Skip to main content

สื่อห่วย

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


1


 


ผมติดตามการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์อย่างค่อนข้างใกล้ชิดพอสมควร และพบว่าการนำเสนอข่าวของสื่อโดยมากแล้วมักเป็นการโหมกระพือความเกลียดชังของสาธารณชนต่อกลุ่ม "ผู้ก่อการ" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจโดยวาดภาพให้ผู้ก่อการซึ่งเป็นมุสลิมเป็น "ผู้ร้าย"  


 


ผมจงใจใช้คำว่า "ผู้ก่อการ" แทนที่จะใช้คำว่า "ผู้ร้าย", "ผู้ก่อการร้าย", "โจรใต้" หรือ "โจรแบ่งแยกดินแดน"  ซึ่งคนและสื่อมักง่ายชอบใช้กัน


 


 "ผู้ก่อการ" อาจจะร้ายหรือไม่ร้ายก็ได้  แล้วแต่มุมมอง อุดมการณ์ รสนิยมหรือกระทั่งผลประโยชน์ที่จะได้รับ  เป็นต้นว่า คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นมุสลิมอาจไม่คิดว่า "ผู้ก่อการ" เป็น "ผู้ก่อการร้าย" หรือ "ผู้ร้าย"  ก็ได้ และผู้ก่อการร้ายตัวจริงน่าจะเป็นรัฐมากกว่า


 


รัฐเป็นผู้ร้าย และก่อการทำร้ายประชาชนของตนเองในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเสียงสนับสนุนข้างมาก (เสียงข้างมากอาจจะมากในเชิงปริมาณเท่านั้น)  หรือไม่ก็ด้วยความยินยอมของเสียงข้างมากอันแสดงออกด้วยความนิ่งเงียบ


 


นอกจากรัฐจะไม่คุ้มครองประชาชนของตนเองแล้ว ยังใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชนของตนเองอีก ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากมุสลิมชายแดนใต้ต้องหันไปพึ่งมาเลเซีย เพราะรัฐไทยไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้


 


และก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกเหมือนกัน หากมุสลิมชายแดนใต้จะคิดว่ารัฐไทยไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ยิ่งกว่าไม่จำเป็น รัฐไทยยังเป็นสิ่งชั่วร้ายอีกด้วย


 


2


 


เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่การเสนอข่าวของสื่อจะเต็มไปด้วยอคติ เพราะจะว่าไปก็ไม่เคยมีสื่อที่ไหนในโลกนี้เป็นกลาง และความเป็นกลางก็ไม่เคยมีอยู่จริง  ดังนั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์อื่น ๆ  ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณและช่องอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่ไม่น่าเชื่อถือในแง่ของความเป็นกลาง (ยังไม่กล่าวถึงว่าสื่อหลายชนิดอยู่ในความครอบครองของทหาร)


 


ดังนั้น ไม่แปลกที่ชาวบ้านที่จับตัวทหาร 2 นายเป็นตัวประกัน ซึ่งรู้ดีถึงความไม่เป็นกลาง และความไม่น่าเชื่อถือของสื่อ  จะแสดงความรังเกียจสื่อไทยและเรียกร้องให้สื่อมาเลเซียมาทำข่าว


 


เป็นไปได้ไหมว่า ถ้าหากชาวบ้านที่จับตัวประกันไว้มีความไว้วางใจสื่อไทย และเชื่อว่าสื่อไทยจะเป็นปากเป็นเสียง และสะท้อนความต้องการ ความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาได้ และระบายสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ออกไปให้สื่อไทยรับรู้ ทหาร 2 นายอาจไม่ถูกกระทำทารุณจนถึงแก่ชีวิต?


 


แต่ชาวบ้านไม่โง่พอที่จะคุยกับสื่อไทยซึ่งแสดงให้เห็นมานานแล้วว่าไม่มีความเป็นมิตร และเชื่อถือไม่ได้ ดังนั้น ความไม่เป็นกลางของสื่อไทยจะต้องถูกตอบโต้ด้วยความไม่เป็นกลางอีกแบบหนึ่ง(โดยการเรียกหานักข่าวต่างชาติ) ซึ่งก็เป็นการถ่วงดุลกันดี


 


ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะไปประณามสื่อมาเลเซียว่าไม่เป็นกลาง สร้างความขัดแย้ง สื่อไทยจะต้องเรียนรู้ที่จะประณามตนเองเสียก่อน


 


สื่อมวลชนของไทยต้องพิจารณาตัวเองให้มากต่อกรณีนี้ มันออกจะเป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่คนไทย(หมายถึงชาวบ้านที่จับตัวประกันไว้) หมดความเชื่อถือในสื่อของประเทศตัวเองและหันไปพึ่งสื่อของประเทศเพื่อนบ้าน คงเป็นเพราะชาวบ้านคงจะได้ตระหนักแล้วว่าสิ่งที่สร้างความฉิบหายให้เกิดขึ้นในภาคใต้และเกิดขึ้นกับชีวิตของเขานั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการนำเสนอข่าวของสื่อ(ห่วย)ไทย


 


3


 


การนำเสนอข่าวของสื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศของความขัดแย้งให้เกิดขึ้นมาตลอด โดยมักจะนำเอาข้อมูล ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐมาถ่ายทอดอย่างเซื่อง ๆ และสิ้นคิด โดยไม่ได้ตั้งคำถามเอากับข้อมูลและข้อคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีความน่าเชื่อถือ และสมเหตุสมผลมากเพียงใด และเป็นการนำเสนอเพียงฝ่ายเดียว (ก็อย่างว่า สื่อจำนวนมากเป็นของทหาร และแม้สื่ออีกจำนวนไม่น้อยจะไม่ใช่ของรัฐแต่ก็รับวิธีคิดของรัฐไปใช้โดยไม่รู้ตัว)


 


สื่อให้พื้นที่ต่อข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นของคนมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้น้อยมากหรือไม่มีเลย หรือถ้าจะมีก็เป็นข้อมูลและทัศนคติที่เลือกสรรแล้วว่าสอดคล้องไปทางเดียวกับรัฐ


 


ในกรณีของชาวบ้านที่จับทหาร 2 นายเป็นตัวประกันไว้และเกิดเหตุร้ายขึ้นในที่สุด จะเห็นได้ว่า ชาวบ้านหายไปจากสื่อ ชาวบ้านที่ถูกฆ่าตายและได้รับบาดเจ็บหายไปจากสื่อ สื่อไม่คิดจะไปสัมภาษณ์ญาติพี่น้องของชาวบ้านที่ตายและทำสกู๊ปชีวิตของพวกเขาบ้างเลยหรือ ชีวิตของชาวบ้านที่นั่งอยู่ในร้านน้ำชาทั้งที่ตายไปและได้รับบาดเจ็บ (ซึ่งอาจเกิดมาจากฝีมือทหารจริง ๆ หรือจากมือที่สามก็ตามแต่) ไม่มีค่าหรือมีค่าน้อยกว่าทหาร 2 นายที่ถูกจับเป็นตัวประกันหรือไร


 


4


 


ผมเห็นด้วยว่าการทารุณกรรมทหาร 2 นายที่ถูกจับเป็นตัวประกันจนตายเป็นเรื่องโหดร้ายทารุณอย่างมาก แต่การฆ่าหมู่มุสลิมในมัสยิดกรือเซะ ตลอดจนการฆ่าหมู่ผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบทมิฬ เป็นเรื่องโหดร้ายทารุณมากกว่าหลายเท่า และการกราดยิงคนที่นั่งอยู่ในร้านน้ำชาก็เป็นเรื่องที่ทารุณอย่างมากด้วยเช่นกัน (แล้วถ้าสมมุติว่าเป็นฝีมือของทหารล่ะ?)


 


ถ้ารัฐบาลและสังคมยกย่องทหาร 2 นายที่ตายไป ก็ไม่แปลกอะไรที่คนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้บางส่วนจะยกย่องคนที่ตายไปโดยน้ำมือของรัฐบาล เพราะพวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นคนเล็กคนน้อยที่ไร้อาภรณ์ของรัฐมาห่มคลุม ตรงกันข้าม คนเล็กคนน้อยเหล่านี้กลับต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ชั่วร้ายอย่างไม่เกรงกลัว (เห็นไหมล่ะว่าน่ายกย่องเพียงใด)


 


ตอนที่ผมอ่านและดูข่าวเกี่ยวกับการตายของทหาร 2 นาย  ผมรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังอ่านและดูนิยายน้ำเน่าเรื่องหนึ่ง (ต้องขออภัยที่กล่าวอย่างนี้) ประเด็นไม่ใช่ว่า ชีวิตของทหารที่ตายไม่สำคัญ  แต่อยู่ตรงที่การนำเสนอข่าวในเรื่องนี้ของหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เป็นการ "ผูกเรื่อง" ให้เป็นละครโศกนาฏกรรม ทุกอย่างถูกทำให้ "เวอร์"  ที่สุดก็เพื่อพุ่งเป้าโยนความผิดไปให้กับชาวบ้านที่ทำร้ายทหาร 2 นาย หรือพวกก่อการร้ายก็สุดแท้แต่


 


การ "ผูกเรื่อง" จากการนำเสนอของสื่อมีโครงเรื่องอยู่ในทำนองที่ว่า


 


"ทหาร 2 นายที่ตาย เป็นวีรบุรุษที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้และปกป้องชาติบ้านเมืองจากกลุ่มองค์กรลึกลับที่ไม่หวังดี โดยอาจร่วมมือกับองค์กรข้ามชาติที่หมายมุ่งก่อกวนสร้างความไม่สงบและอาจไปไกลถึงขั้นต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่ทหาร 2 นายนี้จะไม่ตายเปล่า ชื่อของเขาจะได้รับการจารึก และจะได้รับการปูนบำเหน็จ และจะมีคนอื่น ๆ มารับช่วงและปฏิบัติหน้าที่นี้อย่างห้าวหาญต่อไปเพื่อกำราบศัตรูของชาติให้หมดสิ้น..." 


 


5


 


บางที นอกจากรัฐจะเป็นผู้ร้ายตัวจริงแล้ว ก็สมควรยกตำแหน่งผู้ร้ายสมทบให้กับสื่อ(ห่วย)ไทยด้วยเช่นกัน.