนี้มีข้อมูลสนับสนุนจากประสบการณ์เวทีที่เคยจัดมาในอดีต


 


เมื่อข้อมูลครบ ทีมงานเริ่มนำเรื่องราวมาเรียงร้อยกัน จนสามารถคิดเทคนิคการประชุมรูปแบบใหม่ๆ ได้หลายรูปแบบ โดยแบ่งแต่ละรูปแบบตามกลุ่มอายุ  ตัวอย่างเช่น เวทีให้ความรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ของประชาชนใน พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ทีมงานก็จะจัดรูปแบบเวทีเหมือนเกมโชว์  โดยตั้งชื่อเวทีว่า  "แฟนพันธ์แท้บัตรทอง"  ซึ่งเวทีเป็นแบบเรียบง่ายไม่เหมือนในทีวีเสียทีเดียว เพียงแค่มีส่วนคล้ายนิดหน่อยเพื่อเรียกร้องความสนใจเท่านั้น


 


จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ทีมงานรู้ว่าหากเราถามแล้วให้ชาวบ้านตอบสด เขาไม่ตอบแน่ แต่เมื่อเราต้องการคำตอบเราก็ต้องจัดทำคำถาม  ดังนั้น การคิดคำถามคือหัวใจของการประชุม นั่นคือหากเราต้องการให้ชาวบ้านรู้เรื่องไหน เราก็เขียนคำถามเรื่องนั้น คิดได้แล้ว ก็จัดทำป้ายคำถาม เป็นเหมือนการเปิดแผ่นป้ายเกมโชว์ในทีวี  โดยนำกระดาษสีปิดไว้อย่างสวยงาม  ต้องการคำตอบมากก็ทำป้ายมาก  ส่วนใหญ่จะทำ 10 คำถาม เพื่อให้เหมาะสมกับเวลา 


 


เวทีแรกที่เริ่มทดลองจัดประชุมที่สนามหน้าวัดกลางหมู่บ้าน   เท่าที่สังเกตดู ชาวบ้านสนใจพอสมควร  บางส่วนไม่ยอมเข้ามาร่วม แต่ยืนดูอยู่ใกล้ๆ คงสงสัยพวกนี้มันทำอะไรของมัน เริ่มตื่นเต้นตั้งแต่การเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุม   เพราะหมายเลขลำดับที่เซ็นชื่อมีความหมายต่อการประชุมรูปแบบใหม่  เพราะผู้จัดจะนำหมายเลขนั้นเขียนเป็นเบอร์  โดยวิทยากรจะบรรยายเกริ่นนำรูปแบบเวที และเรื่องราวคร่าวๆ ในเรื่องที่ต้องการให้ชาวบ้านรู้ไว้พอประมาณ จากนั้นก็เชิญผู้อาวุโสในเวที มาจับชื่อผู้โชคดีที่มีโอกาสได้เลือกป้ายคำถาม ทุกคนในเวทีลุ้นกันว่าจะจับโดนใคร  พอเรียกชื่อใคร เพื่อนๆ กลุ่มนั้นก็จะเฮฮา  ผู้ที่ถูกจับชื่อได้ก็ยินดีที่จะออกมาเลือกป้ายคำถามและตอบ แม้จะตอบถูกบ้างผิดบ้าง หรือเพียงใกล้เคียง ผู้ตอบก็จะได้รางวัล (รางวัลก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นของใช้ประจำวัน เช่น กางเกงเล  เสื้อคอกระเช้า ผ้าถุง หมอนตะกร้า ฯลฯ และหากเป็นกลุ่มเด็กก็จะมีตุ๊กตา   และของเล่นน่ารักๆ มาล่อใจ)  รางวัลไม่ได้มีราคามากมาย แต่สร้างคุณค่าทางจิตใจได้ส่วนหนึ่ง 


 


จากนั้นวิทยากรก็จะบรรยายในสิ่งที่ต้องการให้ชาวบ้านรู้  ในบรรยากาศที่ทุกคนในเวทีตั้งใจฟัง เพื่อเปรียบเทียบกับคำตอบของเพื่อนที่ออกไปตอบว่าตอบได้จริงหรือเปล่า  เวทีประชุมดำเนินต่อไปอย่างสนุกสนานในบรรยากาศที่เป็นกันเอง  ชาวบ้านก็มีความสุข คนทำเวทีก็มีความสุข  และจบเวทีให้ทันละครหลังข่าว  ชาวบ้านเริ่มติดอกติดใจ ขอร้องให้ทีมงานมาจัดเวทีบ่อยๆ จนทำให้ปัญหาการเรียกประชุมไม่ได้หมดไป 


 


เรื่องราวที่เขียนมาเล่าให้ฟังนี้เพียงต้องการจะบอกว่า ไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรคในการทำงานได้  หากเราตั้งใจจริง และทำความเข้าใจกับเรื่องนั้นให้ชัดเจน  โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวกับความรู้สึกของผู้คน  แม้ทีมงานจะทำเพียงเรื่องเล็กๆ แต่ก็ได้ใจผู้คน  ได้มิตรเพิ่ม ได้ทีมงานเพิ่ม


 


ที่สำคัญ อยากจะบอกอย่างภาคภูมิใจว่า นี่คือความสุขของคนทำงานอย่างพวกเรา คือพลังที่ทำให้เราสามารถทำงานเพื่อชุมชนต่อไปอย่างไม่รู้เหนื่อย


 


นี่เป็นเพียงเรื่องเดียวที่นำมาเล่าให้ฟัง   ยังมีการประชุมรูปแบบใหม่อีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้เขียน เช่น หากมีการประชุมเรื่องเกี่ยวกับน้ำกับคลอง ก็จะใช้วิธีพาชาวบ้านลงพายเรือไปตามลำคลอง  ไปจอดเรือใต้ต้นไม้เพื่อหารือกัน  บรรยากาศมันเอื้อ ทำยังไงคนก็รักคลอง  


 


หรือหากต้องการให้กลุ่มเยาวชน เห็นสาเหตุที่ทำให้น้ำเน่าเสีย เราก็จะนำเด็กๆ นั่งรถไฟไปดูที่จังหวัดใกล้เคียง  ให้เขาได้เห็นสภาพจริงๆ ที่เกิดขึ้น  กลับถึงแม่กลอง ทีมงานไม่ต้องพูดอะไร เด็กๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสมุทรสงครามไม่เอาโรงงาน  


 


ไม่ใช่โม้นะเรื่องอย่างนี้มันยืนยันได้  หากท่านอยากรู้ต้องมาดูที่แม่กลอง


 


 


สิ่งที่สะท้อนออกมานี้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆของคนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจทำงาน  และพยายามทำความเข้าใจ ถึงพฤติกรรม และความต้องการของชาวบ้าน แล้วนำมาปรับและทำในสิ่งที่ตรงต่อความต้องการของชาวบ้าน  หากผู้บริหารบ้านเมืองคิดอย่างนี้ และให้ในสิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริงๆ ไม่ใช่ยัดเยียดให้ โดยไม่ใส่ใจว่าตรงต่อความต้องการหรือไม่เหมือนทุกวันนี้