Skip to main content

เรื่องเล่าเมื่อเข้าเมืองใหญ่และ "มอลล์อ๊อฟอเมริกา"

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


เรื่องช็อปปิ้งเป็นเรื่องสนุกของคนหลายคน   หลายครั้งผู้เขียนก็สนุกไปกับเขาด้วยเวลาว่างๆ และพอมีเงินติดตัวเหลือใช้นิดหน่อย  แต่ส่วนมากผู้เขียนมักทำอย่างที่เรียกกันว่า "วินโดว์ช็อปปิ้ง"  คือ ได้แต่เดินดูแต่ไม่ซื้อ  ขอเพียงแค่รู้ว่าในธุรกิจกระแสหลักได้มีอะไรใหม่บ้างมาล่อตาล่อใจ


 


เนื่องด้วยผู้เขียนอยู่ในเมืองเล็กที่ห่างไกลเมืองใหญ่อย่างมินนิอาโปลิส-เซ็นต์พอล  (Minneapolis-St. Paul) หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า ทวินซิตี้ (Twin Cities) ถึงกว่า ๑๕๐ ไมล์ หรือประมาณ ๒๔๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางถึงสามชั่วโมง  เป็นเมืองที่ผู้เขียนต้องมาซื้อกับข้าวเอเชี่ยน เช่น น้ำพริกแกง น้ำปลา กะปิ ปลาเค็ม ข้าวสาร อาหารแห้งต่างๆ  เครื่องกระป๋องของไทยๆ  และช็อปสินค้าอื่นๆ ที่ไม่มีขายในเมืองเล็กๆ


 


เมืองทวินซิตี้นี้  มีจุดน่าสนใจของบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติและต่างรัฐ คือ "มอลล์อ๊อฟอเมริกา"[1] ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง   เวลาคนมาถามผู้เขียนว่าใหญ่ขนาดไหน ผู้เขียนบอกอย่างง่ายๆ ว่าใหญ่ราวๆ ห้าหกเท่าของ "ซีคอนสแควร์" หรือ "ฟิวเจอร์ปาร์ค-รังสิต" แต่ว่าไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ต   ของที่มีก็หรูหราในระดับหนึ่ง   แต่ไม่ขนาดท็อปเพราะคนเดินมีหลายหลาก รวยจริงๆ  ก็ไปเดินที่อื่นในดาวน์ทาวน์เพราะมีดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ที่หรูกว่าและร้านที่เริ่ดๆ กว่า


 


แต่แค่ที่ "มอลล์" นี่ผู้เขียนก็เดินขาลากแล้ว เพราะว่ามันใหญ่มาก แล้วผู้เขียนก็เดินๆ แวะๆ  ซึ่งถือเป็นการออกกำลังอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการที่ได้หนีออกมาจาก "บ้านเล็กในทุ่งกว้าง" หรือ "บ้านเล็กริมห้วย" แบบที่คนไทยวาดฝันตามนิยายชุดบ้านเล็กฯ 


 


เรื่องที่เล่าในงานลักษณะดังกล่าวมักต่างจากความจริงของชีวิต  เพราะว่าชีวิตมีมิติเร้นมากกว่านั้น และสังคมแบบนั้นเป็นสังคมปิด ความไม่น่าอยู่จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนท้องถิ่นใจแคบหลายคนที่เดียดฉันท์คนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่คนผิวขาว ไม่ได้ถือศาสนาเดียวกัน และพูดภาษาอังกฤษแบบไม่ใช่คนผิวขาว 


 


งานเขียนทำนองนี้ของฝรั่งผิวขาวจึงอยู่บนพื้นฐานของความไม่จริงใจของฝรั่งผิวขาว  คนที่ไม่ใช่ผิวขาวจึงอยู่อย่างยากลำบากในดินแดนแถบนั้น เรื่องนี้จะมาเล่าต่อไปเมื่อมีโอกาสเพราะเป็นเรื่องที่สังคมไทยมองไม่เห็น หรือไม่เข้าใจ  และหนำซ้ำยังปลื้มไปกับเรื่องแบบนี้


 


ขอกลับเข้ามาเรื่องเดิม เรื่องช็อปๆ ๆ


 


ที่ร้านเมซี่ส์[2] (Macy’s)  ผู้เขียนเห็นเสื้อสเวตเตอร์ตัวหนึ่ง  ทำด้วยวูลผสมใยสังเคราะห์คุณภาพสูง  ดีไซน์สวยและเนื้อดีมาก  ราคาเต็มตัวละ ๑๕๐ เหรียญหรือหกพันบาท  เห็นแล้วอยากได้ เพราะมีกิเลส แต่เมื่อกลับมาคิดดู ซื้อไม่ลงเลย เพราะดูแลก็ยาก และมีเสื้อใส่ดีอยู่แล้ว จึงตัดใจไม่เอา นี่ขนาดร้านกลางๆ  ราคายังแค่นี้  เสื้อผ้าและข้าวของร้านนี้ถือว่าเป็นของระดับของชนชั้นกลาง-กลาง ถึงกลางค่อนข้างสูง ไม่ใช่ระดับคนรวยจริงๆ


 


เดินผ่านร้านรองเท้า ร้านกระเป๋าหนัง ร้านอื่นๆ   ราคาแต่ละชิ้นจับไม่ได้  แต่รู้อยู่ก่อนหน้านี้แล้วว่าคงไม่มีราคาที่ตนเองพอจับได้  ถ้าไม่ใช่โอกาสพิเศษจริงๆ หรือเกิดมีการลดราคาอย่างสุดๆ   ผู้เขียนสามารถที่จะติดหนี้บัตรเครดิตเพื่อสนองตัณหาตนเองในการจับจ่าย   แต่ก็ไม่เคยทำสักทีเพราะใจไม่ถึง และมองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายมากมาย   นอกจากนี้อาชีพครูแบบผู้เขียนเงินเดือนน้อยมากทั้งที่อยู่ในสหรัฐฯ   บอกได้เลยว่า อาจารย์ในเมืองไทยที่ผู้เขียนรู้จักหลายคนมีรายได้มากกว่าผู้เขียนเสียอีก   ตอนนี้เห็นขี่รถเยอรมันราคาหลายล้านกันเต็มไปหมด


 


ผู้เขียนเห็นคนเดินไปมา หิ้วถุงร้านดังๆ  มีความสุขสนุกสนาน ร้านวัยรุ่นมีคนเดินไปมาตลอด เด็กหนุ่มสาวหน้าใสๆ ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่เดินมากที่สุด คงเป็นเพราะว่ายังไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากนักในชีวิต ดูมีความสุขมากเหลือเกิน ส่วนนอกนั้นก็เป็นนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ จากในสหรัฐฯ เอง และประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่น แล้วก็คนในรัฐมินเนโซต้าเองที่มาเดินเพราะว่ามันใหญ่ดี  เหตุผลไม่ได้ต่างจากคนไทยเดินห้างเท่าไรนัก


 


ผู้เขียนไปดูของที่ร้านเครื่องบำรุงผิวและสุขภาพร้านหนึ่ง ชื่อ แคร็บทรี แอนด์ อีฟลีน[3] (Crabtree & Evelyn) ซึ่งผู้เขียนเองมักซื้อให้คนรอบข้าง ผู้ใหญ่ที่นับถือ โดยเฉพาะเวลาที่มีลดราคาแบบสุดๆ แต่กระนั้นก็ทำให้ต้องประหยัดในเรื่องอื่นเป็นเดือน  ส่วนตัวเองนั้นใช้แค่น้ำหอมผู้ชายของยี่ห้อนี้ เพราะกลิ่นเรียบง่ายสุภาพและไม่แพงนัก (เมื่อเปรียบกับยี่ห้อดังๆ อื่นๆ—ไม่ถึงสองพันบาทไทย) แต่ใช้ได้ขวดละสิบห้าเดือน จึงเป็นแฟนกันมาตั้งแต่เจ็ด-แปดปีที่แล้ว


 


เวลาที่กลับไทยจึงมักมีผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนี้ติดมือทุกครั้ง  ถ้าไม่พลาดไปเก็บตกตอนลดราคา แต่ถ้าไม่ลดราคาก็ไม่ซื้อเป็นอันขาดเพราะไม่มีปัญญา ในเมืองไทยก็มีร้านนี้แล้ว  เพื่อนผู้เขียนเองเป็นคนนำเข้า แต่ก็อีกนั่นแหละไม่ได้อุดหนุนเขามาเป็นเวลานานแล้ว เพราะราคาแพง ซื้อไม่ไหว


 


ผู้เขียนกับเพื่อนไม่ได้ซื้ออะไรกลับบ้าน เพราะต่างคนต่างมีวินัยในการจับจ่าย  ขากลับผู้เขียนขับรถพลัดหลงเข้าไปในย่านคนรวยของทวินซิตี้  เรียกว่า ย่านอีไดน่า Edina และ ไวซาถะ Wayzata ที่มีบ้านใหญ่ๆ มีบริเวณสนามหญ้า มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น และที่สำคัญบ้านเหล่านี้มีส่วนที่ติดกับทะเลสาบ  ในขณะเดียวกัน ร้านค้าในแถวๆ นี้ก็มีระดับ เพื่อนผู้เขียนกรี๊ดกร๊าดกับบ้านเหล่านี้ เพราะเหมือนบ้านที่ใครๆ อยากได้ เหมือนบ้านในฝันในแมกกาซีน


 


เพื่อนผู้เขียนบอกว่า เธอไม่ได้อิจฉาเลยกับคนที่รวยเหล่านี้ แต่ตั้งคำถามว่าทำไมคนบางกลุ่มจึงรวยล้นฟ้า และทำไมอีกกลุ่มหนึ่งจึงจนแบบไม่มีอะไรติดตัว  พวกคนรวยเคยคิดบ้างหรือไม่ว่ามีคนอีกมากที่ยังโชคร้าย ไม่มีแม้แต่ข้าวมื้อต่อไป ไม่มีอะไรในชีวิต แม้กระทั่งโอกาส  คนรวยแย่งโอกาสคนจนหรือเปล่า แล้วทำไมคนรวยจึงแย่งได้  ทำไมจึงไม่ผิด  ท้ายสุดเธอบอกว่าเธอมีความสุขแล้วที่เธอมีในสิ่งที่เธอควรมี และไม่ต้องลำบากจนเกินไปนัก (เธอก็บินเที่ยวยุโรปทุกปี แต่อยู่อย่างสมถะมาก)


 


ผู้เขียนดีใจที่ได้ยินแบบนี้จากเพื่อนผู้นี้  ดีใจที่ว่าเราคบกันได้เพราะเราคิดว่าเรารวยคนเดียวไม่ได้ สังคมอยู่ไม่ได้ถ้าความต่างมันมากขนาดนี้ ความสุขไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่ว่าใช้เงินเป็นและไม่เป็นที่เดือดร้อนของสังคม ไม่ใช้เงินทำร้ายคนอื่น และไม่ทำตัวให้เป็นภาระของสังคม


 


จากนั้น เราแวะจ่ายตลาดร้านเอเชี่ยน ผู้เขียนซื้อหมูกรอบ หมูแดง เป็ดย่างอบน้ำผึ้งแบบแห้ง กะว่าไม่ต้องทำกับข้าวเป็นอาทิตย์ แล้วก็ซื้อมะขามแก้ว ต่างคนต่างซื้อคนละนิดละหน่อย จากนั้นไปต่อร้านแบบขายส่งอย่างแม็คโครในไทย  ที่เรียกว่า แซมส์คลับ (Sam’s Club) และ ร้านราคาถูกแบบ วอลล์มาร์ท (Wal Mart) ซื้อของจำเป็นต่างๆ ราคาถูก กว่าจะจบเกือบสามทุ่ม เราผลัดกันขับรถจนมาถึงเมืองที่อยู่กลางทุ่งกว้าง ดีที่ไม่มีกวางเดินดง มาวิ่งตัดหน้า กลับมาสู่โลกของความจริงในเมืองที่ไม่มีแสงสี  ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรนอกจากความเป็นคนขาว ความเชื่อทางศาสนา ศาสนาหนึ่งที่รุนแรง ความเป็นชนบทที่ขาดความเข้าใจของคำว่าความหลากหลายในเรื่องวัฒนธรรม  และที่สำคัญคือความไม่รู้และปิดกั้นของท้องถิ่นที่มีต่อเรื่องต่างๆ  เช่น ความเดียดฉันท์ความหลากหลายทางเพศและความสัมพันธ์ข้ามเผ่าพันธุ์  มีทั้งที่เห็นได้ชัดเจนและแฝงเร้น


 


มอลล์อ๊อฟอเมริกา  เป็นตัวอย่างของตัวบ่งชี้ความเป็นเมืองใหญ่ที่มีทุนนิยมสุดโต่งเป็นตัวผลักดัน ตรงนั้นความต่างทางวัฒนธรรมโดนหลอมรวมด้วยอำนาจเงินตรา  แต่มีปัญหาความรวยความจนที่ถ่างออกจนเห็นได้ชัด  อย่างไรก็ตาม ก็เป็นแหล่งที่คนอย่างผู้เขียนและเพื่อนๆ ได้เข้ามาเปลี่ยนอารมณ์   เราต่างบอกกันว่าเราพอใจแบบนี้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่พอใจนักที่มีความต่างทางเศรษฐฐานะมากเหลือเกิน


 


เมืองเล็กที่ผู้เขียนอยู่กลับเหมือนสิ่งตรงข้ามกับเมืองใหญ่ตรงนั้นในหลายๆ ด้าน มีความเงียบสงบในระดับหนึ่ง ซึ่งนับว่าน่าพอใจ แต่หากมองในแง่ของคำว่า "ความเจริญ" ในความหมายของวัตถุนิยม เมืองนี้คงไม่มี เพราะในความเจริญมีนัยยะของการเปลี่ยนแปลงแฝงอยู่  ตรงนี้การเปลี่ยนแปลงคือยาขมหม้อใหญ่ ที่คนท้องถิ่นดั้งเดิมไม่โปรดปราน เพราะจะทำให้วิถีชีวิตของเขาเปลี่ยนไป และอำนาจของพวกเขาต้องถูกท้าทาย ความเชื่อเดิมๆ อาจไม่ขลัง กลุ่มอำนาจต้องทำงานหนักเพื่อธำรงอำนาจเดิมที่ตนครองอยู่


 


อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่น่าปวดใจคือความไม่รู้ และไม่อยากรู้ของกลุ่มอำนาจเดิม ซึ่งก็ได้แผ่ขยายไปสู่คนภายใต้อำนาจ  ตรงนี้มาจากความเชื่อในเรื่องอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง


 


การเดินทางในวันเดียวครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ช็อปปิ้ง  แต่เป็นการทำให้ตนเองเดินออกมาจากสิ่งแวดล้อมตรงนั้น และมองย้อนเข้าไป  น่าเป็นการดีหากการท่องเที่ยวที่สังคมไทยส่งเสริมกันนักหนาจะช่วยทำให้คนในสังคมไทยเองรู้จักหัดมองในแง่มุมแบบนี้เสียบ้าง คือให้มีความเข้าใจว่าสังคมที่ตนไปเที่ยว ไปดูนั้น ทำไมจึงต่างกัน  และหันกลับมาถามตนเองด้วยว่า ทำไมสังคมที่ตนอาศัยอยู่เหมือนและต่างกับคนอื่นอย่างไร และไม่พยายามเอาความเชื่อของตนเป็นศูนย์กลางที่จะตัดสินคนอื่นจนเกินไป และใช้ critical thinking ให้มากที่สุด


 


ในขณะเดียวกันก็ควรชี้แจงนักท่องเที่ยวต่างชาติในทำนองเดียวกันด้วย ไม่ใช่แค่มาให้ดูหรือยัดเยียดวัฒนธรรมเปลือกๆ อย่างที่ทำกันทุกวันนี้ 


 


 


เดือนหน้า ผู้เขียนจะเข้าเมืองอีก อาจมีเรื่องอะไรอื่นมาเล่าให้ฟังต่อ


 






[1] สามารถอ่านรายละเอียดในภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.mallofamerica.com/   และ  http://en.wikipedia.org/wiki/Mall_of_America